สงครามที่ไม่มีวันชนะ

สงครามที่ไม่มีวันชนะ: ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค

คุณรู้จักเชื้อโรคดีแค่ไหน ถ้าเราตีความคำว่า ‘รู้จัก’ จากระยะความใกล้ชิด เชื้อโรคคงขึ้นแท่นครองแชมป์เป็นเพื่อนสนิทตลอดกาลของมนุษย์ (รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย) มันอยู่ติดตัวเรา อยู่รอบตัวเรา อยู่ภายในตัวเรา อยู่ในทุกๆ ที่ที่เราอยู่ ความจริงเชื้อโรคอยู่กับตัวเรามาตั้งแต่เรายังไม่ลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งวันที่เราหมดลมหายใจไปแล้ว เชื้อโรคก็ยังคงอยู่ชิดใกล้ในร่างไร้วิญญาณของเรา

        เชื้อโรคคือเพื่อนที่ไม่เคยปล่อยเราให้เปลี่ยวเหงา มันพร้อมอยู่เคียงข้างเราในทุกๆ สถานการณ์และสถานภาพ (น่ากลัวยังไงไม่รู้) แต่เพราะอะไรกัน เรากลับแทบจะไม่รู้จักหรือรู้เรื่องของมันเลย รู้อย่างเดียวว่าสกปรก แล้วมันสกปรกจริงๆ หรือเปล่า? หนังสือ ‘สงครามที่ไม่มีวันชนะ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค’ เล่มนี้มีคำตอบ

 

  • *เนื่องจากบทความนี้กล่าวถึงชื่อเฉพาะ ทั้งชื่อบุคคล ชื่อโรค และชื่อยา ผู้เขียนจึงกำกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษไว้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อเป็นประโยชน์ในการค้นคว้าเพิ่มเติม

        สงครามที่ไม่มีวันชนะ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค คือหนังสือแนว pop science เล่มล่าสุดของ ‘หมอเอ้ว’ – นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา ด้วยความสามารถที่หยิบเรื่องยากๆ หรือซับซ้อนมาเล่าใหม่ ให้กลายเป็นหนังสืออ่านสนุกและได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน ทำให้คุณหมอเป็นนักเขียนผู้มีผลงานระดับเบสต์เซลเลอร์มาแล้วหลายเล่มอย่าง เรื่องเล่าจากร่างกาย, เหตุผลของธรรมชาติ และ 500 ล้านปีของความรัก

        สำหรับใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือการทำหน้าที่เสมือนไทม์แมชีนพาผู้อ่านเดินทางย้อนเวลาไปทำความเข้าใจถึงจุดเริ่มต้นของวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นมหากาพย์แห่งสงครามและการเดิมพันด้วยชีวิต ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคที่ดำเนินมาแล้วนับพันๆ ปี และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

        โดยทั่วไปหากไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เรื่องราวเหล่านี้ดูเหมือนจะอยู่ไกลตัวเกินกว่าที่เราจะให้ความสนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกหน้าของหนังสือที่กล่าวถึงกลับเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของเราทั้งสิ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หนังสือเล่มนี้จึงทำให้เราได้รู้จักกับโลกใบเล็กจิ๋ว ซึ่งไม่ปลอดภัยนักและลึกลับมากที่สุดจนเคยถูกละเลยและไม่ได้รับความสนใจมากนาน จนกระทั่งมีบุคคลจำนวนหนึ่งสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างซึ่งทำให้พวกเขาคิดและเชื่อ (ตั้งสมมติฐาน) ไปจนถึงพยายามศึกษาค้นคว้าอย่างหนัก เชื่อมโยงข้อมูลและคิดนอกกรอบไปจากความรู้เท่าที่มีอย่างจำกัดในอดีต จนในที่สุดพวกเขาสามารถค้นพบคำตอบที่ไม่มีใครคาดคิดหรือนึกถึง เพราะทุกคนปักใจเชื่อความรู้เดิมที่ปฏิบัติตามกันมาโดยไม่คิดตั้งคำถามใดๆ จึงทำให้เกิดเป็นสนามต่อสู้ระหว่างความคิดของมนุษย์ด้วยกันเอง

 

        เนื้อหาภายในหนังสือแบ่งออกเป็น 4 หัวเรื่องใหญ่ๆ คือ เรื่องราวก่อนวิชาการแพทย์และเป็นวิทยาศาสตร์ กำเนิดทฤษฎีเชื้อโรค (The Germ Theory of Disease) ยา อุตสาหกรรมยา และความพยายามต่อสู้ของมนุษย์เพื่อเอาชนะเชื้อโรค สุดท้ายคือกำเนิดแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งคุณหมอใช้ภาษาและสำนวนในการเขียนที่ชวนอ่าน อธิบายได้เข้าใจชัดเจน มีการเชื่อมโยงแต่ละเรื่องให้เห็นภาพรวมมากขึ้น ทำให้รู้สึกอยากอ่านต่อไปเรื่อยๆ เพราะทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันเป็นเรื่องเดียวคือการต่อสู้กับเชื้อโรค

        หนังสือเริ่มต้นด้วยความหวาดกลัวของคุณแม่ที่กำลังจะคลอดลูก เพราะมีสิทธิ์ตายด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดจากภาวะไข้หลังคลอด (childbed fever) และหนึ่งในแม่ผู้ถูกคร่าชีวิตลงด้วยสาเหตุนี้คือ แมรี โวลล์สโตนคราฟต์ (Mary Wollstonecraft) นักเขียนและนักสิทธิสตรีชาวอังกฤษ แม่ของแมรี เชลลีย์ (Mary Shelly) ผู้ให้กำเนิดอสูรกาย ดร. แฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein หรือ The Modern Prometheus) ซึ่งนำไปสู่การค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของโรค คือการไม่ล้างมือของผู้ทำคลอด จากความพยายามของหมออิกนาซ เซมเมลไวส์ (Ignaz Semmelweis) ทำให้การล้างมือกลายเป็นหลักปฏิบัติสำคัญในวงการแพทย์ แม้ว่าความสำเร็จครั้งนี้กลับต้องแลกมาด้วยชีวิตของหมออิกนาซก็ตาม

        จากนั้นเรื่องจะพาเราย้อนกลับไปดูการแพทย์สมัยโบราณครั้งที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะ ซึ่งเชื่อกันว่าแผลเกิดหนองคือเรื่องที่ดีของการรักษาซึ่งผิดถนัด เป็นช่วงความรู้วิชาการแพทย์ถูกแช่แข็งนานนับพับปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1705 หมอจิโอวานนี บัตติสตา มอร์กานญี (Giovanni Battista Morgagni) ได้ชันสูตรศพชายผู้ตายเพราะไส้ติ่งอักเสบ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการรักษาของแพทย์ ล้มล้างความเชื่อสมัยโบราณ จนกลายเป็นหนึ่งในแนวทางวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยในปัจจุบัน

        ต่อมาคือกำเนิดทฤษฎีเชื้อโรค หมุดหมายสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแพทย์สมัยใหม่ (modern medicine) ที่สร้างขึ้นจากบุคคลสำคัญ 3 คน คือ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีผู้ค้นพบความลับจากไวน์เปรี้ยว โรเบิร์ต คอค (Robert Koch) หมอบ้านนอกผู้ออกแบบการทดลองที่เรียบง่ายแต่สมบูรณ์แบบจากลูกตาวัว ม้ามของหนู และเชื้อโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) จนค้นพบเชื้อก่อโรคที่แท้จริงได้เป็นครั้งแรก และโจเซฟ ลิสเตอร์ (Joseph Lister) หมอผู้ลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะตายคาห้องผ่าตัดด้วยการพ่นสารฆ่าเชื้อนอกจากนี้ ชื่อของเขายังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากลิสเตอรีน (Listerine) อีกด้วย

 

        ทฤษฎีเชื้อโรคทำให้วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาเชื้อโรคมากขึ้นตามไปด้วย ภาพจำของเชื้อโรคจึงกลายเป็นศัตรูตัวใหม่ที่มนุษย์ต้องการเอาชนะให้ได้ จุลินทรีย์ (microorganism) ทั้งหมดถูกเหมารวมเป็นเชื้อโรคที่ต้องกำจัด ไม่ว่าเชื้อนั้นจะก่อโรคหรือไม่ก็ตาม แบคทีเรียและไวรัสจึงมีความหมายไปในทางลบ กลายเป็นความสกปรกที่ไม่มีใครชอบ กรอบความคิดเช่นนี้จึงนำไปสู่การคิดค้นตัวยา ซึ่งผลิตมาจากสิ่งมีชีวิต เป็นการฆ่าชีวิตด้วยชีวิต และเรียกยาประเภทนี้ว่ายาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

