ในภวังค์แห่งความหวาดกลัว การมีคนปลอบประโลมคือกำลังสำคัญที่ช่วยเยียวยาหัวใจอันอ่อนแอ

ในปี 1893 จิตรกรชาวนอร์เวย์ เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch) สร้างสรรค์ผลงานอันโด่งดังชื่อ The Scream จากแรงบันดาลใจขณะมองเห็นดวงอาทิตย์ตกดิน แต่มันกลับไม่ได้มาจากความรู้สึกโรแมนติกเหมือนจิตรกรทั่วไป ตรงกันข้ามมันคือ ‘ความกลัว’

        บางครั้งช่วงเวลาย่ำค่ำที่แสงสุดท้ายของวันสาดกระทบกับริ้วเมฆบนฟ้า กลับกลายเป็นสิ่งผิดแปลกชวนหดหู่จนทำให้เกรงกลัวต่อแสงสนธยาได้อย่างเหลือเชื่อ เหมือนกับที่อยู่ๆ ในขณะแหงนหน้ามองท้องฟ้า จิตรกรเลื่องชื่อ เอ็ดเวิร์ด มุงค์ ก็หยุดเดิน ปล่อยให้เพื่อนอีกสองคนที่ออกมาเดินเล่นด้วยกันก้าวนำไปก่อน เพราะเขากำลังตกอยู่ในภวังค์ของปีศาจ ทั่วทั้งร่างกายสั่นไหวจนไม่อาจยืนหยัดด้วยสองเท้า เขาเอนตัวเข้าหารั้วไม้ริมทางเพื่อพยุงร่ายกายให้ยืนอยู่ต่อไปได้โดยไม่ล้มฟุบลงไปที่พื้น วินาทีนั้นแม้ร่างกายจะมีที่ยึดมั่นแต่ภายในใจของเขายังไร้หลัก ท้องฟ้าสีแดงฉานดุจเปลวเพลิงวิปริต และขอบเมฆสีเทาดุจดาบคมกริบเลอะเลือดไหลอาบ เขากลัวมันสุดชีวิต รู้สึกเหนื่อยเหมือนกำลังจะตาย เขาโดดเดี่ยวเดียวดายในบรรยากาศสั่นประสาท และเขาคือคนเดียวที่ได้ยินเสียงกรีดร้องของธรรมชาติ มันดังก้อง โหยหวน และกรีดลึกเข้าไปในหัวใจ รุนแรงจนแทบจะเกินทนรับไหว

        หลังจากผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาได้ เขาเขียนอธิบายความรู้สึกกลัวที่ยังจำฝังใจไว้ในบันทึกส่วนตัว และวาดภาพเหตุการณ์ในวันนั้นลงบนผืนผ้าใบแล้วตั้งชื่อว่า Der Schrei der Natur ซึ่งหมายถึงเสียงกรีดร้องของธรรมชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Scream

 

phobia
The Scream (1893) Edvard Munch, National Gallery of Norway

 

        เราทุกคนต่างมีความกลัวหรือ Fear เป็นของตัวเอง แม้กระทั่งในคนที่ภายนอกดูแข็งแกร่งหรือเข้มแข็งขนาดไหน แต่ภายในใจของเขาอาจเก็บงำความกลัวไว้ไม่ให้ใครรู้ เพราะเข้าใจว่าความกลัวคือตำหนิของชีวิต ความคิดทำนองนี้จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยยอมแบกรับความกลัวไว้เพียงคนเดียว และพยายามข่มความรู้สึกอ่อนแอจากความหวาดกลัวไว้ไม่ให้หลุดลอดออกมา ดังนั้น การตัดสินใจใช้ชีวิตโดยเก็บซ่อนความกลัวไว้ ในแง่มุมหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะธรรมชาติของมนุษย์ เราจะไม่มีทางเปิดเผยความอ่อนแอให้คนอื่นเห็นเด็ดขาดหากไม่มีความจำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายในชีวิต ขณะเดียวกันก็ทำให้เราอยู่รอดต่อไปได้ แต่จะดีกว่าไหมถ้ามีใครสักคนร่วมรับรู้ความอ่อนแอภายในใจของเรา เพราะบางครั้งความหวาดกลัวนั้นอาจหยั่งรากฝังลึกและคอยทิ่มแทงหัวใจจนเกิดเป็นความรู้สึกโศกเศร้าและความทรมานของร่างกาย

