คุณมีไอดอลในชีวิตไหม? นักสัมภาษณ์คนหนึ่งถามผม ขณะที่เรากำลังสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการทำงานและการดำเนินชีวิต คำถามนี้ทำให้ผมนิ่งคิดไปครู่หนึ่ง จากนั้นจึงตอบคนสัมภาษณ์ไปว่า ‘โอโตทาเกะ ฮิโรทาดะ’
ผมอธิบายไปว่า ชายญี่ปุ่นคนนี้คือนักเขียนที่มอบพลังแห่งความเพียรให้ผม เพราะเขาคือบุคคลที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกายที่ไม่สมบูรณ์เหมือนคนทั่วไป ทว่าข้อจำกัดเหล่านั้นคือโจทย์ที่มาท้าทาย และเขาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความสามารถภายใต้ความเพียร ส่งผลให้เขาเอาชนะข้อจำกัด รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ ในชีวิตได้อย่างน่าภาคภูมิ (ใครสนใจเรื่องราวของเขาแนะนำอ่านหนังสือ ไม่ครบห้า)
ขณะพูดคุยถึงประเด็นนี้ ทำให้ผมนึกถึงความคิดและคำพูดของ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้บริหารชื่อดัง ที่เดินทางไปบรรยายให้แก่องค์กรแห่งหนึ่ง วันนั้นคุณธนาพูดถึงหัวข้อการคิดบวก ซึ่งเขาพยายามชี้ให้เห็นว่าวิธีคิดเช่นนี้มีความสำคัญและส่งผลอย่างไรต่อชีวิตบ้าง
การที่คุณธนามีโอกาสพบปะและพูดคุยกับผู้คนมามากมาย ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงระดับพนักงานและคนทั่วไป ทำให้เขายิ่งมั่นใจว่าวิธีคิดในแง่บวกสำคัญต่อชีวิตมากแค่ไหน และเขาได้ยกบุคคลตัวอย่างขึ้นมาคนหนึ่ง ซึ่งบุคคลคนนั้นชื่อ ‘เอกชัย วรรณแก้ว’
ผมเชื่อว่าหลายคนไม่น่าจะรู้จักชื่อและชีวิตของเอกชัยสักเท่าไหร่ แต่ถ้าลองนำชื่อของเขาไปเสิร์ชบนอินเทอร์เน็ต หลายคนอาจจะร้อง ‘อ๋อ’ ไม่มากก็น้อย เพราะเขาคือศิลปินนักวาดภาพที่มีความสามารถอย่างเหลือเชื่อ – ที่บอกว่าเหลือเชื่อก็เพราะว่าเขาวาดรูปด้วยปาก ไหล่ และปลายเท้า
ใช่ครับ ร่างกายของเขาไม่สมบูรณ์ แต่ใจของเขายังแข็งแรง
คุณธนาเล่าว่า การได้เจอกรณีอย่างคุณเอกชัย ทำให้เขาสนใจวิธีคิดต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการรับมือ และจัดการกับปัญหาต่อความไม่สมบูรณ์ของร่างกายบนเส้นทางชีวิตตัวเอง
คุณธนาคลายคำตอบอย่างเรียบง่ายไว้ว่า ปัญหาบนโลกใบนี้มีอยู่สองอย่างคือปัญหาที่แก้ไม่ได้ กับปัญหาที่แก้ไขได้ สุดท้ายอยู่ที่เราเลือกว่าจะใช้เวลาหมดไปกับปัญหาชนิดไหน
ชีวิตของเอกชัยเลือกที่จะอยู่กับปัญหาที่แก้ไขได้ และนำปัญหาที่แก้ไขไม่ได้อย่างความไม่สมบูรณ์ของร่างกายทิ้งไป แล้วในพัฒนาสิ่งที่เขาคิดว่ามันจะเป็นโอกาส – สิ่งนั้นคือการวาดรูปที่เขาหลงใหล จนเริ่มมีชื่อเสียงและได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมและวงการศิลปะ
การยกตัวอย่างถึงบุคคลที่มีต้นทุนไม่มาก แต่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยความเพียรพยายาม มักเริ่มต้นมาจากการคิดบวกเสมอ เพราะวิธีคิดเช่นนี้จะทำให้ชีวิตเห็นโอกาสมากกว่าเห็นอุปสรรค
ดังนั้น การก้าวผ่านความทุกข์ของชีวิตจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของใครหลายคน ที่อาจเป็นทั้งบทเรียนและจุดเปลี่ยนได้ทั้งนั้น ซึ่งคุณธนาให้นิยามของความทุกข์และความลำบากเหล่านั้นไว้ว่าเป็น ‘สินทรัพย์แห่งความกันดาร’
ความกันดารหรือความลำบากคล้ายดั่งโค้ชชีวิตที่คอยเคี่ยวกรำให้เรารู้จักมองเห็นทางที่จะไป และความสามารถที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเอง
ถ้าเราลองคิดเล่นๆ ว่า ชีวิตที่ไม่มีอุปสรรคเลย หน้าตาของชีวิตจะออกมาเป็นอย่างไร – แล้วชีวิตเช่นนั้นจะเรียกว่าความสุขได้ไหม ความสุขที่ไม่ต้องทำอะไรปล่อยชีวิตให้ไหลไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าช่วงแรกอาจจะมีความสุขดี แต่เวลาผ่านไปสักระยะความทุกข์จะค่อยๆ เกิดขึ้น
สถานการณ์เช่นนี้ ผมและเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนเคยผ่านมาเหมือนกัน สมัยเพิ่งจบการศึกษา พวกเราทำงานไปสักพัก เมื่องานหรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ในที่ทำงานไม่สอดคล้องกับที่เราคิดและคาดหวังไว้ เราก็ตัดสินใจเดินออกมาเพื่อหวังว่าเราจะออกไปเจองานในอุดมคติ
การออกจากงานมาอยู่บ้านเฉยๆ เพื่อรอโอกาสให้พบงานที่ตรงตามคาดหวังก็คือช่วงกันดารของชีวิต เพราะเมื่อระบบของร่างกายไม่ได้ถูกใช้ให้ออกไปเห็นโลก ออกไปคิดเพื่อแก้ปัญหา ออกไปพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่เปลี่ยนไป คำตอบเดียวกันที่ผมได้จากตัวเองและผองเพื่อนคือการเริ่มต้นตั้งคำถามถึงคุณค่าของตัวเอง
เมื่อมานั่งคิดทบทวนแล้วพบว่า มนุษย์อาจถูกออกแบบมาให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเคลื่อนที่อยู่เสมอ มนุษย์คือนักล่าความคิด ล่าอารมณ์ ล่าเหตุผล และความสำเร็จ – ระหว่างการไล่ล่าเราจะมีความสุข เพราะมันคือการที่เราได้ออกไปใช้ความสามารถ และจะมีความสุขมากยิ่งขึ้นเมื่อเราสามารถนำอาหารที่ล่ามาได้ไปแบ่งปันแก่ผู้อื่น ผ่านภาชนะที่เรียกว่า การบรรยาย การวาด อย่างที่โอโตทาเกะทำตามความฝันของตัวเองจนได้เป็นอาจารย์สอนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น หรือการเป็นศิลปินวาดภาพที่มีพรสวรรค์ที่เกิดจากพรแสวงของ เอกชัย วรรณแก้ว ซึ่งการที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการมอบกำลังใจให้แก่ทุกๆ คนที่กำลังเผชิญปัญหาและยังไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร
เป็นกำลังใจให้ครับ