ภราดรภาพ

เราจะรักกันไปทำไม? ‘ภราดรภาพ’ ราคาที่ไม่ต้องจ่ายในการขับเคลื่อนสังคม

คุณตกหลุมรักครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

        ความรักที่ทำให้ตาเป็นประกาย หายใจไม่ทั่วท้อง มองอะไรก็นึกถึง ห้วงคำนึงวนเวียน คิดเขียนอ่านอยู่เพียงสิ่งอันเป็นที่รัก ปักใจแน่วแน่หมายมั่นว่านี่แหละสิ่งที่ชีวิตตามหา อยากรักษา ปกป้อง ปรารถนาให้สิ่งที่รักนี้ประสบพบแต่เรื่องดีดี 

        ศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ ชวนคุยเรื่องความรู้สึกเมื่อครั้งตกหลุมรัก ในวงสนทนาชื่อว่า ‘เราจะรักกันไปทำไม: ภราดรภาพในฐานะพลังขับเคลื่อนสังคมของพุทธมหายาน’ นั่งฟังบรรยายไป สงสัยไป ใจเริ่มร้อนรนกระวนกระวาย ไม่รู้ว่าเรื่องรักโรแมนติกมันจะเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนสังคมได้อย่างไร ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ใครจะมีกะจิตกะใจมาสนใจเรื่องรักๆ ใคร่ๆ

        อาจารย์ไม่ให้คำตอบ แต่เล่าถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่รู้สึก ‘ตกหลุม’ จะรักหรือเปล่าไม่รู้ ที่รู้สึกได้นั่นคืออาการต้องมนตร์อย่างประหลาดกับชายหนุ่มซูบผอม ตาโหล ชายหนุ่มที่กำลังเสิร์ฟหม้อไฟเตาร้อนๆ ด้วยมือหยาบกร้านในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ความรู้สึกวิบวับ โอนอ่อนในใจที่อยากดูแลผู้ชายคนนี้ ความรู้สึกดั่งมารดาที่มีต่อบุตร อยากดูแลเขาคนนี้ให้ได้มีชีวิตที่ดี ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกะทันหัน จนกระทั่งความคิดเริ่มทำงาน ความรู้สึก ‘ตกหลุม’ นั้นก็พลันหายไป

 

ภราดรภาพ

 

        อาการ ‘ตกหลุม’ ที่เราต่างเคยรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นกับชายหนุ่มซูบผอมที่ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ หรือใครสักคนที่บทสนทนาเพียงครั้งก็ทำให้ใจสั่นไหว 

        อาการ ‘ตกหลุม’ ช่วงเวลาไร้ความนึกคิด จิตไร้กำแพงกั้นขวาง ใจอ่อนบาง อ่อนพอจนปล่อยให้ตนเองได้ร่วงหล่นลงไปในความเคว้งคว้างของหลุมนั่น 

        ไม่ว่ามันจะเป็นคน ความฝัน หรือแม้แต่กระทั่งอุดมการณ์ก็ตาม

        ใช่ ไม่ใช่แค่คนเสมอไปที่ทำให้เราตกหลุมรักได้ ความรู้สึกวูบวาบ ตาเป็นประกาย ปั่นป่วนในท้องเมื่อนึกถึง ซึ่งบางครั้งทรงพลังเสียจนคิดไปว่าเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ นี่คือพันธกิจที่เราพร้อมพลีชีพให้ได้ ความรู้สึกเช่นนั้นไม่ได้เกิดแค่กับคนเสมอไป ดูอย่าง คาร์ล มาร์กซ์, เช เกวารา, คานธี หรือแม้แต่สิทธารถะ ดูสิ พวกเขาต่างตกหลุมรักในอุดมการณ์บางอย่างจนพลีกายถวายชีวิตให้สิ่งนั้น 

        เมื่อมองในแง่นี้ บ่อเกิดพลังสร้างสรรค์ของสารพัดสิ่งที่คงอยู่มาจนปัจจุบันล้วนมีรากฐานมาจากความรักทั้งนั้น แต่พลังท่วมท้นมหาศาลของรักก็มักเป็นเช่นนี้ ยิ่งรักมากเท่าไหร่ ยิ่งง่ายที่จะเกิดความรู้สึกไม่พอใจหากสิ่งอันเป็นที่รักนั้นถูกกระทบกระทั่ง โกรธเคืองผู้ขัดขวางความรัก เป็นทุกข์ผิดหวังเมื่อรักนั้นไม่เป็นไปดั่งใจ

 

        มีคำกล่าวว่า “The opposite of love isn’t hate but indifference” สิ่งที่ตรงข้ามความรักไม่ใช่ความเกลียดชัง หากคือความไม่สนใจไยดี ไม่แยแสต่อความรู้สึกของผู้อื่น

        อาจฟังดูโหดร้ายเย็นชา แต่จริงหรือไม่ว่าในชีวิตนี้เราต่างเคยไม่แยแสต่อทุกข์ของผู้อื่นไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่ง ซึ่งหลายครั้งมักเป็นปฏิกิริยาโต้กลับต่อความผิดหวังในรัก เมื่อรักมากไป รู้สึกมากไป จนใจรับความรู้สึกไม่ไหว ก็แค่ปิดประตูกระแทกใส่มันซะ ทำตัวด้านชาไม่รู้สึกรู้สาอะไร จะได้ไม่อ่อนไหวไปกับมัน

        เฉกเช่นเดียวกับความรัก ความทุ่มเทให้การงาน อุดมการณ์ในฝัน ความมุ่งมั่นที่กลายเป็นความยึดมั่น คาดหวังผลตอบแทนต่อใจที่ทุ่มเทลงไป จนเริ่มไม่ยี่หระต่อความทุกข์ร้อนของใคร ไปจนถึงขั้นโกรธเกลียดสิ่งใดที่เข้ามาขวางกั้นระหว่างทาง

        ความรู้สึกโกรธ เกลียดรุนแรง แผดเผาใจจนหลายครั้งลืมไปว่ารากเหตุที่ทำให้เราโกรธเกลียดได้มากขนาดนั้น – นั่นเพียงเพราะเรารัก

        แต่ถึงจะอย่างนั้น คำถามสำคัญก็ยังค้างคาใจ คำถามว่าในวันที่อุดมการณ์ ภาพในฝันของเราถูกย่ำยี ถูกกดขี่โดยผู้ที่ไม่แม้แต่แสดงท่าทีว่าสนใจไยดี ในสถานการณ์เช่นนี้กับคนพรรค์นั้น เราจะรักกันไปทำไม… เราไม่รักกันได้ไหม

        ได้สิ ย่อมได้ หากปลายทางภาพฝันนั้นสั้นเพียงเพื่อเอาชนะให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่เมื่อย้อนดูฉากประวัติศาสตร์ของสังคม เช่น ในการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 รากฐานของสังคมอารยะนั้นไม่ได้ประกอบไปด้วยเสรีภาพและความเสมอภาคเท่านั้น หากยังมีภราดรภาพ เป็นอีกหนึ่งรากฐานสำคัญ และการต่อสู้เพื่อชนะให้ได้มาเพื่อคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง ย่อมไม่สามารถนำมาซึ่งสังคมที่พึงปรารถนาได้

 

ภราดรภาพ

 

        “การต่อสู้ที่ผ่านมาบ่อยครั้ง เหมือนเราอยากได้ความเสมอภาค แล้วเอาภราดรภาพเป็นราคาที่ต้องจ่าย”

        อาจารย์สุวรรณาตั้งข้อสังเกตว่ายามเกิดปัญหาในโลกปัจจุบัน ผู้คนมักหาทางแก้ไขจากเทคโนโลยี แทนที่จะหันหน้าเข้าหากัน ว่าเราจะพึ่งพา ช่วยเหลือกันอย่างไร รูปแบบการแก้ไขปัญหาที่สะท้อนแนวคิดเชิงปัจเจกที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุค Enlightenment ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้ตรรกะ เหตุผล จำแนกไม่เพียงแต่ความรู้ สิ่งของ แต่ยังจำแนกผู้คน จนเราคุ้นเคยกับระบบต่างคนต่างอยู่ ในสังคมเช่นนั้น ภราดรภาพย่อมเสื่อมความสำคัญไป การต่อสู้ใดๆ นับแต่นั้นมาล้วนมุ่งสู่เสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นเป้าหมายสำคัญ

        หากการทู่ซี้ต่อสู้ด้วยวิธีการเดิมรังแต่จะทำให้เราถอยห่างกันไป ได้ผลลัพธ์ไม่ต่างไปจากเดิม หรือนี่คือช่วงเวลาที่กำลังบอกกับเราว่า ในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า เราจำเป็นที่จะต้องกลับมาหา ‘ภราดรภาพ’ ให้มีความสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าเสรีภาพ-เสมอภาคที่เราหวงแหนกันนักหนา เฝ้าคอยปกป้อง ต่อสู้ให้ได้มา 

        แล้วภราดรภาพจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

        ภราดรภาพ (fraternity) ความรู้สึกถึงความเป็นพี่น้อง ความเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้เมื่อเราเห็นสายใยที่เชื่อมโยงเราเข้าไว้ด้วยกันตั้งแต่ระดับโครงสร้างสังคม ไปจนถึงระดับโครงสร้างของความเป็นสิ่งมีชีวิต ที่วิกฤตระดับโลกตอนนี้ราวกับกำลังเผยตาข่ายความเชื่อมโยงนั้นให้แผ่หลา เห็นกันเต็มตาว่าเราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเพียงใด

        ความเปราะบางของชีวิตที่เผยให้เห็นว่าหากใครคนหนึ่งป่วยไข้ ไม่ว่าจะป่วยกายหรือป่วยใจ ย่อมส่งผลต่อสุขภาวะของชีวิตอื่นเป็นทอดต่อกันไป ความรู้สึกร่วมทุกข์ที่ทำให้เราต่างสั่นไหวไปด้วยเรื่องเดียวกันอีกครั้งจนทำให้เกิดความรู้สึกผูกพัน (bonding) ที่มีมายาวนานก่อนที่พันธนาการจากความยึดมั่น (bondage) ในความเห็นต่าง ตัดสินว่าใครถูกผิด จะตัดขาดแยกเราจากกันในการต่อสู้ที่ผ่านมา จนเราหลงลืมไปว่าทั้งความโกรธและเกลียดที่เราถาโถมเข้าใส่กันมีที่มาจากใจที่สั่นไหว มาจากใจที่รู้สึก มาจากใจที่ครั้งหนึ่งนั้นเรารัก แต่ความผิดหวังมันผลักให้เราต้องบิดเบือนความอ่อนไหว จนต้องสร้างเกราะกำบัง แสดงว่าไม่สนใจ ไม่แยแสความทุกข์ของกันและกัน

        หรือบางที ในความเจ็บป่วยครั้งนี้นั้นจะทำให้เราได้รู้สึกถึงความทุกข์ที่เราต่างมีร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง ดึงใจเรากลับมาสู่ความเป็นจริงของชีวิต ให้ความทุกข์ที่กำลังเผชิญหล่อหลอมเราเข้าด้วยกัน จนรู้สึกรู้สา สั่นไหว จดจำได้ว่า ‘ภราดรภาพ’ นั้นเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมได้ไม่น้อยไปกว่าเสรีภาพ และความเสมอภาค ที่เราเคยต่อสู้ให้ได้มา ต่อสู้ด้วยความโกรธจนเกือบลืมไปว่าภราดรภาพนั้นเป็นอีกรากฐานสำคัญของสังคมที่เราปรารถนา

        หรือบางที นี่อาจเป็นเวลาดีที่เราจะได้รู้สึกสั่นไหวไปกับทุกข์ที่มีร่วมกันอีกสักที

        ปล่อยไป รับรู้ถึงความอ่อนโยนของใจ

        จนจดจำ สัมผัส รับรู้ได้ว่าต้นกำเนิดของความโกรธเคืองใจที่ผ่านมา

        ล้วนแล้วแต่มีราก กำเนิดจากความรัก

 


ขอบคุณ: ห้องเรียนศาสนธรรม ‘เราจะรักกันไปทำไม’ วันที่ 8 มีนาคม 2563 ณ วัชรสิทธา https://web.facebook.com/vajrasiddha