คนขี่จักรยาน ไม่มีใครอยากล้ม ไม่มีใครอยากเจ็บ
แต่ไม่ใช่กับตะวัน ลูกชายผมที่เพิ่งหัดปั่นจักรยานสามล้อได้ไม่นาน
สนาม Tour de France ของตะวันมี 3 แห่ง หนึ่งคือลานปูนหน้าบ้าน เขยิบจากประตูรั้วไม่กี่เมตร สอง สวนหลวง ร.9 สาม ศูนย์กีฬาบึงหนองบอน
ไม่ว่าจะปั่นที่ไหน ตะวันจะมีนิสัยอย่างหนึ่งคือ ชอบปั่นจักรยานไปในที่ขรุขระ ไม่ว่าจะหลุมเล็ก หลุมใหญ่ ทางกรวด หรือเนินหลังเต่า เรียบๆ ไม่สน ยิ่งดีดยิ่งสนุก
เวลาขี่จักรยานหน้าบ้าน ตะวันชอบเฉไปที่หลุมเล็กๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากประตู ถ้าเป็นบึงหนองบอน ใครเคยไปจะรู้ว่าในนั้นจะมีทางเดินที่เป็นลักษณะอุโมงค์ต้นไม้ มีพื้นลาดยางตรงกลางที่ไม่ค่อยเรียบเท่าไหร่ ตะวันชอบปั่นบนทางที่ว่านี้มาก
ตะวันอายุ 2 ขวบกว่า ธรรมชาติเด็กวัยนี้ชอบเล่น เราก็ปล่อยให้เขาเล่น แต่บางทีก็เสียวไส้เพราะนิสัยการขี่จักรยานของตะวันแบบไม่กลัวล้ม
หรือถ้าครั้งไหนล้ม เขาก็ร้อง ทำแผลเสร็จก็ยังไม่เข็ด กลับมาปั่นต่อ แถมคืนวันนั้นเขาจะมาเล่าเรื่องวีรกรรมการล้มให้พ่อแม่ฟังแบบไม่เบื่อ พูดวนไปวนมาราวกับเป็นหลักไมล์สำคัญของชีวิต
ถ้าคุณมีลูก ชอบพาลูกไปไหนต่อไหนด้วยกันบ่อย กิจกรรมที่คุณทำเป็นปกติ จะดูพิเศษขึ้นมาทันที
เพราะสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นกิจกรรมธรรมดา แต่สำหรับลูก เขากำลังได้ทำสิ่งนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิต
ขึ้นรถไฟฟ้าอยู่ทุกวัน คนก็เยอะ ลองพาลูกขึ้นด้วยสักครั้ง เขาจะตื่นตาตื่นใจกับทุกสิ่งที่ตาเห็น
เที่ยวทะเลก็เพลินดี ผ่อนคลาย แต่ถ้าอยากเปลี่ยนอารมณ์ ลองพาลูกไปด้วย เขาจะกระโดดโลดเต้นราวกับเป็นวันสุดท้ายที่จะได้เล่นเกลียวคลื่น
นอกจากมองทุกอย่างเป็นครั้งแรก เด็กยังมีคุณสมบัติพิเศษคือ มองสิ่งรอบตัวว่าน่าสนใจเสมอ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมเดิมที่เคยทำ ถ้าเขาชอบ ก็จะหัวเราะกับมันได้ทุกครั้ง
ผมสังเกตว่าเวลาตะวันล้มระหว่างปั่นจักรยาน เขาจะกลับไปปั่นผ่านจุดเดิมอีกครั้ง แต่จะไม่ทำแบบเดิม
เขาจะค่อยๆ เอาล้อแหย่จุดนั้นก่อน เหมือนขยาดแต่ไม่แขยง แล้วค่อยๆ เอาจักรยานเลื่อนผ่านจุดนั้น ทำทุกอย่างให้ช้าลง เหมือนใจยังกลัว แต่ก็ยังอยากปั่นผ่านอุปสรรคนี้อยู่
ในวัยเด็ก การปั่นจักรยานผ่านอุปสรรค เป็นเรื่องสนุก
พอโตเป็นผู้ใหญ่ ทุกอย่างดูจะตรงกันข้าม
ไม่มีใครอยากเจอปัญหา ถ้าเลี่ยงได้ก็จะพยายามหาทางเลี่ยง สมมติว่าคุณกำลังจะเข้าห้องประชุม และรู้ว่าวันนั้นเจ้านายอารมณ์ไม่ดี แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็อยากนั่งเงียบๆ ไว้ก่อน ไม่อยากเสนอไอเดียที่อาจจะมองว่าไม่เข้าท่า เพราะไม่มีใครอยากโดนด่าให้เสียหน้ากลางที่ประชุม