        ยาปฏิชีวนะตัวแรกของโลกคือ เพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นการค้นพบด้วยความบังเอิญของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Flemming) จากนั้นเขาได้เริ่มศึกษาอย่างละเอียด จนทำให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปี ค.ศ. 1945 แม้ว่าต่อมายาตัวนี้จะถูกลืม เพราะมีการคิดค้นยาชนิดใหม่ๆ จากการสังเคราะห์สารเคมี ซึ่งใช้รักษาและฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่า อย่างเช่น ซัลฟา หรือ ซัลฟานิลาไมด์ (Sulfanilamide) ถือเป็นการเข้าสู่จุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมี สี และนาซี

        ต่อมามีการพัฒนามาเรื่อยๆ เพื่อสร้างยาฆ่าเชื้อในมนุษย์ที่ไม่ฆ่ามนุษย์ และดูเหมือนว่าความก้าวหน้าของการแพทย์จะนำชัยชนะมาให้มนุษย์เหนือเชื้อโรค แต่มนุษย์หารู้ไม่ว่าเชื้อโรคกำลังจะเอาคืนให้สาสมในอีกไม่ช้า

        ในที่สุดเชื้อดื้อยาก็ถือกำเนิดขึ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย เชื้อดื้อยาที่อันตรายที่สุดคือ ซูเปอร์บั๊ก (Superbug) เพราะสามารถดื้อยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงทำให้ไม่มียาตัวใดฆ่าเชื้อนี้ได้ นอกจากนี้ยาปฏิชีวนะกลับมีผลข้างเคียงต่างๆ ตามมา ทั้งทำให้อ้วน และทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทยาส่วนมากไม่สามารถผลิตยาปฏิชีวนะตัวใหม่ๆ ได้ทัน ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด หรือว่ามนุษย์เรากำลังจะพ่ายแพ้ให้กับเชื้อโรค

 

        เรื่องราวทั้งหมดสะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานของการทำสงครามแห่งชีวิต ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาไปจนถึงอนาคตที่คาดเดาอะไรไม่ได้ มนุษย์และเชื้อโรคต่างผลัดกันแพ้ชนะ ชัยชนะของมนุษย์ทำให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงยิ่งขึ้น มีตัวยาใหม่ๆ เพื่อการรักษา ส่วนชัยชนะของเชื้อโรคคือการพัฒนาตัวเองให้แข็งแรงทนทานในทุกสภาพแวดล้อม

        ไม่ว่ามนุษย์หรือเชื้อโรค ทุกชีวิตพยายามต่อสู่ด้วยเหตุผลเดียวกันคือเพื่อความอยู่รอดและดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ เชื้อโรคมีชีวิตครองโลกก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น และยาปฏิชีวนะก็เพิ่งจะมีการค้นพบเมื่อประมาณ 70-80 ปีก่อนเท่านั้น ดูเหมือนว่าชัยชนะของมนุษย์ที่เคยได้รับมากลับเป็นเพียงความฉาบฉวยคงอยู่ได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว และเชื้อโรคกลายเป็นผู้ควบคุมเกมมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรมนุษย์เองก็ต้องพยายามต่อกรกับเชื้อโรคเหล่านี้ต่อไปด้วยเหตุผลนั้นเหตุผลเดียว

        ภาพรวมของหนังสือเล่มนี้จึงนำเสนอเนื้อหาได้น่าสนใจ และแฝงไปด้วยข้อคิดน่าประทับใจ นั้นคือการไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ และความเพียรพยายามเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์พิสูจน์ตัวเองได้ ขอเพียงเชื่อมั่นในตัวเอง และทำต่อไป เพราะสุดท้ายสิ่งที่ทำไว้ไม่ได้สูญเปล่า

 


สงครามที่ไม่มีวันชนะ – ผู้เขียน: นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา สำนักพิมพ์: ชัชพลบุ๊คส์ จำนวนหน้า: 285 หน้า ราคาปก : 265 บาท (ปกอ่อน)