        ความรู้สึกกลัวอาจทำให้เราตื่นตกใจไปบ้าง แต่อาการหวาดกลัวขั้นรุนแรงหรือ Phobias กลับสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป ซึ่งมักจะเกิดขึ้นมาฉับพลันทันใดเมื่อพบเห็นบางสิ่งที่ไม่พึงใจมองหรือต้องตกอยู่ในสถานการณ์บางอย่างที่สร้างความไม่สบายใจในการใช้ชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เพื่อนสองคนของ เอ็ดเวิร์ด มุงค์ รวมถึงคนส่วนใหญ่อาจคิดไม่ถึงว่าท้องฟ้ายามเย็นที่เห็นว่าสวยงามจะสามารถทำให้เขารู้สึกกลัวได้หนักหนาสาหัสขนาดนี้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการหวาดกลัวขั้นรุนแรงเหมือนกำลังประชันหน้ากับปีศาจที่ไม่มีทางเอาชนะได้ มันเป็นความกลัวที่อยู่เหนือเหตุและผล มันมีพลังเกินกว่าจะทำใจแข็งข่มสู้หรือต้านทาน มันรุมเร้าบ่อนทำลาย สุดท้ายมันอาจทำให้ชีวิตและจิตใจของใครบางคนเปลี่ยนแปลงหรือผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวจนไม่สามารถกลับคืนมาเป็นปกติได้อีก เหมือนกับชีวิตของ โฮเวิร์ด ฮิวจ์ส (Howard Hughes) มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่พุ่งทะยานขึ้นสูงสุดก่อนจะจมดิ่งและทิ้งตัวลงกระแทกพื้นจนไม่เหลือชิ้นดี

 

phobia
Howard Hughes (1936) Bettmann Archive, Getty Images

 

        เขาคือบุคคลที่เป็นภาพจำในฐานะหนุ่มอเมริกันที่สาวทุกคนใฝ่ฝันหา ด้วยหน้าตาที่หล่อเหลา เก่ง ฉลาด และประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้าน มีชีวิตโดดเด่นและเพียบพร้อมเหนือใครในยุค 70s เขาเต็มที่กับการใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับทุกสิ่งที่เขาได้ครอบครอง นอกจากบทบาทนักธุรกิจ เขายังเป็นนักบินที่เก่งกาจและชอบความผาดโผน จนสร้างเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและบินเร็วที่สุดได้สำเร็จ รวมถึงทำสถิติบินรอบโลกโดยใช้เวลาเพียง 91 ชั่วโมงเท่านั้น จนกระทั่งได้มาเป็นนักลงทุนสร้างหนัง ช่วงเวลานั้นเองที่ชีวิตเริ่มมีผู้หญิงมากหน้าหลายตาเข้ามาพัวพัน จนแต่งงานและคบหากับนักแสดงสาวชื่อดังหลายคน ไม่นานหลังจากนั้นเขาพบว่าตัวเองเป็นกามโรค ร่างกายของเขาติดเชื้อซิฟิลิส ชีวิตอันสมบูรณ์แบบของมหาเศรษฐีกำลังประสบกับจุดพลิกผัน จากบุคลิกรักสนุก ชอบพบปะผู้คน เชื้อโรคน่ารังเกียจที่หลุดรอดเข้ามาอยู่ในร่างกาย ทำให้เขากลายเป็นคนเก็บตัว เพราะหวาดระแวงทุกสิ่งรอบตัว ชีวิตของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

        ทุกอย่างค่อยๆ เลวร้ายลง อาการหวาดกลัวของเขารุนแรงขึ้นจนแทบไม่เหลือภาพนักธุรกิจรวยล้นฟ้า เขาพยายามตัดขาดจากโลกภายนอกอยู่หลายครั้ง โดยขังตัวเองให้อยู่ในห้องคนเดียว เพราะทนไม่ได้หากต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ กลัวว่าจะติดเชื้อโรคเพิ่มขึ้นอีก ยิ่งไปกว่านั้นทุกครั้งที่รู้สึกว่าเชื้อโรคกำลังชอนไชเข้าไปในตัว เขาจะล้างมือซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งยอมอดอาหารเพราะหวาดกลัวว่าจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ในนั้น แม้กระทั่งน้ำดื่มก็แทบจะไม่กล้ากลืนลงไปในคอ เขากลัวเชื้อโรคขึ้นสมองจนกลายเป็นคนขาดสารอาหาร และตัดขาดจากโลกโดยสมบูรณ์ ท้ายที่สุดเขาสิ้นใจลงอย่างโดดเดี่ยว ภายในห้องที่ปิดทึบของโรงแรมในประเทศเม็กซิโก

