อายุยืน

อายุยืนขึ้นเป็นความสุขหรือคำสาป อยู่ที่การบริหารชีวิตและการเงินวันนี้ของตัวเรา

“การมองไปข้างหน้าฉลาดเสมอ แต่คงยากที่จะมองไปไกลกว่าที่ตาเห็น”

ผมชื่นชอบประโยคนี้ของ วินสตัน เชอร์ชิล มากๆ ครับ และไม่คิดว่าจะนำมันมาเขียนในบทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินและชีวิต เพราะการคิดตามประโยคที่เชอร์ชิลกล่าวไว้นั้นมีขอบเขตบางๆ กั้นความคิดของเราไว้อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของอายุขัยโดยทางธรรมชาติที่ตีกรอบให้เราคิดว่าจะออกแบบชีวิตปัจจุบันไปจวบจนถึงวันสุดท้ายอย่างไร

     หากพูดถึงอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยแล้วจะอยู่ที่ 80 ปี ถ้าระบุเป็นเพศหญิง จะมีโอกาสอายุยืนยาวกว่าผู้ชายเล็กน้อย อ้างอิงจากสารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงข้อมูลในปี 2562 พบว่า ผู้หญิงจะมีอายุยืนหลัง 80 ปี ไปอีก 8.3 ปีโดยเฉลี่ย ส่วนผู้ชายจะมีอายุยืนหลัง 80 ปี ประมาณ 6 ปีโดยเฉลี่ย

     เมื่อค่าเฉลี่ยเป็นเช่นนี้ นี่จึงเป็นสาเหตุให้นักวางแผนการเงินส่วนใหญ่นิยมให้เราคำนวณเงินใช้จ่ายหลังเกษียณที่ควรมีที่จะใช้จ่ายหลังอายุ 60 ไปอีก 20 ปี ซึ่งจะมาบรรจบที่อายุ 80 ปีพอดิบพอดี ด้วยการถามคำถามง่ายๆ เช่น

     1. คุณคิดว่าคุณจะมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนเท่าไหร่

     2. คุณคิดว่าจะมีอายุอยู่บนโลกใบนี้ถึงอายุเท่าไหร่

     เป็นสองคำถามง่ายๆ แต่มีความหมายต่อชีวิตมากๆ ครับ เพราะอย่าลืมว่า ยิ่งเรามีอายุเยอะ ส่วนใหญ่ศักยภาพในการหารายได้จะลดลง ถ้าไม่มีการวางแผนการเงินด้านการลงทุนไว้ให้แก่ชีวิตอย่างรอบคอบ

 

     สมมติคุณตอบคำถามข้อแรกว่าค่าใช้จ่ายหลังเกษียณตกอยู่เดือนละ 30,000 บาทต่อเดือน นั่นเท่ากับว่าต่อปีจะต้องมีเงินค่าใช้จ่ายก้อนนี้ 360,000 บาท ซึ่งต้องเอาไปคูณกับคำถามข้อที่สอง คือการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้หลังเกษียณอีก 20 ปี

     ดังนั้น คุณต้องมีเงินก้อนถึง 7,200,000 บาท เลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมเงินเฟ้อที่แอบทยอยขึ้นกันอีกนะครับ นี่เป็นเหตุให้เราไม่สามารถละเลยการลงทุนเพื่อต่อสู้กับสภาวะเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน

     นี่คือโจทย์แรกของกรอบชีวิตที่ติดขอบอยู่ที่อายุประมาณ 80 ปี     

 

     จริงๆ เรื่องมันควรจะจบแค่นี้นะครับ ถ้าผมไม่บังเอิญไปอ่านหนังสือ The 100-Year Life ที่เขียนโดย ลินดา แกรนตัน และ แอนดรูว์ สกอตต์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทั้งคู่ที่เก่งในด้านการบริหารและเศรษฐศาสตร์

     ประเด็นหลักๆ ของหนังสือเล่มนี้คือการแจ้งเตือนกับตัวเราเองว่าโอกาสที่เราจะมีอายุถึง 100 ปี มีความเป็นไปได้มากขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องนั่นเอง ดังนั้น การประเมินอายุขัยที่จะอยู่บนโลกใบนี้จากค่าเฉลี่ยเดิมที่อยู่ประมาณ 80 ปีเศษ จึงถูกขยายออกไปเป็น 100 ปี ซึ่งเท่ากับว่าเราจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณอีก 40 ปี!

     การมีอายุยืนยาวดูจะเป็นเรื่องน่ายินดีที่มาพร้อมกับความสุขของใครหลายๆ คน แต่สำหรับคนบางกลุ่มก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนัก ถ้าเราไม่สามารถเตรียมคำตอบที่ถามถึงเรื่องค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจากการทำงานได้ หากคำนวณตามปีที่เพิ่มขึ้นมาหนึ่งเท่าตัว เท่ากับว่าเราต้องมีเงินใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 40 ปี รวมเป็นเงินถึง 14,400,000 บาท!!

     The 100-Year Life จึงเป็นหนังสือที่ส่งตรงมาจากอนาคตเพื่อมาเตือนตัวเราให้รู้จักวางแผนการเงินและการใช้ชีวิตอย่างสมดุล หากปล่อยปละละเลยจนสายเกินไป การมีชีวิตที่ยาวนานโดยปราศจากเงินตราที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนและอำนวยความสะดวกให้ชีวิตนั้น คงไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงปรารถนาของใครหลายๆ คนเป็นแน่

     ฉะนั้น การมีชีวิตที่ยืนยาวจึงสามารถเป็นได้ทั้ง ‘ความสุข’ และ ‘คำสาป’ หากปราศจากการดูแลสุขภาพกาย ใจ และการเงิน ให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน นี่คืออนาคตที่กำลังรอพวกเราอยู่ และเป็นอีกหนึ่งการมองไปไกลกว่าที่ตาเห็น ซึ่งมันคงไม่ได้ยากเกินไปแบบที่เชอร์ชิลกล่าวไว้ข้างต้น สำหรับคนที่รู้แนวโน้มและความเป็นไปของโลกที่เราต้องก้าวตามให้ทันอยู่เสมอ