ผมเพิ่งตัดสินใจซื้อจักรยานใหม่ แทนคันเก่าที่ใช้มานานกว่า 9 ปี
การซื้อจักรยานสามารถทำได้หลักๆ 2 แบบ หนึ่ง คือซื้อทั้งคัน รวมอะไหล่ทุกอย่างแบบพร้อมปั่น เรียกว่า Complete bike สอง คือซื้อเฉพาะส่วนที่เป็นโครงจักรยานทรงสามเหลี่ยมเรียกว่า Frame ถ้าใครที่มีจักรยานคันเก่าอยู่แล้ว อยากเปลี่ยนแค่เฟรม ก็จะเลือกซื้อแบบนี้ โยกอะไหล่จากคันเก่ามาใส่
หลังได้จักรยานคันใหม่ ร้านจักรยานนำเฟรมเก่าเก็บใส่กล่องให้อย่างดี ผมแบกกล่องกลับบ้าน พูดกับคนใกล้ตัวแบบทีเล่นทีจริงว่า ถ้าลูกโตเมื่อไหร่ จะนำคันนี้มาประกอบให้เขาใช้
ภรรยาถามกลับว่า แล้วถ้าลูกไม่ชอบจักรยานล่ะ
ผมไม่ได้ตอบอะไร เพราะนึกคำตอบไม่ออก
และคำถามนี้ติดอยู่ในหัวผมอีกหลายวันทีเดียว
…
ความหวังดีเป็นอันตราย ถ้าเราใช้อย่างไม่ระวัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความหวังดีนั้น มีความคาดหวังเจือปนอยู่
สมัยผมเริ่มปั่นจักรยานใหม่ๆ มักจะเดินทางไปเป็นกลุ่ม เพื่อนในกลุ่มก็เริ่มปั่นจักรยานในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นมือใหม่ด้วยกันทั้งหมด การเดินทางช่วงแรกๆ เต็มไปด้วยความสนุก บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ใช้จักรยานถูกบ้างผิดบ้าง แต่ไม่เคยไม่มีความสุข
ด้วยเหตุผลใดก็มิอาจรู้ ผมรู้สึกกว่าการปั่นไปกับคนที่ไม่ได้มีความรู้จักรยาน บ่อยครั้งสนุกกว่าการไปกับนักปั่นมากประสบการณ์
เวลาไปกับนักปั่นกลุ่มหลัง พวกเขามักจะแนะนำความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับจักรยาน เช่น วิธีการเข้าเกียร์ให้มีอายุใช้งานยืนยาว ความสูงหลักอานที่เหมาะสม ฯลฯ
ผมเข้าใจ พวกเขาหวังดี การแชร์ความรู้ก็เป็นเรื่องดีมาก แต่ตอนได้ยิน บางครั้งผมรู้สึกว่ามันเป็นคำแนะนำที่มีเสียงกระซิบตามมาว่า ‘ทำสิ’ เหมือนพ่วงความคาดหวังให้เราทำตาม
เรื่องของเรื่องคือ พอผมมีประสบการณ์มาก ก็เผลอทำแบบนั้นกับนักปั่นมือใหม่คนอื่นเหมือนกัน ไม่ต้องมองอื่นไกล ภรรยาผมเองที่เริ่มปั่นจักรยานพร้อมผมและไม่ได้เคร่งครัดจริงจังมากเท่า ผมยังเคยปั่นตามหลังพลางบอกให้เปลี่ยนไปใช้เกียร์ที่ถูกต้อง ทั้งที่จริงไอ้คำว่า ‘ถูกต้อง’ มันควรยึดจากหลักอะไร ผมเองก็ไม่มั่นใจนัก
จักรยานเป็นพาหนะที่สัมพันธ์กับร่างกายมาก จักรยานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่แปลกเลยถ้าเราเอาหลักการปรับจักรยานของคันหนึ่ง ไปใช้กับอีกคันหนึ่งแล้วมันอาจไม่ได้ผลเสมอไป ร่างกายมนุษย์มีรายละเอียดมากมาย การยืดหยุ่นกับเรื่องนี้บ้าง ไม่ต้องถึงขั้นทำตามตำราเป๊ะๆ จะทำให้เรามีความสุขกับการปั่นจักรยานมากขึ้น
ตอนที่พูดแนะนำภรรยา ใจผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าความหวังดี ซึ่งเจือไปด้วยความคาดหวังให้คนทำตามสิ่งที่เราคิดว่าดี โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย
ไม่ใช่แค่ความหวังดีเท่านั้น อะไรที่เรียกว่า ‘ดี’ เป็นสิ่งที่ต้องระวัง
สังคมเปลี่ยนไปมาก ความรู้ความเชื่อที่เราเคยคิดว่าถูก อาจไม่ตรงจริตกับยุคสมัยนี้อีกต่อไป
ก่อนจะพูดว่าอะไรว่า ‘ดี’ ควรมองบริบทให้ถี่ถ้วน ตรวจสอบหัวใจตัวเองก่อนเอ่ยคำออกไป ไม่เช่นนั้น มันจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวที่แฝงซ่อนอยู่ในคราบของความดีนั้นเอง
