สมัยเรียนมัธยม นอกจากค่าความบันเทิงแล้ว สิ่งที่ผมเสียเงินอยู่เป็นประจำคือค่าถ่ายเอกสารและค่าพรินต์รายงานเพื่อนำส่งอาจารย์เนี่ยแหละครับ ไม่รู้ว่าน้องๆ ในยุคนี้ยังต้องทำรายงานส่งอาจารย์กันอยู่หรือเปล่า เรียกได้ว่าจ่ายจนร้านถ่ายเอกสารร่ำรวยเลยทีเดียว ยิ่งร้านไหนอยู่ใกล้โรงเรียนนะ ถือว่าทำกำไรอย่างต่อเนื่องกันเลย
จนเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย การทำรายงานเป็นเล่มๆ ก็ยังเยอะอยู่ จนเพื่อนๆ ในหอพักเสนอให้ช่วยกันลงกองกลางเพื่อซื้อเครื่องพรินเตอร์ประจำกลุ่มกันเลยทีเดียว ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย เพราะบางทีการต้องรีบใช้บริการด่วนก็ต้องไปใช้บริการร้านที่มีราคาแพงกว่ามาตรฐาน ทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายไปหลายเท่า
พอเข้าสู่วัยทำงาน ชีวิตกับเจ้าเครื่องถ่ายและพรินต์เอกสารก็ยังคงวนเวียนอยู่ใกล้ตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เริ่มเห็นรายละเอียดจากมุมของการทำงานในองค์กรก็คือเริ่มมีการประหยัดทรัพยากรอย่างกระดาษที่ใช้ถ่ายเอกสารกันมากขึ้น เช่น การใช้กระดาษมือสองที่คนอื่นเคยใช้ แล้วมาใช้ต่อในหน้าที่เหลือ หรือนโยบายกรณีจำเป็นในการถ่ายเอกสารที่เป็นสี
บางองค์กรใช้กระดาษทั้งสองหน้าเสร็จแล้วก็ยังไม่ทิ้ง แต่นำไปบริจาคเพื่อให้จิตอาสานำไปผลิตเป็นหนังสือสำหรับคนตาบอดก็มี เรียกได้ว่าการใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวัน ถ้าเรายังเห็นช่องทางในการใช้ประโยชน์ในทางอื่นต่อก็สามารถประหยัดไปได้เยอะพอสมควร
หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วยังมีวิธีอื่นอีกไหมที่สามารถประหยัดกับทรัพยากรที่เราจำเป็นต้องใช้กันอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะในออฟฟิศ ตอนเขียนถึงบรรทัดนี้ ผมก็นึกถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เขาชื่อ Suvir Mirchandani ปัจจุบันน่าจะอายุราว 20 ปีเศษแล้ว
ชื่อของ Suvir เริ่มเป็นที่รู้จักราวๆ เกือบ 5 ปีก่อน ซึ่งเท่ากับว่าตอนนั้นเขาอายุแค่ 15 ปีเท่านั้น เพราะว่าเขาเสนอไอเดียในการประหยัดงบประมาณฝ่ายจัดการเอกสารของรัฐบาลสหรัฐฯ ไปกว่า 370 ล้านเหรียญดอลลาร์ฯ ถ้าตีมูลค่าเป็นเงินไทยก็ราวๆ 11,000 ล้านบาท (พระเจ้าจอร์จมันยอดมาก)
เรื่องราวที่เกิดขึ้นมาจากการที่ Suvir ต้องคิดโปรเจ็กต์วิทยาศาสตร์ส่งอาจารย์ แล้วบังเอิญเขาสังเกตเห็นว่าไอ้เจ้าใบปลิวที่แจกกันทั่วโรงเรียนเนี่ยมันเยอะเหลือเกิน เขาจึงตั้งสมมติฐานขึ้นมาเล่นๆ ว่า ถ้าใบปลิวเยอะขนาดนี้ ตัวอักษรก็ใช้มากมาย นี่ต้องใช้หมึกหมดไปกี่ถังเนี่ย!
ทันใดนั้นเอง หลอดไฟก็ติดขึ้นมาบนหัวของ Suvir ทันที แน่นอนว่าการประหยัดเรื่องพวกนี้ นอกจากกระดาษมือสองแล้ว ยังไม่มีใครพูดถึงการประหยัดหมึกพิมพ์เลย ซึ่งราคาในการซื้อหมึกพิมพ์มาใช้ก็ไม่เบาเหมือนกัน เขาจึงเริ่มโฟกัสกับโปรเจ็กต์นี้โดยทันที
วิธีคิดของ Suvir ไม่ได้ซับซ้อน เขาคิดว่าการใช้หมึกขึ้นอยู่กับขนาดและพื้นที่ในการใช้ ดังนั้น เขาจึงมองหาตัวการเหล่านั้น นั่นก็คือประเภทฟอนต์ตัวอักษรต่างๆ ที่เรานิยมใช้กันนี่แหละครับ โดยเขาได้คัดเลือกประเภทฟอนต์ที่นิยมใช้ในจดหมาย เอกสาร และใบปลิว มาจนเหลือกลุ่มสุดท้าย นั่นคือ Garamond, Times New Roman, Century Gothic และ Comic Sans
จากนั้นก็ทดลองด้วยการใช้หมึกจำนวนเท่ากัน ข้อความเท่ากัน แต่มีการใช้ฟอนต์ที่แตกต่างกันออกไป เขาทดลองอยู่หลายครั้งเพื่อความแน่ใจ ผลปรากฏว่าฟอนต์ของ Garamond สามารถประหยัดหมึกพิมพ์ได้มากกว่าฟอนต์ประเภทอื่นๆ เหตุเพราะ Garamond เป็นฟอนต์ที่มีความหนาไม่มากนั่นเอง
หลังการทดลองเสร็จนั้น Suvir ได้นำไปคำนวณกับค่าใช้จ่ายของโรงเรียนที่ต้องลงทุนเรื่องหมึกพิมพ์ในทุกๆ ปี ซึ่งหากโรงเรียนนำวิธีของเขาไปใช้จะประหยัดไปกว่า 24% หรือตีเป็นมูลค่า 21,000 ดอลลาร์ฯ ต่อปีเลยทีเดียว
แน่นอนว่าไอเดียของ Suvir ไม่ได้หยุดแค่ในโรงเรียน เพราะโปรเจ็กต์ของเขายังได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร จนแพร่สะพัดไปยังสื่อต่างๆ รวมถึงการแนะนำช่วยประหยัดงบประมาณให้แก่ฝ่ายจัดการเอกสารของรัฐบาลสหรัฐฯ ตามที่เขียนถึงไว้ในเบื้องต้นด้วยเช่นกัน
โปรเจ็กต์ไอเดียในการประหยัดหมึกของ Suvir สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตมากมาย ซึ่งหากเห็นและปรับแก้ไขได้ เชื่อว่าเงินตราในชีวิตน่าจะขยับขยายจนเกิดผลที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
ที่สำคัญกว่านั้น หากใครอ่านเรื่องราวที่ผมเขียนถึงในวันนี้ ลองเอาไอเดียนี้กลับไปเสนอผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรหรือบริษัทดูครับ เพราะนอกเหนือจากจะช่วยประหยัดงบบริษัทแล้ว ไม่แน่ว่า… เงินเดือนคุณอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยก็ได้นะ ฮ่าๆ
อ้างอิง: https://edition.cnn.com/2014/03/27/living/student-money-saving-typeface-garamond-schools/index.html