เรามองปัญหาว่าเป็นความทุกข์ ไม่ใช่ความสนุกอีกต่อไป
โดยเฉพาะกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ เหมือนโลกมันโบยตีเรา กระตุ้นให้ทิ้งความเป็นเด็ก ความสงสัยใคร่รู้นั้นไม่จำเป็น ย้ำกับเราว่าต้องดุและ ‘อยู่เป็น’ เท่านั้นจึงใช้ชีวิตรอด
ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราสูญเสียความรู้สึกเหล่านี้ไป
มีนักปั่นจักรยานแบบหนึ่งที่ชื่นชอบการปั่นผ่านอุปสรรค ไม่ต่างจากที่เด็กหัดปั่นจักรยานชอบทำ คือนักปั่นจักรยานเสือภูเขา
หลายวันก่อน ผมเพิ่งได้ดูยูทูบช่องหนึ่งชื่อ Paul The Punter เป็นนักปั่นเสือภูเขาที่ทำคลิปสอนเทคนิคการปั่น มีอยู่คลิปหนึ่งเขาแนะนำนักปั่นมือใหม่คนหนึ่งชื่อ Camillo สอนวิธีการปั่นบนเส้นทางที่เรียกว่า Black Trail
ในต่างประเทศมีเส้นทางสำหรับปั่นจักรยานเสือภูเขาหลายรูปแบบ แต่ละแบบจะมีความยากต่างกัน องค์กรที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานจะให้ข้อมูลนักปั่นด้วยการแบ่งเส้นทางเทรลตามความยาก เส้นทางที่ปั่นง่ายที่สุดส่วนใหญ่จะใช้สีขาว เส้นที่ยากถึงยากมากจะใช้สีดำ เรียกว่าแบล็กเทรล
ทางแบบนี้ส่วนมากจะอยู่ในป่าทึบ มีอุปสรรคหลากหลาย ทั้งผ่านสะพานไม้ ผ่านก้อนหินขนาดใหญ่ บางจุดก็ต้องปั่นทะยานจากที่สูงซึ่งดูหวาดเสียว ถ้านึกภาพไม่ออกให้ลองหาโฆษณาเสือภูเขาสักแบรนด์มาดู เส้นที่ผ่านป่าทึบๆ นั่นล่ะครับที่เรียกว่าแบล็กเทรล
พอลถามคามิลโลว่าทำไมเขาถึงไม่อยากปั่นทางสีดำ คามิลโลบอกว่าเพราะความกลัว เขากลัวว่ามันจะยาก กลัวจะล้ม ถ้ารู้สึกกลัวตลอดเวลาการปั่นจักรยานก็ไม่สนุกอีกต่อไป
พอลค่อยๆ แนะนำคามิลโลให้เอาชนะความกลัว บนเส้นทางแต่ละจุดอย่างปลอดภัย ผมพบว่าวิธีการสอนของพอลน่าสนใจดี
หนึ่ง พอลใช้เวลาไปกับการปรับจักรยานนานมาก
เขาเริ่มจากดูระยะของชิ้นส่วนจักรยานว่าสัมพันธ์กับร่างกายมั้ย โดยเฉพาะกับลมยางจักรยานซึ่งเป็นส่วนของจักรยานที่สัมผัสพื้นมากที่สุด
คามิลโลบอกว่าคืนก่อนที่จะมาหาพอล เขาเช็กลมยางดีแล้ว แต่พอลเช็กอีกครั้งพบว่าผ่านไปหนึ่งคืน ลมหายไป 2 PSI (หน่วยวัดลมยางที่นิยมใช้กับจักรยาน) แม้จะเล็กน้อยแต่ก็มีผลกับการปั่นไม่น้อย
การเช็กจักรยานของพอลอาจจะดูเนิร์ดสักหน่อย แต่เมื่อดูไปตลอดคลิปจะพบว่าการปรับจักรยานจุดเล็กๆ มีผลทำให้เราปั่นผ่านอุปสรรคใหญ่ๆ ได้ง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
ผมนึกถึงตอนชวนตะวันไปปั่นจักรยาน
โอเค ตะวันไม่ได้เนิร์ดขนาดเช็กลมยางจักรยานเด็ก (ฮา) สิ่งแรกที่ตะวันคว้าเมื่อได้ยินคำชวน ไม่ใช่จักรยาน แต่เป็นรองเท้า
คนอาจมองว่า เด็กเล็กจะทำกิจกรรมแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้ระวังตัวอะไร แต่ถ้าเราบอก เขาก็เรียนรู้ เวลาปั่นจักรยานตะวันรู้ว่าควรใส่รองเท้า ไม่ว่าเส้นทางจะเป็นแบบไหน ก็ไม่ควรปั่นแบบเท้าเปล่า ถ้าไม่อยากเจ็บตัว
หลายครั้งเราสนใจการแก้ปัญหา มากกว่าการเตรียมพร้อมก่อนเผชิญหน้ากับปัญหา การเตรียมของแต่ละอาชีพไม่เหมือนกัน สำหรับผม การอ่านหนังสือบ่อยๆ หาความรู้ในวงการที่ตัวเองยังไม่เข้าใจ และหาเวลานั่งเขียนบันทึกบ้าง เป็นการเตรียมพร้อมก่อนแก้ปัญหาประจำวันได้ดี
อีกข้อที่พอลสอนคือ ก่อนปั่นผ่านจุดยากๆ เขาแนะนำให้คามิลโลรู้ว่าควรจะปั่นไปทางไหน ศัพท์คนเล่นเสือภูเขาเรียกว่า การอ่านไลน์
เวลาปั่นผ่านอุปสรรค สมมติว่าเป็นทางดินที่เต็มไปด้วยก้อนหิน มันจะมีอยู่เส้นหนึ่งซึ่งเราสามารถปั่นโดยปลอดภัย ไม่ล้ม นักปั่นที่เชี่ยวชาญก็จะอ่านไลน์ที่ว่าระหว่างปั่นได้อย่างรวดเร็ว
กับคามิลโล พอลลองปั่นให้ดูก่อนว่าควรเลือกไลน์ไหน เอากิ่งไม้มาวางบอกจุดไว้ แล้วให้พอลปั่นช้าๆ หรือบางทีก็ให้หยุดปั่น วางจักรยานไว้ก่อน เดินมาดูตรงอุปสรรคที่เรากำลังจะเผชิญ การดูมันนิ่งๆ ทำให้เรารู้สึกกลัวน้อยลง และเห็นวิธีแก้ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น
ใครที่อ่านบล็อกหรือหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง น่าจะเคยได้อ่านคำแนะนำเรื่องการทำสมาธิ หรือที่เรียกว่า Meditation มากขึ้น
ผมคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่มันฮิตจนกลายเป็นเทรนด์โลก เพราะมันสอนให้คน ‘นิ่ง’ เวลาเจอปัญหาที่ไม่ทันตั้งตัว เพราะเวลานั้นใจเรามักจะร้อน เหมือนไฟสุมอก ทำอะไรไม่ถูก จนเป็นสาเหตุให้ตัดสินใจพลาดหลายต่อหลายครั้ง
การมองปัญหาด้วยใจนิ่งสงบ ไม่ใช่การตัดสินใจช้า แต่ทำให้เรามีสติก่อนจะลงมือทำ ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่
มองมันดีๆ จะรู้ว่า ทุกปัญหามี ‘ไลน์’ ที่จะทำให้เราผ่านมันไปได้อย่างปลอดภัย
ผมไม่ได้เขียนเรื่องนี้ด้วยสายตาแบบโลกสวย หรือโรแมนทิไซซ์กับชีวิต
แค่มองการเล่นของลูก ดูยูทูบหนึ่งช่อง และเขียนสิ่งที่ผมค้นพบ
ปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การแก้ก็ไม่เหมือนกัน บนพื้นฐานชีวิตของคนเราที่ไม่เหมือนกัน
สิ่งสำคัญคือ เวลาเผชิญหน้ากับปัญหา เราสามารถเรียนรู้จากผู้อื่นได้ว่าเขาผ่านมันมาได้อย่างไร แล้วก็นำมันมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชีวิต ซึ่งหนทางของแต่ละชีวิต ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ไม่มีการล้มครั้งไหนหรอกที่ไม่เจ็บ
แต่ถ้าการล้มนั้นทำให้เราโตขึ้น มันจะเป็นการล้มที่ควรค่าแก่การจดจำ
ภาพ: Getty Images, ศิวะภาค เจียรวนาลี