ไผ่ ดาวดิน

“ยิ่งถูกกดขี่เท่าไหร่ ยิ่งต้องไม่กดขี่ผู้อื่นเท่านั้น” บันทึกสนทนากับ ไผ่ ดาวดิน

“คนจำนวนมากผ่านการต่อสู้แล้วเหมือนอกหัก รอยยิ้มและความสว่างของความหวังมันมืดไป เหมือนถูกดูดวิญญาณ แต่เหมือนวิญญาณไผ่ไม่ถูกดูดไปด้วย ทำไมความรักของผู้ถูกกดขี่ยังทำงานได้ ทำงานกับตัวเองอย่างไรถึงรักษาจิตวิญญาณนี้ไว้ได้”

        คำถามจากวงสนทนาบ่ายวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2562 ณ วัชรสิทธา ว่าด้วยประสบการณ์ 2 ปี 6 เดือน (870 วัน) กับการถูกจองจำครั้งที่นานที่สุดของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เพียงเพราะเขาแชร์ข่าวจากบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 บนเฟซบุ๊กส่วนตัว จนได้รับคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ 

        เวลาผ่านไปเพียงปีเศษ ‘ไผ่’ ถูกจับกุมตัวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แม้ครั้งนี้จะเป็นระยะเวลา 10 วัน และการที่เขาจะยังคงไว้ซึ่งรอยยิ้มเดิมในขณะที่ถูกปล่อยตัวมาจะไม่ใช่เรื่องน่าโรแมนติกแต่อย่างใด แต่ก็เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าทำไมเขายังรักษาความกล้าหาญ จิตวิญญาณเสรีไว้ได้ แถมยังประกาศหมายมั่นชัดเจนในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าจะเดินหน้าต่อสู้ต่อไปด้วยความเชื่อ และความหวัง – ราวกับว่าการถูกกักขังมีแต่จะทำให้พลังของเขาเพิ่มมากขึ้น และกระเพื่อมไปยังคนรอบข้างมากขึ้นกว่าเดิม

        ชวนย้อนอ่านบทสนทนา ‘ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจ’ กับ ไผ่ ดาวดิน อีกครั้งในวันที่ความอยุติธรรมยังไล่ล่าเขาต่อไป หากไม่ใช่เคลื่อนไหวด้วยความโกรธ ด้วยความเกลียดแล้ว เราจะต่อสู้ด้วยพลังอะไรได้บ้าง

 

ไผ่ ดาวดิน

 

        “ผมไม่ใช่คนแบบนี้เลยตอนแรก ตอนเด็กเป็นสายศิลปิน มัธยมสอนดนตรี เล่นวงโปงลาง ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองอะไร รู้แค่ไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบรังแก ปีหนึ่งเข้ามหาวิทยาลัยจากที่วาดฝันไว้สวยงาม เข้าไปเจอระบบโซตัส ด่าพ่อด่าแม่ ไม่ชอบเลย เดินไปคุยกับพี่เขาเลยว่า พี่ๆ ตีกับกูไหม (หัวเราะ) อย่างห้าวเลยสมัยก่อน ช่วงแรกของมหาลัยเลยเรียนไปวันๆ เที่ยว ดื่ม เข้าสอบ 

        “จุดเปลี่ยนคือตอนที่กลุ่มดาวดินพาไปลงพื้นที่ มันเปิดโลกทัศน์ในการใช้ชีวิต เห็นความเป็นมนุษย์ เห็นความรักอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่ หนุ่มสาว มันดีต่อใจ เราก็สะสมประสบการณ์พวกนี้มา จนโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มตั้งคำถามว่าเราจะสู้เพื่อแง่งามนี้ได้อย่างไร ก็ได้คำตอบว่าเราต้องทำงานทางความคิด เลยหาแนวร่วม อย่างแรกเลยคือต้องเลิกตีคนก่อน (หัวเราะ) ถ้าจะทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลง ต้องเลิกไปมีเรื่องกับคนอื่นเขา ก็เลยเลิก

        “จากนั้นมาเลยทำแต่กิจกรรม ทำค่าย ได้ฝึกไฮด์ปาร์ก ผมเป็นสายปฏิบัติ คุยอะไรแล้วก็ลงมือทำเลย แล้วค่อยมาสรุปบทเรียน ยุคที่ผมเติบโตเป็นยุคประชาธิปไตย ปี 2554 ผมปิดถนนมิตรภาพในมหาวิทยาลัย1 เพื่อยกเลิกระบบโซตัส ผมเติบโตมากับยุคเสรีภาพแบบนั้น”

        เมื่อถูกถามว่าเคยเหนื่อยจนอยากถอนตัวจากเส้นทางนี้ไหม เมื่อขับไล่เผด็จการเท่าไหร่ก็ไม่ไปเสียที หนำซ้ำยังถูกพรากเสรีภาพไปอีก ไผ่เงียบสักพักแล้วตอบว่า

        “มันก็เหนื่อยเหมือนกันนะ หลายคนถอนตัว เพราะเราสู้กับสิ่งที่ใหญ่มาก ทั้งรัฐ ทั้งทุน มันมีช่วงที่เฟลก็กลับมาทำงานนักศึกษาอีกครั้ง พาน้องทำค่าย ลงพื้นที่ มีครั้งหนึ่งตอนอยู่ปีสองทำพลาด ไม่มีน้องเข้าร่วม ก็เฟลว่าจะยุบดีไหม แต่ก็ตัดสินใจขอแก้มืออีกครั้งหนึ่ง ทำต่อ พอคิดได้ว่าพลาดก็แค่เรียนรู้ไป หลังจากนั้นก็สนุกเลย”

ถ้าสะสมความกลัวมันก็กลัว สะสมความกล้ามันก็กล้า       

        มุทิตา เชื้อชั่ง สื่อมวลชน ผู้ได้รับรางวัลเอเอฟพี (2015) จากการรายงานคดี 112 เล่าถึงบรรยากาศความกลัวหลังรัฐประหารที่ปกคลุมทั้งนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ นักสื่อสาร จนกระทั่งวันที่ได้พบกับชายหนุ่มห้าคนใส่เสื้อ ‘ไม่-เอา-รัฐ-ประ-หาร’ เรียงตัวกันชูสามนิ้ว ที่ทำให้เธอทั้งทึ่งทั้งสงสัยว่าพวกเขาเอาชนะความกลัวไปได้อย่างไรในช่วงที่รัฐเริ่มใช้อำนาจหนักๆ

 

ไผ่ ดาวดิน

ภาพไผ่และเพื่อนนักศึกษากลุ่มดาวดินที่สวมเสื้อสกรีนข้อความ ‘ไม่เอารัฐประหาร’ พร้อมชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหัวหน้า คสช. ขณะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น หลังก่อการรัฐประหาร, ขอบคุณภาพจาก ‘เด็กหลังห้อง’ (2014) 

 

        “ที่แปะสติ๊กเกอร์ติดเสื้อนี่ไม่ใช่อะไร ไม่มีเงิน (หัวเราะ) ส่วนที่ไม่กลัวเพราะเรารู้ว่าเราไม่ได้ทำผิด ไม่ผิดจะกลัวอะไร อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าเราต้องทำ

        “ผมว่าบางทีเรากลัวเกินกว่าเหตุ จะทำอะไรก็คิดมาก ติดอยู่กับความกลัว เลยไม่ทำดีกว่า พวกเราคิดน้อยไง พอรู้อยู่นะว่าอาจเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ต้องลองดู มีหนังเรื่องหนึ่งบอกว่าความกล้าไม่มีทางได้มาโดยปราศจากความกลัว ตอนเราปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ ขับรถใหม่ๆ ตอนแรกเรากลัวกันทั้งนั้น แต่พอได้ทำก็ไม่กลัวแล้ว เรื่องอื่นในชีวิตก็เหมือนกัน

        “เราผ่านการต่อสู้มา เรารู้ว่ามีสองความคิด จะทำหรือไม่ทำดี สองความคิดนี้มันสู้กันตลอด ตอนผมออกจากคุกผมก็กลัวนะ นอนไม่หลับ กลัวข้างนอก ทุกคนอาจคิดว่าการออกมาเป็นเรื่องดีสิ แต่มันเป็นความกลัวของคนที่เคยเข้าคุกไปแล้ว พอออกมาแล้วจะทำอะไรมันก็ยังติดกลัวๆ อยู่ แต่ทุกการตัดสินใจของเรามันสะสมเป็นความคิด ถ้าเราสะสมความกลัวมันก็กลัว ถ้าสะสมความกล้ามันก็กล้า”

ยิ่งถูกกดขี่เท่าไหร่ ยิ่งต้องไม่กดขี่ผู้อื่นเท่านั้น

        ความโกรธเคยถูกมองว่าเป็นเชื้อไฟที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ลำพังความเศร้าเสียใจนั้นไม่พอ มันต้องมีความไม่พอใจอย่างรุนแรง ถึงจะกล้า แต่ในขณะเดียวกันความโกรธนั้นเองก็บั่นทอนนักเคลื่อนไหว มิหนำซ้ำอาจสร้างระยะห่างจากคนที่เราต้องร่วมหาทางพูดคุยด้วย – แม้จะไม่พอใจแค่ไหนก็ตาม คำถามคือ หากไม่ใช่ความโกรธแล้ว เราจะสามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยพลังงานแบบไหน

        “ความโกรธมันเป็นจุดเริ่มต้นได้ แต่มันไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด เราเคยเหมือนกัน โกรธแทนชาวบ้าน โกรธแทนคนเขาไปหมด โกรธจนน้ำตาไหลนี่มีสองครั้ง ครั้งแรกโดนจับตอนไปคัดค้านเสาไฟฟ้าแรงสูงที่อุดรฯ เขาจะเอาไฟฟ้าจากลาวมาป้อนอุตสาหกรรม ตอนผ่านที่นายทุนที่เป็นสวนยางนี่หลบได้หมด แต่พอต้องผ่านที่ชาวบ้านกลับไม่เลี้ยวเลย ตัดตรงบ้าน ตรงนาเขาเลย เราก็ไปอยู่กับเขา มีวันหนึ่งเขาจะเอารถตักมา ชาวบ้านวิ่งไปขวางรถ ผมเข้าไปชาร์จทันที โกรธมาก ด่าตำรวจเลยว่าทำแบบนี้ได้ไง ตำรวจต้องรับใช้ประชาชน ตำรวจที่ผมด่าชูนิ้วกลางให้ชาวบ้าน แล้วพอจะสลายตัว เขาตรงมาที่ผมเลย อัดเข้าให้ ปึก! แต่เรายึดหลักสันติวิธีไง อยากอัดคืนแค่ไหนก็ทำไม่ได้ สันติวิธีมันเท่แบบนี้ (หัวเราะ) เขาอัดเรา เราสวนคืนได้นะ แต่เราไม่ทำ”

        ครั้งนั้นโกรธแทนผู้อื่น แล้วครั้งที่ถูกจับกุมสองปีห้าเดือนกับคดีที่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดนั่นโกรธไหม ไผ่ตอบว่า

        “โกรธ โกรธอยู่ ผมงงว่าทำไมต้องมาอยู่ที่นี่ แต่อย่างที่บอกว่าเราสะสมความคิดอีกอย่างมากกว่า พอโกรธก็รู้ว่าโกรธ แต่มันเป็นอีกความรู้สึก ตอนที่เราช่วยชาวบ้านเรารู้ว่าโกรธนะ แต่มันไม่ได้เข้าใจว่าความไม่ยุติธรรมนี่มันเป็นยังไง จนกระทั่งเราโดนกับตัว ถ้าไม่เคยคงไม่รู้สึกว่ามันแย่จริงๆ ตอนนั้นเข้าใจชาวบ้านเลย คิดว่าชีวิตนี้จะไม่ยอมอีกแล้ว เราโกรธที่ถูกจับ โกรธที่ทุนกับรัฐทำกับคนแบบนี้

        “ความโกรธมันเป็นเชื้อเพลิงให้เราได้ แต่ถ้าเรามัวแต่สื่อสารว่าโกรธ มันก็จะมีแต่ความโกรธอยู่ในนั้น ผมพูดแบบนี้ก็เพราะอ่านหนังสือของ เปาโล เฟรเร นี่แหละ อะไรที่เคยคิดว่าถูก พออ่านเล่มนี้ (การศึกษาของผู้ถูกกดขี่) เข้าไป เหมือนหนังสือมันด่าเราอะ ว่าเราก็ไม่ต่างอะไรจากผู้กดขี่เลย

        “ผมรู้สึกว่าเราเองก็ผิดเหมือนกัน ต้องยอมรับว่าเราต่อสู้กับผู้กดขี่มาก จนเราทำตัวเหมือนเขา เฟรเรบอกว่านี่ไม่ใช่วิถีของผู้ปลดปล่อยที่แท้จริง

        “ต้องเล่าก่อนว่าที่ทุกคนเห็นรูปในข่าวตอนที่เขาค้นกระเป๋าแล้วเจอหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือผมนะ ผมไปนอนห้องเพื่อนเลยหยิบมา ไม่ได้บอกมันด้วย พอเป็นข่าวมันถึงรู้ (หัวเราะ) ได้มาอ่านจริงๆ ในคุกนี่แหละ ว่างจัด พออ่านก็มาทบทวนตัวเองว่าเราทำแบบผู้กดขี่หรือเปล่า เป็นหนังสือที่ได้อ่านถูกที่ถูกเวลา ได้ตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเราใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า”

 

ไผ่ ดาวดิน

หนังสือ การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ เขียนโดย เปาโล เฟรเร (1968)

 

        ‘พล’ – อรรถพล ประภาสโนบล กลุ่มพลเรียน กล่าวถึงบทที่สองในหนังสือ การศึกษาสำหรับผู้ถูกกดขี่ ที่ เปาโล เฟรเร กล่าวถึง การศึกษาแบบธนาคาร (Banking Education System) ว่าเป็นการศึกษาของชนชั้นนำ ระบบการศึกษาที่ยัดโลกทัศน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้เรียน วัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนด้วยมาตรฐานเดียวกันหมด สร้างวัฒนธรรมอำนาจนิยมให้เป็นวิถีปกติตั้งแต่ในห้องเรียน

        “ถ้าอ่านสิบข้อที่เฟรเรพูดถึง ‘การศึกษาแบบธนาคาร’ นี่คือการศึกษาไทยเลยนะ เป็นการศึกษาที่ผู้สอน สอน ผู้เรียน เรียน แต่เด็กวันนี้มันเก่ง เราไม่ต้องทำแบบนั้นแล้ว ผมอ่านแล้วได้ข้อสรุปสั้นๆ ว่าอย่าไปทำแบบนั้น

        “อีกบทหนึ่งที่ผมชอบมากคือเขาพูดถึงเรื่องสหายร่วมรบ หรือเพื่อนผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม เขาบอกว่าถ้าสหายร่วมรบอ่อนแอ ทั้งหมดก็จะอ่อนแอถ้ามีคนกลัว ก็จะกลัวกันหมด  ถ้าสหายเคียงข้างเข้มแข็ง ก็จะเข้มแข็งด้วยกัน ผมอ่านแล้วเห็นว่าจริง เราเปลี่ยนคนเดียว กล้าคนเดียวไม่ได้ ถ้าในกลุ่มยังมีคนกลัวอยู่ ยังไม่พร้อม เราต้องเข้าใจเขา ต้องรอจังหวะให้พร้อมด้วยกัน แต่ก่อนผมจะลุยอย่างเดียวไง มีครั้งหนึ่งที่เราตัดสินใจจะไม่ไปรายงานตัว คิดว่าจะหนีเข้าป่าเลย หนีหมาย เตรียมอุปกรณ์ แล้วมีคนหนึ่งบอกว่า ผมไม่ไปว่ะ ตอนนั้นเฟลนะ ของพร้อมแล้วแต่ต้องมาถกกันว่าจะไปหรือไม่ไปอีก ตอนนั้นโกรธ อัดกำแพงดังปัง! เจ็บมากนะ อย่าไปทำ (หัวเราะ) อีโก้สูงไงตอนนั้น แต่ตอนนี้เรามองว่าถ้าเพื่อนยังไม่พร้อม สังคมยังไม่พร้อม ไม่ต้องรีบ คนไม่พร้อมไม่เป็นไร เป้าหมายเรามีอยู่เสมอ ถ้าเราพร้อมก็ทำของเราไป ไม่ต้องไปเร่งคนอื่น เดี๋ยวเขาพร้อม เขามาเอง”

เปลี่ยนจากวิถีผู้กดขี่ เป็นผู้ปลดปล่อย ในทุกระดับความสัมพันธ์

        ทั้งหนังสือของเฟรเร และไผ่ได้เน้นย้ำถึงประเด็นนี้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องเปลี่ยนไปถึงระดับสำนึก ด้วยการตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่าเรากำลังใช้รูปแบบอำนาจเดียวกับผู้กดขี่อยู่หรือเปล่า รวมทั้งต้องสร้างวิธีการใหม่ สร้างจิตสำนึกแบบใหม่เพื่อที่จะปลดปล่อย และคืนความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เคลื่อนไหวเอง และผู้กดขี่ไปพร้อมๆ กัน

        “เรื่องนี้มันใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตเลยนะ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง ผมยกตัวอย่าง แต่ก่อนผมมองตำรวจสันติบาลเป็นศัตรู เราก็จะไม่คุยกับเขา แต่พอคุยแล้วก็ได้รู้ว่าเขาเห็นด้วยกับเรา แต่ด้วยเงื่อนไขบางอย่าง ทั้งครอบครัว ทั้งงาน มันทำให้เขาต้องเล่นบทบาทนี้ แทบทุกหน่วยราชการตอบแบบนี้หมดเลยว่าถ้าเขาไม่เล่นบทนี้ ครอบครัวเขาจะอยู่อย่างไร ตอนผมออกจากคุกมา สันติบาลก็ตามมาว่าขอตามเป็นพิธีนะ ผมบอกว่าได้พี่ ตามมาๆ เขาแค่ต้องไปรายงานนายเขา ถ้าเป็นแต่ก่อนนะดึงกันแน่ ตอนนี้ไม่เป็นไร เราเข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่ ออกจากหน้าที่แล้วเราก็มนุษย์สองคนที่คุยกัน

        “สังคมตอนนี้มันสู้กันเรื่องความคิด ต่อให้ประยุทธ์ไป แต่เผด็จการยังอยู่ สฤษดิ์ ถนอม ประภาสตาย เผด็จการก็ยังอยู่ เฟรเรถึงบอกว่าเราต้องปลดปล่อยตัวเองและเขาด้วย ซึ่งผมว่าถ้ามีจังหวะที่ใช่จริงๆ เขาจะออกมานะ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทั้งหลาย จริงๆ แล้วเขาต่างเป็นผู้ถูกกดขี่ เท่าที่ผมสัมผัส ผมว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเขาอยากออกมา แต่ยังทำไม่ได้ ซึ่งถ้าเขายังไม่พร้อม เราต้องเคารพเขาว่าเขามีครอบครัว ซึ่งนั่นมันก็คือความรักแบบเขาเหมือนกัน

        “จริงๆ ในสังคมไทยผู้กดขี่มีไม่กี่คนหรอก ที่เหลือถูกกดขี่เยอะมาก ทั้งกฎหมาย วัฒนธรรม เขากดขี่เรามากพอแล้ว เราจะมากดขี่กันเองอีกทำไม กดกันไปมา มีแต่จะอ่อนแอกันหมด แต่ถ้าเราจินตนาการใหม่ว่านี่คือการต่อสู้ระหว่างผู้กดขี่ และผู้ถูกกดขี่ ถ้าผู้ถูกกดขี่ออกมารวมตัวกัน พลังจะขนาดไหน และถ้าเรามองตัวเองใหม่ ไม่ใช่ผู้ต่อสู้ แต่คือผู้ปลดปล่อย เราก็จะใช้วิธีอีกแบบ”

 

ไผ่ ดาวดิน

 

        ในหนังสือเล่มนี้ เฟรเรยังกล่าวไว้อีกว่า หากเราปล่อยให้การกดขี่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วอำนาจนิยมของการกดขี่จะปฏิบัติการในทุกระดับ แทรกซึมทั้งความสัมพันธ์ระดับปัจเจก ที่ทำงาน ครอบครัว ห้องเรียน ดังนั้นแล้ว หากผู้คนไม่ตระหนักรู้ว่าตนกำลังถูกกดขี่อยู่ จะปฏิรูปอีกกี่ร้อยปีก็ไม่มีทางเปลี่ยนไป เมื่อสำนึกเดิมไม่เคยเปลี่ยน ในทางตรงกันข้าม การเคลื่อนไหวปลดปล่อยทางการเมืองนี้ หากทำสำเร็จได้ก็จะส่งผลต่อจิตสำนึกหมู่ ซึ่งจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ในพื้นที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน

        “การกดขี่หลายครั้งมันมาในรูปแบบที่เราไม่รู้ตัว เช่น วันที่ 11-12 กันยายน (2562) มีเวทีรับฟังความคิดเห็น ทั้งที่เขาไม่ได้ฟังอะไรเลย เขาแค่เรียกมันด้วยภาษาใหม่ ให้เหมือนว่าเขารับฟัง นี่มันกดขี่เราโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างแต่ก่อน การไม่รู้ว่าตนเองถูกกดขี่อยู่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย เราไม่รู้ว่าความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร เราคุยกันอยู่ตอนนี้ไม่ใช่เพื่ออะไรเลย นอกจากเพื่อไปปลดปล่อยทุกคนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่เราจะปลดปล่อยได้ยังไง ถ้าผู้คนยังไม่รู้ตัวแต่แรกว่าเขาถูกกดขี่อยู่

        “ที่ผ่านมาการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องของนักการเมือง นักวิชาการ ทั้งที่มันเป็นเรื่องของชีวิต ไล่ไปเลย จะการศึกษา เกณฑ์ทหาร คุณภาพชีวิต มันเป็นเรื่องการเมืองหมด แต่ที่ผ่านมาการเมืองถูกแบ่งให้เป็นความขัดแย้งของสองกลุ่ม แล้วมันน่ารำคาญ เราต้องสร้างให้เกิดบรรยากาศใหม่ ต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอ บางครั้งจิตสำนึกผู้กดขี่มันฝังอยู่ลึกมาก เราไม่รู้ตัว เลยสำคัญมากที่เราต้องรู้ตัวเอง”  

        น่าเสียดายที่เราไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับไผ่หลังถูกปล่อยตัวครั้งนี้ แต่คิดว่าบทสนทนาเมื่อปีที่แล้วยังเป็นคำตอบแทนตัวเขาได้อยู่เสมอ รวมทั้งคำทักทายบนหน้าเฟซบุ๊กของเขาที่เมื่อออกมาก็ประกาศว่าจะเดินหน้าต่อทันที โดยที่เราไม่ต้องถามว่าหลังจากโดนพรากเสรีภาพไปในความไม่ยุติธรรมทั้งที่ตัวเองไม่ผิด เขาท้อหรือเปล่า กลัวบ้างไหม จะทำต่อไหม ทั้งที่เห็นแล้วว่าเขาอาจต้องสละอะไรไปบ้าง

        “เรามาถึงขนาดนี้แล้ว สองปีห้าเดือนยังทนได้เลย มันมีอารมณ์ไม่อยากทำอยู่บ้าง ไอ้สิ่งที่ทำมันยากจริง แต่พอมันผ่านไปแล้ว มันง่ายนิดเดียว ปีแรกในคุกนี่แป๊บเดียว ปีสองนี่ยาวนาน ยิ่งเดือนสุดท้ายก่อนออกนี่โคตรนานเลย แต่พอผ่านไปแล้ว อ้าว ก็ผ่านแล้วนี่ ชีวิตก็เหมือนกัน ถ้าเราผ่านเรื่องยากไปได้แล้ว ทำไมเรื่องอื่นจะผ่านไปไม่ได้ ขั้นสุดของชีวิตคือตายใช่ไหม ขั้นรองคือติดคุก มันก็ผ่านมาแล้ว ถ้าผมติดคุกได้ ใครๆ ก็ติดได้ (หัวเราะ)

        “ถ้าเราเชื่อว่าเปลี่ยนแปลงได้ มันก็เปลี่ยนได้ ถ้าเราคิดว่ามันใหญ่เกินตัว มันก็จะใหญ่น่ากลัวอยู่อย่างนั้น จุดแรกเราต้องเชื่อก่อนว่าเราเปลี่ยนสังคมได้นะ เปลี่ยนเพื่อปลดปล่อยความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”

 

ขอบคุณ: วัชรสิทธา สำหรับภาพและบันทึกเสียงบทสนทนา ‘ก้าวข้ามความโกรธเกลียดในใจกับ ไผ่ ดาวดิน’, 8 กันยายน 2562


1 ไผ่สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น