Ride and Learn

Ride and Learn: ความช่วยเหลือ จะมาถึงผู้ร้องขอ

ด้วยความที่ทำงานเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร ผมจึงติดนิสัยสังเกตวิธีการตั้งชื่อรุ่นจักรยาน

        บางแบรนด์ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่บางแบรนด์ก็เอาใจใส่กับเรื่องนี้มาก ชื่อที่ดีต้องบ่งบอกเอกลักษณ์ของจักรยานรุ่นนั้น ติดหู ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ในการตั้งชื่อก็จะเป็นกำไร ทำให้คนจดจำได้มากขึ้น

        บางรุ่นจะตั้งชื่อเป็นตัวอักษรย่อ ซึ่งเป็นรหัสในการผลิต มีที่มาจากวัสดุหรือเทคโนโลยีที่ใช้ เช่น Cervelo P5, Giant TCR, Broadman SLR 9.2

        บางรุ่นเลือกใช้คำเรียกจักรยานแบบอื่น บ่งบอกคุณสมบัติทางอ้อม เช่น All City Space Horse เป็นจักรยานสำหรับเดินทางไกล ปั่นได้ทั้งทางเรียบและทางขรุขระ บางรุ่นใช้ชื่อสถานที่ซึ่งเชื่อมโยงกับคุณสมบัติ เช่น Trek Madone คำหลังย่อมาจากชื่อภูเขา Col de la Madone ในฝรั่งเศส เป็นภูเขาที่นักกีฬาทีมจักรยานนิยมมาซ้อมปั่นก่อนเข้าร่วมการแข่งขันจักรยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง Tour de France

        มีชื่อจักรยานรุ่นหนึ่งที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวคือ Velo Orange Polyvalent

        คำมันสวยดี Polyvalent แปลว่า อเนกประสงค์ สะท้อนคุณสมบัติจักรยานรุ่นนี้ว่าใช้งานได้หลากหลาย อเนกประสงค์ตรงตามชื่อ

        พักหลังมีจักรยานหลายรุ่นโปรโมตสรรพคุณว่าทำได้หลายอย่าง โดยมักจะใช้คำว่า Versatile, Do it all bike หรือ Jack of all trades ความหมายก็คล้ายกันคือมีคันเดียวตอบโจทย์ทุกความต้องการ จักรยานแบบนี้ยังมีข้อดีที่สอดคล้องกับยุคสมัยเรื่องหนึ่งคือ มนุษย์เราเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น อยู่ในคอนโดมิเนียมมากกว่าบ้านเดี่ยว เมื่อที่อยู่อาศัยเล็กลง พื้นที่ในการเก็บจักรยานก็น้อยลง เราจึงไม่นิยมซื้อจักรยานหลายคัน มีคันเดียวจบก็จะตอบโจทย์มากกว่า

        เท่าที่เคยลองขี่ จักรยานประเภทนี้ถ้าวัดประสิทธิภาพเป็นตัวเลข อาจจะไม่ได้ดีที่สุดถ้าเทียบกับจักรยานที่สร้างมาเพื่อการใช้งานเฉพาะทาง แต่เราก็สามารถใช้ได้ มีความสุขในการปั่นได้ ถ้าไม่เคร่งเครียดกับมันจนเกินไป

        ถึงชื่อจะบอกว่าทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเพอร์เฟกต์ทุกอย่าง

        ดูชื่อรุ่นนี้ ผมคิดถึงตัวเองในวัยเยาว์ ที่เคยพยายามจะเป็นคนที่ Do it all กับทุกเรื่อง ไม่แพ้จักรยาน

        ผมทำงานในออฟฟิศเดียวมานาน ทำมาหลายตำแหน่ง ตำแหน่งที่เหนื่อยกายที่สุด แต่ก็สนุกที่สุดเช่นกัน คือผู้ช่วยบรรณาธิการ

        หน้าที่ของผมก็เป็นเหมือนชื่อ คือช่วยบรรณาธิการซึ่งเป็นผู้ให้วิสัยทัศน์และทิศทางในการทำงาน หน้าที่ของเราคือเปลี่ยนความคิดให้เป็นความจริง โดยผมจะเป็นคนแรกๆ ที่ได้รับวิสัยทัศน์แล้วนำไปปฏิบัติต่อ

        ความสนุกของงานนี้คือการได้รับโจทย์ที่หลากหลาย ในวงการที่แตกต่าง ต้องศึกษาข้อมูลก่อนลงมือทำ ทั้งยังต้องช่วยดูแลน้องที่รับช่วงต่อจากเราให้ทำงานลุล่วงไปได้ด้วยดี

        ผมทำตำแหน่งนี้นานหลายปี นานจนตัวเองเริ่มเกิดนิสัยเหมือนจักรยานอเนกประสงค์ คือคิดว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง ติดการพูดว่า ‘ทำได้ครับ’ ก่อนจะตระหนักว่าตัวเองมีความสามารถจริงมั้ย

        ถ้าประเมินตัวเอง พอจะพูดได้บ้างว่าผมทำได้ผ่านเกณฑ์ ทุกครั้งที่ทำโจทย์ยากๆ ได้ ก็เกิดความภูมิใจว่าเรามีส่วนช่วยทีมไม่น้อย

        นานวันเข้า ความภูมิใจกลายเป็นความผยอง คิดว่าตนทำได้ทุกเรื่อง

        มันเริ่มลามปามสร้างความเดือดร้อนกับผู้อื่น เมื่อผมแบกงานไว้กับตัวมากเกินไป ส่งก็ช้า พอใกล้เวลาเส้นตายก็ต้องโยนงานให้น้องทำโดยที่เหลือเวลาให้เขาน้อยมาก แต่ทุกครั้งผมจะมีข้ออ้างกับตัวเองว่าฉันอยากแก้ปัญหา อยากทำให้ทุกอย่างดีขึ้นภายในระยะเวลารวดเร็ว และเชื่อว่าตัวเองทำได้

        ครั้งหนึ่งผมได้รับมอบหมายรับผิดชอบงานใหญ่ หลายนั้นผมทำอย่างมุ่งมั่นอยู่คนเดียวจนหลงลืมว่าการทำงานเป็นทีมทำอย่างไร

        “มึงคิดว่าตัวเองทำงานหนักอยู่คนเดียวเหรอ” รุ่นพี่ที่เคารพเอ่ยปากเตือนผมในวันหนึ่ง

        แทนที่จะสำนึก ผมกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าภูมิใจ ผลจากความอวดดีครั้งนั้นจบไม่สวยเลย งานผิดพลาดหลายด้าน เป็นบทเรียนที่ยังจำฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

        บางครั้งก็เป็นเรื่องยากมาก ที่จะบอกว่าเราทำอะไรไม่ได้ เพราะใจเรามักจะพยายามบอกคนอื่นว่าไหว ทั้งที่ข้างในแสนอ่อนล้า

        การเผยความอ่อนแอในใจกลายเป็นเรื่องผิดบาป ที่แย่กว่านั้น เมื่อเราแสดงความเข้มแข็งตลอดเวลา บอกคนอื่นเสมอว่าฉันทำได้ ก็ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเราไม่เป็นอะไร

        เมื่ออ่อนแอและต้องการใครสักคน จึงไม่มีใครอยู่ข้างกาย เพราะเขาคิดว่าเราแข็งแรงดี ไม่ทันสังเกตใบหน้าที่เต็มไปด้วยน้ำตาของเรา

        หรือในบางสถานการณ์ ในสังคมตอนนี้ โรคระบาดก็มี รัฐก็ไม่ช่วย หลายคนจำเป็นต้องทำงานทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด ทั้งชีวิตของตัวเอง และคนที่อยู่ข้างหลัง

        แบกจนหลังแอ่น หนักเกินจะรับไหว

        ผมไม่มีคำแนะนำใดๆ นอกจากบอกว่าถ้าไม่ไหว ก็ร้องไห้ออกมาบ้าง

        มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำได้ทุกอย่าง

        นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ธรรมชาติสร้างให้เรามีน้ำตา

        มันคือเครื่องมือแสดงความรู้สึกท่วมท้นภายใน ทั้งทุกข์และสุข ในกรณีที่เป็นความทุกข์ น้ำตาคือสัญญาณไฟฉุกเฉินขอความช่วยเหลือ จากใครสักคน โดยที่ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยคำใดออกมา

        จงใช้มันให้คุ้ม ผมเชื่อว่าการยอมรับความอ่อนแอ แท้จริงแล้วคือความเข้มแข็งอย่างหนึ่ง

        เมื่อยอมรับได้ เราจะมองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น การปรับปรุงตัวเองก็จะทำได้ตรงจุดมากขึ้น ฟื้นฟูตัวเองได้เร็ว

        ไม่ไหวอย่าฝืน ค้นหาหนทางอื่นๆ ที่จะแก้ปัญหานั้น เอ่ยปากขอความช่วยเหลือบ้างไม่ใช่เรื่องน่าอาย

        การผ่านอุปสรรคไปพร้อมกับคนรอบตัว มีความหมายกว่าการผ่านมันไปอย่างโดดเดี่ยว

        จะทำแบบนี้ได้ ต้องยอมรับก่อนว่าตัวเองก็อ่อนแอได้ แพ้เป็น

        นั่นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีความสุข


หมายเหตุ: ภาพประกอบจากซีรีส์ Ossan’s Love ซีซัน 2