สมาร์ตโฟนจอพับได้ เมื่อเทคโนโลยีทำให้มือถือฝาพับกลับมาอีกครั้ง

จุดเริ่มต้นของสมาร์ตโฟนนั้นต้องย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2007 ที่ สตีฟ จ็อบส์ ได้เปิดตัว iPhone เครื่องแรกให้โลกได้ยลโฉม ก่อนที่จะเปลี่ยนวิธีที่เราใช้งานมือถือไปตลอดกาล

        หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาหน้าจอสัมผัสแบบ OLED ที่มีความยืดหยุ่นขึ้น นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการมีมือถือจอโค้ง จอขอบข้าง อย่างที่เราพบเห็นกันในมือถือของ Samsung Galaxy Note Edge ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2014 ที่ผ่านมา

        เพียง 4 ปีหลังจากนั้น บริษัทต่างๆ ได้ทยอยเปิดตัวสมาร์ตโฟนและต้นแบบที่สามารถพับได้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Motorola Razr หรือ ZTE Axon M ตามมาด้วย Huawei Mate X และ Samsung Galaxy Fold ก่อนที่ในปีนี้จะมีการเปิดตัว Samsung Galaxy Z Flip สมาร์ตโฟนที่มีกระจกที่สามารถพับได้เครื่องแรกของโลกขึ้น

        นวัตกรรมดังกล่าวถูกเรียกว่า Ultra Thin Glass หรือ UTG ซึ่งทาง Samsung ได้ยื่นจดสิทธิบัตรกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรป โดยนี่คือครั้งแรกที่สมาร์ตโฟนพับได้จะมีหน้าจอที่มาจากกระจก เพราะทุกเครื่องก่อนหน้านี้นั้นเป็นหน้ากระจกที่ใช้พลาสติกแทน ซึ่งสำหรับ UTG นั้น ทาง Samsung ได้ระบุว่ามีความทนทานมากพอสำหรับการพับมากกว่า 200,000 ครั้งเลยทีเดียว

 

        ก่อนอื่นเราต้องมาพูดถึงเทคโนโลยีเบื้องหลังที่ทำให้ Galaxy Z Flip เกิดขึ้นได้ก่อน นั่นก็คือการพัฒนาหน้าจอ OLED ขึ้นมา ซึ่ง OLED นั้นใช้กระบวนการอิเล็กโทรลูมิเนเซนส์ (Electroluminescence) ที่ใช้สารอินทรีย์อันมีคาร์บอนเป็นพื้นฐาน ซึ่งสามารถเปล่งแสงได้เองโดยไม่ต้องใช้แบล็กไลต์

        โครงสร้างแบบคร่าวๆ ของหน้าจอแบบ OLED คือจะมีชั้นเปล่งแสงอยู่ตรงกลางระหว่างชั้นของแคโทด (Cathode) หรือขั้วลบ ที่ทำหน้าที่ปล่อยกระแสอิเล็กตรอน กับชั้นของแอโนด (Anode) หรือขั้วบวก ที่ทำมาจากวัสดุโปร่งใส่ ทำหน้าที่คอยดึงกระแสอิเล็กตรอน และมีชั้นซับสเตรต (Substrate) ที่เป็นผิวจอภาพ ซึ่งก็จะถูกปิดด้วยหน้าจอกระจกหรือพลาสติกอีกทีหนึ่ง และในระหว่างชั้นแคโทดกับแอโนดอาจมีการเพิ่มชั้นเข้าไปอีก เพื่อช่วยในด้านประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงาน แต่โครงสร้างหลักๆ ก็จะยังคงมีอยู่แบบนี้กับสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ในท้องตลาด

        ข้อดีของจอ OLED คือมีความบางกว่าจอ LCD และมีความยืดหยุ่น ซึ่งทำให้สามารถนำมาใช้ทำสมาร์ตโฟนจอโค้งได้ โดยประเภทของหน้าจอแบบ OLED ที่ถูกนำมาใช้ในวงการสมาร์ตโฟนนั้นก็คือ AMOLED ที่ย่อมาจาก Active Matrix OLED ซึ่งก็เป็นทาง Samsung ที่เป็นผู้นำในด้านการผลิตหน้าจอชนิดนี้ โดยมียอดการผลิตมากถึง 400 ล้านชิ้นต่อปี

        และเมื่อมีหน้าจอกับกระจกที่สามารถพับได้แล้วนั้น ก็ยังต้องมีบานพับที่ต้องรองรับการพับปิดและเปิดได้ด้วยเช่นกัน โดยอย่างล่าสุดมีการใช้ Hideaway Hinge กับเครื่อง Galaxy Z Flip ที่ใช้กลไกการกางออกให้สุดเป็นสมาร์ตโฟนแบบทั่วไป หรือกางหน้าจอให้ตั้งฉาก 90 กับ 120 องศาแบบแล็ปท็อปก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งนี่สามารถเป็นประโยชน์สำหรับการตั้งถ่ายรูป รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้กับการพัฒนาแอพพลิเคชันมารองรับในอนาคต

        อนาคตของสมาร์ตโฟนหน้าจอพับได้ยังคงเปิดกว้างอยู่ เช่นกันกับเมื่อวินาทีแรกที่โลกได้รู้จักกับสมาร์ตโฟน เมื่อปุ่มกดต่าง ๆ ที่เคยกินพื้นที่ไปกว่าครึ่งหนึ่งของเครื่องถูกเอาออกไปหมด และคงเหลือไว้เพียงแค่หน้าจอขนาดใหญ่ ก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าหน้าจอที่ใหญ่ในวันนั้น (3.5 นิ้ว) จะกลายเป็นหน้าจอขนาดมินิสำหรับโลกยุคปัจจุบัน และหนาเทอะทะเมื่อเทียบกับเกือบทุกรุ่นที่มีอยู่ในท้องตลาดแล้ว

        ดังนั้น เราก็ได้แต่รอดูว่าหน้าจอพับได้เหล่านี้ จะพับเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของพวกเราไปได้อย่างไรกันอีก