ย้อนอ่านงาน ‘เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน’ แล้วกระโจนไปให้ ‘ไกลกะลา’ แน่นหนาที่ครอบเรามานาน

‘บูเล’ เป็นคำภาษาอินโดนีเซียที่ใช้เรียกสัตว์ที่มีผิวเผือก เช่น ควายเผือก วัวเผือก ช้างเผือก ฯลฯ คำที่ ‘เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน’ (Benedict Anderson) เสนอให้เพื่อนชาวอินโดนีเซียเรียกเขาแทนคำว่า ‘ตวน’ (แปลว่า ‘นายท่าน’) เพื่อนๆ ของเขาพึงใจกับข้อเสนอนี้จนไม่เพียงแต่ใช้เรียกเขา แต่ยังกลายเป็นคำสามัญที่ผู้คนใช้เรียกชาวต่างชาติผิวขาวในอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบัน

        ข้อเสนอคำใหม่เพื่อใช้แทนคำเก่าที่มีนัยของชนชั้น ความอาวุโส และการแบ่งแยกทางเชื้อชาติซ่อนอยู่นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากแอนเดอร์สันบังเอิญเกิดในยุคที่ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษากลางจนเขาไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาถิ่น หากเขาไม่ฝึกฝนเรียนภาษาด้วยตนเองผ่านการเปิดหนังสือภาษานั้นๆ เทียบพจนานุกรมไปทีละตัวอักษร คลุกคลีกับคนท้องถิ่นแม้จะยังสื่อสารกันไม่ได้ แทนที่จะขลุกอยู่กับเพื่อนพ้องนักวิชาการของตนเอง (ซึ่งก็อีกนั่นแหละ หากเขาเกิดในยุคที่มีชุมชน ‘expat’ เยอะกว่านี้ เขาอาจมีเพื่อนชาวท้องถิ่นน้อยลง) – ทั้งความบังเอิญของกาละ (time) และเทศะ (space) ที่เขาเติบโตมา และการขวนขวายลงมือทำของเขาเองที่ทำให้แอนเดอร์สันเป็นนักวิชาการที่ผลงานทางความคิดของเขาทรงคุณค่าทั้งในความลึกของเนื้อหา ความกว้างของสหวิทยาที่ยังส่งผลต่อผู้คนในปัจจุบัน แม้ในวันที่เขาได้จากไปแล้ว

        เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน นักวิชาการผู้ทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน มีความรู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศไทย นักวิชาการรุ่นบุกเบิกที่ลงพื้นที่จริง มาใช้ชีวิตในประเทศเหล่านี้จริงๆ ไม่ได้เพียงเก็บข้อมูล วิเคราะห์ในห้องสมุดจากทางไกล ในช่วงกลางศตวรรษ 19 ที่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศในแถบนี้ยังมีอยู่น้อยนิด ประสบการณ์ชีวิตในแดนไกลที่ขยายขอบกะลาของเขา จนกลายมาเป็นผลงานทางความคิดมากมาย โดยเฉพาะ ‘ชุมชนจินตกรรม’ (Imagined Communities) ว่าด้วยการเกิดขึ้นและการขยายตัวของความชาตินิยม หนึ่งในคอนเซ็ปต์ที่กลายเป็นกรอบคิดใหญ่ในโลกสังคมศาสตร์ ถูกอ้างอิงนับแสนครั้งตั้งแต่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1983 

 

ไกลกะลา

 

โลกไม่ได้แบ่งออกเป็นสอง

โลกเป็นทั้งตะวันตกและตะวันออก

เป็นทั้งส่วนผสมของความบังเอิญ และการกระทำ

 

        แอนเดอร์สันเกิดที่คุนหมิง ประเทศจีน ด้วยการเลี้ยงดูของพี่เลี้ยงชาวเวียดนามที่พูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว และย้ายกลับมาอยู่ไอร์แลนด์ ประเทศภูมิลำเนาของพ่อที่แม้จะจากไปเมื่อเขายังเล็ก แต่ก็ได้ฝากสัญชาติไอริชไว้ให้เขา ที่ทำให้เขารอดพ้นจากการถูกเกณฑ์ไปสู้รบกับพรรคนาซี และได้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ผู้เป็นนักอ่านตัวฉกาจ อ่านหนังสือแตกฉานหลายภาษา ทำให้แอนเดอร์สันเติบโตมากับกองหนังสือทั้งวรรณกรรมคลาสสิก วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ในหลายๆ ภาษา ที่บ่มเพาะความสนใจของเขาในโลกแห่งปัญญา และแม้แม่ของเขาจะไม่ได้รับการศึกษาที่ดี (หากเพียงแต่เธอเกิดช้ากว่านี้อีกสักสิบปี ชีวิตของเธอก็คงเปลี่ยนไป) แต่เธอก็สนับสนุนแอนเดอร์สันให้ได้รับการศึกษาที่ดีอย่างเต็มที่ พาเขาเดินทางกลับมาที่อังกฤษที่ทำให้เขาได้รับการศึกษาในสถาบันชั้นนำอย่างอีตัน ตามมาด้วยเคมบริดจ์ 

        ความบังเอิญของชีวิตที่พ่อเป็นชาวไอริช เติบโตมาในยุคที่ภาษาอังกฤษยังไม่ถูกใช้เป็นภาษากลาง โทรทัศน์ยังไม่ได้เป็นสิ่งที่มีทุกบ้าน ความบันเทิงจึงอยู่ที่การอ่าน และโรงละคร ความบังเอิญที่ในตอนนั้นในทุกโรงหนังต้องมีพิธีกรรมหลังหนังฉายจบ ที่หลังจากเพิ่งน้ำตาคลอไปกับหนังต่างประเทศอย่าง Tokyo Story หรือ The Battleship Potemkin เขาและผู้ชมอื่นๆต้องถูกบังคับให้ยืนแสดงความเคารพเพลงชาติที่ฉายภาพควีนเอลิซาเบธบนหลังม้า ที่เขามองว่ามันไม่เข้าท่า ครั้นจะหนีออกจากโรงหนัง ในสมัยนั้นก็ยังมีพวกอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรงคอยดักตีผู้ไม่ยอมยืนเคารพเพลงชาติจนจบอยู่หน้าโรง จนทำให้เขาเริ่มสงสัยว่าอะไรกันที่ทำให้ใครหลายคนคลั่งไคล้ในสมมติของความเป็นชาติได้มากถึงเพียงนั้น

        แต่แม้จะมีอีกหลายเหตุบังเอิญรอบตัวที่ส่งผลต่อชีวิตของเรา แอนเดอร์สันก็ย้ำเตือนว่าไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเดียว “ความบังเอิญไม่ได้จะมาเคาะประตูบ้านเราถ้าเราไม่ได้ทำอะไรนอกจากนั่งรออย่างเย็นใจ ความบังเอิญมักมาเยือนในรูปโอกาสอันคาดไม่ถึง ซึ่งเราจะต้องกล้าหรือบ้าบิ่นพอที่จะคว้าไว้ตอนที่มันเฉียดเข้ามา” ดั่งเช่นคำว่า ‘lagi tjari angin’ ในภาษาอินโดนีเซีย ที่แปลว่า ‘กำลังหาลม’ ราวกับว่าชีวิตนั้นคือเรือเดินสมุทรที่ต้องแล่นหาลม ออกล่องสู่ท้องทะเลกว้างใหญ่ ไม่ต่างจากชีวิตเขาที่แม้จะมีตำแหน่งนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยหยุดตัวเองอยู่ในกะลา อบอุ่น พึงใจกับความปลอดภัยในนั้น แต่ยังคอยกระโจนออกนอกเส้นทาง มองหากระแสลมตลอดเวลา จนทำให้งานของเขามีความหลากหลายทางสหวิชา ซึ่งหาได้ยากในโลกวิชาการยุคก่อนหน้าเขาที่ความเชี่ยวชาญมักทำให้ผู้คนจมอยู่กับสาขาวิชาของตนเอง ด้วยความมั่นคงที่มักทำให้คนไม่อยากก้าวออกมานอกกะลา 

 

ปกหนังสือ Imagined Communities ฉบับภาษาไทย ออกแบบโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เล่าถึงรูปนี้ว่า “รูปภาพนี้ถ่ายขึ้นที่บ้านของตนเองในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์เบ็นเคยเดินทางมาเยี่ยมเยือน และตนมักจะคิดถึงการดำรงอยู่ของอาจารย์เบ็น ณ พื้นที่แห่งนี้เสมอ”

 

“อำนาจ หมายถึงการที่ไม่ต้องฟัง”

ความสามารถในการรู้ภาษาอื่น

จึงเป็นเครื่องมือขัดขืน คืนอำนาจกลับสู่ตน

 

        นอกจากความบังเอิญที่ส่งผลต่อชีวิตตั้งแต่เกิดแล้ว ใน ไกลกะลา แอนเดอร์สันยังเล่าถึงความบังเอิญอื่นๆ ที่ส่งผลต่องานของเขา เช่น ฉากวันหนึ่งที่เขากำลังนั่งคุยกับเพื่อนนักศึกษาอเมริกันถึงนวนิยายเรื่อง Uncle Tom’s Cabin ของ แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ ที่ถูกวิจารณ์โดยกลุ่มสนับสนุนการมีทาสว่าเป็นเพียง ‘เรื่องแต่ง’ (fiction) จนทำให้เธอรวบรวมเอกสารข้อมูลมหาศาลที่เธอใช้ประกอบการเขียนนวนิยายเล่มนี้ออกมา บทสนทนาที่ทำให้เขาฉุกคิดถึงความจริงที่ว่าเรื่องแต่งนั้นมีมูลเหตุจากความจริง และในหลายครั้ง ‘ความจริง’ กลับเป็นส่วนผสมของเรื่องแต่งเสียเอง

        บทสนทนาโดยบังเอิญนี้ส่งผลต่อแนวคิด ชุมชนจินตกรรม ที่ว่าด้วยการเกิดขึ้นของสำนึกความเป็นพวกพ้องชาติเดียวกัน ที่แอนเดอร์สันมองว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่เหตุ ‘ธรรมชาติ’ ที่คนที่อยู่ห่างไกล ไม่ได้อยู่ยุคสมัย ไม่ได้รู้จักกันโดยตรง จะเกิดสำนึกความเป็นชุมชนเดียวกันได้ แต่ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่ถูก ‘สร้าง’ ขึ้นเมื่อโลกมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างการพิมพ์ แผนที่ เพลงชาติ วัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์ (ที่ขึ้นกับว่าใครเป็นผู้บันทึก) ฯลฯ ที่สร้างทั้งความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน และ ‘ความเป็นอื่น’ ขึ้นมา

        สำนึกร่วมของความเป็นชาติกอปรขึ้นจากหลายปัจจัยฉันใด แนวคิดเรื่องชุมชนจินตกรรมก็ไม่ได้มาจากบทสนทนาถึงหนังสือ Uncle Tom’s Cabin ครั้งเดียวฉันนั้น แอนเดอร์สันเล่าว่า เขาช่างโชคดีที่เกิดมาก่อนหน้าที่ภาษาตระกูลแองโกล-อเมริกันได้กลายมาเป็นภาษาโลก (ที่เขาบอกว่าเป็นเหตุของ “ความสูญหายมโหฬารของดาวเคราะห์ดวงนี้”) จนทำให้เขาเพียรฝึกฝนภาษาท้องถิ่นจนขยายความเข้าใจที่ถูกจำกัดด้วยคำแปลได้ โชคดีที่เขาเกิดมาในยุคที่เครื่องบันทึกเสียงยังไม่เป็นที่นิยม จนทำให้เขาสัมภาษณ์ด้วยการจดจ่อกับผู้ที่อยู่ตรงหน้า จนได้ข้อมูลเบื้องลึกที่ผู้คนยอมเปิดใจเล่าให้ฟัง โชคดีที่เขาเกิดมาในยุคที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ที่ทำเขาต้องร่ายนิ้วไปตามชั้นหนังสือเรียงราย ได้อ่านหนังสือเล่มที่ไม่ได้ตั้งใจจะอ่าน ได้เข้าถึงความรู้ต่างๆที่เขาคงไม่ได้สนใจเสิร์ชหาหากเกิดมาในยุคเสิร์ชเอ็นจิ้น (ที่แปลว่า ‘อุบาย’ ในภาษาอังกฤษโบราณ)

        การพูดเช่นนี้อาจถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นผู้โรแมนติไซซ์อดีตที่ผ่านมา และไม่เห็นค่าของการพัฒนาในยุคปัจจุบัน หากนั่นไม่ใช่ใจความของแอนเดอร์สัน เขาเพียงจะตั้งข้อสังเกต และทำให้เราไม่ตกหลุมพรางของความเคยชิน ไม่ปล่อยให้ความรวดเร็ว สะดวกสบาย ทำให้เราติดอยู่ในกะลาของการค้นหาเฉพาะสิ่งที่เราสนใจ จนลืมไปว่าการค้นพบใหม่นั้นมาจากการออกไปนอกขอบเขตเดิมๆ ทั้งนั้น – ไม่ต่างจากที่เขาเอาตัวเองออกจากโลกวิชาการในมหาวิทยาลัยชั้นนำสู่ภาคสนาม เคี่ยวเข็ญตนเองเรียนภาษาที่สอง สาม สี่ ห้า จนนำมาซึ่งผลงานที่เต็มไปด้วยความลึกและความกว้างของสหวิชาตลอดชีวิตความเป็นนักวิชาการของเขานี้

        ลองคิดดูว่า หากเขาเป็นนักวิชาการที่ใช้ภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว เพราะใครๆต่างก็ใช้ภาษานี้กัน ไม่ต้องบากบั่นฝึกฝนภาษาใดๆ เขาก็คงไม่สามารถสื่อสารอย่างลึกซึ้งกับแหล่งข้อมูลได้ ไม่เข้าใจอิทธิพลของความอาวุโสที่ส่งผลต่อความคิดในภาษาอินโด หรือภาษาไทย และในขณะเดียวกันผลงานของเขาก็คงถูกจำกัดอยู่เท่าที่ภาษาอังกฤษจะสามารถถ่ายทอดได้ไปอย่างน่าเสียดาย

        การอ่าน ไกลกะลา จึงไม่ได้ทำให้เราโหยหาอดีต เทียบว่ายุคสมัยไหนดีกว่ากัน แต่ชวนให้เราตั้งคำถามกับตนเองว่า หากเราบังเอิญเกิดมาในประเทศนี้ ในช่วงเวลานี้ กับบริบท ณ ตอนนี้ เราจะมีวิธีพาตัวเองออกนอกกะลา ‘แล่นไปกับลม’ เพื่อพาไปสู่ดินแดนของความคิดใหม่ๆได้อย่างไร

 

Benedict Anderson
ณ บ้านพัก ซ.วัดชัยพฤกษ์ ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ต้นปี 2558 (ภาพถ่ายโดย : อนันต์ กรุดเพ็ชร์)

        แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศ แอนเดอร์สันได้กล่าวไว้ในบทหนึ่งว่า อินโดนีเซียเป็นรักแรกของเขา เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาตื่นตาตื่นใจกับโลก ‘ไกลกะลา’ ว่าความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว และก็เป็นอินโดนีเซียที่เขาได้จากโลกไปอย่างสงบ หากผลงานวิชาการของเขายังเป็นมรดกทางความคิดที่เขาได้ฝากโลกนี้เอาไว้ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้คนรุ่นหลังต่อไป ในวันที่ดูเหมือนว่าโลกจะพัฒนามาไกลแสนไกล เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลในหนึ่งชั่วชีวิตคน แต่เรายังต่างล้วนมีกะลาที่มองไม่เห็นเป็นของตนเอง ที่แอนเดอร์สันได้ทิ้งท้ายไว้ว่า

        “ในศึกเพื่อการปลดปล่อยครั้งนี้ เหล่ากบจะปราชัยก็แต่ด้วยมัวหมอบคู้อยู่ใต้กะลาทึบทึมของตัวเองเท่านั้น ผองกบทั้งโลก จงสามัคคีกัน!” 

        แล้วกระโจนออกไป

        ให้ไกลกะลา

 


อ้างอิง:
ไกลกะลา (A Life Beyond Boundaries) (2562) เขียนโดย เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์ สำนักพิมพ์อ่าน