ใครๆ ก็พูดคนเดียว ปรับมุมมองต่อตัวเองใหม่ให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน

“หนูต้องจำทุกอย่างที่ฉันสอนหนูให้ได้ จำที่ฉันสอนหนูได้ไหม?” เอบิลีนถาม

“หนูใจดี หนูฉลาดเฉลียว หนูเป็นคนสำคัญ” เม โมบลีย์ ตอบด้วยความไร้เดียงสา

        เมื่อบทสนทนาในฉากอำลาครั้งสุดท้ายจากภาพยนตร์เรื่อง The Help ระหว่างสาวรับใช้ผิวสีกับเด็กหญิงวัยสามขวบที่เธอเลี้ยงดูมาตั้งแต่แรกเกิดจบลง ความรักและความรู้สึกผูกพันที่ เม โมบลีย์ มีให้กับสาวรับใช้คนนี้ ซึ่งมากกว่าแม่แท้ๆ ของตัวเองด้วยซ้ำ ทำให้เธอตะโกนร้องเรียกชื่อเอบิลีนอยู่หลายหน เพราะไม่อยากให้คนที่เธอรักมากที่สุดหายไปจากชีวิตของเธอ แต่เอบิลีนไม่ทีทางเลือกอื่น นอกจากต้องจำใจเดินจากเธอไปทั้งน้ำตา

        ถึงแม้ว่าทั้งคู่อาจไม่มีวันได้พบกันอีกตลอดชีวิต แต่ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน สาวรับใช้ได้พยายามปลูกฝังและบ่มเพาะสิ่งสำคัญของชีวิต ซึ่งจะคอยทำให้เด็กหญิงตัวน้อยที่เธอรักตระหนักรู้ถึงความหมายและคุณค่าในตัวเองอยู่เสมอ นั่นคือการสอนให้ เม โมบลีย์ รู้จัก Self-Talk หรือ Internal Monologue ซึ่งหมายถึงการพูดออกมาคนเดียวดังๆ เพื่อย้ำเตือนให้ตัวเองรู้ว่า “หนูใจดี หนูฉลาดเฉลียว หนูเป็นคนสำคัญ”

        ในชีวิตจริง เมื่อได้ยินใครก็ตามพูดคนเดียว ปฏิกิริยาแรกของคนส่วนใหญ่มักจะด่วนตัดสินว่าเป็นพฤติกรรมประหลาด หรือถูกเหมารวมให้เป็นอาการผิดปกติทางจิต ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แสดงว่าเราทุกคนบนโลกก็คงเป็นผู้ป่วยจิตเวชเหมือนกันหมด เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์พูดคนเดียวได้ทุกขณะ และมีแนวโน้มคุยกับตัวเองได้ตลอดโดยเฉพาะในเวลาที่ทำอะไรอยู่คนเดียวตามลำพัง เพียงแต่จะรู้ตัวหรือเปล่าแค่นั้นเอง เพราะการพูดคนเดียวเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ความคิด รวมถึงเป็นวิธีการที่ดีต่อใจที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

        ทว่าแม้การพูดหรือบ่นพึมพำกับตัวเองจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่ภายในตัวของทุกคน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปกติเสมอไป และสิ่งเดียวที่จะบอกได้ว่าการพูดนั้นปกติหรือไม่ก็คือความหมายของเนื้อหาที่พูดออกมา

พูดกับแม่ซื้อ – Narrative Self-Talk

        ถ้าสังเกตการพูดคนเดียวของคนอื่นๆ หรือไม่ก็ลองสำรวจการคุยคนเดียวของตัวเอง จะพบว่าความหมายของเนื้อหาแบ่งได้เป็นสามแบบใหญ่ๆ เนื้อหาแบบแรกเรียกว่า Narrative Self-Talk คือการอุทานหรือพูดถึงสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ตรงหน้าในขณะนั้น เช่น บ่นกับตัวเองว่า “เอาไปวางไว้ไหนนะ” ระหว่างค้นหาของบางอย่าง หรือการโพล่งออกมาว่า “ทำไมคนเยอะขนาดนี้!” เมื่อขึ้นไปบนชานชาลาแล้วเห็นคนจำนวนมากรอรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือแม้กระทั่งการได้ยินเพื่อนร่วมงานพูดเรื่อยเปื่อยเกี่ยวกับงานที่เขากำลังง่วนทำอยู่ จนทำให้เกิดเป็นคำเรียกเชิงหยอกล้อที่ใช้กันเฉพาะกลุ่มว่าพูดกับแม่ซื้อ ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะเนื้อหาการพูดคนเดียวที่เห็นได้บ่อยและเกิดขึ้นง่ายที่สุด

