นวมทอง ไพรวัลย์

ระลึกถึง ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ วิญญาณพิทักษ์ผู้รักประชาธิปไตย

“ชาติหน้าเกิดมา คงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก”

        ส่วนหนึ่งของข้อความในจดหมายฉบับสุดท้ายที่ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ เขียนให้ลูกๆ และภรรยาหนึ่งวันก่อนจะผูกคอเสียชีวิต ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ณ ราวสะพานลอย เยื้องสำนักงานหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก ที่กลายเป็นจุดสดมภ์อนุสรณ์ มีผู้คนเดินทางมาระลึกถึง นวมทอง ไพรวัลย์ หรือที่ ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’1 เรียกเขาว่า ‘ปฏิมาสามัญชน’ ในความเห็นว่า

        “ปกติคำว่าปฏิมานี้ใช้เรียกเฉพาะพุทธรูป แต่มองว่านวมทองมีความบริสุทธิ์ มั่นคง มีความเสถียรของอุดมการณ์ จนไปพ้นความเชื่อแบบศาสนาพุทธว่าฆ่าตัวตายแล้วต้องตกนรก” รวมทั้งการยืนยันจากนวมทองก่อนเสียชีวิตเองที่เขายืนยันว่ามีสติ รู้สึกตัวทั่วพร้อมทุกอย่าง ไม่ได้เป็นการตัดสินใจตายอย่างชั่ววูบ แต่คิดมาดีแล้วว่านี่ไม่ได้เกิดจากความเครียด แต่เป็น ‘การประท้วงเผด็จการ’

        มีคนบอกว่า หากจะเข้าใจเหตุผลที่คุณลุงนวมทองตัดสินใจจบชีวิตต้องย้อนกลับไปหนึ่งเดือนเศษก่อนหน้า ในค่ำวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่คณะรัฐประหารนำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มีการขับเคลื่อนรถถังเข้ามาในเมืองหลวงหัวค่ำวันนั้น 

        หากวงจรวิบัติของการเกิดรัฐประหารครั้งที่ 12 นั้นว่าพิลึกพิลั่นแล้ว ท่าทีของผู้คนที่มีต่อรัฐประหารครั้งนั้นกลับประหลาดยิ่งกว่า เมื่อผู้คนออกจะยินดีปรีดา ออกมามอบดอกไม้ให้กับทหารติดอาวุธพร้อมรบ (ในยามไร้สงคราม) บนรถถังที่จอดทั่วหัวมุมถนนในเขตพระนคร จนกลายเป็นภาพแปลกตาถึงขั้นนิตยสาร Time ฉบับออนไลน์พาดหัวการรัฐประหารครั้งนั้นว่า “รัฐประหารอันครื้นเครงในประเทศไทย” (A Festive Coup in Thailand)

นวมทอง ไพรวัลย์

ภาพปกนิตยสาร TIME วันที่ 2 ตุลาคม 2006 ภายหลังการเกิดรัฐประหารครั้งที่ 12 ของประเทศไทย 

 

        “พวกคุณฮาเฮกันไป ผมไม่เฮด้วย”2

        นวมทองให้สัมภาษณ์กับ จอม เพชรประดับ นักข่าว ITV คนแรกและคนเดียวที่ได้สัมภาษณ์นวมทองหลังจากประท้วงการรัฐประหารในครั้งนั้นด้วยการขับรถแท็กซี่สีม่วงคันเก่า เครื่องมือหาเลี้ยงชีพเดียวของเขาไปปะทะกับรถถังของกองทัพคณะรัฐประหาร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นการประท้วงพร้อมชีวิตเพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญยึดอำนาจจากประชาชน

        รถแท็กซี่สีม่วงคันนั้นพังยับเยิน  นวมทองบาดเจ็บหนัก ไม่ถึงขั้นเสียชีวิตตามตั้งใจ และยังต้องเสียค่าซ่อมแซมรถเช่าด้วยตนเองราวสามหมื่นบาท ในขณะที่รถถังมีเพียงรอยข่วน พร้อมกับคำสบประมาทจาก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกจากคณะปฏิรูปการปกครองฯ ที่กล่าวว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

นวมทอง ไพรวัลย์

ขอบคุณภาพจากโพล Pantip.com ‘เป็นท่าน ท่านจะมอบดอกไม้ให้ใคร’ (2555)

 

        หลังออกจากโรงพยาบาลได้ 19 วัน ในยามดึกของคืนวันที่ 31 ตุลาคม มีผู้พบร่างไร้วิญญาณของชายคนเดิมที่ขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังแขวนอยู่ใต้สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ พร้อมจดหมายสั่งลาลายมือตัวบรรจงในกระเป๋าที่เขียนไว้ชัดเจนว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ใคร่ครวญดีแล้ว และ “ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตภายภาคหน้า จะยังมีผู้คนที่ยอมแลกชีวิตอันมีค่าของตน เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าแห่งอุดมการณ์” ลงท้ายด้วยความหวัง คำอวยพรว่า “ชาติหน้าเกิดมา คงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก”

นวมทอง ไพรวัลย์

จดหมายฉบับสุดท้ายจาก นวมทอง ไพรวัลย์ ขอบคุณภาพจาก https://prachatai.com/journal/2016/09/68144

 

        ไม่รู้วิญญาณนวมทองจะผิดหวังหรือไม่หากได้รู้ว่าเพียงแปดปีต่อมา ประเทศไทยก็ยังอยู่ภายใต้การยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารต่อไป แต่ไม่สิ… เขาอาจไม่ผิดหวังก็ได้ หากเขาได้รับรู้ว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนมากได้ออกมาปะทะ คัดค้านรัฐประหาร รัฐบาลเผด็จการ อำนาจนิยม ไม่ว่าจะด้วยเครื่องมือหากิน การสื่อสาร เวลาในชีวิตของเขา ในแง่นี้นั้นจิตวิญญาณของเขาไม่ได้หายไปไหนเลย หากได้หล่อหลอมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนที่ไม่ยอมจำนนให้กับเผด็จการ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนก็ตาม

        และหากความพยายามนี้ต้องใช้เวลานานชั่วชีวิต ก็ขอให้วิญญาณเสรี หาญกล้าของ นวมทอง ไพรวัลย์ เป็น ‘ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย’ ตามความหมายที่ ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ ได้อธิบายถึงบทกวีที่เขาแต่งให้นวมทองว่ามีที่มาจาก “โดยมโนคติเดิมมักบอกว่าคนดีตายแล้วขึ้นสวรรค์ แต่เขาเห็นว่าคนที่อุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ตายแล้วก็คงไม่ไปเสวยผลบุญส่วนตัวด้วยการไปสวรรค์ แต่น่าจะยังยินดีเป็นเจ้าที่เจ้าทาง ผีทุ่งผีนา ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ดูแลปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อส่วนรวม”

 

นวมทอง

สดมภ์อนุสรณ์ นวมทอง ไพรวัลย์ บริเวณสะพานลอย ด้านหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต ขอบคุณภาพจาก https://www.thairath.co.th/news/crime/1112445

 

        บทกวี ‘ประชาทิพย์พิทักษ์ไทย’ ถูกอ่านขึ้นระหว่างการปั้นรูปเหมือนลุงนวมทอง ทำจากดินเหนียว ให้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจัดสร้างอนุสาวรีย์สามัญชน บทกวีนั้นมีเนื้อความ ดังนี้

“ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ผู้กล้าท่องถนนเถื่อน
กี่วัน กี่ปี เดือน
ยังเหมือนอยู่ให้รู้เห็น

 

สงครามของคนไพร่
ผองเพื่อนไทยผู้ลำเค็ญ
ลุกฮือเพราะจำเป็น
เขาไม่เห็นเราเป็นคน

 

ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ตระกองดินเริ่มตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน
ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย

 

สงครามหว่างชนชั้น 
เพื่อคืนวันชื่นสดใส
อำนาจ ทรัพย์กระจาย
เกลี่ยเฉลี่ยได้ทั่วถึง

 

แดงฉานชนชั้นล่าง
ชุบชีพวีรชนหนึ่ง
มวลสารคลุกเคล้าคลึง
คือเลือดไร่สามัญคน

 

ขึ้นรูปลุงนวมทอง
ตระกองดินได้ตั้งต้น
ปฏิมาสามัญชน
ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย”

 

 

*ขอบคุณภาพประกอบ และชวนติดตามสารคดี ‘ประชาธิปไตยหลังความตาย’ เพิ่มเติมจาก https://web.facebook.com/Democracyafterdeath 

**ชมสารคดี ‘Democracy After Death (Censored Version)’ (2016) จัดทำโดย ปรวย Salthy Head https://www.youtube.com/watch?v=RICxpq-ReL0&has_verified=1&bpctr=1604023366 ปัจจุบันปรวยลี้ภัยอยู่ต่างประเทศจากคดี 112 อ่านเรื่องราวของปรวย ผู้กำกับสารคดีชิ้นนี้เพิ่มเติมได้ทาง https://prachatai.com/journal/2017/01/69651 

 


1 หรือ ‘ไผ่’ – กมล ดวงผาสุข กวีและนักเคลื่อนไหว ที่เสียชีวิตจากการถูกลอบยิง ที่ผ่านมาหกปี คดีความของเขาก็ยังไม่คืบหน้าจนป่านนี้ (https://themomentum.co/5-years-mai-neung

2 ฟังบันทึกสัมภาษณ์จาก นวมทอง ไพรวัลย์ หลังการขับรถแท็กซี่พุ่งชน และก่อนจบชีวิต ได้ทาง ‘บันทึกชีวิตนวมทอง ไพรวัลย์ 9 ปีที่ประชาธิปไตยสิ้นใจ’ (2015) จาก https://www.youtube.com/watch?v=arR1TnG1hUQ&t=617s