การทำงานของสมอง

อย่าเพิ่งคิดจะรวย ถ้ายังไม่มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ ข้อคิดจาก แครอล ดรอก และ มัลคอม แกรดเวลล์

เรามักสงสัยว่าทำไมคนเก่งๆ ถึงมีความสามารถในการต่อยอดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา การค้นหาคำตอบที่ว่านี้จึงถูกทดสอบจากการทำงานของสมอง

        เราเคยได้ยินกรณีศึกษาถึงการนำเอาสมองของไอน์สไตน์หลังเสียชีวิตมาศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความอัจฉริยะ และบทสรุปโดยภาพรวมคือ สมองของไอน์สไตน์มีการเชื่อมโยงกันมากกว่าสมองของคนอื่นๆ ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกัน

        ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูล และการบูรณาการจากสิ่งเก่าจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ คงไม่มีต้นทุนอะไรสำคัญไปกว่าการเรียนรู้อีกแล้ว เพราะการเรียนรู้นั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงของการทำงานภายในสมอง

        เอริก แคนเดิล นักวิทยาศาสตร์ บอกไว้ว่า การเรียนรู้ทำให้สมองปรับเปลี่ยนการเชื่อมโยงอยู่ตลอดเวลา และการเชื่อมโยงนี่เองที่ทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ เพื่อทดสอบสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นให้ปรากฏบนโลกใบนี้

        ในศตวรรษที่ 18 วิเซนโซ มาลาคาร์เน นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียน ได้ทดสอบการเรียนรู้ของสมองผ่านนกสองฝูงที่มีการเรียนรู้แตกต่างกันออกไป จากนั้นเขาฆ่านกเหล่านั้นและผ่าสมองออกมาศึกษา ผลทดสอบพบว่าสมองของนกที่มีการเรียนรู้มีรอยหยักมากกว่านกที่ไม่ได้รับการฝึก

        อ่า… แต่ไม่ต้องสงสัยตัวเองจนต้องผ่าสมองมาดูนะครับ เพราะว่าการพัฒนาตัวเองยังคงมีอีกหลายรูปแบบ

        การเรียนรู้ที่เขียนมาเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือมุมมองส่วนตัวที่จะเสริมให้เราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น แครอล ดรอก นักจิตวิทยาจากสแตนฟอร์ด ใช้เวลากว่า 40 ปี เพื่อศึกษาว่ามุมมองในชีวิตแบบไหนที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของชีวิต โดยแครอลได้ทำการทดลองนี้กับเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่ง และติดตามผล ซึ่งเขาพบว่ามุมมองที่มีอิทธิพลนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ มุมมองแบบเติบโต และมุมมองแบบตายตัว

        แครอลพบว่าเด็กที่มีมุมมองแบบเติบโตจะเป็นพวกที่หัดให้กำลังใจตัวเองได้ดีกว่า มีความพยายามสูง และมีความสิ้นหวังน้อย ถ้าเปรียบนักฟุตบอลก็เล่นเต็มที่แบบไม่ท้อจนกว่าผู้ตัดสินจะเป่านกหวีดหมดเวลานั่นแหละ ถึงแม้ว่าทีมจะเป็นฝ่ายตามหลังอยู่หลายประตู แต่อย่างน้อยก็ขอตีไข่แตกเพื่อเป็นกำลังใจให้ทีมและแฟนบอลก็ยังดี

        ส่วนพวกมุมมองแบบตายตัวนั้นมักจะติดอยู่ที่ปัจจัยอื่นๆ โดยไม่หัดมองโอกาสรอบตัว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ที่เขียนถึงในเบื้องต้นก็ได้ เรามักได้ยินประโยคอันแสนน่าเบื่ออยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าฉันมีเงินจำนวนเท่านี้ฉันคงทำไปแล้ว หรือถ้าฉันเก่งกว่านี้ฉันคงทำได้ดีกว่านี้ สรุปสั้นๆ คือ มุมมองแบบตายตัวคือการสร้างเงื่อนไขเข้ามารัดโอกาสและโบกปูนปิดความสำเร็จตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย

        นักเขียนชื่อดังอย่าง มัลคอล์ม แกรดเวลล์ ได้แสดงทัศนะบนเวที The World Business Forum โดยพูดถึงการที่ตัวเองถูกดิสรัปต์นั้นไม่ใช่เกิดจากเหตุผลเหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ หรือความร่ำรวย หากแต่เป็นทัศนคติของเรานั่นแล

        บทสรุปที่มัลคอล์มได้ให้แง่คิดไว้ในโลกที่กำลังถูกแปรสภาพไปอย่างรวดเร็วนั้นมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน 

        ข้อแรก—มองให้เห็นเสน่ห์ของความขัดแย้งทางความคิด เพราะจะทำให้เราลงมือทำในสิ่งที่แตกต่าง และไม่กลายเป็นฝูงปลาที่อยู่ในน่านน้ำกับปลาจำนวนมาก

        ข้อสอง—หัดใช้จินตนาการในการแก้ไขปัญหา มัลคอล์มแนะว่าการแก้ไขปัญหาอาจมีหลายทาง แต่ทางที่จะทำให้เหนือชั้นกว่าการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ จำเป็นต้องใช้จินตนาการเข้ามาช่วย แล้วการใช้จินตนาการมาช่วยแก้ไขปัญหาได้นั้นอาจทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

        ข้อสุดท้าย—ตัดข้อจำกัดออกไป ซึ่งข้อสุดท้ายนี่แหละครับที่สำคัญที่ทำให้เราต้องมองย้อนไล่กลับไปตั้งแต่การใช้จินตนาการ การมองให้เห็นเสน่ห์ของความคิดที่แตกต่าง มุมมองแห่งการเติบโต และการเรียนรู้ที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นโอกาสในยุคที่บุคคลธรรมดาสามารถก้าวขึ้นมาท้าชิงแชมป์กับผู้มีอิทธิพลยุคก่อนๆ ได้อย่างง่ายดาย 

        ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานทุกคนต่อสู้กับโลกที่ผันแปรแบบนี้ต่อไป