soul-ciety

สมองของเราสมรสกับความเชื่อ การหย่าขาดจากมันย่อมเป็นเรื่องเจ็บปวด

‘พบกับความเชื่อของคุณ’

        บทที่เก้าจากหนังสือ Pleased to Meet Me หนังสือที่จะมาชวนให้คุณรู้จักตัวเองได้ดีกว่าที่เคย ผ่านวิทยาศาสตร์ที่เจาะลึกไปถึงยีน ดีเอ็นเอ จุลชีพ พันธุกรรม ที่จะทำให้คุณพบกับอารมณ์ รสนิยม การเสพติด และความเชื่อของคุณเองว่ามีที่มาที่ไปจากอะไร ไม่ใช่เพื่อให้เรายึดติดกับอัตลักษณ์เดิมที่เราเป็น แต่เพื่อให้เราพร้อมที่จะสลายร่าง ประกอบสร้างตัวตนใหม่ ให้เข้ากับกาละและเทศะที่เปลี่ยนไปในทุกวัน 

        ในบทที่เก้า ‘พบกับความเชื่อของคุณ’ ซัลลิแวนได้พาเราไปพบกับสมอง ศูนย์กลางของการสร้างตัวตนเรา สมองที่คอยประมวลผลข้อมูลต่างๆ ให้กลายเป็นความคิด ความคิดที่รวมตัวกันเป็นความเชื่อ ความเชื่อที่กลายเป็นตัวตน จนไม่น่าแปลกใจที่ต่อให้เราได้รับข้อมูลใหม่ๆ มาเท่าไหร่ ก็ไม่ง่ายที่เราจะเปิดรับข้อมูลเหล่านั้นเข้าไป หากมันเป็นข้อมูลที่ตรงข้าม – หรือล้มล้าง – ความเชื่อที่เรามีมา เพราะนั่นเกือบจะเรียกได้ว่ามันทำลายตัวตนที่เรามีไปโดยสิ้นเชิง 

        ในบทนี้ ซัลลิแวนได้ยกตัวอย่างการทดลองทางสังคม (social experiment) ที่แสดงให้เห็นว่าทำไมการทำความเข้าใจการทำงานของสมองถึงมีความสำคัญ ก็หากเราไม่เท่าทัน เรานั้นอาจกลายเป็นเพียงหุ่นยนต์ที่ทำงานตามสัญชาตญาณโดยไม่รู้ตัว 

        เช่น การทดลองครั้งหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเยล ในปี 1963 ที่ชื่อว่า ‘We Do What We’re Told’ (เราทำตามสิ่งที่เราถูกบอก) ที่ สแตนลีย์ มิลแกรม นักวิจัย ได้รับแรงบันดาลใจจากอาชญากรสงครามที่นูเรมเบิร์กนายหนึ่ง ผู้ให้คำอธิบายที่ทำให้มิลแกรม ‘สะอิดสะเอียน’ ว่า “เราแค่ทำตามคำสั่ง” ด้วยความไม่เข้าใจว่าคนเราจะเชื่องทำตามคำสั่งง่ายดาย ต่อให้คำสั่งนั้นจะไร้มนุษยธรรมถึงขั้นสั่งฆ่า คนเราจะกระทำรุนแรงกับคนแปลกหน้าเพียงเพราะถูกสั่งได้เชียวหรือ… ความสงสัยนี้เองที่ทำให้มิลแกรมออกแบบการทดลองนี้ขึ้นมา 

        ในการทดลองนี้ มิลแกรมบอกผู้เข้าร่วมการทดลองว่าเขากำลังช่วยนักเรียนพัฒนาการเรียนรู้ (สร้างวัตถุประสงค์ที่ดีงาม เพื่อ ‘greater good’ คุณค่าที่ใหญ่กว่า) โดยบอกผู้เข้าร่วมว่า หากนักเรียนตอบคำถามผิด ผู้เข้าร่วมจะต้องกดปุ่มส่งกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ไปช็อตนักเรียนทันที โดยที่มิลแกรมไม่ได้บอกผู้เข้าร่วมว่านักเรียนเหล่านั้นเพียงแค่แสดง ทำหน้าเหยเก แสร้งร้องส่งเสียงว่าเจ็บปวด เมื่อผู้เข้าร่วมกดปุ่มช็อตเท่านั้น และถ้าหากมีผู้เข้าร่วมคนใดลังเลในการกดปุ่มช็อต มิลแกรมจะแจ้งวัตถุประสงค์ของการทดลองนี้อีกครั้งว่านี่เป็นการทดลองเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน 