        ในปีนั้นนิตยสาร ไทม์ ตีพิมพ์ประวัติและเรื่องราวของเขาที่กลายเป็นตำนาน และนำภาพวัยแก่หมดสภาพในบั้นปลายของชีวิตที่โรยราเต็มที่ขึ้นเป็นปก ภาพนั้นช่างแตกต่างจากเขาในวัยวานอย่างน่าตกใจ ไม่ว่าเขาอยากจะลืมทุกสิ่งอย่างเพราะหวาดกลัวโลกขนาดไหน แต่โลกไม่เคยลืมเขา ชีวิตที่กำลังขึ้นสูงอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากเครื่องบินที่เขาสร้าง กลับต้องสิ้นสุดลงอย่างเจ็บปวดใจ จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าในช่วงเวลาที่เขากำลังร่วงหล่น ถ้ามีใครสักคนที่รักและเข้าใจอย่างแท้จริงคอยโอบรับเขาไว้ คอยดูแลไม่ให้ประสบกับความหวาดกลัวเพียงลำพัง บางทีชีวิตของมหาเศรษฐีอาจไม่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมน่าหดหู่เช่นนี้

 

phobia
Time Magazine Cover Vol. 107 No. 16 (1976) Barron Storey

 

        ยามที่รู้สึกกลัว นอกจากอาการเสียขวัญและตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นมา ลึกๆ ในใจเราต่างโหยหาความปลอดภัยจากคนที่คอยมอบความรู้สึกอบอุ่นหัวใจจนคลายความกลัวให้หมดไปได้ เขาคนนั้นคือคนที่เรายอมบอกความอ่อนแอที่เก็บไว้ให้รู้ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งวันใดหากหัวใจของเรากลับมาถูกทำร้ายเพราะความกลัว เขาคือหนึ่งในไม่กี่คนที่จะคอยเป็นพลังใจ และไม่ปล่อยให้เราตกอยู่ในภวังค์แห่งความกลัวนั้น ความเข้าใจจึงไม่ใช่วิธีการรักษาความกลัวให้หายขาด หากแต่เป็นวิธีเยียวยาหัวใจของใครสักคนในวันที่ชีวิตของเขาต้องต่อสู้กับความกลัว

        ความกลัวอาจทำให้เราร่วงหล่นได้ทุกขณะก็จริง แต่การมีคนคอยโอบรับและคอยประคองเราอย่างเข้าใจอาจเป็นพลังที่ช่วยให้อยู่รอดต่อไป

 

Phobia

        อาการกลัวอย่างรุนแรงหรือ Phobias เป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกันระหว่างสภาพจิตใจและการแสดงออกของร่างกาย เช่น เหงื่อออก ใจสั่น หายใจลำบาก อาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติและเสียชีวิตได้ สาเหตุสำคัญเกิดจากประสบการณ์ฝังใจในชีวิต จนทำให้เกิดการเรียนรู้และเชื่อมโยงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งอันตรายที่สร้างความรู้สึกคุกคามและไม่สบายใจ

 

 

        Phobias แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ (1) Social Phobia กลัวการเข้าสังคมหรือต้องพบเจอเหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก (2) Agoraphobia กลัวการติดอยู่ในสถานที่สาธารณะที่ไม่คุ้นเคยเป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะที่แคบ (3) Speciffiic Phobia หรืออาการกลัวแบบเจาะจงจากสัตว์ สิ่งของ หรือสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งแบ่งออกเป็นอาการแยกย่อยจำนวนมากตามรายชื่ออาการ เช่น อาการกลัวเลือด (Hemophobia) อาการกลัวความมืด (Achluophobia) 

     หากอาการหวาดกลัวกลายเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติหรือปลอดภัย ควรเข้าพบจิตแพทย์ทันทีเพื่อวางแผนการรักษา

 


Reference: