ในวันหยุดสุดสัปดาห์ หากไม่มีแผนออกไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ สถานที่ยอดฮิตของใครหลายคนคงหนีไม่พ้นห้างสรรพสินค้า เพราะสะดวกต่อการนัดพบปะเพื่อนฝูง คุยธุรกิจกับลูกค้า หรือบางคนเลือกแค่ไปเดินตากแอร์เย็นๆ ก็ตาม
เมื่อเขียนถึงห้างสรรพสินค้า ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ‘The Year without a Purchase: One Family’s Quest to Stop Shopping and Start Connecting’ เขียนโดย Scott Dannemiller ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยการทดลองของคู่สามีภรรยาที่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยเป็นระยะเวลา 1 ปี
สามีภรรยาคู่นี้ได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมามากมายเพื่อออกแบบป้องกันพฤติกรรมให้ไม่ออกนอกลู่นอกทางหรือไม่ให้ใช้เงินมากจนเกินไป เช่น ลดการรับสารจากช่องทางบริโภคที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการอยากซื้อ หรือการถามและทบทวนความรู้สึกตัวเองบ่อยๆ ว่าของที่อยากจะซื้อนั้นจำเป็นมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
การหาเหตุผลและทบทวนความรู้สึกของตัวเองต่อสิ่งของที่จะซื้อ หรือการพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่สุ่มเสี่ยงต่อการช้อปปิ้งมีเหตุผลของมันหรือเปล่า งานวิจัยชิ้นนี้มีคำตอบ
เคยมีงานสำรวจวิจัยในหัวข้อ ‘การช้อปปิ้งบำบัดอารมณ์ให้ดีขึ้นจริงหรือ’ โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตทได้ทำการสำรวจโดยสอบถามถึงอารมณ์ของคนที่กำลังเดินเข้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งได้คำตอบหลัก 3 ประการ ดังนี้
1. เข้าห้างสรรพสินค้าเพื่อฉลองวาระอะไรบางอย่าง
2. เข้าห้างสรรพสินค้าเพราะไม่รู้จะไปทำอะไรที่ไหน
3. เข้าห้างสรรพสินค้าเพราะอารมณ์ไม่ดี
การเก็บข้อมูลวิจัยยังไม่จบแค่นี้ เพราะนักวิจัยยังรอสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเดิมในขาออกจากห้างสรรพสินค้าอีกครั้ง เพื่อจะดูว่าพวกเขาซื้ออะไรบ้างและรู้สึกอย่างไร
ผลสรุปออกมาว่า ร้อยละ 62 ของกลุ่มตัวอย่างที่อารมณ์ไม่ดีก่อนเข้าห้างสรรพสินค้าจะหิ้วของที่เกิดจากการช้อปปิ้งออกมาไม่น้อยทีเดียว โดยบอกว่ามีความสุขมากขึ้นเมื่อเดินออกมา และพวกเขาก็ไม่ได้เสียใจจากสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าพฤติกรรมการช้อปปิ้งช่วยบำบัดความเครียดได้จริงๆ
หลังจากนั้น นักวิจัยได้อธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ไว้ว่า คนกลุ่มนี้ถือว่าการช้อปปิ้งเป็นประสบการณ์ที่พวกเขาต้องการในเบื้องลึก เมื่อใดก็ตามที่ได้รับประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกดี สารเคมีที่ชื่อ ‘โดปามีน’ (dopamine) จะถูกปล่อยไปที่นิวเคลียสแอกคัมเบนส์ (nucleus accumbens) ซึ่งโดปามีนนี่แหละที่ช่วยกระตุ้นเส้นประสาทในพื้นที่นี้ให้เชื่อมโยงกันได้อย่างผ่อนคลาย เหมือนเวลาที่เราเดินเข้าไปในงานปาร์ตี้และได้เบียร์เย็นๆ สักแก้วก็จะรู้สึกดีขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ โรเบิร์ต ซาโพลสกี (Robert Sapolsky) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เสริมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ไว้อีกว่า การเสพติดการช้อปปิ้งเป็นความคาดหวังต่อการจะได้สิ่งของ เมื่อเราสร้างความคิดและจินตนาการถึงความอยากได้ หรืออยากเป็นเจ้าของ จะทำให้เกิดความเครียดในเบื้องต้น จึงต้องหาทางออกด้วยการไปช้อปปิ้งเพื่อบำบัดความรู้สึกเหล่านั้นนั่นเอง
คำถามที่สำคัญคือ แล้วเราหยุดยั้งพฤติกรรมการเสพติดช้อปปิ้งได้หรือไม่ คำตอบคือ ‘ได้’
เราแค่อย่านำตัวเองไปรับสารจากช่องทางบริโภคที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการอยากได้อยากซื้อ หรือสอบถามและทบทวนความรู้สึกตัวเองบ่อยๆ เหมือนที่เขียนไว้ในหนังสือของ Scott Dannemiller
สำหรับใครที่เดินเข้าห้างฯ ทีไร เป็นต้องเสียทรัพย์ทุกครั้งไป เราอยากให้ลองนำวิธีคิดเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันดู แล้วลองสังเกตบัญชีรายรับรายจ่ายในช่วงนั้น คุณอาจจะพบว่ามีเงินเก็บมากขึ้นอย่างไม่คาดคิด
อ้างอิง: หนังสือ The Year without a Purchase: One Family’s Quest to Stop Shopping and Start Connecting (2015)