ลุงติ๊กสเกล

เรียนรู้การต่อสู้ต่อปัญหาการเงินกับลุงติ๊กสเกล ชายผู้มีเงินเกษียณเพียง 1,500 บาท

สวัสดีท่านผู้อ่านทุกคนครับ วันนี้ผมมีคำถามครับว่า ก่อนที่จะเกษียณ คุณดันพบว่าเมื่อนำเงินที่เก็บมาตลอดชีวิตไปหักลบกลบหนี้สินที่ค้างไว้ จนสุดท้ายมีจำนวนเงินคงเหลือติดตัวทั้งหมด 1,500 บาท คุณจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป

        ผมเชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในชีวิตเพราะมันเป็นโจทย์ที่ยากลำบากมากในการที่คิดจะพลิกเกมชีวิตให้กลับมาจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งได้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะครั้งนี้ผมมีกรณีศึกษาของชายที่ชื่อว่า พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก หรือเราเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ลุงติ๊ก’ มาเป็นกำลังใจให้กับคนที่กำลังต่อสู้ปัญหาเรื่องการเงินกันอยู่ครับ

        พื้นฐานชีวิตลุงติ๊กเป็นคนชื่นชอบในศิลปะ เขาจบการศึกษาสาขาประติมากรรมสากล จากวิทยาลัยเพาะช่าง ช่วงแรกในชีวิตการทำงานแกจึงทำอาชีพสกรีนเสื้อขาย แต่ด้วยการมีภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว ความมั่นคงทางด้านรายได้จึงเป็นเหตุผลให้ลุงติ๊กตัดสินใจวางมือจากงานด้านศิลปะและหันเหชีวิตเข้าสู่ระบบราชการด้วยการไปเป็นทหารอยู่ 9 ปี จากนั้นออกมาเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนานถึง 25 ปี และดูท่าทีจากข้อมูลตรงนี้ นี่น่าจะเป็นอาชีพสุดท้ายในชีวิตของลุงติ๊กก่อนที่จะได้พักผ่อนในวัยเกษียณ

        แต่หารู้ไม่ว่ามันคือจุดเริ่มต้นของวิกฤตชีวิต จากการมีเงินคงเหลือหลังหักลบกลบหนี้แล้วเพียง 1,500 บาทเท่านั้น

        เมื่อวิกฤตการเงินเกิดขึ้นในวัยเกษียณ ทางเดียวที่จะอยู่รอดของลุงติ๊กคือการหารายได้เพิ่ม ลูกชายของลุงจึงพยายามหาอาชีพที่ทั้งพ่อและลูกสนใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะพันธุ์เต่าขาย หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงกุ้งสีในช่วงที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาด แต่สุดท้ายเมื่อกระแสความนิยมของตลาดสัตว์เลี้ยงเปลี่ยน ทุกอย่างก็จบลง

        กระทั่งวันหนึ่งลูกชายของลุงติ๊กซึ่งชื่นชอบสะสมโมเดลรถ ได้ตั้งคำถามกับพ่อของเขาว่า น่าจะลองทำฉากประกอบโมเดลรถดู เพราะอย่างน้อยก็จะได้นำทักษะที่เคยเรียนเพาะช่างมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แม้ในช่วงแรกลุงติ๊กจะไม่มั่นใจในฝีไม้ลายมือของตัวเอง เพราะร้างลาจากงานศิลปะมาร่วมเกือบ 30 ปี

          แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือกมากนัก จึงทำให้เขากับลูกชายร่วมกันสร้างงานศิลปะอย่างการทำโมเดลจำลองประกอบรถขึ้นมาหลายๆ แบบเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นตัวอย่างงาน โดยงานชิ้นแรกๆ ของลุงติ๊กก็ขายได้เป็นเงินจำนวนหลักร้อยบาท จากนั้นก็เริ่มมีการบอกกันปากต่อปากจนมีออร์เดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ด้านการเงินและชีวิตของลุงติ๊กจึงพอมีความหวัง เหมือนเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เล็กๆ ให้เขายังคงมุ่งมั่นสำหรับก้าวต่อๆ ไป

 

ลุงติ๊กสเกล

 

        ชีวิตของลุงติ๊กเหมือนภาพยนตร์ที่ถูกเขียนบทไว้ เพราะอยู่มาวันหนึ่งมีนักแข่งรถย่านบางแสนติดต่อมาให้เขาทำโมเดลวงเวียนบางแสน ซึ่งเป็นงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย จนลุงติ๊กเกิดความกังวลในฝีมือตัวเอง แต่ลูกชายดันตกปากรับคำลูกค้าไปแล้ว ลุงติ๊กจึงต้องทำงานนี้อย่างสุดฝีมือ เมื่อผลงานออกมา เขาและลูกชายจึงนำผลงานไปเทียบกับรูปจริง และพบว่าเหมือนกันมาก ด้วยความภูมิใจ ลูกชายจึงติดต่อไปยังเจ้าของออร์เดอร์ เพื่อแจ้งว่าจะนำสินค้าไปส่งด้วยมือตัวเองที่บางแสน

        ทันทีที่ทั้งคู่ไปถึงวงเวียนบางแสนก็ตกใจ เพราะทุกอย่างที่ทำออกมาผ่านโมเดลนั้นเหมือนกันมาก และได้ถ่ายรูปภาพเปรียบเทียบและแชร์ลงในเพจที่ชื่อว่า ‘ลุงติ๊กสเกล & Diorama’ จนกลายเป็นไวรัล เริ่มมีการแชร์และเป็นที่รู้จักของคนที่ชื่นชอบโมเดลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถหรือฟิกเกอร์ รวมถึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก จึงเกิดบทสัมภาษณ์ผ่านรายการมากมาย

 

ลุงติ๊กสเกล

 

        งานโมเดลของลุงติ๊กจึงขยับขยาย มีตั้งแต่การสั่งทำและการประมูล มูลค่าที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่หลักร้อย แต่ไปมากกว่านั้น เพราะลุงติ๊กบอกว่า การทำโมเดลไม่ได้ทำเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความทรงจำและความผูกพันต่อสถานที่ที่ลูกค้าอยากเก็บเอาไว้เป็นการส่วนตัวด้วย นี่คือคุณค่าของงานที่ลุงติ๊กบอกว่าใส่ใจทุกรายละเอียดไม่เพียงพอ ต้องใส่ความรู้สึกเข้าไปในงานที่ทำเสมอ

        วิกฤตการเงินกับชีวิตของลุงติ๊กสอนอะไรเราบ้าง

        1. การหัดประเมินรายได้หลังเกษียณเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อตั้งเป้าการออมตั้งแต่วันนี้สำหรับวันข้างหน้า

        2. การก่อหนี้สินที่ไม่จำเป็นคือความเสี่ยงสำหรับอนาคต หากไม่มีความสามารถจัดการได้ หนี้สินจะลงโทษเราอย่างหนัก ไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวด้วย

        3. ทรัพย์สินที่สำคัญไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียว หากแต่เป็น ‘ปัญญา ทักษะ และวิชาชีพ’ จงรักษาไว้ให้ดี เพราะนี่คือทรัพย์สินที่ไม่มีใครขโมยไปจากคุณได้

        4. อย่าหมดหวังกับชีวิตหากตอนนี้ทั้งตัวคุณมีเงินอยู่น้อยนิด ขอให้กลับไปอ่านการต่อสู้ทางการเงินและชีวิตของลุงติ๊กอีกครั้ง

        ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาเรื่องการเงินครับ

 


เครดิตภาพ: ลุงติ๊กสเกล & Diorama