บ้านของ ‘ตี้’ – สมชาย กลันธมาศ เป็นบ้านเดี่ยว ย่านบางนา
มองจากด้านนอก ขวามือเป็นตัวบ้าน ซ้ายมือเป็นตู้คอนเทนเนอร์
ในตู้ มีจักรยานทั้งที่พร้อมขายและยังไม่ได้ประกอบ มีเครื่องมือแขวนอยู่เรียงราย ทุกชิ้นมีร่องรอยการใช้งานจริง
ผมเรียกเขาว่าพี่ อาทิตย์ที่ผ่านมาเพิ่งไปหาเขาที่บ้าน พี่ตี้เอาผ้าใบมากางขึงระหว่างตู้และตัวบ้าน หาโต๊ะเก้าอี้มาวาง แล้วเราก็นั่งคุยกัน พร้อมความทรงจำที่ทยอยผุดขึ้นเป็นฉากๆ แจ่มชัดราวกับเพิ่งเกิดเมื่อวาน
โชคดีว่าวันนั้นอากาศดี ลมเย็น นั่งเล่นได้ทั้งวัน
ถ้าคนนอกบ้านมองเข้ามาคงเป็นภาพที่ประหลาดดี คนธรรมดาคงไม่เอาตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งในบ้าน แต่พี่ตี้มีเหตุผล
ความฝันและความสำเร็จของเขา เริ่มต้นในพื้นที่เล็กๆ ขนาดไม่ต่างจากตู้หลังนี้
…
14 ปีที่แล้ว พี่ตี้เริ่มค้นหาตัวเอง ด้วยการค้นของมือสองมาขาย
ครอบครัวของพี่ตี้ทำธุรกิจขายตราชั่งในคลองเตย พื้นเพนี้ทำให้เขาคุ้นเคยกับธุรกิจซื้อมาขายไปในหลายรูปแบบ รวมไปถึงการค้นสินค้ามือสองที่มาทางเรือในตู้คอนเทนเนอร์ หาของสภาพดี ปรับปรุง และนำมาวางขายในตลาดมืดคลองถม
สมัยนั้นพี่ตี้ไม่ได้ชอบจักรยานเป็นพิเศษ แค่อยากทำงานที่แยกจากธุรกิจของครอบครัวบ้าง วันหนึ่งเขานำจักรยานพับมือสองจากญี่ปุ่นมาวางขาย และพบว่ามันขายหมดอย่างรวดเร็ว ล็อตใหม่เอามากี่คันก็ขายเกลี้ยง
ยุคนั้นมีพ่อค้าแบบพี่ตี้หลายคนที่นำจักรยานแบบนี้เข้ามา เราเริ่มเห็นแม่บ้านในกรุงเทพฯ ขี่จักรยานพับมือสองส่วนหนึ่งก็เพราะฝีมือของพี่ตี้
ธุรกิจดูไปได้ดี เริ่มมีลู่ทาง พี่ตี้ขยับขยายจากจักรยานมือสอง มาเป็นจักรยานวินเทจ เพราะในตู้มักจะมีจักรยานและอะไหล่วินเทจหายากติดมาด้วย
ในบ้านเรามีคนเล่นจักรยานวินเทจไม่มาก แต่เหนียวแน่น เข้มแข็ง เมื่อรู้ว่าพี่ตี้สามารถค้นหาอะไหล่ที่ใช่ ทุกคนก็แห่กันมาเยี่ยมเยียนในบ้านหลังเล็กย่านคลองเตย
เมื่อจักรยานฟิกซ์เกียร์เริ่มได้รับความนิยม เริ่มจากกลุ่มครีเอทีฟและโปรดักชันเฮาส์ผลิตงานโฆษณา มาสู่เหล่าศิลปินและนักออกแบบ พี่ตี้ก็ยังเป็นพ่อค้าที่ทุกคนต้องมาเยี่ยมเยียนสักครั้ง เพราะเขาสามารถจับคู่อะไหล่และประกอบฟิกซ์เกียร์คันโปรดให้ทุกคนได้
เมื่อบ้านเริ่มคับแคบ ลูกค้ามาเยี่ยมแน่นซอยจนเพื่อนบ้านบ่น เขาขยับขยายไปเปิดร้านอยู่ในซอยสุขุมวิท 31 เขาตั้งชื่อร้านว่า Sixty-Fixy โดยนำเลข 60 ที่เจ้าตัวเชื่อว่าเป็นเลขนำโชคมาตั้งเป็นชื่อร้าน
แม้จะย้ายที่ แต่ความนิยมยังไม่สร่างซา ลูกค้าตามไปอุดหนุน บริเวณร้านกลายเป็นที่รวมตัวของคนรักจักรยาน
บรรยากาศยุคนั้นช่างรื่นรมย์ มีผู้คนหลากหลายมารวมตัว ถ้ามากันเยอะมากเข้า วงสนทนาก็จะไหลลามออกไปหน้าร้านและลานจอดรถด้านข้าง จะว่าไป บรรยากาศและอารมณ์มวลรวมไม่ต่างจากชาวสเกตบอร์ดและเซิร์ฟสเกตที่ฮิตมากในช่วงนี้
ดีขนาดนี้ หลายคนคิดว่า Sixty-Fixy คงติดลมบน อยู่คู่คนรักจักรยานไปอีกนาน
แต่โลกธุรกิจนั้นไม่แน่นอน คลื่นลมย่อมเปลี่ยนทิศได้เสมอ
…
ต้นไม้แต่ละสายพันธ์ุเติบโตได้ดีในดินที่แตกต่างกัน
มนุษย์ก็เช่นกัน
ทุกคนมีพื้นที่และสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับตัวเรา ถ้าอยู่ในที่ที่เหมาะสม เราก็จะเติบโตอย่างยั่งยืน ใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ
โชคร้ายที่การเติบโตขั้นต่อไปของ Sixty-Fixy ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
เมื่อรายได้เริ่มอยู่ตัว แต่พื้นที่เริ่มคับแคบ พี่ตี้จึงย้ายร้านใหม่ไปอยู่บนซอยปรีดี พนมยงค์ (สุขุมวิท 71) ด้วยโครงสร้างอาคารทำให้ร้านนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เขาเคยบริหาร อยู่ติดถนนใหญ่ ไม่ลึกลับเหมือนร้านก่อนๆ เขาเชื่อว่าการย้ายร้านครั้งนี้น่าจะเป็นไปได้ด้วยดี
เมื่อเปิดร้านใหม่ เจ้าของร้านเริ่มรู้ตัวว่าเขาคิดผิด ลูกค้าเก่าไม่ได้ตามไปอุดหนุนที่ร้านใหม่ด้วย แม้ตำแหน่งจะไม่ไกลจากย่านเดิมเลย ถึงกระนั้นพี่ตี้ก็พยายามสู้ทุกวิถีทาง สรรหาสินค้าใหม่ๆ มาวางขาย ปรับร้านส่วนหนึ่งเป็นร้านกาแฟ หวังดึงลูกค้ามาเพิ่ม แต่กราฟรายได้ก็ยังดิ่งลง มีหลายปัจจัยที่ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่หวัง
สุดท้าย วันหนึ่งเขาก็เขียนในเพจเฟซบุ๊ก ประกาศปิดตัวร้านจักรยาน ปิดฉาก Sixty-Fixy ที่สร้างมากับมือ
ในข้อความ เขาประกาศอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ไม่มีการตัดพ้อ ทั้งที่จะหายไปเฉยๆ ก็ทำได้ เขาบอกกล่าวพร้อมประกาศลดราคาสินค้าแบบล้างสต็อก อย่างน้อยก็ได้เคลียร์สินค้าจำนวนมากออกไปบ้าง ดีกว่าทิ้งให้ฝุ่นจับอยู่เฉยๆ
จากนั้นพี่ตี้ก็หายไปจากวงการ ทำมาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพอื่น
แต่ไม่นานนัก จักรยานก็กวักมือเรียกเขากลับคืนมา
…
‘ตี้’ – สมชาย กลันธมาศ
ผมมีโอกาสได้ไปบ้านพี่ตี้อีกครั้ง เห็นตู้คอนเทนเนอร์ที่แกสร้าง เพื่อรักษาความฝันของตัวเอง
หลังปิดร้าน พี่ตี้หวนกลับไปทำงานประจำ ช่วยงานธุรกิจตราชั่งของครอบครัว กลับมาใช้ชีวิตอีกแบบที่ไม่มีจักรยาน แกคิดว่าเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัว ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไร
แต่เรื่องที่แกติดใจ คือยังมีสินค้าจักรยานอีกมากที่เหลือจากการเปิดร้านครั้งล่าสุด แม้ลดราคาล้างสต๊อกแล้วก็ยังเหลือเยอะ ถ้าไม่ทำอะไร มันก็จะถูกทิ้งให้ฝุ่นจับอยู่เฉยๆ สินค้าบางชิ้นถ้าเสื่อมสภาพต้องทิ้งสถานเดียว