แดเนียล พิงก์ นักเขียน เจ้าของหนังสือเกี่ยวกับการจูงใจคน เคยเล่าในคลาสออนไลน์ Masterclass ว่า การจูงใจคนให้สำเร็จ ควรเริ่มจากการเข้าใจมุมมองของคนที่เรากำลังพูดด้วย
เคล็ดลับหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจคนทีคิดต่าง คือเราต้องลดพลังของตัวเรา อย่าครอบงำคู่สนทนามากเกินไป
พูดง่ายๆ คืออย่าพูดมากเกินไป ถ้าเราอยากเข้าใจคน ก็ควรใช้หูมากกว่าใช้ปาก
ไม่ได้หมายความว่าการพูดจะแย่ไปทั้งหมดนะครับ ผู้นำหลายคนสร้างพลังให้คนในทีมได้ด้วยคำพูดที่ดี เพียงแต่ก่อนจะพูดให้ดีได้นั้น มันควรเป็นการพูดจากความเข้าใจ ไม่ได้มาจากความคาดหวัง และไม่ได้คิดถึงผู้อื่น
มีนักคิดนักเขียนหลายคนแนะนำให้องค์กรสมัยนี้ทำงานด้วยความ empathy หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มันเป็นคำแห่งยุคสมัยที่ทำไม่ง่ายนัก เพราะเราต้องลดความหวังของตัวเองให้ได้ก่อน เราถึงจะเห็นใจผู้อื่นได้อย่างแท้จริง
เขียนถึงเรื่องนี้ ผมย้อนกลับไปคิดหลายเรื่องในอดีต พลันก็รู้สึกผิดกับสิ่งที่เคยทำ รู้สึกพลาดที่คาดหวังกับคนอื่นมากเกินไป
ในการทำงานเป็นทีม มีพี่มีน้อง คนเป็นพี่ก็มักต้องสอนงาน บางครั้งก็สอนด้วยถ้อยคำที่แรงเกินไป เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นปกติในหลายองค์กร หลายคนไม่ได้สนใจ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ใครๆ ก็ทำกัน
ผมก็เคย ครั้งนั้นผมคิดว่าคำแนะนำของตัวเองถูก คิดว่าจะทำให้เพื่อนร่วมงานพัฒนาขึ้น แม้จะเป็นคำแนะนำด้วยคำพูดที่ตรงไปตรงมาจนอาจทำร้ายจิตใจ คิดถึงตัวเองเป็นศูนย์กลาง ผมก็คิดว่าตัวกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง
หลายครั้งเวลาให้คำแนะนำกับคนที่กำลังเป็นทุกข์ เราก็จะมองย้อนมาหาตัวเอง ว่าเราผ่านปัญหาคล้ายๆ กันนี้มาได้ยังไง จากนั้นเราก็จะแนะนำบางสิ่งโดยยึดจากฐานความคิดของเราเป็นหลัก เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมั่นใจในสิ่งที่พูด ถ้าเราเคยพบ เห็น และผ่านประสบการณ์เดียวกันมาก่อนด้วยตัวเอง
ถ้าชีวิตตกต่ำ ลองลงแข่งวิ่งมาราธอนแล้วรู้สึกดีขึ้น คุณก็อยากแนะนำให้คนอื่นลองวิ่งหากประสบปัญหาแบบเดียวกัน ถ้าคุณเศร้าใจ สวดมนต์ไหว้พระแล้วหาย คุณก็อยากแนะนำให้คนอื่นเข้าหาธรรมะ หากเจ็บป่วยเรื่องใด กินยาตัวไหนหายดี คุณก็อยากแนะนำเพราะพิสูจน์ด้วยตัวคุณเองแล้วว่ามันได้ผล
ถ้าลูกโตขึ้น ผมคงอยากให้แกปั่นจักรยาน เพราะรู้ว่ามันดี มันทำงานกับผม ให้อะไรหลายอย่างกับชีวิต
แต่หากมองกลับกัน วันหนึ่งลูกผมก็ต้องเติบโตไปเป็นอีกชีวิตหนึ่งที่อาจแตกต่างจากพ่อแม่ มีสิ่งที่ชอบไม่เหมือนกัน มีประสบการณ์ที่แตกต่าง
ถ้าลูกผมไม่ชอบปั่นจักรยาน ในขณะที่พ่อมันมีจักรยานอยู่ในสายเลือด มันก็เป็นหน้าที่ของผมเองที่ต้องปล่อยวาง ลดความคาดหวัง ไม่คิดมาก
เฟรมจักรยานที่ผมผูกพัน ให้อะไรกับชีวิตมากมาย ในเมื่อเรากล้าที่จะส่งต่อให้ลูก เราก็ต้องกล้าที่จะยอมรับด้วยว่าเขาอาจจะไม่อยากได้ ทิ้งมันไว้ให้อยู่ในกล่องไปตลอดกาล
ไม่คุ้มหรอกถ้าชีวิตลูกจะเป็นอย่างที่เราต้องการ โดยที่เขาไม่มีสิทธิ์เลือก ไม่มีความสุข
ทุกการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เราล้วนต้องยอมรับ หากยังเชื่อว่าทุกชีวิตควรมีเสรีภาพที่จะคิดและเลือกหนทางที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง