ตลอดชีวิตที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ คุณเคยรู้สึกแปลกแยกอย่างถึงที่สุดบ้างไหม? หรือรู้สึกโดดเดี่ยวเกินกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ของใครและกลุ่มสังคมใดได้อีกเพียงเพราะชิงชังในความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตบ้างหรือเปล่า?
ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 87 ประจำปี 2014 เกรแฮม มัวร์ นักเขียนบทภาพยนตร์ชาวอเมริกันวัย 33 ปี เดินขึ้นไปบนเวทีพร้อมกับเสียงปรบมือแสดงความยินดี หลังจาก โอปราห์ วินฟรีย์ ประกาศชื่อของเขาว่าเป็นผู้ได้รับรางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game
ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ผู้ได้รับรางวัลในแต่ละสาขาจะมีเวลาเพียง 45 วินาที เพื่อกล่าวขอบคุณทีมงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับ เกรแฮม มัวร์ เมื่อกล่าวขอบคุณเสร็จสิ้น เขามองไปยังนาฬิกาซึ่งส่งสัญญาณเตือนเขาว่าเหลือเวลาอีกแค่ 10 วินาทีเท่านั้น เขาตัดสินใจใช้เวลาอันน้อยนิดที่เหลืออยู่พูดถึงชีวิตวัยเด็กที่เกือบแหลกสลายในอดีต
“ตอนอายุสิบหก ผมพยายามฆ่าตัวตาย” เสียงของเขาดังก้อง ทุกสายตาต่างจับจ้องมาที่เขาอีกครั้ง
“เพราะผมรู้สึกแปลกประหลาดและต่างจากคนอื่น ผมรู้สึกว่าตัวเองเข้ากับใครไม่ได้ทั้งนั้น แต่ตอนนี้ผมได้มายืนอยู่บนเวที และผมต้องการใช้ช่วงเวลานี้เพื่อเด็กๆ ที่กำลังรู้สึกแปลกประหลาด แตกต่าง หรือรู้สึกว่าไม่เหมาะกับที่ไหนสักแห่ง ผมอยากบอกพวกเขาว่าทุกคนมีที่ของตัวเอง ผมสัญญาว่ามี ทุกคนจงแปลกประหลาดและแตกต่างต่อไป แล้วเมื่อถึงคราวที่คุณได้มายืนอยู่บนเวทีนี้ ช่วยส่งสิ่งเหล่านี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ”
คำพูดของ เกรแฮม มัวร์ ถูกยกย่องให้เป็นคำพูดที่ดีที่สุดในค่ำคืนวันนั้น เขาไม่เพียงแค่ส่งต่อพลังใจให้เฉพาะเด็กๆ ที่กำลังตกอยู่ในความรู้สึกเหมือนกับที่เขาเคยรู้สึก แต่เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนทั่วโลกสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้ ทั้งๆ ที่ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างและแปลกประหลาด เพราะในความเป็นจริง ความไม่เหมือนคนอื่น การไม่ได้เป็นหรือมีอย่างคนอื่น ความรู้สึกขาดแหว่งจากความไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่จะมาทำลายชีวิตของใครได้ แต่การมีความคิดดูถูกดูแคลนและการตำหนิตัวเองตลอดเวลาจากความพยายามหาข้อเปรียบเทียบกับผู้อื่นจนทำให้เกิดความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นต่างหากที่จะกลายเป็นโซ่ตรวนและกรงขังเราไว้ คอยจองจำชีวิตไม่ให้ก้าวไปยังจุดที่ดีกว่าได้
ไม่มีใครในโลกจะสมบูรณ์แบบไปเสียทุกเรื่อง แล้วความไม่สมบูรณ์แบบก็ไม่ถือว่าเป็นบาดแผลที่ด่างพร้อยของชีวิต แต่เป็นความปกติที่แสนจะธรรมดามากกว่า ซึ่งเราทุกคนต่างต้องยอมรับอย่างเข้าใจเพื่อทำให้ชีวิตไปต่อได้โดยไม่เก็บมาคิดเล็กคิดน้อยให้กลายเป็นเรื่องรบกวนใจหรือเป็นอุปสรรคยิ่งใหญ่ที่คอยขัดขวางการมีชีวิต และหนึ่งในคนที่น่าจะเข้าใจความหมายของความไม่สมบูรณ์แบบได้ลึกซึ้งไม่แพ้คำพูดของ เกรแฮม มัวร์ ก็คือ โอปราห์ วินฟรีย์
ชีวิตวัยเด็กของเธอถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดถึงขั้นโดนหวดฟาดเป็นประจำ แต่นั่นยังไม่โหดร้ายที่สุด เพราะสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดได้หนักหนาสาหัสก็คือการที่เธอในวัยเพียง 9 ปี ถูกลูกพี่ลูกน้องล่วงละเมิดทางเพศ แล้วทุกอย่างก็เลวร้ายลง เธอกลายเป็นที่ระบายความใคร่ของผู้ชายในครอบครัว รวมถึงเพื่อนบ้านและเพื่อนของแม่เธอด้วย เธอถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนท้องในที่สุด ต่อให้ใครก็ตามพยายามจินตนาการถึงชีวิตของเธอก็ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของเด็กอายุ 13 ปีที่ถูกยัดเยียดความเป็นแม่คนได้
เธอตัดสินใจหนีจากแม่และทิ้งทุกอย่างเพื่อมาอยู่กับพ่อ ลูกของเธอตายหลังจากคลอดออกมาได้ 2 สัปดาห์ เธอเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง โดยมีพ่อคอยอยู่เคียงข้างและสร้างโอกาสที่ดีกว่าให้เธอมาโดยตลอด จนทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของโลก
โอปราห์ วินฟรีย์ ยังจดจำประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีตได้ เธอไม่เคยลบหรือพยายามลืมเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะเท่ากับว่าเธอกำลังโกหกตัวเองซึ่งไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดนอกจากเป็นการทำร้ายความรู้สึกของตัวเองให้เจ็บปวดกับเรื่องราวเดิมๆ เธอยอมรับความจริงแต่ไม่ยอมให้มันกลายเป็นตราบาปในชีวิตแม้เพียงวินาที
ครั้งหนึ่งเคยมีคนถามถึงบทเรียนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ เธอบอกสั้นๆ ว่า “เปลี่ยนบาดแผลที่มีให้เป็นสติปัญญา”
คำพูดสั้นๆ แต่ทรงพลังของเธอพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจต้องพยายามอย่างหนักด้วยซ้ำสำหรับหลายๆ คน เพื่อที่จะฉุดดึงชีวิตของตัวเองให้ออกมาจากบ่อโคลนแห่งความแร้นแค้น แม้ว่าเนื้อตัวจะเต็มไปด้วยบาดแผลน่าเกลียดน่ากลัวแค่ไหน แต่เวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่งทุกอย่าง หากเรากอดตัวเองแน่นๆ และตอบตัวเองได้ชัดเจนว่าต่อไปนี้จะเดินไปในเส้นทางไหนและใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อปลุกพลังใจไม่ให้สูญสิ้นความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ ในทางตรงกันข้ามความสมบูรณ์แบบของชีวิตที่คนจำนวนมากเพรียกหาและต้องการก็อาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบตามที่คาดหวังไว้
การพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบมากๆ หรือที่เรียกกันว่า Perfectionism จะทำให้ตั้งมาตรฐานของชีวิตไว้สูงในทุกๆ ด้านอย่างไม่สมเหตุสมผล บางครั้งอาจถึงขั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริง จนกลายเป็นคนที่แข็งและดื้อรั้น ไม่ยืดหยุ่น ทำใจไม่ได้หากต้องยอมรับสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นคือมีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการ เพราะคิดว่าต้องบ่งการหรือกำกับทุกสิ่งด้วยตัวเองได้ ส่วนคนอื่นๆ มีหน้าที่ต้องทำตามความต้องการนั้น หรือไม่ก็อาจมีความรู้สึกลังเลที่จะมอบหมายงานให้คนอื่น เพราะไม่รู้จักฟังเสียงใครนอกจากเสียงในหัว กลัวว่างานที่ออกมาจะไม่ได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าทุกอย่างพังไม่เป็นท่า ทุกอย่างผิดพลาดไปทั้งหมด การตั้งเงื่อนไขผูกมัดตัวเองทำนองนี้ทำให้เกิดเป็นความกดดันที่มากเกินไปในชีวิตอย่างไม่จำเป็น ซึ่งไม่เคยนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีไม่ว่ากับใครทั้งนั้น
จะเกิดอะไรขึ้นถ้า เกรแฮม มัวร์ ฆ่าตัวตายสำเร็จ และ โอปราห์ วินฟรีย์ จมปลักอยู่กับชีวิตที่ถูกกระทำเช่นเดิม ไม่มีใครรู้คำตอบ แต่ชีวิตของพวกเขาอาจแตกต่างไปจากวันนี้อย่างสิ้นเชิง ในวันที่แต่ละคนก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากที่สุดของชีวิตมาได้ เมื่อมองย้อนกลับไปยังช่วงชีวิตที่แปลกแยกและไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์เลยสักนิด เราจะพบว่าการให้โอกาสตัวเองคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการมีเมตตาต่อตัวเอง หรือ Self-Compassion ไม่ว่าใครจะใจร้ายกับเรามากแค่ไหน ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจและมีชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราต้องไม่ใจร้ายหรือซ้ำเติมตัวเอง
ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครหลีกเลี่ยงความล้มเหลวหรือความผิดพลาด ได้ตลอด วันหนึ่งวันใดถ้าชีวิตต้องเจอมันก็ต้องเจอ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือยอมรับความผิดพลาดนั้น เรียนรู้รสชาติความขื่นขมของชีวิต และดูแลรักษาความรู้สึกของตัวเองเพื่อทำให้ชีวิตไปต่อได้
ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจหากเราจะรู้สึกแปลกแยกไปบ้าง ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายหากเราจะโดดเดี่ยวเกินกว่าจะข้องเกี่ยวกับใคร ไม่ใช่เรื่องที่ให้อภัยไม่ได้หากชีวิตต้องพบกับความผิดพลาด และไม่ใช่เรื่องผิดแปลกเมื่อชีวิตนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ เพราะชีวิตนี้อาจไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการบอกตัวเองได้ว่าเรามีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ส่วนบาดแผลที่เกิดขึ้นในหัวใจอาจกำลังบอกกับเราว่าความสมบูรณ์แบบไม่เคยมีอยู่จริงทั้งในชีวิตของทุกคนและทุกสรรพสิ่งบนโลกนี้
Reference: