การต่อสู้

เปลี่ยนเรื่องเล่า ‘การต่อสู้’ ความจริงไม่ใช่ศัตรู ชีวิตไม่ใช่สงคราม

“เมื่อคุณเรียกมันว่าสงคราม ผู้คนก็จะเริ่มตื่นตระหนก ตัวคุณจะกลายเป็นผู้ต่อสู้ และอีกฝ่ายกลายเป็นศัตรู” – ตัวละคร Major Bunny Colvin จากซีรีส์ The Wire

        เรื่องเล่าเกี่ยวกับสงครามไม่ได้เป็นเพียงแค่ฉากประวัติศาสตร์ หากยังเป็นภาษาที่เราใช้กันจนติดปากทุกวันนี้ – ต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ต่อสู้กับคนใจดำ ต่อสู้กับความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ต่อสู้ยันไวรัสสายพันธุ์ใหม่…

        การต่อสู้ที่ตามมาด้วยการจำแนกให้แตกต่าง นี่ฝ่ายเราเหล่านักรบ นั่นฝ่ายเขาเหล่าศัตรู นักรบอย่างเรามีเป้าหมายต้องปราบศัตรูให้สิ้นซาก การต่อสู้วนเวียนเกี่ยวข้องกับการสู้รบไม่มีวันจบ จนกระทั่งมีคนแพ้ มีชนะ ไม่ศัตรูก็เราที่ตายก่อนในสนามรบ 

        วาทกรรมการต่อสู้ที่พูดกันจนชิน ได้ยินคำว่าต่อสู้เมื่อไหร่ ใจรีบยกโล่ปกป้องตัวเอง ยกมีดพร้อมฟันแทงเมื่อนั้น ปฏิกิริยาโต้กลับอัตโนมัติจากสมองที่จดจำว่าเมื่อใดก็ตามมีสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา จงต่อสู้กับมัน! จนหลายครั้งลืมสำรวจตรวจสอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอาจไม่ต้องการ ‘การต่อสู้’ เสียด้วยซ้ำ

 

การต่อสู้

 

        เนื้อหาใจความหลักอย่างหนึ่งในหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind โดย ยูวาล โนอาห์ ฮารารี นั้นกล่าวถึงความสามารถในการ ‘เล่าเรื่อง’ ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นสายพันธุ์ที่ทรงพลังกว่าสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น จริงอยู่ที่สัตว์ทุกประเภทมีวิธีในการสื่อสาร แต่การเล่าเรื่องนั้นแตกต่างออกไป การเล่าเรื่องของมนุษย์เป็นการสื่อสารที่ไม่เพียงส่งข้อความ หากเป็นการสร้างให้เกิดอารมณ์ร่วม – เรื่องเล่านั้นจะทำให้คนรักกันก็ได้ หรือจะเกลียดกันจนออกไปรบราฆ่าฟันกันให้ตายก็ย่อมได้เช่นกัน 

        การเล่าเรื่องที่เป็นกลไกสร้างความรู้สึก เบื้องหลังจิตใต้สำนึกที่เราไม่ค่อยรู้ตัว ความเคยชินที่เห็นที่เป็นอยู่หลายครั้ง แม้จะถูกสร้างขึ้นมา แต่เมื่อถูกผลิตซ้ำย้ำไปบ่อยๆ ก็ทรงพลังเสียจนสามารถเปลี่ยนเรื่องแต่ง (fiction) ให้กลายเป็นเรื่องจริง (non-fiction) และเรื่องจริงก็กลับถูกปอกลอก บิดเบือนว่าเป็นคำหลอกลวง

        ในบรรดาเรื่องแต่งทั้งหลาย มนุษย์ก็ดูคล้ายว่าจะชอบเรื่องเล่าการต่อสู้กว่าเรื่องเล่าชนิดใด แม้แต่ในวิชาการสื่อสาร ก็มักสอนพื้นฐานการเล่าเรื่องว่าต้องมี ‘conflict’ ต้องมีความขัดแย้ง ต้องสร้างอารมณ์ไปให้ถึงจุดไคลแม็กซ์ ก็แล้วเรื่องเล่าจะไปสนุกอะไร หากไร้พระเอก ขาดผู้ร้าย ขาดเป้าหมายพันธกิจในการแพ้หรือชนะ 

        ไม่ใช่แค่ผู้แต่งนิยายที่รู้ถึงความลับนี้ แต่นักการเมือง นักค้าขาย หรือเอาเข้าจริงก็พวกเราทั้งหลายนั่นแหละที่ต่างรู้ดีว่าหากจะปลุกเร้าให้ใครสักคนทำตามเรา เรื่องเล่านี่แหละเป็นเครื่องบิลด์อารมณ์ชั้นดี เขียนพล็อตขึ้นมา สร้างตัวละคร แบ่งแยกว่าฝ่ายเราเนี่ยแหละหนาเป็นเหล่านักรบผู้กล้า ฝ่ายตรงข้าม, ไม่ว่าจะคน อุดมการณ์ เป้าหมายใดก็ตาม, คือวายร้ายที่เรามีเป้าหมายร่วมกันต้องกำจัดทิ้ง

 

การต่อสู้
Image: www.aljazeera.com/news/2020/03/enemy-issues-guidelines-coronavirus-200316192920922.html

        “เรามีศัตรูที่มองไม่เห็น เป็นศัตรูที่ร้ายกาจ ร้ายกาจเอามากๆ”

        โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในวันที่ขอให้ชาวอเมริกันงดกิจกรรมทางสังคมเป็นเวลา 15 วัน และเรียกไวรัสโคโรนาว่าเป็น ‘ศัตรูที่มองไม่เห็น’ (Invisible Enemy) 

        ทรัมป์และผู้นำบางรายที่มัวแต่เล่มเกมไล่จับผู้ร้าย เอะอะจะเอาชนะ แรกๆ ก็แสดงความโอหังว่าไวรัสน่ะเหรอจะมาทำลายมนุษย์ได้ มนุษย์อย่างเรานั้นช่างยิ่งใหญ่ ไวรัสเล็กๆ มองไม่เห็นกำจัดได้สบาย แต่ครั้นเอาชนะไม่ได้ ก็สร้างความกลัวหมู่ ด้วยการแปะป้ายว่าเจ้าไวรัสนี้เป็นศัตรู เรานั้นอยู่ฝ่ายเดียวกัน ต้องรบราฆ่าฟันเจ้าไวรัสนี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

        แม้เราจะส่ายหัวกับทรัมป์และเหล่าผู้นำบางคน แต่เมื่อตักน้ำใส่กะโหลก ก้มลงสำรวจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องตกใจที่รับรู้ว่า เราเองนั้นก็ใช้ภาษา ‘การต่อสู้’ ในการเผชิญหน้ากับไวรัสนี้ไม่ต่างกัน ภาษาการต่อสู้ที่เราใช้กันจนชิน บางทีมันก็ทำให้เลือดสูบฉีดดี แต่หลายทีมันก็ทำให้เราเหนื่อย เพลีย อยากจะมุดหน้าหนี อยากกรีดร้องว่าทำไมโชคร้ายต้องเกิดมาในโลกยุคนี้

        แต่ 

        ถ้าเราต่างเป็นเรื่องเล่าที่เราบอกกับตัวเอง ถ้าเป็นเช่นนั้น ย่อมหมายความว่า แม้เราจะกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ความสามารถในการกำหนดความหมายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วนขึ้นอยู่กับเรา

        ใช่ สิ่งที่สำคัญคือความหมายที่เราให้กับมัน ในสถานการณ์เดียวกัน คนสองคนที่เล่าเรื่องต่างกันไป ย่อมส่งผลต่อใจที่ต่างกันออกไปได้

        บางคนอกหัก อาจเหมารวมไปว่าชีวิตนี้ไม่มีใครรัก แต่บางคนอาจมองว่านี่คือเวลาที่จะได้หยุดพัก ได้กลับมารักตัวเองก่อนจะเริ่มใหม่กับใครอีกคน

        บางคนโดนหัวหน้าบ่น อาจร้อนรนคิดไปว่าตนนั้นไม่เหมาะสมกับงานนี้ ท้อใจกับหน้าที่การงานที่มี แต่กับบางคนอาจมองว่าหัวหน้านี่ช่างแสนดี อุตส่าห์ให้คำแนะนำ คอยชี้แนะแนวทางให้ทำงานได้ดีกว่าเดิม

        บางคนเจ็บป่วยกาย โกรธแค้นรำพึงในใจว่าทำไมต้องเกิดขึ้นกับฉัน แต่กับบางคนอาจมองว่านี่เป็นสัญญาณที่ชีวิตมาเตือนว่าสิ่งสำคัญที่แท้จริงนั้นคืออะไร ดีแค่ไหนที่ชีวิตมาเตือนแต่เนิ่นๆ ไม่รู้ตัวเมื่อสาย 

        ใช่ เราเป็นเรื่องเล่าที่เราเฝ้าบอกตัวเอง 

        และไม่ นี่ไม่ใช่การเข้าข้าง สร้างโลกสวยหลอกตัวเองไปวันๆ แต่อย่างใด แต่คือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ยอมรับ ทำความเข้าใจ และเลือกว่าจะทำอย่างไรกับมันต่อ

        การสร้างความกลัว วิตกจริต ฟูมฟาย หมกมุ่นเพราะไม่ยอมรับ หรือโอหังไม่เผชิญหน้ากับความเป็นจริง นั่นต่างหากคือการเข้าข้าง สร้างโลกลวงหลอกตัวเอง 

 

การต่อสู้
Image: Facebook Page – International Surfing Association

 

        “ฟังนะ ในฐานะนักโต้คลื่น เราเรียนรู้ว่าคลื่นมาเมื่อมันมา ไม่ใช่ว่ามันจะมาเมื่อคุณต้องการมันเสียเมื่อไหร่”

        Fernando Aguerre นักกีฬาโต้คลื่นและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลตอบคำถามนักข่าวว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ต้องถูกเลื่อนออกไป 

        ใช่ ชีวิตอาจเป็นกีฬาโต้คลื่นก็ได้ เป็นกีฬาโต้คลื่นที่เมื่อคลื่นยักษ์พัดมา เราก็ถลาลมไปกับมัน ล้มจากกระดานบ้าง เสียสมดุลบ้าง ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ กลับไปยืนทรงตัวใหม่ ไม่ต้องเฝ้าคอยว่าเมื่อไหร่คลื่นจะมา หรือเมื่อไหร่คลื่นจะซาเสียที เมื่อกายเริ่มเมื่อยล้า 

        การเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุสุดวิสัยครั้งนี้เป็นดั่งการโต้คลื่นสำหรับนักกีฬา

        นั่นสินะ นอกจากการต่อสู้

        สถานการณ์ครั้งนี้เป็นอะไร สำหรับเรา

 

การต่อสู้
Image: www.dezeen.com/2020/03/14/this-week-li-edelkoort-coronavirus

 

        ‘หน้ากระดาษเปล่าสำหรับการเริ่มต้นใหม่’ (A Blank Page for a New Beginning)

        ‘การกักบริเวณของบริโภคนิยม’ (A Quarantine of Consumption)

        ในขณะที่ใครต่อใครตระหนกหวาดกลัวกับโรคระบาดใหญ่ในครั้งนี้ ‘ลี เอเดลคอร์ต’ (Li Edelkoort) นักพยากรณ์เทรนด์แฟชั่นชาวดัตช์ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่โลกจะได้หยุดพัก ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นฟู มนุษย์ได้กลับมาเห็นว่าสิ่งใดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และในขณะที่หลายคนวิตกกังวลว่าโลกจะพังทลาย ไวรัสนั้นเป็นเหล่าวายร้ายที่เราต้องกำจัดให้สิ้นซากไป ลีไม่ปฏิเสธว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่เราต้องหาทางรักษาโรคนี้ให้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าต่อจากนี้ไปคือการที่เรากลับมารักษาโลกใบนี้ให้อยู่ในสภาวะที่สมดุลกว่าเคย 

        และถ้าหากเรายอมรับว่าเราต่างเป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนี้ ยอมรับโดยดุษณีว่าการใช้ชีวิตอย่างป่วยๆ ของเรานั้นมีส่วนทำให้โลกต้องป่วยตามไปด้วย ถ้าหากเรายอมรับและตื่นตัวจนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงได้ทันในวันที่ยังมีทางเลือก อาจไม่ต้องรอจนวันที่สายเกินไป ในวันที่ธรรมชาติต้องใช้ยาแรงทำให้เราต้องเปลี่ยนอย่างไร้สิ้นหนทางในท้ายที่สุด

        และถ้าหากเราตื่นตัว เปลี่ยนแปลง รีเซตวิถีชีวิตได้ใหม่จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เรื่องเล่าต่อจากนี้อาจกลายเป็นว่าไวรัสโคโรนานั้นคือของขวัญจากพระเจ้า จักรวาล หรือธรรมชาติที่ส่งมาเพื่อเตือนเราเหล่ามนุษย์ให้เห็นความจริง 

        ความจริงที่ว่าทุกสรรพสิ่งนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันขั้นลึกถึงระดับโครงสร้างชีวิตเพียงใด ชีวิตนั้นเท่าเทียมกันเพียงใด ในทางตรงกันข้าม เรื่องเล่าโบราณที่แบ่งแยกชีวิตรวย-จน เชื้อพระวงศ์-คนธรรมดา ซ้าย-ขวา ประเทศพัฒนา-ด้อยพัฒนา ที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงเรื่องแต่ง ถึงเวลาที่เราต้องเข้าเรื่องจริงกันเสียที 

        เรื่องจริงที่ว่า ท้ายที่สุดของชีวิตนี้ เราต่างสัมพันธ์กันอย่างตัดไม่ขาด ไม่ว่าใครจะบังอาจพยายามเขียนเรื่องเล่าฉากสู้รบตบตี แสร้งว่าเรานั้นเป็นศัตรูต่อกันเพียงใด