สิริทัศน์ สมเสงี่ยม

ขายลูกชิ้นทอดอย่างไรให้ได้เดือนละแสน กับบทเรียนชีวิตของ สิริทัศน์ สมเสงี่ยม

ช่วงพักกลางวัน ผมบังเอิญไปเจอเพื่อนสนิทสมัยเรียนปริญญาตรีด้วยกัน การที่ไม่ได้เจอกันนานทำให้เราแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบกันอย่างออกรส เพื่อนของผมบอกว่าเพิ่งลงทุนเงินหลักแสนทำขนมอบกรอบเพื่อจัดจำหน่าย โดยจดทะเบียนต่างๆ มากมาย และพยายามหาช่องทางกระจายสินค้าเพื่อให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือเขามีปัญหากับหุ้นส่วน

        เพื่อนผมพูดไปถอนหายใจไปพร้อมกับบอกเป็นนัยว่าอาจจะเลิกทำ เพราะไม่อยากมีปัญหา หากทำด้วยกันต่อไปกลัวจะเหนื่อยอยู่ฝ่ายเดียว แถมบางครั้งหุ้นส่วนไม่ค่อยจะรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนาสินค้าสักเท่าไหร่ ผมฟังแล้วก็เห็นอกเห็นใจ เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่เพื่อนสนิทที่จะเจรจาต่อรองกันง่ายๆ อย่างไรก็ตาม มองอีกมุมหนึ่ง ประสบการณ์ลงทุนทำธุรกิจครั้งนี้ถือว่าเป็นทุนที่เพื่อนผมได้เรียนรู้อะไรมากพอสมควร

        ตอนฟังเรื่องราวของเพื่อนคนนี้ ทำให้ผมนึกถึงเส้นทางชีวิตกับวิธีคิดของ ‘คุณติ๊ก’ – สิริทัศน์ สมเสงี่ยม

        ผมรู้จักคุณติ๊กจากการได้ดูเรื่องราวชีวิตของคุณติ๊กผ่านรายการหนึ่ง ซึ่งนับว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก ถึงแม้เนื้อหาชีวิตในช่วงวัยรุ่นจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดของพ่อแม่ที่ได้แต่เฝ้าดูลูกกระทำในสิ่งที่ผิดด้วยการขโมยของจนเป็นนิสัย และถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กขี้ขโมย ไปบ้านเพื่อนหลังไหนก็ถูกพ่อแม่ของเพื่อนไล่สาปส่ง กระทั่งชีวิตถึงจุดตกต่ำด้วยการติดคุกเยาวชนในข้อหาจำหน่ายยาเสพติด ทว่าในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการหลงผิดของคนจำนวนมากกลับทำให้เขาเข้าใจชีวิตมากขึ้น

        “แต่ก่อนผมสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ชีวิตของตัวเอง พอติดคุกทำให้ผมเห็นชีวิตคนอื่น และเห็นผลของการกระทำ” เขาเอ่ยถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตให้พิธีกรฟัง

        เมื่อผ่านพ้นเมฆสีดำที่สาดบทเรียนชีวิตใส่เขา เขากลับมาตั้งต้นใหม่ด้วยการหางานทำในตลาด กระทั่งเขาอยากมีธุรกิจของตัวเอง ธุรกิจที่ตั้งต้นได้เร็วและใช้ต้นทุนไม่มาก หนึ่งในนั้นคือการขายลูกชิ้นทอด

        เขาเก็บเงินเพื่อมาตั้งต้นทำธุรกิจลูกชิ้นทอด ในตอนแรกธุรกิจของเขาไปได้ด้วยดี สามารถสร้างรายได้จากลูกชิ้นทอดเป็นเงินจำนวนหลักพันต่อวัน แทนที่ความพึงพอใจต่อรายได้จะจบแค่นั้น แต่เขาคิดต่อด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะขายลูกชิ้นได้เดือนละแสน! อ่านไม่ผิดหรอกครับ ขายลูกชิ้นได้เดือนละแสน ตอนผมฟังก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน

 

        เขาเขียนลงบนกระดาษและมาคำนวณว่าต้องขายได้เท่าไหร่จึงจะถึงเป้าหมายที่วางไว้

        3,333 บาทต่อวัน คือยอดที่เขาต้องทำให้ถึง

        เขาลงมือปฏิบัติด้วยการเปิดร้านเร็วขึ้นกว่าเดิมและอยู่จนดึกดื่นเพื่อขยายเวลาในการสร้างโอกาสการทำรายได้ จนแล้วจนรอดก็ไม่ถึงตามเป้าที่ตั้งไว้

        เช้าวันต่อมาเขาแปะป้ายประกาศรับสมัครพนักงานขายลูกชิ้นได้อย่างน่าสนใจ

        ‘รับสมัครงานขายลูกชิ้น ไม่มีเงินเดือนให้’

        อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ตอนฟังทีแรกผมก็งงเหมือนกันว่าถ้าไม่จ้างด้วยเงินแล้วใครจะมาทำ แต่พอฟังคำตอบของเขาแล้วก็ร้องอ๋อเลย เรียกว่าเป็นกลยุทธ์คัดกรองคนที่สนใจจริงๆ ให้เข้ามาสอบถามด้วยตัวเองครับ สุดท้ายมีน้องคนหนึ่งเดินเข้ามาถาม

        คุณติ๊กยื่นข้อเสนอได้อย่างน่าสนใจคือรายได้ทั้งหมดจากการขายต่อวัน น้องรับไปครึ่งหนึ่ง ส่วนเขารับไปครึ่งหนึ่ง โดยมีอุปกรณ์ทุกอย่างให้ครบอยู่แล้ว เหลือแต่การขายเท่านั้นที่น้องต้องรับผิดชอบ หากขยันก็ได้มาก ไม่ขยันก็ได้น้อยตามรายได้ต่อวัน คล้ายกับคนขายเป็นหุ้นส่วนของร้านที่มีส่วนได้ส่วนเสียไปเลย เมื่อร้านแรกดำเนินไปได้ด้วยดี คุณติ๊กจึงทำร้านที่สอง ที่สาม ที่สี่ แนวคิดเช่นนี้ถูกกระจายไปทั่วจนเขาสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และสามารถต่อยอดไปทำอะไรอย่างอื่นที่สนใจได้ต่อไป

        เรื่องราวเหล่านี้ไม่เชิงชี้โพรงให้กระรอกนะครับ เพียงแต่ผมอยากชี้ให้เห็นถึงความพยายามที่สะท้อนไปสู่วิธีคิด และการทดลองที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้ มันเป็นเรื่องที่ยากมากแต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้

 

        คุณติ๊กบอกไว้ในรายการว่า “ผมเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แสดงว่าใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น” ที่สำคัญ ก่อนที่เขาจะก่อร่างสร้างชีวิตให้ดีขึ้น ในแง่ของการทำธุรกิจ เขาก็เจ๊งมาหลายธุรกิจแล้วเช่นกัน จนเขาเอ่ยติดตลกว่าเพื่อนๆ ชอบเรียกว่า ‘ติ๊กร้อยร้าน’ ร้อยล้านไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นปริมาณของความล้มเหลวจากการทำธุรกิจต่างหาก

        หลังดูเรื่องราวของคุณติ๊กจบลง ผมก็พลางคิดเล่นๆ เหมือนกันว่าหากเจอเพื่อนสนิทที่กล่าวถึงในช่วงต้นอีกครั้ง น่าสนใจว่าผมจะได้คำตอบจากการทำธุรกิจของเขาอย่างไร ไปต่อหรือล้มเลิก ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแผกประการใดหากจะได้คำตอบทั้งสองขั้ว

        สิ่งสำคัญกว่านั้นคือเหตุผลของการไปต่อกับการล้มเลิกต่างหากที่ผมอยากฟังว่าเขาคิดเห็นแบบไหน ตัดสินใจอย่างไร เพราะการจะได้สิ่งใดมาย่อมต้องแลกสิ่งอื่นไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุน ความเหน็ดเหนื่อย ความทุกข์ หรือแม้กระทั่งมิตรภาพที่เราคิดว่าไม่มีสิ่งใดมาทำลายได้นั่นเอง