พี่ตี้เลยตัดสินใจหาช่องทางนำของออกมาขาย กลับมาเปิด Sixty Bike อีกครั้งในรูปแบบใหม่ แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านเป็นร้าน ความจริงมันดูมีความเป็นเวิร์กช็อปขนาดย่อมในโรงรถมากกว่า แล้วนำสินค้ามาวางขาย เน้นให้บริการในลักษณะเซอร์วิสและล้างจักรยานช่วงวันหยุดที่พี่ตี้มีเวลาว่างจากงานประจำ
พอได้นั่งคุยกันจริงจัง ผมก็พบว่าชีวิตพี่ตี้มีเรื่องให้เรียนรู้เยอะมาก นิสัยของแกหลายเรื่องเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนอยากทำมาค้าขาย
พี่ตี้ไม่อายที่จะบอกคนอื่นว่า เป็นร้านจักรยานที่โตมาจากการขายจักรยานมือสองในตลาดคลองถม เพราะมันเป็นรากของตัวเขาเอง ไม่เขินอายที่จะค้าขายตราบใดที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
ช่วงแรกๆ ที่นำจักรยานมือสองมาขาย เขาซ่อมและเซอร์วิสจักรยานไม่เป็น
สมัยนั้นไม่มียูทูบ หนังสือสอนซ่อมจักรยานก็หายากแถมไม่ใช่ภาษาไทย พี่ตี้ใช้วิธีถาม ทั้งกับพ่อค้าคนอื่นและลูกค้าที่รู้วิธีซ่อม เขาเชื่อว่าความรู้กระจายตัวอยู่ทุกที่ ขอแค่กล้าเอ่ยปากถาม และแกก็บอกสิ่งที่ตัวเองรู้ให้ลูกค้าทุกคน ไม่กั๊ก ให้ด้วยความเข้าอกเข้าใจนักปั่น เพราะพี่ตี้เองก็เคยไม่รู้มาก่อน
ยอมรับว่าไม่รู้บ้าง จะทำให้เรารู้มากขึ้น
ผมเห็นขนาดของตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ยังชวนให้นึกถึงร้านจักรยานของเขาสมัยอยู่ที่สุขุมวิท 31 ผมคิดว่าพี่ตี้เหมาะกับการทำร้านขนาดเล็ก ทำแล้วอยู่มือกว่า
ความจริงก็เข้าใจได้ว่าทำไมพี่ตี้ถึงย้ายร้าน ถ้าคุณทำธุรกิจขนาดเล็กมาถึงจุดหนึ่ง มีต้นทุน ศักยภาพ และมองเห็นโอกาสในการขยับขยาย เป็นใครก็อยากจะเสี่ยงดูสักตั้ง
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเหมาะกับการทำความฝันขนาดใหญ่ ความผิดพลาดจากการขยายร้าน เป็นบทเรียนที่ทำให้พี่ตี้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าเหมาะกับการมีความฝันขนาดเท่าใด
ความฝันที่เล็กกว่า ก็เป็นฝันที่มีคุณภาพได้ ถ้าทำเป็น และดูแลมันให้ดี
ขอให้เลือกความฝันที่มีขนาดเหมาะกับหัวใจของตัวเอง
ข้อสำคัญที่ทำยากที่สุด คือต้องไม่เอาความฝันของตัวเองไปเปรียบเทียบกับฝันของคนอื่น จะทำข้อนี้ได้ ต้องรู้จักหัวใจตัวเองว่าเหมาะกับโลกแบบไหน อยู่อย่างไรจะสบายใจที่สุด
ถ้าชัดเจน คุณจะไม่ได้มองความสำเร็จของคนอื่นว่าเป็นแรงกดดัน แต่เป็นเรื่องที่เราแสดงความยินดีด้วยได้อย่างเต็มใจ
ตอบตามจริง มนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครรู้จักตัวเองตั้งแต่แรกหรอกครับว่าเราต้องการอะไร
บางทีเราก็ต้องออกไปผจญภัย พบผู้คนมากมาย เดินทางสู่โลกอันกว้างใหญ่ เพื่อให้เรากลับมาเข้าใจหัวใจดวงน้อยของตัวเองมากขึ้นว่า สิ่งสำคัญในชีวิตคุณคืออะไร