 

soul-cietyการทดลองของ สแตนลีย์ มิลแกรม (1963) ภาพจาก https://allthatsinteresting.com/milgram-experiment

 

        ผลของการทดลองทำให้มิลแกรมถึงขั้นประหลาดใจเมื่อพบว่า “สองในสามของผู้เข้าร่วมการทดลองยังคงทรมานนักเรียนต่อไปจนถึงจุดที่พวกเขาได้รับการบอกว่าความแรงของกระแสไฟฟ้านั้นรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้”

        ผู้เข้าร่วมคิดอะไรอยู่? ทำไมพวกเขาถึงยังกดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าให้ช็อตนักเรียนที่พวกเขาไม่รู้จักต่อไป แม้นักเรียนจะแสดงท่าทีเจ็บปวดแล้วก็ตาม คำตอบก็คือ ผู้เข้าร่วมแทบไม่ได้คิดอะไรเลยยังไงล่ะ พวกเขาแค่ทำตามคำสั่งเพราะเชื่อว่านี่เป็นการทำเพื่อวัตถุประสงค์ที่ดีงาม อย่างที่เขาถูกมิลแกรมกรอกหูเอาไว้ก่อนและตลอดการทดลอง 

        มิลแกรมยังพบอีกว่าเมื่อเรากลายเป็นตัวแทนผู้ปฏิบัติการ (agency) เพื่อเป้าหมายอะไรสักอย่าง ความเป็นตัวของเราเองจะลดน้อยลง เราจะคิดน้อยลง (จนถึงขั้นไม่ได้คิดอะไรเลย) และแน่นอน นั่นหมายถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่อการกระทำตัวเองที่ลดน้อยลงด้วย 

        การเข้าใจการทำงานของสมอง รู้ทันความคิดของตัวเอง มีเสรีภาพที่จะคิดเองจึงไม่ได้เป็นเพียงการปลดปล่อยตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เรามีแนวโน้มที่จะคล้อยตามคำสั่งของอำนาจ ป้องกันความคิดจากการถูกครอบงำด้วยเหตุผลที่ดีงาม จนอาจกลายเป็นตัวแทนผู้ปฏิบัติการ – กระทำการรุนแรงต่อผู้อื่น – เพียงเพราะเราเพียงแค่ทำตามคำสั่งของสมอง จนลืมไปว่าเราคิดเองได้ 

(2)

        นอกจากการเป็นตัวแทนผู้ปฏิบัติการที่ทำให้เราเผลอไผล ตัดสินใจกระทำในสิ่งที่ขัดกับความเป็นมนุษย์ของเราเอง ‘พลังงานกลุ่ม’ ก็เป็นอีกปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อการทำงานของสมองได้เช่นกัน ดังเช่นที่ซัลลิแวนเขียนไว้ว่า “สมองของเรามีพฤติกรรมเหมือนเซเลบริตี้ผู้เย่อหยิ่ง มันจึงชอบแวดล้อมด้วยสมองอื่นๆ ที่มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกัน สมองที่ลำเอียงของเราคือเหตุผลที่ทำให้ระบอบการเมืองของเราน่าผิดหวัง”

        การที่เราปล่อยให้สมองพุ่งหาแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของเราอยู่แล้ว และผลักไสข้อมูลใหม่ๆ (ที่แม้จะน่าเชื่อถือเพียงใด) ไม่ได้ทำให้การเมืองน่าผิดหวังเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดมุมมองสุดโต่งบ้าคลั่ง (hyperism) นำไปสู่ความเกลียดชัง เพราะไม่มีใครยอมสละทิ้งความเชื่อ เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ๆ – ที่ต้องอาศัยการสละละทิ้งตัวตนเดิม 

