ผมบังเอิญมีโอกาสได้ฟังบทสนทนาระหว่าง คุณสุทธิชัย หยุ่น กับ ดร. ณชา อนันติโชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในหัวข้อ ‘เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก’
ซึ่งในบทสนทนานั้นมีประเด็นหลักที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่สูงมาก ความไม่เท่าเทียมของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ รวมถึงเสน่ห์ของประเทศไทยที่อ่อนแอลง จนเราต้องกลับมาคิดทบทวนกระบวนการตั้งต้นกันใหม่ด้วยการยอมรับจุดอ่อนที่มี เพื่อก้าวต่อไปที่มั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น
มีประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษและคิดว่าเป็นประเด็นที่ใกล้ตัวผมและผู้อ่านอยู่พอสมควรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการหารายได้เพื่อดำรงชีวิตในนาทีนี้ นั่นคือเรื่องของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นองค์ประกอบ 1 ใน 3 ส่วนที่สำคัญร่วมกับทุน และเทคโนโลยี
ดร. ณชา อธิบายให้เห็นภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง และในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศไทยเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าตลาดแรงงานไทยกำลังหมดเสน่ห์ที่จะเย้ายวนใจนักลงทุนต่างประเทศ
เรียกได้ว่าตลาดแรงงานไทยได้เลยจุดพีกไปแล้ว ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศเวียดนามที่กำลังเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของคนหนุ่มคนสาวที่มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น นี่คือหมัดแรกที่กระแทกด้าน Productivity ของประเทศในอนาคตอันใกล้ในไม่ช้า
หมัดที่สองที่ตามมา คือฮุกที่ผมสนใจเป็นพิเศษเพราะถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว นั่นคือการที่เรามีต้นทุนเสียด้าน Skills Mismatch คือการมีความรู้และทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งประเด็นนี้ก็แอบเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างของภาคการศึกษาเหมือนกันในการติดตามความเคลื่อนไหวและความต้องการที่เปลี่ยนไปของยุคสมัยให้ทันท่วงที
ถามว่าส่งผลอย่างไรต่อชีวิตคนทำงานแบบเรา แน่นอนว่า เมื่อเรามีความรู้และทักษะไม่ตรงตามตลาด ทำให้โอกาสในการหางานยากขึ้น หรือหากมีโอกาสเข้าไปทำงานก็อาจได้รายได้ต่ำกว่าระดับการศึกษาที่ร่ำเรียนมานั่นเอง
หลายคนอาจตั้งคำถามเรื่อง Skill Mismatch ว่ามันพอมีตัวอย่างหรือประเภทให้เห็นภาพชัดเจนไหม คำตอบคือมีครับ แบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ
1. Qualification Mismatch มีระดับการศึกษาที่ไม่ตรงกับระดับทักษะที่แรงงานต้องการ
2. Filed of Study Mismatch จบการศึกษาในสาขาที่ตลาดไม่ได้มีความต้องการ
3. Skills Mismatch ระดับทักษะความสามารถไม่ตรงต่อความต้องการของตลาด
จากข้อมูลเหล่านี้ได้สะท้อนไปยังข่าวสารที่เราเคยได้เห็นได้ยินกันมาบ้าง เช่น เด็กจบปริญญาตรีว่างงานนับหมื่น หรือคนจบปริญญาเอกเดินเตะฝุ่น ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มตลาดแรงงานที่จบต่ำกว่าระดับปริญญาตรีที่ตลาดแรงงานมีความต้องการมากถึงร้อยละ 51 ซึ่งสะท้อนให้เราเห็นว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่รับเทคโนโลยีของต่างประเทศเข้ามากกว่าการเป็นต้นน้ำในการสร้างสรรค์การผลิตสินค้าด้วยตัวเอง
โดยส่วนตัวของผมเองนั้นก็ทำงานที่ไม่ได้ตรงสายที่เรียนมาเหมือนกัน ซึ่งจากประสบการณ์ในการหนีกับดักเรื่อง Skill Mismatch ก็คือการสร้างภาวะการณ์เรียนรู้และการกำหนดเป้าหมายให้แก่ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงมีพฤติกรรมเฉกเช่นนี้อยู่เหมือนกัน
เพราะการเอาตัวรอดในบริบทของโลกการทำงานเพื่อสร้างรายได้กับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปด้วยการปรับตัวและพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ คือทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ที่ไม่ว่าเราจะอยู่ในตลาดแรงงานภาคส่วนไหนก็จำเป็นต้องมี และมีไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างรายได้จนกว่าเราจะมั่นใจได้ว่าเงินในบัญชีการลงทุนของเราจะสามารถคุ้มครองเราได้ไปยันวันสุดท้ายของชีวิต
ในขณะเดียวกันนั้น ภาครัฐเองก็ต้องเข้ามาสนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ของกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสให้มากขึ้น เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำไม่ให้เกิดช่องว่างมากเกินไป ซึ่งมีหลายมิติที่มากเกินกว่าจะมาเขียนอธิบายได้ทั้งหมด
เราได้เข้าสู่ยุคสมัยที่ต้องอาศัยจุดแข็งที่หลากหลายและสร้างความสามารถให้รองรับความต้องการของตลาดอยู่เสมอ แน่นอนว่านับจากนี้เป็นต้นไปเราคงได้เห็นอาชีพและทักษะใหม่ๆ โผล่กันมาเต็มตลาดแรงงาน และการเตรียมความพร้อมก็คือการไม่ให้อนาคตทิ้งเราอยู่ข้างหลังจนห่างกันเกินไปด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แบบไม่มีวันจบสิ้นนั่นเอง
อ้างอิง:
- MPG Ecomomic Review หัวข้อ กับดัก Skill Mismatch และความท้าทายสู่ Education 4.0
- Suthichai live เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก