Hayao Miyazaki | ผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli ที่ค้นพบแรงใจและทางออกในการทำงานตลอดเวลา

        งานแอนนิเมชั่นคือหนึ่งในสาขาภาพยนตร์ซึ่งยากเย็นที่สุด กว่าจะได้หนังหนึ่งเรื่อง นักทำแอนนิเมชั่นต้องวาดภาพทีละเฟรมๆ ภาพเคลื่อนไหวความยาวหนึ่งวินาทีต้องใช้ภาพนิ่งอย่างน้อย 12 เฟรม หนังทั้งเรื่องต้องใช้ช่างวาดนับร้อย ทำงานแข่งกับเวลาชนิดไม่ได้หลับได้นอน

        ผลงานของสตูดิโอจิบลิของฮายาโอะ มิยาซากิเป็นแอนนิเมชั่นนำเสนอเรื่องราวอันละเอียดอ่อนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เริ่มต้นจากภาพวาดด้วยมือ (ไม่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกในขั้นตอนการวาด) หนังจึงลื่นไหลมีชีวิตอย่างละเมียดละไม หนังเรื่องหนึ่งใช้เวลาสร้างไม่ต่ำกว่าสองปี ถ้านับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิเมื่อปี 1985 ฮายาโอะ มิยาซากิ สร้างแอนนิเมชั่นไปแล้วกว่าสิบเรื่อง เรื่องสุดท้ายคือหนังสั้นชื่อ Boro the Caterpillar สำหรับฉายในมิวเซียมจิบลิโดยเฉพาะ หนังเรื่องยาวเรื่องสุดท้ายคือ The Wind Rises ย้อนกลับไปเมื่อปี 2002 ผลงาน Spirited Away ของสตูดิโอได้รับรางวัลออสการ์ แต่มิยาซากิไม่ยอมไปรับรางวัลที่อเมริกา บอกว่าไม่อยากไปเหยียบประเทศที่ทิ้งระเบิดอิรัก (ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก) ซึ่งบ่งบอกตัวตนของมิยาซากิได้เป็นอย่างดี

 

ชื่อ:ฮายาโอะ มิยาซากิ
เกิด: ค.ศ. 1941 อายุ 81 ปี
อาชีพ: นักทำแอนนิเมชั่น, ผู้อำนวยการสร้าง, นักเขียนบท และผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ประเทศญี่ปุ่น
Silver Lining ที่เราอยากพูดถึง: การหล่อเลี้ยงและหาพลังในการทำงาน และใช้ชีวิตในวัยชรา

        ผู้เขียนติดตามการทำงานของมิยาซากิผ่านหนังสารคดีสี่ตอนของสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ชื่อว่า ‘สิบปีกับฮายาโอะ มิยาซากิ’ ทำให้เห็นชีวิตการทำงาน รวมทั้งปัญหา อุปสรรค แรงใจในการทำงานของชายวัยเจ็ดสิบเศษคนนี้ (อายุขณะนั้น)

        หนังแต่ละเรื่องของสตูดิโอจิบลิมีมิยาซากิเป็นคนเริ่มต้นและเคาะสรุปงาน เขาจะไม่คิดโครงเรื่องของหนัง แต่จะใช้ภาพวาดเป็นตัวนำทางให้เรื่องเดินไป เมื่อใดที่ได้ภาพหลักซึ่งบอกเล่าสิ่งที่ “ใช่” ทั้งในเนื้อหาและอารมณ์ เขาจะแตกรายละเอียดจากภาพหลัก ลงเป็นสตอรีบอร์ดเป็นช๊อตๆ แล้วส่งให้ทีมงานวาดภาพเป็นเฟรมๆ ต่อ ภาพที่ทีมงานวาดเสร็จจะส่งมาให้มิยาซากิตรวจ ภาพไหนที่ไม่ถูกใจหรือไม่ได้คุณภาพที่เขาต้องการ เขาจะลงมือลบแล้วแก้ ลบแล้วแก้ด้วยตนเอง

        คาดว่าระบบนี้น่าจะเป็นระบบที่เขาใช้ทำงานตั้งแต่หนุ่ม จนอายุราวหกสิบเมื่อทำเรื่อง Spirited Away เขาก็ยังใช้ระบบนี้ แต่เมื่อเขาอายุเจ็ดสิบกว่า “เดี๋ยวนี้จับดินสอไม่กระชับแล้ว ผมทำงานได้แค่หนึ่งในห้าของสมัยหนุ่มๆ ทุกวันผมรู้สึกถึงขีดจำกัดของตัวเอง (ตอนแก่) จะทำงานสักอย่างก็ใช้เวลานานขึ้น มันช่วยไม่ได้”

