ปีใหม่มาถึงอีกแล้ว!
เราหลายคนเลือกต้อนรับปีใหม่ด้วยการทำอะไรใหม่ๆ และสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมในรายการแห่งการทำสิ่งใหม่ๆ ก็คือการเรียนภาษาใหม่หรือไม่ก็เป็นการฝึกฝนภาษาที่ตนเองคุ้นเคยอยู่แล้วให้คล่องแคล่วแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ซึ่งแต่ละคนย่อมมีวิธีการเรียนหรือฝึกฝนที่แตกต่างกันไป บางคนสมัครเรียนตามโรงเรียนสอนภาษา แต่บางคนก็เลือกเรียนด้วยตนเอง สำหรับผู้ที่เลือกเรียนด้วยตนเอง หนทางแห่งการศึกษาด้วยตนเองนั้นไม่ง่าย และมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง การก้าวผิดเดินพลาดอาจทำให้เราพลัดหลง เพราะไร้ครูอาจารย์คอยช่วยเหลือชี้แนะ บางคนอาจท้อแท้สิ้นหวังจนล้มเลิกความตั้งใจในการเรียน บทความนี้เป็นบทความสั้นๆ เกี่ยวกับการแนะแนวทางการศึกษาสำหรับผู้ที่ต้องการแรงบันดาลใจและวิธีการในการเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง ให้ผลิดอกออกผลงดงามโดยการถอดบทเรียนชีวิตของนักการศึกษาด้วยตนเองผู้มีนามว่า พุทธทาสภิกขุ (2449–2536)
พุทธทาสภิกขุเริ่มเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเองอย่างจริงจังหลังจากที่ท่านได้ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว (อายุ 20 ปี) ซึ่งนับว่าเริ่มเรียนช้ากว่าพวกเราสมัยนี้เป็นเวลาถึงสิบกว่าปี และยิ่งในสมัยนั้น สื่อและแหล่งความรู้ต่างๆ ในโลกที่ไร้อินเทอร์เน็ตย่อมเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก ท่านจึงต้องอาศัยเรียนเอาจากหนังสือพิมพ์บ้าง ฉลากข้างกระป๋องนมบ้าง
ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพียงไม่กี่ปี ท่านพุทธทาสเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเรียนภาษาบาลี เมื่อว่างเว้นจากการเรียนบาลี หนึ่งในกิจกรรมยามว่างของท่านคือการเรียนภาษาอังกฤษ หลังจากที่ท่านมรณภาพในปี 2536 มีการค้นพบหนังสือแบบฝึกหัดเรียนภาษาอังกฤษของท่านจำนวนหลายสิบเล่ม หากเปิดหนังสือเหล่านั้นพินิจพิจารณาดูทีละหน้า เราจะเห็นภาพของพระภิกษุผู้ทุ่มเทศึกษาภาษาต่างประเทศอย่างเอาจริงเอาจังต่อเนื่องหลายสิบปี – มันเป็นหลักฐานแห่งการเดินทางไกลไปในโลกแห่งการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่น่าตื่นตาตื่นใจของท่าน
ท่านผู้อ่านอาจคิดว่า การที่ท่านพุทธทาสสามารถร่ำเรียนอะไรต่อมิอะไรได้ด้วยตนเองจนแตกฉานและสามารถนำไปใช้งานสร้างสรรค์ประโยชน์ได้อย่างมหาศาลนั้น ท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญามากและเฉลียวฉลาดเป็นพิเศษ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่านไม่ได้เป็นผู้ที่มีสติปัญญาพิเศษเหนือมนุษย์ หรือเกิดมาพร้อมพรสวรรค์แต่อย่างใด ในสมุดพกของเด็กชายเงื้อม (ชื่อเดิมของท่าน) สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาในช่วงราวๆ ปี 2460 ครูประจำชั้นได้บันทึกเอาไว้ในช่องสรุปความเห็นปลายปีมีความตอนหนึ่งว่า เด็กชายเงื้อมมี “ปัญญาพออย่างคนธรรมดา” และในจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านเขียนถึงน้องชายโดยธรรม (สามเณรกรุณา กุศลาสัย) มีข้อความสรุปเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาสิ่งต่างๆ ว่า
“เรื่องอะไรจะสำเร็จหรือไม่นั้น มันอยู่ที่ความเอาจริงเอาจัง 90 เปอร์เซ็นต์ ความรู้ความฉลาดได้ไปเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น”
ทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นถึงบุคลิกและตัวตนของท่านพุทธทาส รวมทั้งสะท้อนความจริงที่ว่า ความสำเร็จทางปัญญาของท่านเกิดจากความพากเพียรบ่มเพาะด้วยตนเองอย่างมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ จากพระหนุ่มผู้ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ท่านกลายเป็นภิกษุผู้ทรงปัญญาสามารถร่างปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษ และผลิตงานแปลธรรมะชิ้นสำคัญออกมาเป็นจำนวนมากตลอดชีวิตของท่าน
การเรียนรู้ด้วยตนเอง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือแหล่งค้นคว้าหาความรู้ และตำราเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญสำหรับการศึกษาด้วยตนเอง ท่านพุทธทาสแนะนำว่า สิ่งที่เราควรหลีกเลี่ยงคือการมีหนังสือมาก ท่านบอกว่าไม่จำเป็น เพราะจะทำให้เราฟุ้งซ่าน ตำราดีๆ เพียงสองสามเล่มก็เพียงพอแล้ว
“เครื่องมือสำคัญอยู่ที่การบังคับตัวเองให้ปล้ำปลุกกับหนังสือเล่มนั้นจนแหลกละเอียด มิให้ละโลภหรือเห่อการมีหนังสือมาก”
เคล็ดลับอีกประการหนึ่งสำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองให้ประสบความสำเร็จตามแบบฉบับพุทธทาสคือการรู้จักทำความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างแตกฉานแจ่มแจ้งจนเราสามารถนำความรู้นั้นไปถ่ายทอดหรือสอนแก่ผู้อื่นได้ ท่านสรุปรวบความคิดเป็นใจความว่า “จะเรียนเรื่องใด ก็จงตั้งตัวเป็นครูหรือผู้แต่งตำราเรื่องนั้นเสียทีเดียว”
ปีใหม่นี้จึงเป็นโอกาสอันดีงามที่เราจะเดินตามรอยมา ‘เลียนแบบ’ พุทธทาส ในการพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองด้วยความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง และภาษาอังกฤษของท่านจะพัฒนาดียิ่งขึ้นกว่าปีที่แล้วๆ มาดังที่ท่านพุทธทาสได้แต่งคำกลอนไว้ว่า
“ปีใหม่มี สำหรับดี กว่าปีเก่า”