พักเรื่องไวรัสกันบ้าง สงครามระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคไม่ได้มีแค่ไวรัส แต่เป็นอีกสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เราขาดไม่ได้ในร่างกาย แต่ก็ทำร้ายเราได้เช่นกัน สิ่งนั้นคือ ‘แบคทีเรีย’ ที่อยากเล่าเรื่องนี้ก็เพราะว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนจะเขียนบทความ ผู้เขียนได้ไปพบแพทย์เนื่องจากมีอาการเจ็บคอ อาการนี้วินิจฉัยได้ไม่ยากนัก หลังจากที่หมอได้ใช้อุปกรณ์ที่เป็นเหมือนกล้องและกระจกส่องดูลำคอ ก็บอกว่าอาการนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ก่อนที่จะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) มาให้กินตามระเบียบ และให้กลับมาพักผ่อนที่บ้าน
ทันทีที่ผู้เขียนกินยาปฏิชีวนะ เรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษย์กับการต่อสู้กับเชื้อโรคก็หลั่งไหลเข้ามา ภาพของ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะตัวแรกก็ผุดขึ้นมาในหัว ยาปฏิชีวนะคือหนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนโฉมหน้าของมนุษยชาติอย่างชัดเจนมาก และเปลี่ยนวิธีที่เรา ‘เลือกที่จะต่อสู้’ กับเชื้อที่เป็นอันตรายต่อเรา
ร่างกายของคนเรานั้นประกอบไปด้วยเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด มันช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้การทำงานของภูมิคุ้มกันเป็นปกติ เรากับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้อาศัยอยู่ร่วมกันมานานแสนนาน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่ว่าเราหรือแบคทีเรียล้วนมีกฎชุดหนึ่งที่ควบคุมชีวิตของเราให้เป็นแบบนี้ นั่นก็คือกฎการคัดสรรโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ธรรมชาติ ไม่อนุญาตให้สิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ ได้สืบพันธ์ุเพื่อส่งต่อพันธุกรรมที่อ่อนแอไปให้รุ่นต่อไป กฎนี้ส่งผลให้มนุษย์แข็งแรงขึ้นรุ่นสู่รุ่น เพราะพวกที่ไม่แข็งแรงก็จะตายไป และมนุษย์ในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะแข็งแรงขึ้น
แต่! ในหนังสือเรื่อง Life 3.0 ของ แม็กซ์ เท็กมาร์ก (Max Tegmark) เล่าเอาไว้ว่า มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีแค่กลไกทางชีววิทยา (Biological) แต่มีแนวคิดทางสังคม (Cultural) เราเองทนไม่ได้ที่เห็นเพื่อนหรือญาติพี่น้องเราต้องตาย จะรอให้มนุษย์มีภูมิคุ้มกันก็อาจจะต้องรออีกหลายพันปี เราจึงสรรหาวิธีมาเพื่อสู้กับ Natural Selection และสิ่งที่สู้กับ Natural Selection ก็คือสิ่งที่ธรรมชาติไม่ได้สร้างขึ้นมา แต่เราต้องไปรบกวนระบบของมัน ยาปฏิชีวนะเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างขึ้นมาแล้วไป ‘แทรกแซง’ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคในตัวเรา
ทันทีที่กินยาปฏิชีวนะเข้าไป ยาจะเข้าไปฆ่าเชื้อที่เป็นอันตรายกับร่างกายที่ภูมิคุ้มกันเรายังจัดการไม่ได้ เนื่องจากเรายังวิวัฒนาการไปไม่ถึงจุดนั้น ฟังดูเหมือนจะดี แต่การที่เราส่ง ‘ทหารรับจ้าง’ ไปสู้กับศัตรู แปลว่าทหารของเราหรือระบบภูมิคุ้มกันก็ไม่ได้เก่งพอ แต่อาศัยทหารรับจ้างแทน
ปัญหาก็เกิดขึ้นตรงนี้ ตรงที่เชื้อที่ดันรอดจากการโจมตีของทหารรับจ้าง มันยังสามารถสืบพันธ์ุ แบ่งขยายกองกำลังต่อได้ แปลว่าเชื้อเหล่านั้นจะมี ‘สูตรลับ’ ที่ร่างกายของเราจัดการไม่ได้แน่ๆ เราเรียกว่า ‘อาการดื้อยา’ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะภูมิคุ้มกันของเราหรือแม้กระทั่งยาปฏิชีวนะเอง ก็ไม่สามารถ ‘ฆ่า’ เชื้อเหล่านี้ได้ ความโกลาหลก็จะเกิดขึ้น เมื่อเชื้อที่สืบพันธุ์และมีวิวัฒนาการที่ยาปฏิชีวนะและร่างกายของเรารักษาไม่ได้มันหลุดพ้นออกจากร่างกายของเราไปและแพร่กระจายไปยังมนุษย์คนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เชื้อเหล่านี้กลายเป็นภัยกับมนุษยชาติในที่สุด
และทุกวันนี้โลกทั้งใบกลับเชื่อมต่อกันโดยง่าย ผ่านการบินด้วยเครื่องบิน บางกลุ่มของมนุษย์อาจจะมีภูมิคุ้มกันกับเชื้อบางชนิด แต่ถ้าบุคคลที่มีเชื้อชนิดนั้นอยู่ในตัว เดินทางไปหามนุษย์อีกกลุ่มที่ทุกคนล้วนแต่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็จะเกิดโรคระบาดขึ้นโดยที่คนที่มีเชื้อก็จะไม่รู้เลยว่าตัวเองไปฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุเขา
ในขณะเดียวกัน เราก็กำลังสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘Superbug’ ในเว็บไซต์ Medical News Today ผู้เขียน จอน จอนห์สัน (Jon Johnson) ได้เขียนบทความชื่อ Superbugs: Everything you need to know อธิบาย Superbug ไว้ว่า เป็นเชื้อที่ทนต่อยาที่ครั้งหนึ่งเคยรักษาได้ ในบางครั้งเราสู้กับเชื้อโรค แต่ก็ทำให้เชื้อเหล่านี้แข็งแรงขึ้นด้วย ในบทความเล่าต่อว่า CDC ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ รายงานว่า เชื้อดื้อยาคร่าชีวิตคนไปกว่า 35,000 ราย ในแต่ละปี
ถ้าเกิดว่า Superbug แพร่ขยายไปในเวลาอันรวดเร็ว ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันที่ไร้พรมแดนของมนุษย์ โอกาสที่ประชากรมากกว่า 70% ของโลก จะติดเชื้อที่ไม่อาจฆ่าโดยยาปฏิชีวนะหรือภูมิคุ้มกันของคนส่วนใหญ่ ก็อาจจะต้องเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของวิวัฒนาการมนุษย์ก็ได้
การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรคก็เหมือนกับทฤษฎีเกม เกมที่ชื่อว่าวิวัฒนาการ เรามีผลประโยชน์ต่อกัน แต่ถ้ามีใครบางคนอยากจะเล่นนอกเกม (ซึ่งบางทีก็อาจจะเป็นเรา ที่ทนเห็นเพื่อนมนุษย์ตายไม่ได้ จึงมีการไปต่อสู้กับเชื้อโรค) ความสมดุลของระบบไม่เกิดขึ้น จึงทำให้ เกิด Dilemma ขึ้น (ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก)
แต่ไม่ว่า Dilemma นั้นจะเป็นอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขียนบทความนี้จบ ผู้เขียนก็คงเดินไปหยิบยาปฏิชีวนะมากินอยู่ดี… เพราะเราเองก็คงไม่ได้อยากตายวันนี้หรอก ยังสร้างประโยชน์อะไรได้อีกเยอะ นี่แหละ Life 2.0 มนุษย์ให้ค่าตัวเองในทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่กลไกทางชีววิทยา