        แต่เมื่อมิยาซากิทำงานได้ช้าลง งานก็มาติดขัดเป็นคอขวดอยู่ที่เขา นอกจากนั้นกว่าจะคิดภาพซึ่งเป็นไอเดียหลักออกนั้น มันไม่ได้ง่ายเหมือนสมัยก่อนเสียแล้ว เขาส่งงานช้าถึงขนาดที่ลูกน้องวัยกลางคนต้องเรียกประชุมเพื่อทวงงาน

        สำหรับมิยาซากินั้นงานคือชีวิต เมื่อโกโร ลูกชายหันมาเป็นผู้กำกับแอนนิเมชั่น มิยาซากิผู้พ่อพูดเสมอว่า “งานผู้กำกับมันทุ่มเทมาก ลูกชายไม่ควรทำงานกำกับฯ เพราะมันยาก” โกโร เติบโตมาในช่วงที่เขากำลังเริ่มทำงานกำกับเต็มตัว ตอนนั้นเรียกได้ว่าเขาไม่มีเวลาให้ลูกเลยเพราะทำงานในสตูดิโอหามรุ่งหามค่ำ ทุกวันกว่าจะกลับบ้านก็เช้า

        มิยาซากิยังมีปมจากวัยเด็ก ซึ่งผลักดันให้เขาทำงานหนัก เมื่อเขาอายุหกขวบ แม่ป่วยเป็นวัณโรคกระดูกสันหลัง โรคร้ายซึ่งทำให้ผู้หญิงซึ่งเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ต้องมานอนป่วยหนักเป็นเวลาหลายสิบปี เขาร้องไห้เมื่อแม่บอกว่าตอนนี้ให้ขี่คอเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว ตอนนั้นเขารู้สึกน้อยใจว่าตนไม่ควรเกิดมาเลย มิยาซากิโตมาพร้อมกับปมนี้ จนโตขึ้นแล้วได้มาทำงานมังงะและแอนนิเมชั่น เขาก็เริ่มกลับมาชีวิตอีกครั้ง “ถ้าให้ความบันเทิงแก่คนดูไม่ได้ ชีวิตผมก็ไม่มีความหมาย”

        ความบันเทิงในความหมายของคนทำแอนนิเมชั่นอย่างเขาคืองานที่ต้อง “ซื่อสัตย์และไม่เสแสร้ง” เขาเป็นคนที่ผลักดันตัวเองและทีมงานอย่างถึงที่สุด ว่ากันว่าแอนนิเมชั่นเรื่องโตโตโระ (หนึ่งในแอนนิเมชั่นซึ่งอยู่ในใจของผู้คนมากที่สุดในโลก) กลายเป็นศัตรูของมิยาซากิ คือตอนนี้เขาต้องผลักดันตัวเองให้สร้างผลงานที่ดีกว่าโตโตโระ

        ห้าปีหลังจากทำหนังเรื่องก่อน มิยาซากิก็เริ่มโครงการหนังเรื่อง The Wind Rises เป็นเรื่องของจิโร โฮริโกชิ ผู้ออกแบบและสร้างเครื่องบินรบซีโรให้ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การทำหนังเกี่ยวกับเครื่องบินรบทำให้มีผู้วิจารณ์เขามากมาย ภรรยาเองยังบอกว่า “ทำไมเธอไม่ทำหนังอย่างโตโตโระอีกล่ะ” “ก็ฉันทำโตโตโระไปแล้ว” คือคำตอบของมิยาซากิ
The Wind Rises สร้างจากบุคคลในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แฟนตาซี นับเป็นหนึ่งในงานยากที่สุดที่มิยาซากิเคยทำ ตลอดเวลาสองสามปีที่เขาทำหนังเรื่องนี้ ชายวันเจ็ดสิบเศษรู้สึกว่าตัวเองแก่ตัวกว่าทุกครั้ง เขาทำงานไปบ่นว่า “งานนี้มันแสบ” และบอกด้วยว่า “เวลาตามผมมาทันแล้ว” ถามว่าถ้าทำไม่ไหวแล้วทำไมไม่เลิกล่ะ คำตอบของเขาคือ “หุบปากไปเลยนะ”

        เขายังบอกอีกว่า “นี่อายุเจ็ดสิบสองแล้ว ไม่มีเวลาเหลือเยอะแล้ว”

       เมื่อสังขารยังเหมือนเดิม คนเราไม่หนุ่มขึ้น มีแต่แก่ตัวไปตามเวลา จะต้องหาแรงใจเพื่อจะได้ทำงานให้สำเร็จ มิยาซากิอาศัยสิ่งรอบตัวหรืออะไรที่บังเอิญพบเห็น เช่น เขากับทีมงานชอบออกจากออฟฟิศมายืนชมพระอาทิตย์ตกดินช่วงเย็น โดยบอกว่า “ตายไปก็ไม่ได้เห็นแล้วนะ อาทิตย์ตกดิน”

        ช่วงที่ท้อแท้ เขากับภรรยาผ่านไปดูงานแสดงภาพถ่ายชีวิตของคนไข้โรคเรื้อนซึ่งถูกกักไว้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่คนเหล่านั้นยังดำเนินชีวิตได้โดยไม่สูญเปล่า ความรู้สึกของการใช้ชีวิตที่ไม่สูญเปล่าแบบนี้นี่แหละที่มิยาซากิใช้เป็นแรงใจ ในช่วงที่ต้องทุ่มเทให้กับฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในโตเกียวเมื่อปี 1923 เขาบรรจงแก้งานแล้วแก้งานอีก ฉากผู้คนกำลังหนีแผ่นดินไหวนี้ “ฉากคนเยอะๆ ที่มีแต่ชาวบ้านแบบนี้ไม่มีใครอยากวาดหรอก” แต่มิยาซากิทุ่มให้กับฉากสั้นๆ (ที่ฉายบนจอแค่สี่วินาที) ฉากนี้จนเราดูแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และงานแก้ทั้งหมดนั้นก็ใช้เวลาไปหนึ่งปีสามเดือน

        ใช่ สำหรับแอนนิเมชั่นยาวสี่วินาทีฉากนั้น

        ช่วงที่งานสร้าง The Wind Rises กำลังเดินเต็มที่ก็เกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ที่ประชุมตกลงกันว่าให้ทำงานจากบ้านกันไปก่อน แต่มิยาซากิไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าแอนนิเมชั่นต้องทำที่สตูดิโอเท่านั้น มีปัญหาเรื่องไฟตกหรืออื่นๆ ก็ค่อยๆ แก้ไขไป นอกจากนั้นเขายังไปเยี่ยมผู้ประสบภัย พร้อมนั่งแจกภาพสเก๊ตพร้อมลายเซ็น เป็นการปลอบขวัญผู้โชคร้ายเหล่านั้น ดูเหมือนว่า “การให้” และ “ใจสู้” จะมีส่วนช่วยเสริมแรงใจของมิยาซากิ ซึ่งทำงาน The Wind Rises จนสำเร็จ

        หลังหนังออกฉาย เขาก็ประกาศเกษียณอายุตัวเอง (เป็นครั้งที่ห้า)

        แต่คนบ้างานอย่างเขาจะหยุดทำงานได้จริงหรือ ในหนังสารคดีมีฉากซึ่งมิยาซากินั่งซดบะหมี่สำเร็จรูปอยู่คนเดียว บอกว่า ไม่ได้ทำอะไรนี่มันน่าเบื่อ สตูดิโอจึงชวนเขามาทำแอนนิเมชั่นซึ่งเป็นหนังสั้นไว้ฉายในมิวเซียมจิบลิ และนี่เป็นครั้งแรกที่เขาใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกวาดภาพ โดยมีเด็กรุ่นหลานช่วยกำกับชี้แนะ “ผมมีไอเดีย แต่วาดด้วยมือไม่ไหวแล้ว และคอมพิวเตอร์กราฟิกน่าจะเป็นวิธีทำงาน ซึ่งผมก็หวังไว้เช่นนั้น” พูดแล้วมิยาซากิก็หน้าบานเหมือนเด็กได้ของเล่นใหม่

        หนังเรื่องนั้นคือ Boro the Caterpillar ซึ่งถ้าคุณไปเที่ยวมิวเซียมจิบลิก็คงมีโอกาสได้ชม และถึงตอนนี้ ความท้าทายเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ก็กลายเป็นแรงใจใหม่ช่วยมิยาซากิทำงานต่อไป

        เพราะคนอย่างเขานั้น งานคือชีวิตจริงๆ


เรื่อง : ภาณุ บุรุตรัตนพันธุ์