soul-ciety

ย้อนอ่าน ‘สามัญสำนึก’ งานเขียนชิ้นสำคัญของ โธมัส เพน ในวันที่ความผิดปกติกลายเป็นเรื่องสามัญ

“เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์เผ่าพันธุ์หนึ่งอุบัติมาบนโลกพร้อมกับความสูงส่งเหนือมนุษย์คนอื่น และแตกต่างออกไปราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ ประเด็นนี้ควรค่าแก่การพิจารณ์ รวมทั้งตั้งคำถามว่ามันเป็นหนทางแห่งความสุขหรือความทุกข์ของมนุษยชาติกันแน่”

        อารัมภบทเชิงวิพากษ์ในประเด็นที่ยากจะมองเห็นหากความไม่เท่ากันของมนุษย์กลายเป็นเรื่องสามัญ เมื่อชนชั้นวรรณะเป็นเรื่องปกติ ลุกลามไปถึงขั้นเอ่ยนามไม่ได้ อย่าว่าแต่ตั้งคำถาม 

        โธมัส เพน (Thomas Paine) สามัญชนคนธรรมดาชาวอังกฤษ ย้ายไปตั้งรกรากในนครฟิลาเดเฟีย ประเทศอเมริกา ในศตวรรษที่ 18 ยุคสมัยที่การเติบโตของฟิลาเดลเฟียและเมืองอาณานิคมในอเมริกาถูกจำกัดด้วยอิทธิพลของสหราชอาณาจักร บริบทสังคมในช่วงเวลานี้มีส่วนหล่อหลอมแนวคิดทางการเมืองของเขาไม่น้อยไปกว่าการที่เขาเติบโตมาในครอบครัวเควกเกอร์ ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคริสเตียนโปรเตสแตนต์ที่เชื่อในอิสรภาพ และศักยภาพของความเป็นมนุษย์ในการเข้าถึงพระเจ้าด้วยตนเอง แนวคิดทางศาสนาที่ส่งผลให้เพนมองเห็นว่าการถูกจำกัดขีดความสามารถด้วยสถานะทางสังคม การกำหนดว่ามนุษย์ผู้ใดสูงส่งกว่าผู้ใดด้วยครอบครัว ตระกูล วงศาคณาญาติ นั้นเป็นความคิดผิดธรรมชาติ ไม่มีตรรกะเหตุผลใดมารองรับ

        ด้วยความที่กลุ่มเควกเกอร์นั้นเป็นสามัญชนคนธรรมดาที่มีความรู้ ความสามารถ แต่ขาดโอกาสในการปกครองตนเอง ไม่ต่างจากชาวฟิลาเดลเฟียในขณะนั้นที่กำลังอยู่ในยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรม ทำการผลิตมากมาย เป็นเมืองใหญ่สุดในบรรดาเมืองอาณานิคม แต่ผู้คนกลับไม่สามารถได้รับผลประโยชน์จากแรงงานของตนเองได้อย่างเหมาะสมด้วยกฎเกณฑ์ ข้อระเบียบที่ถูกกำหนดไว้ด้วยเมืองแม่อาณานิคมอย่างอังกฤษ จนแม้ว่าสามัญชน คนทำงาน (ซึ่งป็นประชากรจำนวนมากของเมือง) จะสร้างผลผลิตได้มากเท่าไหร่ จะขยันฝึกปรือฝีมือมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่เขามี หากกลุ่มที่เรียกว่า ‘กระฎุมพี’ (Bourgeoisie) กลุ่มชนชั้นกลางระดับสูง กลุ่มนายทุน หรือชนชั้นปกครอง กลับนั่งเสวยครอบครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งที่มาจากแรงงานของประชากรส่วนมากที่ยังใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก

        ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และแนวคิดทางศาสนาเช่นนี้จึงมีส่วนหล่อหลอมให้ชาวเควกเกอร์ และเพนเองออกมาคัดค้านการใช้แรงงานทาส จนมีส่วนทำให้ฟิลาเดลเฟียเป็นรัฐแรกที่ประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายเลิกทาสไปในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น เพนยังยืนยันว่าหนทางที่จะทำให้มนุษย์ทุกหมู่เหล่ากลับคืนสู่อิสรภาพที่แท้จริง คือการปลดแอกเชิงความคิด สะกิดให้ผู้คนเห็นความไม่ปกติของระบบชนชั้น สถาบันที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา และชี้ทางให้เห็น ‘สามัญสำนึก’ ความปกติที่แท้จริงของชีวิต

        นอกเหนือไปจากขับเคลื่อน สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมในสังคม เพนยังได้เขียนจุลสาร ‘สามัญสำนึก’ ฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อสื่อสารความคิดนามธรรมของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คน ว่าสถานการณ์ที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่นั้นเป็นความผิดแปลกของชีวิต การทำงานเชิงความคิดที่เป็นชนวนตั้งต้นที่จำเป็นต่อการจุดไฟให้ติด เพื่อไปสู่การเปลี่ยนทิศทางการอยู่ร่วมกันในสังคมในท้ายที่สุด

        ว่ากันว่า ‘สามัญสำนึก’ ถูกจำหน่ายมากถึงสองแสนฉบับในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี และยังถูกตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อมาหลังจากนั้น จนนักประวัติศาสตร์ยอมมองว่าหนังสือของเพนนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเรียกร้องอิสรภาพในสหรัฐอเมริกา แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้นก็ยากที่จะบอกว่างานเขียนของเพนทำให้ผู้คนได้คิด หรือแท้จริงนั้นผู้คนต่างอึดอัด สงสัย คับข้องใจในความไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว หนังสือของเพนอาจเป็นเพียงลำโพงที่ถ่ายทอด สะท้อนความไม่พอใจของผู้คนออกมาร่วมกันได้ดังขึ้นเท่านั้น 

 

soul-ciety

 

        จุลสารขนาดเล็กเล่มนี้บรรจุเนื้อหาสาระสำคัญใหญ่ๆ ไว้หลักๆ สามเรื่องด้วยกัน นั่นคือประเด็นการมีอยู่ของรัฐบาล, รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร และระบอบกษัตริย์ 

        “สังคมเกิดจากความต้องการของเรา ส่วนรัฐบาลเกิดจากความชั่วร้ายของเรา สังคมส่งเสริมความสุขของเราในด้านบวก ด้วยการเกี่ยวร้อยประสานสิ่งที่เรารัก ส่วนรัฐบาลที่หน้าที่ในด้านลบคือคอยระงับยับยั้งความชั่วของเรา สังคมเกื้อหนุนการมีปฏิสัมพันธ์ ส่วนรัฐบาลสร้างการกีดกันแบ่งแยก สังคมคือผู้อุปถัมภ์ รัฐบาลคือผู้ลงโทษ”

        วรรคทองของเพนที่สรุปการมีอยู่ของรัฐบาลที่เป็นที่ถกเถียงในเชิงปรัชญาการเมืองตั้งแต่ โธมัส ฮอบส์ ถึง จอห์น ล็อก ว่าการมีอยู่ของรัฐบาลนั้นมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน หรือหากต้องมี รัฐบาลนั้นควรมีไว้เพื่อจุดประสงค์อันใด เหตุที่วรรคทองนี้ทรงพลังเหลือเกินในขณะนั้นนั่นเป็นเพราะงานเขียนเชิงความคิดของนักปราชญ์ นักทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้นไม่ใช่สิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จนกระทั่งเพนนำถ้อยความนี้มาอธิบายอีกครั้งด้วยภาษาเรียบง่าย มีตรรกะและเหตุผล จนทำให้ผู้คนสามารถเข้าใจถึงสามัญสำนึกข้อแรกได้ว่าคนเรานั้นเกิดมาเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ตามสัญชาตญาณ จนกระทั่งมีผู้แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้ปกครอง ด้วยเรื่องเล่าที่พร่ำบอกว่าเขานั้นเหนือกว่า ควรค่าได้รับอำนาจ สิทธิที่มากกว่าขึ้นมานั่นแหละ ปัญหาความไม่เท่าเทียมจึงหยั่งรากลึกในสังคม

“ความยึดมั่นถือมั่นในรัฐธรรมนูญการปกครองอันผุพังก็บังตาเรามิให้แลเห็นรัฐธรรมนูญที่ดี

        ในประเด็นที่สอง เพนชวนให้ผู้อ่านมองเห็นความผิดปกติของการใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นเครื่องมือสร้างความลักลั่นด้วยกระบวนการรัฐสภาที่ดูน่าเกรงขาม จนทำให้ผู้ที่เสวยสุขอยู่บนหอคอยงาช้างนั้นอำพรางการใช้อำนาจได้แนบเนียนกว่าเคย ซึ่งหากผู้คนละเลย ไม่ใส่ใจ ปล่อยให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องของชนชั้นปกครอง เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ถึงวันนั้นเราต่างก็ไม่อาจโทษใครได้ในวันที่ความไม่ชอบธรรมนั้นปรากฏอยู่ตรงหน้า ในแง่นี้ เพนพยายามกระตุ้นให้ทุกคนเห็นของความสำคัญว่าเราไม่อาจเพียงแค่ไม่พอใจแล้วนิ่งเฉย แต่เราต้องตรวจสอบ วิพากษ์ ตั้งคำถาม เปล่งเสียงออกมาเมื่อเห็นความไม่ชอบมาพากล 

        หลังจากสองประเด็นแรกว่าด้วยจุดประสงค์ของรัฐบาล และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เพนได้ต่อด้วยการเปลือยให้เห็นความไม่ปกติในการมีอยู่ของระบบกษัตริย์ เช่นบางส่วนของเนื้อหาที่กล่าวว่า

“ในองค์ประกอบของสถาบันกษัตริย์มีบางอย่างน่าขันสิ้นดี แรกสุดมันแยกคนผู้หนึ่งออกจากหนทางแห่งการรับข้อมูลข่าวสาร กระนั้นกลับให้อำนาจเขากระทำการในกรณีต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีวิจารณญาณสูงสุด สภาวะแห่งการเป็นกษัตริย์ปิดกั้นเขาจากโลก กระนั้นกิจธุระแห่งการเป็นกษัตริย์กลับเรียกร้องให้เขารู้จักโลกอย่างถ้วนถี่ ดังนั้น องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันเองและทำลายกันเองอย่างขัดต่อธรรมชาติจึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าลักษณะโดยรวมของสถาบันมีแต่ความไร้สาระและไร้ประโยชน์”

        ในประเด็นของกษัตริย์นั้น นอกจากเพนจะอธิบายว่าการที่มนุษย์จำแนกบุคคลใดบุคคลหนึ่งว่าเป็นมนุษย์เหนือมนุษย์นั้นช่างเป็นความคิดที่ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะวิถีปฏิบัติที่ความเป็นกษัตริย์นั้นถูกสืบทอดด้วยสายเลือดนั้นยิ่งไร้เหตุผลเข้าไปใหญ่ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ไหนจะลดทอนความเป็นมนุษย์ของทั้งสองฝ่าย – แม้จะชัดเจนว่าผู้คนส่วนใหญ่ต้องเสียเปรียบกว่ามหาศาล – ทั้งลูกหลานกษัตริย์ที่ไม่ได้เลือกชีวิตนั้นเอง และฝ่ายประชาชนคนรุ่นหลังที่ต้องยอมรับข้อตกลงของคนรุ่นก่อนที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอันใดในช่วงเวลานั้น หนำซ้ำยังเสียประโยชน์ในช่วงชีวิตของพวกเขา 

        โดยส่วนความเห็นของผู้ที่ผู้สนับสนุนการมีอยู่ของกษัตริย์มักชอบอ้างว่า เพราะมีผู้ที่เคยเป็นกษัตริย์มาก่อนนั้นได้สร้างคุณงามความดีเอาไว้ จึงจำเป็นที่พวกเขาต้องมีกษัตริย์ต่อไป เพนได้แย้งว่า

“มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตนให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป”

 

soul-ciety

 

        ความเรียบง่ายของภาษา การกระตุกให้ผู้คนได้เห็นความไม่ปกติในสังคม การย่อยปรัชญาที่เข้าถึงยากให้เป็นหนังสือขนาดกระทัดรัด นับว่ามีส่วนสำคัญในการปลดแอกเมืองอาณานิคมออกจากสหราชอาณาจักรที่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงแค่ในนครฟิลาเดลเฟีย ในศตวรรษที่ 18 เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความคิดของผู้อ่านนับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่ได้เริ่มมองเห็นว่าสิ่งใดผิดแปลกไปจากความเป็นธรรมชาติ และสิ่งใดต่างหากที่เป็นสามัญสำนึก เป็นความปกติของชีวิตที่แท้จริง