ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสไปนั่งฟังเรื่องการจัดการความรู้ทางการเงินจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ที่จัดกิจกรรมมอบความรู้เรื่องการออมเงินให้แก่น้องๆ ระดับมัธยมปลายที่สนใจเรื่องการออมและการบริหารเงิน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าน้องๆ เริ่มรู้จักวางแผนการออมกันแล้ว แถมหลายคนก็มีเป้าหมายกันซะด้วย เล่นเอาผมแอบอิจฉาที่สมัยเราไม่มีกิจกรรมดีๆ แบบนี้บ้าง
นอกเหนือจากการออมแล้ว น้องบางคนเริ่มสนใจเรื่องหุ้นแล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งความสำคัญของวัยนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าอยากจะลงทุนเงินจำนวนเท่าไหร่ แต่ต้นทุนที่สำคัญของพวกเขาซึ่งได้เปรียบคนวัยอย่างพวกผมคือ ‘เวลา’ พวกเขาสามารถวาดฝันของตัวเองเอาไว้ได้เลย แล้วก็ค่อยๆ หาวิธีเดินทางไปหาฝันที่วาดเอาไว้ จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่เครื่องมือในการจัดการและลงทุนที่น้องๆ เลือก
ทว่าสิ่งหนึ่งที่น้องๆ จะต้องพบเจอเมื่อโตขึ้นนั้น คือการรักษาความฝันที่วาดไว้บวกกับระยะทางของความฝันที่ไม่ให้มีระยะห่างมากจนเกินไป จุดนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญของการบรรยายในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ส่วนตัวของวิทยากร ซึ่งแบ่งประเด็นออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือ
1. เมื่อเราผิดพลาดจงหัดให้อภัยตัวเอง
2. ปฏิเสธคนอื่นให้เป็น
วิทยากรบอกว่า ความฝันเราไม่สามารถถูกประกอบจากความตั้งใจและความสำเร็จได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ต้องพิจารณาว่ามันอาจไม่เกิดจากความสามารถและความพยายามที่เราฝ่าฟันเรียนรู้จนได้รับมันมา ซึ่งเป้าหมายหรือความฝันที่วาดไว้มันอาจเป็นเป้าที่เราเอื้อมมือหยิบมาง่ายจนเกินไป แล้วเราอาจหลอกตัวเองว่าเราทำได้แล้ว นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากความภูมิใจ รวมถึงบทเรียนเรื่องการเงินจะไม่เกิดขึ้น
แท้จริงแล้วความสำเร็จต้องมีองค์ประกอบของความสิ้นหวังและความล้มเหลวปนอยู่ด้วย นี่คือเรื่องราวที่จะทำให้มุมมองการใช้เงินและใช้ชีวิตของเราคมขึ้น และสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาและเรื่องเล่าที่เตือนสติต่อตัวเราและคนอื่นๆ ที่ต้องการจะพิชิตเป้าหมายเหมือนเราในอดีตด้วย นี่ต่างหากคือตำราจากการบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง
การบรรลุเป้าหมาย ระหว่างทางต้องเจอช่วงผิดหวัง ท้อแท้ คำถามคือต้องทำอย่างไร
สิ่งแรกเลยคือการให้โอกาสแก่ตัวเอง และอยากซ้ำเติมตัวเอง ถึงแม้ว่าในบางสถานการณ์จะมีบ้าง เช่น ด่าทอตัวเองอยู่ในใจ แต่อย่าให้สภาวะนั้นอยู่นานเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเกิดความรู้สึกภายในกดทับความกล้าในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ตัวเอง จนกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นไปโดยปริยาย และไม่กล้าทำตามความฝันใดๆ ทั้งสิ้นอีกต่อไป นั่นจะทำให้ชีวิตเราปราศจากความสุขด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องการหัดปฏิเสธให้เป็นนั้นอยู่ในบริบทของการที่เพื่อนเข้ามาขอยืมเงินๆ ทองๆ จากคนรอบข้าง และหากเกิดเหตุการณ์นี้ในชีวิตของเรา จงเตรียมใจไว้เลยว่าความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน เพราะสถานะจากเพื่อนกันได้เปลี่ยนเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้เรียบร้อยแล้ว
วิทยากรแนะนำว่า ทางที่ดีคือปฏิเสธไปเลยโดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำร้ายน้ำจิตน้ำใจกัน ซึ่งตรงนี้มีเหตุผลในเชิงจิตวิทยาในการเล่าอยู่เหมือนกัน วิทยากรอธิบายว่า การขอยืมเงินจากใครสักคน ในเบื้องลึกของฝั่งคนถูกให้ยืมจะเกิดจากความรู้สึกเกรงกลัวต่อคนที่จะขอยืมว่า กลัวเขาไม่รักเรา กลัวเขามองว่าเราเป็นคนแล้งน้ำใจ เมื่อเกิดความไม่มั่นใจและความกลัวต่อตัวเอง เราจึงต้องให้เขายืมเงินไป ซึ่งเอาเข้าจริงเหตุผลนี้ก็สามารถอธิบายได้กับทุกเรื่องนะไม่ใช่แค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว
หากถามถึงทางออกก็มีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีแรกก็ให้ยืมเงินไปนั่นแหละ แต่ต้องให้ในจำนวนที่เราต้องคิดแล้วว่าไม่เจ็บตัว และคิดว่าจะไม่ได้เงินคืนอีกเลย เพราะโอกาสแบบนั้นมีอยู่สูงมาก แถมยิ่งทวงมาก ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนก็เสี่ยงที่จะพังทลายลงไปอีก
วิธีที่สองคือต้องทบทวนต่อตัวเองถึงเป้าหมาย ถ้าในชีวิตเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนและต้องอาศัยเรื่องเงิน ก็ต้องแสดงเจตจำนงและบอกเหตุผลต่อคนที่ขอยืมไป หรือไม่ก็ปฏิเสธแบบดื้อๆ ไปเลย เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่า เราไม่ให้เพราะเหตุใด เมื่อเป็นแบบนี้บ่อยๆ คนที่จะเข้ามาขอยืมก็จะหายไปเอง เพราะเขารู้แล้วว่าเราไม่กลัวความรู้สึกที่จะไม่ถูกรักหรือถูกมองว่าแล้งน้ำใจ
วิธีปฏิเสธแบบหลังนี้ทำให้นึกถึงเรื่องราวในปี 1973 ของ จอห์น พอล เก็ตตี้ (J. Paul Getty) อภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันที่ปฏิเสธการจ่ายค่าไถ่เพื่อแลกตัวกับหลานชายของเขา ซึ่งถูกคนร้ายจับตัวไป เหตุผลของจอห์นนั้นน่าคิดพอสมควร เพราะเขาให้เหตุผลว่า หากเขาจ่ายเงินจำนวนหลายล้านตามที่คนร้ายเรียกขอไปนั้น เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นกับหลานอีกจำนวน 14 คนของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุการณ์เหล่านี้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ All the Money in the World ด้วยนะ
เอาเป็นว่าเรื่องเงินสำคัญมากๆ นะครับ ใครที่ยังไม่มีเป้าหมาย หรือมีเป้าหมายแต่ยังไม่มีแผนการ ก็ลองคิดลองทำดูนะครับ อย่ามัวทำงานไปเก็บเงินไป แล้วก็รอให้คนอื่นเข้ามาขอหยิบยืม แถมปฏิเสธไม่เป็นอีกต่างหาก ที่สำคัญกว่านั้นคือการปล่อยเวลาให้หายไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวิธีจัดการการเงินใดๆ เลยนั้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการถูกเรียกค่าไถ่แบบแนบเนียน ที่ทำให้เราสูญเสียทั้งเป้าหมาย การเงิน เวลา รวมถึงความสัมพันธ์กับพ้องเพื่อนไปอย่างน่าเสียดาย