พูดเพื่อ (ปลอบ) ปลุกใจ – Positive Self-Talk

        เนื้อหาแบบที่สองคือ Positive Self-Talk เป็นการพูดถึงสิ่งที่ดีต่อตัวเอง อาจเป็นการพูดปลอบประโลมจิตใจหรือเลือกมองในแง่มุมที่ดีเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ตามมา เช่น การพูดว่า “คนเราพลาดกันได้ แต่ครั้งต่อไปต้องระวังให้มากขึ้นนะ” เมื่อเผลอทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดไป หรือการบอกกับตัวเองในวันที่ความรักไม่สามารถไปต่อได้ว่า “เราพยายามอย่างที่สุดแล้วล่ะ อย่างน้อยที่ผ่านมาเราก็มีช่วงเวลาที่ดีให้กันและกัน” หรือการพูดให้กำลังใจตัวเองเมื่อต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือเหตุการณ์ที่เป็นความยากลำบากในชีวิตว่า “เศร้าได้ แต่ห้ามท้อนะ เชื่อมั่นในตัวเองแล้วเดินหน้าต่อไป ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง”

พูดเชิงตำหนิ – Negative Self-Talk

        เนื้อหาแบบสุดท้ายคือ Negative Self-Talk เป็นการพูดเชิงตำหนิติเตียน ดูถูกตัวเอง แดกดัน เย้ยหยัน และมองตัวเองแต่ในแง่ลบ เช่น “เพราะว่าทั้งโง่และงี่เง่าไงถึงถูกเขาหลอกตลอด” หรือ “ไม่มีใครอยากคบกับคนที่ไม่มีอนาคตแบบนี้หรอก” หรือร้ายแรงที่สุดอาจเป็นการบอกตัวเองให้ไปทำในสิ่งที่อันตรายต่อชีวิตอย่าง “บางที ตายๆ ไปได้ก็ดีเหมือนกัน จะทนอยู่ไปทำไม”

 

        โดยทั่วไปแล้วการพูดคนเดียวของเราทุกคนมักจะมีความหมายของเนื้อหาทั้งสามแบบนี้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ ตามแต่สถานการณ์ที่พบเจอและสภาพจิตใจหรือความรู้สึกในตอนนั้น แม้กระทั่งการพูดตำหนิตัวเองที่ดูผิวเผินแล้วอาจเป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่า แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องปกติอยู่ดี ตราบใดที่เรามีสติรู้เท่าทันสิ่งที่พูดออกมา เพราะในบางครั้งเราทุกคนสามารถกล่าวโทษหรือพูดตำหนิตัวเองได้

        ในทางกลับกันการพูดคนเดียวจะกลายเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงขึ้นมาทันที ถ้าหากสัดส่วนหรือปริมาณของเนื้อหาที่พูดออกมาเป็นไปในความหมายทางลบมากกว่า แสดงว่าสุขภาพจิตของเรากำลังมีปัญหา อาจเป็นเพราะความเครียด หรือกำลังหมกมุ่นอยู่กับความคิดแย่ๆ เกี่ยวกับตัวเองอยู่ก็ได้ ซึ่งวิธีการรับมือเบื้องต้นคือการตระหนักรู้ในตัวเองให้มากขึ้น เพราะจะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกและมุมมองต่อตัวเองในขณะนั้น แล้วจึงค่อยพยายามเปลี่ยนความคิดแย่ๆ ที่หลุดออกมาเป็นคำพูดซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากบั่นทอนและคอยทำร้ายตัวเอง ให้กลายเป็นการพูดกับตัวเองด้วยเนื้อหาเชิงบวก

        แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่รู้วิธีการแล้วจะเปลี่ยนแปลงได้ทันทีทันใด เพราะการพูดคนเดียวคือการเปล่งเสียงจากจิตไร้สำนึกโดยอัตโนมัติที่ดังก้องอยู่ในหัว ซึ่งเราเองก็ไม่ทันจะรู้ตัวกันหรอก เนื่องจากถูกเก็บซ่อนและสั่งสมไว้ภายในใจ ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราได้ยินเพื่อนหรือคนใกล้ชิดหลุดปากพูดคนเดียวหรือพูดลอยๆ ออกมา เราจะทักว่าเขาคิดเสียงดัง หรือกับบางคน แม้ว่าจะไม่ได้พูดออกมาชัดเจน แต่ถ้าเราเห็นว่าเขาทำปากขมุบขมิบเหมือนกับกำลังใช้ความคิด ก็จะรู้ได้ว่าเขากำลังคุยกับตัวเองอยู่เหมือนกัน การฝึกให้ตัวเองมีสติจึงสำคัญที่สุด

        เหมือนกับการสอนของเอบิลีนที่ทำให้เม โมบลีย์พูดกับตัวเองอย่างรู้ตัวว่า “หนูใจดี หนูฉลาดเฉลียว หนูเป็นคนสำคัญ” เพราะอย่างน้อยการพูดกับตัวเองดังๆ จะทำให้เราได้ยินเสียงของตัวเองซึ่งบอกถึงความตั้งใจในตัวตนที่ต้องการจะเป็นอย่างชัดเจน เหตุผลนี้เองที่การพูดคนเดียวถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปลุกใจตัวเองให้บรรลุเป้าหมายบางอย่าง โดยเฉพาะในวงการกีฬา

 

        ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ‘อร’ – อุดมพร พลศักดิ์ นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยได้ตะโกนออกมาสุดเสียงว่า “สู้โว้ย” ก่อนขึ้นเวที แล้วเธอก็สามารถทำสำเร็จตามที่ตั้งใจ นอกจากจะคว้าเหรียญทองได้แล้ว เธอยังสร้างสถิติใหม่ให้กับการเรียกน้ำหนักในท่าคลีนแอนด์เจิร์กในประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วย คำว่า “สู้โว้ย” ของเธอนี่แหละ คือการใช้เทคนิค Self-Talk เพราะการฝึกพูดคนเดียวจะช่วยเพิ่มทั้งความมั่นใจ สมาธิ และความเชื่อมั่นต่อตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นักกีฬารู้จักเรียนรู้วิธีระบายความกดดันภายในใจ และสามารถคว้าชัยชนะมาได้ในที่สุด แต่ต่อให้พ้ายแพ้ก็จะไม่จมอยู่กับความรู้สึกแย่ เพราะนักกีฬาต่างถูกฝึกให้รู้จักพูดคนเดียวเพื่อช่วยปลุกพลังทำให้ตัวเองรู้สึกดีได้แม้จะประสบกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดก็ตาม

        ในชีวิตประจำวัน เราทุกคนสามารถฝึก Self-Talk กับตัวเองได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะวิธีง่ายๆ อย่างการพูดให้กำลังใจตัวเองหน้ากระจกหลังตื่นนอนเพื่อการเริ่มต้นที่ดีตั้งแต่เช้าวันใหม่ การพูดคนเดียวเป็นประจำอย่างมั่นใจและมีสติรู้ตัว ก็เหมือนกับเราค่อยๆ ขัดเกลาตัวตนที่ขุ่นมัวให้กลายเป็นคนใหม่ที่มีมุมมองดีๆ ต่อตัวเอง ช่วงแรกๆ อาจรู้สึกแปลกหรือไม่คุ้นชินไปบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่เราฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจะสะท้อนออกมาให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงผ่านความคิดและมุมมองตัวเอง คนอื่น รวมถึงสิ่งต่างๆ รอบตัว

        ถ้าการพูดคนเดียวสามารถเสริมสร้างกำลังใจให้นักกีฬาจนคว้าชัยชนะในการแข่งขันอันกดดันได้จริง นั่นก็หมายความว่าในชีวิตที่เต็มไปด้วยแบบทดสอบและการแข่งขันยิ่งกว่าเกมกีฬา การพูดคนเดียวก็น่าจะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกัน เพราะในหลายครั้งชีวิตจะเป็นไปอย่างไร อยู่ที่เราเป็นคนเลือกและคอยกำหนดเส้นทางให้ตัวเองเดิน

 


Reference: