เซอร์เอียน แม็คเคลเลน ฉลองวันเกิดอายุ 80 ตระเวนแสดงเดี่ยวไมโครโฟนทั่วสหราชอาณาจักร

        เมื่อพูดถึงเอียน แม็คเคลเลน (Ian McKellen) เราอาจบอกว่าไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่ากานดาล์ฟ พ่อมดสีเทา หรือแม็กนีโต ผู้ร้ายคนสำคัญจาก X-Men แล้วคงจะคุ้นขึ้นมาบ้าง เอียน แม็คเคลเลนเป็นนักแสดงละครเวทีคนสำคัญของอังกฤษ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับพระราชทานยศเป็นเซอร์ อยู่ในวงการละครอังกฤษมาตั้งแต่วัยหนุ่มน้อย จนถึงทุกวันนี้ กานดาล์ฟและแม็กนีโตคือบทบาทซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ที่สำคัญเขารับบททั้งสองนั้นเมื่ออายุราวๆ หกสิบหรือเข้าวัยเกษียณ

        มีคนเคยถามเอียนในบทสัมภาษณ์ว่า อายุปูนนี้แล้ว ไม่รู้สึกว่ากำลังวังชาในการทำงานมันถดถอยลงเลยหรือ เขาตอบว่า “อาจเป็นเพราะงานนักแสดงมันต่างจากงานสร้างสรรค์อื่นที่ต้องเริ่มจากศูนย์ นักแสดงมีหน้าที่รับบทและสิ่งซึ่งนักแสดงคนอื่นป้อนให้ แล้วอาศัยกึ๋นของตนตีความสิ่งนั้นกลับคืนมาในรูปแบบของการแสดง งานนักแสดงจึงทำได้เรื่อยๆ (ตราบที่ยังมีแรงยืนอยู่บนเวที)”

        ทว่าจะให้ซึ้งถึงวีรกรรมวัยสว.ของคุณเอียนนั้น เราคงต้องมาคุยกันเรื่องความสำคัญของละครเวทีต่อสังคมและวัฒนธรรมอังกฤษกันเสียหน่อย อังกฤษเป็นถิ่นกำเนิดของเชคสเปียร์ หนึ่งในนักเขียนบทละครซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก บทละครของเขานอกจากจะสนุกสนาน (แม้ภาษาโบราณอาจจะยากไปสักหน่อย) แล้วยังสะท้อนสันดานและธรรมชาติของคนอย่างถึงแก่น

        นอกจากนั้นผลงานของเชคสเปียร์ ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมระดับปีนบันไดเสพนะครับ แต่เป็นละครเพื่อความบันเทิงอย่างแท้จริง นอกจากศิลปะแห่งความบันเทิงแล้ว คุณูปการอย่างหนึ่งของเชคสเปียร์คืออิทธิพลของเขาที่มีต่อภาษาอังกฤษ ซึ่งแม้ละครของเชคสเปียร์จะเกิดขึ้นเมื่อสามร้อยสี่ร้อยปีที่แล้ว (เก่ากว่าสุนทรภู่อีกนะ) แต่ถ้อยคำสำนวนที่เขาประดิษฐ์และบรรจุไว้ในบทละคร ยังใช้กันอยู่ในภาษาอังกฤษจนทุกวันนี้ ยกตัวอย่าง คำว่า fashionable, lonely, bedroom, elbow (ในความหมายของกริยาการ ‘ถอง’ ไม่ใช่คำนามที่หมายถึงข้อศอก) และ uncomfortable สำนวนอย่าง heart of gold, laughing stock, wild-goose chase และ apple of my eye ก็มาจากบทละครของเชคสเปียร์ทั้งนั้น คือว่าเดิมคำพวกนี้มีอยู่ในบัญชีคำของภาษาอังกฤษอยู่แล้ว แต่เชคสเปียร์เป็นคนเอามาต่อเติมหรือเปลี่ยนวิธีใช้ให้เกิดความหมายใหม่ เช่น ใส่ un ข้างหน้า comfortable หรือเอาคำนามมาใช้ให้เป็นคำกริยาอย่างในกรณีของ elbow เรื่องของเรื่องคือ คนดูในสมัยศตวรรษที่ 17 ได้ยินในโรงละครแล้วคงเห็นว่าเก๋ เลยเอามาใช้ต่อๆ กัน จนกลายเป็นมรดกทางภาษาจนทุกวันนี้

        และยังมีคำกับสำนวนอื่นๆ ซึ่งเชคสเปียร์เป็นคนคิด และยังติดอยู่ในภาษาอังกฤษอีกนับพัน

        นอกจากงานละครแล้ว เอียนซึ่งเป็นเกย์อย่างเปิดเผยในช่วงหลังๆ ของชีวิต ยังเป็นนักเคลื่อนไหวและเป็นหนึ่งในผู้นำการรณรงค์เพื่อสิทธิของชาว LGBTQ ในอังกฤษ ตัวเขาเองบอกว่าแม้ดูว่าชีวิตเขาจะมีความสุข กล่าวคือ อายุปูนนี้แล้วยังสุขภาพแข็งแรง (เขาเดินเหินคล่องแคล่ว พูดเสียงดังฟังชัด) จิตใจแจ่มใส ยังสามาถปล่อยมุกแบบชาวละครเวทีอย่างฮาด้วยตาเป็นประกาย แต่เรื่องหนึ่งที่เขาเสียดายอยู่จนทุกวันนี้ คือการที่ออกมาเปิดตัวในเรื่องเพศสภาพของตนช้าไป

        กล่าวคือเขาต่อสู้เพื่อให้คนซึ่งไม่ค่อยมีที่ทางในสังคม ให้มีโอกาสมากขึ้น เท่าเทียมมากขึ้น

        เอียนบอกว่าการแสดงบนเวทีนั้นคือหนึ่งในอัตลักษณ์ของคนอังกฤษ และการละครก็สิ่งที่คนอังกฤษจะอวดกับชาวโลกได้

        พออายุใกล้ 80 เขาก็ประกาศว่าจะจัดการแสดงเดี่ยวทั่วประเทศอังกฤษ โดยจะตระเวนไปตามโรงละคร 80 แห่ง เริ่มที่กรุงลอนดอน แล้วไปตามที่ต่างๆ ทั้งเมืองเดอร์รีในไอร์แลนด์เหนือ ไปเวลส์ จนไปจบที่เมืองออร์คนีย์ในสกอตแลนด์ ส่วนใหญ่ก็นั่งรถตู้ไปด้วยกันกับทีมงาน

        เขากล่าวไว้ในเอกสารแถลงการณ์ว่า “การแสดงบนเวทีคือประสบการณ์แห่งความสุขสำหรับผม ทั้งในฐานะคนที่อยู่บนเวที และในฐานะคนดู ผมเป็นเด็กบ้านนอก บ้านอยู่แลงเคอะเชียร์ สมัยเด็กนั้นจะดีใจและรู้สึกขอบคุณเมื่อมีคณะละครดีๆ ออกมาเล่นนอกกรุงลอนดอน และผมก็มีความสุขทุกครั้งที่ได้ตอบแทนโดยออกไปตระเวนทัวร์เล่นละครนอกกรุงบ้าง ‘แสดงเดี่ยวบนเวทีในวาระ 80 ปี เอียน แม็คเคลเลน’ นี้ก็เช่นกัน”

        การแสดงเดี่ยวครั้งนี้มีชื่อว่า Ian McKellen’s 80 Birthday One Man Show เล่นตามโรงละครต่างๆ 80 โรง (สถานที่มีตั้งแต่โรงละครในต่างจังหวัดซึ่งอยู่ในตึกเดียวกับที่ว่าการเมืองซึ่งพ่อเขาเคยทำงาน ไปจนถึงโรงละครที่โรงเรียนเก่าเมืองบอลตัน ที่ซึ่งเขาขึ้นเวทีเป็นครั้งแรกเมื่อเป็นเด็กนักเรียน) การแสดงมีทั้งหมด 134 รอบ ตั้งเป้าไว้ว่าจะรณรงค์เพื่อหาเงินมาสบทบการละครในอังกฤษให้ได้สามล้านปอนด์

        เมื่อจบทัวร์ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดปีกว่าๆ เอียนหาเงินได้ 4.6 ล้านปอนด์ คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 200 ล้านบาท
เงินที่ได้จะใช้สนับสนุนการละครในท้องที่ซึ่งขาดแคลน ใช้ติดตั้งระบบช่วยฟังสำหรับผู้ที่การได้ยินบกพร่อง และอื่นๆ เงินเหล่านี้นอกจากมาจากค่าตั๋วสำหรับชมการแสดงยาวสองชั่วโมงครึ่ง แสดงโดยชายชราอายุแปดสิบแล้ว ยังมาจากเงินบริจาคซึ่งเอียนและเจ้าหน้าที่จะคอยถือกระป๋องพลาสติกสีเหลือง เดินรับเงินในห้องโถงโรงละครบริจาคหลังการแสดงจบ โดยถือเป็นการพบปะแฟนๆ ไปด้วย (ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด – 19)

        การแสดงนี้มีชื่อเล่นว่า “จากกานดาล์ฟสู่เชคสเปียร์ และอื่นๆ” นี่คือการแสดงเดี่ยวของนักแสดงใหญ่คนหนึ่งของอังกฤษ เป็นคนละเรื่องการการเดี่ยวไมโครโฟนตลกโปกฮาที่เราคุ้นเคย บนเวทีเอียนจะร่ายบทละครในบทของกานดาล์ฟ (งานนี้แม็กนีโตไม่เกี่ยว) เขาเล่าความเป็นมาของชีวิตตัวเองในวงการละครด้วยเนื้อหาของบทกวี แต่ใช้ลีลาของการเล่าสู่กันฟังอย่างสนุกสนาน เรียกว่าเรื่องเศร้าก็เอามาเล่าให้หัวเราะทั้งน้ำตาได้ ครึ่งหลังจะเป็นเชคสเปียร์ล้วนๆ โดยให้คนดูตะโกนชื่อละครของเชคสเปียร์ขึ้นมา แล้วเอียนจะคุยเกี่ยวกับละครเรื่องนั้น หรือแสดงท่อนสั้นๆ ให้ชมกัน เรียกว่าถ้าไม่เก๋าจริงคงไม่กล้าทำอะไรแบบนี้

        ในบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการแสดงนี้ เขายังบอกอีกว่า “ทัวร์นี้ไม่ใช่การแสดงอำลานะครับ ถือเสียว่าเป็น ‘อ้าว สวัสดี เจอกันอีกแล้วนะเธอ’ มากกว่า”
ชายอายุ 80 สุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเอง เล่นพีลาติสเพื่อรักษาสุขภาพบ้าง “คนที่มีอายุ เรื่องล้มนี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ผมนี่ระวังมาก” เขาบอก แต่เราก็เห็นเขาเดินเหินคล่องแคล่ว ปีนขึ้นเวทีโดยไม่มีบันไดและไม่ต้องมีคนพยุง ออกรายการทอล์คโชว์พร้อมกับจิบไวน์เหมือนแขกคนอื่นๆ คีบบุหรี่ในมือบ้างเมื่อออกไปสังสรรค์กับเพื่อนรุ่นหลาน พูดจาสนุกสนานเฮฮาอย่างคนใจกว้าง เอียนเป็นคนบุคลิกน่ารักและไม่ค่อยมีตัวตน ซึ่งเป็นเรื่องประเสริฐ เพราะคนมีอายุนั้นไม่ควรมีตัวตนกดทับมากนัก มันอึดอัด

        ท่านพุทธทาสเคยพูดถึงกิจของคนแก่ว่าถึงวัย “แจกของ ส่องตะเกียง” แล้ว นั่นคือข้าวของทรัพย์สินที่สะสมมาจนรุงรังชีวิต ก็เผื่อแผ่คนอื่นเขาไป ส่วนบทสรุปในชีวิตที่ผ่านมา ถ้าสามารถส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ก็ทำไป เผื่อจะช่วยส่องทางให้เขาได้บ้าง แจกของให้ตัวเบา ส่องตะเกียงเพื่อให้ตนเป็นคนมีประโยชน์ และการแสดงเดี่ยวบนเวทีเพื่อรณรงค์ช่วยวงการละครอังกฤษเมื่ออายุ 80 ของเอียน แม็คเคลเลน นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าปู่ยังไหวแล้ว ผู้คนยังได้ประโยชน์จากสิ่งที่เขาทำอีกด้วย

        บางทีประโยชน์ที่เราทำเพื่อคนอื่นนี่แหละ คือเรื่องรื่นรมย์และเป็นเรี่ยวแรงของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตขาขึ้นหรือขาลง


เรื่อง : ภาณุ บุรุตรัตนพันธุ์