หากต้องเผชิญกับความพลิกผันจนไม่ได้ทำสิ่งที่รักอีกต่อไป ชีวิตหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร?

คุณเคยถามตัวเองหรือฉุกคิดถึงอนาคตที่ไม่มีอะไรแน่นอนบ้างไหมว่า หากวันหนึ่งวันใดชีวิตนี้ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เข้าจริงๆ จนทำให้คุณใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คุณจะทำอย่างไรกับชีวิตหลังจากนั้น?

        ในปี 1975 หลังจากละครเวทีเรื่อง A Chorus Line เปิดการแสดงขึ้นอย่างเป็นทางการที่บรอดเวย์ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ไม่นาน ก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมอย่างล้นหลาม จนในที่สุดละครเรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลโทนีสาขาละครเพลงยอดเยี่ยม (เปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของวงการละครเวที) รวมถึงรางวัลพูลิตเซอร์สาขาบทละครในปีต่อมา ซึ่งคงไม่ใช่เพราะกระแสนิยมหรอกที่ทำให้ A Chorus Line ได้รับรางวัล แต่เป็นเพราะการพยายามบอกเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวบางอย่างซึ่งเป็นสิ่งสามัญของชีวิตที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนต่างหาก

        A Chorus Line เปิดรอบการแสดงมากกว่า 6,000 รอบ ติดต่อกันเป็นระยะเวลาร่วม 15 ปี จนกลายเป็นละครเวทีเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่เปิดการแสดงได้ยาวนานที่สุดในช่วงเวลานั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีนักแสดงชื่อดังสักคนเดียว ไม่มีฉากยิ่งใหญ่อลังการเหมือนละครเวทีเรื่องอื่นๆ ไม่มีเทคนิคพิเศษชวนตื่นตา มีเพียงเวทีโล่งกว้างและกำแพงกระจกที่ใครๆ ก็น่าจะดูออกว่าคือการจำลองเวทีเป็นห้องซ้อมเต้นทั่วไป ส่วนบนพื้นมีเส้นสีขาวขีดยาวเป็นสัญลักษณ์เห็นชัด หน้าที่เดียวของเส้นนี้คือคอยกำหนดเขตแดนแบ่งแยกพื้นที่บนเวทีระหว่างนักแสดงหลักกับนักแสดงประกอบคนอื่นๆ (ensemble) ซึ่งในละครเวทีเรื่องนี้หมายถึงนักเต้น

        สิ่งสำคัญที่ทำให้ A Chorus Line กุมหัวใจและความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างอยู่หมัดคือการนำเสนอชีวิตธรรมดาๆ ของนักเต้นทั้ง 17 คน พวกเขาสมัครเข้ามาออดิชันด้วยความมุ่งมั่นในการได้ทำสิ่งที่รัก จนผ่านคัดเลือกรอบแรกได้สำเร็จ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดเดียวกันของทุกคนคือการได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 นักแสดงประกอบตัวจริง ไม่มีใครรู้ว่าความสำเร็จครั้งนี้มีราคาเท่ากับความพยายามมากแค่ไหน แต่สำหรับบางคนอาจเป็นความพยายามทั้งหมดที่สั่งสมมาชั่วชีวิต

        ระหว่างที่พวกเขากำลังซ้อมเต้นร่วมกันอย่างหนักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการคัดเลือกรอบสุดท้าย กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด นักเต้นคนหนึ่งก้าวพลาดและล้มลง เขารู้สึกเจ็บบริเวณหัวเข่าจนยืนไม่ไหว ทำให้ซ้อมเต้นต่อไปไม่ได้ ความพยายามที่เขาทุ่มเทมาทั้งหมดสิ้นสุดลงตรงนั้น นักเต้นอีก 16 คนที่เหลืออยู่รู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น วินาทีนั้นทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่าชีวิตของพวกเขาอยู่บนความไม่แน่นอน ทุกย่างก้าวและท่วงท่าคือความเสี่ยงที่อาจให้ผลลัพธ์เป็นบทเรียนราคาแพงซึ่งเดิมพันด้วยความหวังและความฝันของชีวิต แล้วผู้กำกับก็ถามขึ้นว่า

        “ถ้าหากคุณต้องหยุดเต้น ไม่สามารถทำสิ่งที่รักได้อีกต่อไปได้ล่ะ คุณจะทำอย่างไร”

       นักเต้นคนหนึ่งจึงตอบคำถามนี้เป็นเพลง ‘What I did for Love’ เพื่อต้องการจะบอกว่า ถ้าวันนี้ชีวิตพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงก็แค่จากลาวันนี้เสีย เพื่อให้ชีวิตได้ก้าวต่อไปในวันพรุ่งนี้ ไม่ฟูมฟาย ไม่โวยวาย ไม่มีประโยชน์อะไรหากเรามัวแต่โศกเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ถ้าตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ทำสิ่งที่รักอย่างเต็มที่ ทำทุกวินาทีให้ดีที่สุด ก็ไม่เห็นว่าจะต้องเสียใจกับสิ่งใดอีก ทำสิ่งที่ต้องทำต่อไป จะไม่มีวันลืม และไม่เสียใจเลยสักนิดกับทุกสิ่งที่ทำด้วยใจรัก

 

 

        สำหรับชีวิตจริงๆ บางคนอาจตอบคำถามนี้ได้ทันทีทันใด ขณะที่บางคนอาจรู้สึกว่าภายในตัวเองว่างเปล่าเกินกว่าจะตอบสิ่งใดๆ ออกมา ไม่มีใครถูกใครผิด เพราะคำตอบขึ้นอยู่กับมุมมองและความเข้าใจชีวิตของแต่ละคนมากกว่า ซึ่งแตกต่างกันไปตามความนึกคิดและประสบการณ์ส่วนตัว ดังนั้น จึงไม่ใช่คำถามที่ต้องรีบด่วนตอบ หรือจะมีใครจะมาให้ตอบแทนกันได้ แต่เชื่อได้เลยว่าในท้ายที่สุดทุกคนจะพบคำตอบนั้นเองเมื่อถึงเวลา

        ชีวิตของนักเต้นมีราคาที่ถูกบังคับจ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับความสำเร็จ นั่นคือความเสื่อมโทรมของร่างกายซึ่งสึกหรอและถดถอยลงเรื่อยๆ ตามอายุ เช่นเดียวกันกับชีวิตของทุกคน ไม่ว่าในตอนนี้เรากำลังทำสิ่งใดอยู่ อาจเป็นสิ่งที่ใจรัก หรืออาจเป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะเงื่อนไขในชีวิต บางทีก็ไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นสร้างความหมายให้ชีวิตเราได้อย่างไร

        เพราะทุกอย่างมีวาระ ทุกสิ่งบนโลกมีอายุขัย ซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะหมดลงเมื่อไหร่ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะมีพรุ่งนี้ ในเมื่อไม่มีอะไรในชีวิตที่แน่นอน ความเป็นไปของสรรพสิ่งและชีวิตที่พบกับการเปลี่ยนแปลงหรือร่วงโรยไปตามวาระจึงกลายเป็นบทเรียนที่เตือนให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของเวลา และพยายามทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ไม่เสียดายหรือเสียใจภายหลัง

 

        เวนดี วีแลน (Wendy Whelan) นักบัลเลต์ร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียงระดับโลกเคยพูดไว้ว่า “ถ้าฉันเต้นไม่ได้ ฉันยอมตายซะดีกว่า” เพราะการเต้นคือทั้งหมดของชีวิตเธอ จากการทุ่มเทฝึกฝนในสิ่งที่รักทำให้เธอได้เข้าร่วมกับคณะบัลเลต์อันดับต้นๆ ของโลกอย่าง New York City Ballet เธอมีอาชีพเป็นนักเต้นตั้งแต่อายุ 17 ปี ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่เร็วมากในสายอาชีพนี้ ชีวิตเป็นไปตามที่เธอตั้งใจวาดฝันไว้ทุกอย่าง ไม่ต่างจากการออกท่าทางในการเต้น เธอเป็นทั้งเจ้าของชีวิตตัวเองและทุกส่วนของร่างกายอย่างแท้จริง ทุกครั้งที่เธอทรงตัวด้วยปลายนิ้วเท้า พร้อมวาดแขนขาพร้อมกับบิดโค้งลำตัวไปตามจังหวะดนตรี ทุกอย่างคือความสง่างามไร้ที่ติ เธอกลายเป็นนักบัลเลต์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เธอเคยถามตัวเองเล่นๆ ว่า “ชีวิตจะเป็นอย่างไรหากเต้นไม่ได้อีกต่อไป” เวลาล่วงเลยผ่าน ความเป็นไปของชีวิต เวนดี วีแลน ในวัย 46 ปี ทำให้เธอค้นพบคำตอบ

        ในวงการนักเต้น ว่ากันว่าจุดสูงสุดในชีวิตของการยึดถือการเต้นเป็นอาชีพคือช่วงอายุที่เข้าสู่ปีที่ 30 ซึ่งเป็นวัยที่ผ่านการเคี่ยวกรำจนเห็นผล และหลังจากนั้นไม่นานนักเต้นจะต้องตัดสินใจเกษียณจากอาชีพที่รัก เพราะข้อจำกัดจากการใช้งานร่างกายมาเป็นเวลานาน แต่เวนดีเลือกทำในสิ่งที่ต่างออกไป เธอหมายมั่นกับตัวเองว่าจะทำในสิ่งที่รักต่อไปไม่ลดละ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่หมายความว่าตัวเธอเองต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

        เมื่อความแก่ชราของร่างกายกลายเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดของการเต้น สิ่งที่เลวร้ายที่สุดซึ่งไม่มีนักเต้นคนไหนอยากให้เกิดจึงเกิดขึ้น เธอบาดเจ็บ เป็นเรื่องยากที่จะทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะบางครั้งเราก็หลงลืมไปสนิทใจว่าไม่มีสิ่งใดจะคงอยู่ตลอดไป

        ช่วงรักษาตัว เธอเริ่มเข้าใจความเป็นไปของชีวิต ในเมื่อตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอได้ทำสิ่งที่เธอรักอย่างสมบูรณ์แบบแล้วก็ไม่เห็นจะต้องเหนี่ยวรั้งอดีตไว้เลย ในที่สุดเธอพร้อมที่จะใช้ชีวิตธรรมดา อยู่กับปัจจุบันและก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น หลังจากรักษาตัวจนหายดี คณะบัลเลต์ New York City Ballet ได้จัดการแสดงให้เธอเป็นครั้งสุดท้าย ในวันนั้นเวทีเป็นของเธอผู้เดียว ประสบการณ์และความตั้งใจตลอดชีวิตนักเต้นบัลเลต์ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นท่าทางที่สวยงามที่สุด

        “ฉันทำมันมามากพอแล้วแหละ” เธอจากลาสิ่งที่รักด้วยการทำสิ่งที่รักดัวยหัวใจ

 

        เราทุกคนเต้นรำอยู่บนเส้นทางของชีวิต เราต่อสู้และดิ้นรนในสิ่งที่ต้องการ เพื่อความอยู่รอด เพื่อเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหาย เพื่อสร้างความหมายและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ถ้าเราเป็น 1 ใน 17 คนที่ยืนอยู่หลังเส้นสีขาวที่เรียกว่า Chorus Line ไม่มีใครรู้หรอกว่าสุดท้ายแล้วผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

        เมื่อเราเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ และชีวิตนั้นเต็มไปด้วยคำถามและการเสาะแสวงหาคำตอบซึ่งไม่มีวันจบสิ้นอยู่เสมอ ท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครสนใจหรอกว่าเราจะตอบคำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ เพราะที่สำคัญกว่าสิ่งใดคือการที่เราสามารถตอบกับตัวเองได้ชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกับชีวิตหากไม่สามารถทำสิ่งที่รักต่อไปได้อีก ด้วยมุมมองและความคิดที่เข้าใจความไม่แน่นอนในชีวิต

        “จากลาวันนี้เสีย เพื่อให้ชีวิตได้ก้าวต่อไปในวันพรุ่งนี้ ไม่ฟูมฟาย ไม่โวยวาย ไม่มีประโยชน์อะไรหากเรามัวแต่โศกเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว…”

 


Reference: