คุณเคยถูกคนใกล้ตัวพาลโมโหร้ายหรืออารมณ์เสียใส่ทั้งๆ ที่คุณไม่ได้ทำอะไรผิดไหม? อยู่ดีๆ ก็มีคนมาขึ้นเสียงดังตวาดใส่ บางคนอาจถึงขั้นลงไม้ลงมือทุบตีคนรอบข้างโดยเฉพาะคนในครอบครัวและคนรัก หรือไม่ก็ขว้างปาทำลายข้าวของเป็นประจำ เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจหรือความโกรธเคืองเพราะอารมณ์เสียจากคนอื่นมาอีกที จนอดคิดไม่ได้ว่าในสายตาของเขาเห็นเราเป็นอะไร? แล้วทำไมเราถึงต้องกลายเป็นที่รองรับความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นด้วย หรือว่าในสายตาของเขาอาจเห็นเราเป็นเพียงถังขยะใบหนึ่งเท่านั้น
แม้ว่า ‘ถังขยะ’ จะเป็นคำเปรียบเทียบที่ให้ความรู้สึกรุนแรงไปบ้าง แต่กลับเป็นคำเดียวที่ให้คำจำกัดความผู้ที่อยู่ในสถานะถูกกระทำได้ชัดเจนและเห็นภาพมากที่สุด เพราะถังขยะคือสิ่งเดียวที่ทุกคนจะมองหาเมื่อต้องการทิ้งอะไรก็ตามที่ไม่อยากเก็บเอาไว้กับตัวอีกต่อไป ซึ่งไม่ต่างกับความเครียด ความรู้สึกกดดัน หรืออารมณ์คับแค้นที่เกิดขึ้นมา แล้วยังคงเดือดดาลอยู่ภายในจนต้องหาหนทางเพื่อระบายความไม่สบายใจเหล่านี้ออกไปให้หมด
และหนึ่งในวิธีการที่แย่ที่สุดคือการหาเหยื่อไว้คอยรองรับอารมณ์ร้ายๆ ซึ่งไม่ใช่คนอื่นคนไกล เพราะเหยื่ออารมณ์มักจะเป็นคนใกล้ชิดที่มีชีวิตเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะคนในครอบครัว
ลองสังเกตภาพแต่ละช่องต่อไปนี้ตามลำดับ คุณเห็นอะไรไหม?
หลังจากถูกเพ่งเล็งมาเป็นระยะเวลานาน ในที่สุดผู้เป็นพ่อก็ถูกหัวหน้างานเรียกพบเพื่อตำหนิเรื่องขาดตกบกพร่องในหน้าที่ ซึ่งสั่งสมมาจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้บริษัท ท่ามกลางเสียงบ่นก่นด่า เขาได้แต่รับฟังโดยไม่ปริปากโต้แย้งใดๆ แม้ว่าความต้องการในใจจริงๆ คือการได้ใส่อารมณ์ขึ้นเสียงตะคอกกลับ แล้วกำหมัดเข้าไปต่อยแรงๆ ที่ปากของหัวหน้าสักทีก็ตาม แต่เขาทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเขารู้ดีว่าได้ไม่คุ้มเสีย จึงได้แต่ทำทีท่าเจียมตัวให้เจ้านายเห็นว่าเขาสำนึกผิดกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วข่มความรู้สึกโกรธเกลียดและเก็บงำความก้าวร้าวนั้นเอาไว้จนกระทั่งกลับถึงบ้าน
ทันทีที่เห็นภรรยา เขาระเบิดอารมณ์ใส่เธออย่างไม่ปรานี ทุกสิ่งที่เขาคิดเอาไว้ว่าอยากทำกับหัวหน้า ถูกเปลี่ยนมาลงที่เธอเพียงคนเดียว มากไปกว่านั้นเขายังพาลขุดเรื่องอื่นๆ ขึ้นมาด่าและซ้ำเติมเธออีก จนเธอเองเริ่มรู้สึกไม่พอใจที่สามีอารมณ์เสียจากคนอื่นแล้วต้องมาระบายใส่เธอ แต่ในเมื่อตอบโต้อะไรไม่ได้ เธอถึงพาลไปดุลูกด้วยอารมณ์เกรียวกราดเหมือนกัน จากนั้นลูกก็ไปดุสัตว์เลี้ยงเพราะมันคือสิ่งเดียวที่เขารู้สึกว่าด่าได้อย่างสบายใจ
แม่กลายเป็นเหยื่อของพ่อ ลูกกลายเป็นเหยื่อของแม่อีกที คนหนึ่งเป็นเป้านิ่งให้อีกคนหนึ่งโยนความรู้สึกแย่ๆ ใส่อย่างไม่ใยดีซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะว่าไปก็คล้ายกับการขยำกระดาษที่ใช้เขียนต่อไปไม่ได้ให้เป็นขยะก้อนกลมๆ แล้วปาทิ้งใส่ถังนั่นแหละ แต่สาเหตุที่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะว่าเราทุกคนต่างมีชีวิตและจิตใจที่รับความรู้สึกได้และเจ็บปวดเป็น นานเท่าไหร่แล้วที่เราต่างถูกทำร้าย รวมถึงกลายเป็นคนทำลายความรู้สึกของคนใกล้ตัวเสียเอง
บางครั้งคนใกล้ชิดที่เราเคยคิดเสมอว่าเขาคงเป็นหนึ่งในไม่กี่คนหรอกที่จะเข้าอกเข้าใจเราเป็นอย่างดี อาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ในตอนแรก เพราะถ้าเข้าใจกันจริงคงไม่มาตวาดใส่กันแบบนี้ แต่สิ่งที่ชวนคิดต่อมาคือคนเราคงไม่ถึงขนาดหมดสิ้นสติปัญญาจนหาหนทางระบายความเครียดหรือความกังวลใจที่ดีหรือสร้างสรรค์กว่านี้ไม่ได้ แต่ทำไมเมื่ออารมณ์เสีย หลายๆ คนถึงเลือกพาลใส่คนใกล้ตัว
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (1856-1939) แพทย์ชาวออสเตรีย ผู้บุกเบิกและวางรากฐานการศึกษาจิตไร้สำนึก (unconscious mind) จนพัฒนาเป็นทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ซึ่งทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลตลอดกาลทั้งในแวดวงจิตเวชและจิตวิทยา เคยอธิบายถึงประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ Beyond the Pleasure Principle (1950) ว่าเกี่ยวข้องกับความคับข้องภายในใจ (frustrations) และความขัดแย้งภายในตัวเองเพราะต้องแสดงออกโดยข่มความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ (conflict) จนกลายเป็นภัยคุมคาม (threat) ที่ทำให้จิตใจไม่มั่นคงและเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย
ดังนั้น แต่ละคนจึงพยายามหาวิธีระบายหรือผ่อนคลายความเครียดในใจให้บรรเทาลงอย่างเร็วที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองทนทุกข์อยู่กับความรู้สึกนั้น ด้วยการใช้ Defence Mechanisms อย่างไม่ทันได้รู้ตัว ซึ่งเป็นกลไกภายในจิตไร้สำนึกที่จะช่วยให้ทุกคนป้องกันตัวเองจากความคับข้องใจหรือความจริงบางอย่างที่ทำใจยอมรับไม่ได้
เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่สามารถระบายความโกรธกลับไปยังต้นเหตุที่ทำให้รู้สึกเครียดหรือกังวลใจได้ คนส่วนใหญ่จะมองหาเป้าหมายใหม่ที่มั่นใจมากพอว่าถ้าเปลี่ยนมาระบายอารมณ์เสียใส่แล้ว ตัวเองจะไม่ได้รับความเดือดร้อนมากเท่าไหร่ ซึ่งเป้าหมายนั้นเป็นไปได้ทั้งคน สัตว์ และสิ่งของ
ต่อยกำแพง เตะเก้าอี้ เอามือกวาดของบนโต๊ะให้หล่นกระจายเต็มพื้นเหมือนกับที่ตัวร้ายในละครน้ำเน่าชอบทำ หวดตีสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงการมองเห็นคนใกล้ชิดเป็นถังขยะไว้รองรับอารมณ์ และอีกสารพัดพฤติกรรมก้าวร้าวที่คนคนหนึ่งคิดและทำได้เพื่อระบายความไม่พอใจ ล้วนเป็นผลลัพธ์ของกลไกนี้ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Displacement ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่วิธีจัดการปัญหาด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
แล้ววิธีการรับมือที่ดี (coping) เพื่อจัดการกับความรู้สึกแย่ๆ ควรเป็นแบบไหนกัน?
วิธีพื้นฐานที่เริ่มต้นทำได้ทันทีคือการไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง มีสติรู้เท่าทันความคิดและการกระทำของตัวเอง ยอมรับความรู้สึกที่เป็นปัญหา จากนั้นคิดทบทวนว่าอะไรคือสาเหตุของความตึงเครียด เพื่อเรียนรู้เป็นประสบการณ์และภูมิคุ้มกัน แล้วค่อยหาวิธีผ่อนคลายความกังวลใจโดยไม่ทำให้บานปลายหรือย่ำแย่ไปกว่าเดิม เช่น พูดคุยและขอคำแนะนำปรึกษาจากคนที่คอยสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือได้ เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนมุมมองและรับกำลังใจซึ่งจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น หรือไม่ก็เปลี่ยนวิธีการระบายที่เป็นประโยชน์อย่างการออกกำลังกายและเล่นกีฬาที่ชอบ เพื่อพาตัวเองให้ก้าวข้ามความรู้สึกเครียดที่อัดอั้นอยู่ในใจ
แม้ว่าจะไม่มีใครควรได้รับความรู้สึกร้ายๆ ที่เป็นพิษต่อจิตใจ แต่ในความเป็นจริง คนเราอาจคิดไม่ถึงด้วยซ้ำว่าการใกล้ชิดจะแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งบั่นทอนชีวิตและความรู้สึกภายในใจได้ขนาดนี้ เพราะบางครั้งความใกล้กันมากๆ กลับทำให้หลายคนหลงลืมสิ่งสำคัญบางอย่างไป โดยเฉพาะความรู้สึกดีๆ ที่ทุกคนเคยมีให้กันและกัน ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออยู่ในสถานะใดก็ตาม หากปล่อยปละละเลยหรือเลือกทิ้งขว้างความสัมพันธ์เหล่านี้ไป ต่อให้ใกล้กันขนาดไหนก็เหมือนยิ่งอยู่ห่างไกลในความรู้สึก เลวร้ายที่สุดคือไม่มีวันสนิทใจกันได้เหมือนเดิม ระยะของความใกล้จึงอาจไม่อาจบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเราจะเข้าอกเข้าใจกันจริงๆ
ท้ายที่สุด ไม่ว่าสายตาคู่ใดของใครก็ตาม ถ้ามองเห็นคนใกล้ชิดเป็นเพียงของตายที่มีสถานะไม่ต่างจากถังขยะเอาไว้ทิ้งอารมณ์ร้ายๆ และระบายความรู้สึกแย่ๆ ก็ถือได้ว่าคนนั้นเป็นผู้ล้มเหลวโดยสมบูรณ์ เพราะหมายความว่าเขาควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้และกำลังทำลายความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดลงอย่างน่าเสียใจ
Reference:
- www.verywellmind.com/what-is-displacement-in-psychology-4587375
- www.psychologytoday.com/us/blog/fulfillment-any-age/201110/the-essential-guide-defense-mechanisms
- www.freudfile.org/psychoanalysis/defence_mecanism.html
- W. E. Craighead, & C. B. Nemeroff (Eds.), The Concise Corsini Encyclopedia of Psychology and Behavioral Science (3rd ed., pp. 293-294). New York: John Wiley & Sons.