        ในหนังสือเล่าถึงอีกการทดลองระหว่างแฟนบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด กับแฟนบอลลิเวอร์พูล ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ ว่าสองทีมนี้เป็นคู่แข่งตัวฉกาจของกันและกัน ในการทดลองนั้น นักแสดงคนหนึ่งที่สวมเสื้อแมนยูแกล้งวิ่งหกล้ม แน่นอนว่าแฟนคลับแมนยูจะรีบเข้าไปช่วยเหลือ แต่การทดลองครั้งที่สองที่ให้นักวิ่งคนนั้นสวมเสื้อธรรมดาที่ไม่มีป้ายแมนยู จำนวนแฟนคลับที่เข้าไปช่วยลดลงเหลือแค่หนึ่งในสาม และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือถ้านักวิ่งสวมเสื้อลิเวอร์พูล จะมีแฟนคลับแมนยูเข้าไปช่วยน้อยลงไปกว่านั้นอีก

 

soul-cietyภาพจาก https://www.sportskeeda.com/football/5-incidents-that-prove-manchester-united-liverpool-is-the-biggest-rivalry-in-the-world

 

        อาจฟังดูน่าหดหู่ แต่ความหวังยังมีอยู่เมื่อการทดลองนี้ได้ทำแบบสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับจุดร่วม ความชื่นชอบในกีฬาฟุตบอลของทั้งสองทีม ที่ผลของมันแสดงให้เห็นว่าหากมองแค่ความสนใจในกีฬาฟุตบอลร่วมกัน ไม่ว่าคนล้มนั้นจะสวมเสื้อฟุตบอลทีมไหน พวกเขาพร้อมจะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเสมอ

        ซัลลิแวนสรุปบทเรียน และข้อเสนอต่อการติดอยู่ในวังวนเข้าข้างแต่กลุ่มตนว่า “ถ้าเราหมั่นเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของกลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น เราจะสามารถช่วยเหลือตัวเองให้รอดพ้นคมเขี้ยวของการเมืองแบบแบ่งขั้ว และถ้าเราพอจะมีสามัญสำนึกอยู่บ้าง เราก็จะมอบมิตรภาพ ขยายไปสู่มนุษย์ทุกคนบนดาวเคราะห์สีฟ้าดวงจิ๋วนี้”

        และในการที่จะตระหนักว่าเราเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ใหญ่กว่านี้ได้ ก็ต้องอาศัยการปลดปล่อยความคิด พันธนาการ กล้าก้าวออกมาจากความสบายของการอิงแอบอยู่กับกลุ่ม เพราะไม่ว่ากลุ่มที่คุณสังกัดนั้นคืออะไร แต่การปล่อยตัว ปล่อยใจ ไม่รู้ทันความคิดของเราเอง และหากคุณไม่ได้ประมวลผลความคิดตัวเองแล้ว ไม่ได้เป็นเจ้าของความเชื่อตัวคุณเองแล้ว

        ตัวตนนั้นก็คงไม่ต่างอะไรไปจากหุ่นยนต์ 

(3)

        ซัลลิแวนกึ่งให้กำลังใจในช่วงท้ายของบทนี้ว่า ในการเรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามหันมาอยู่ฝั่งเรา เราต่างต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่งานที่ง่าย เพราะเราไม่ได้เพียงขอให้เขาเปลี่ยนใจ แต่เรากำลังขอให้เขาเปลี่ยนสมองเลยด้วย 

        คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไร ในสังคมที่เราต่างอยู่ในบับเบิลของความคิดเราเองนี้ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความเชื่อที่เรามีเป็นความเชื่อของเราเอง ไม่ใช่เป็นเพราะพลังงานกลุ่ม หรือคำสั่งของใคร

        ในแง่นี้นั้น ทั้งการหลุดพ้นจากการกลายเป็นเพียงตัวแทนปฏิบัติการ หรือหลุมพรางความคิดกลุ่ม ล้วนอาศัยการกลับมารู้ทันความคิด รู้ตัวว่าเราอยู่ในบับเบิลของกลุ่มไหน รู้ไม่ใช่เพื่อสิงสถิตอยู่ต่อไป แต่รู้เพื่อพร้อมที่จะกระโจนออกจากบับเบิลที่เราฝังอยู่เสมอ ลองกระโดดเข้าไปอยู่ในบับเบิลของฝ่ายตรงข้ามบ้าง เพื่อที่เราจะได้ยิน รู้สารอย่างที่เขารู้สึก เพื่อที่จะแน่ใจได้ว่าความเชื่อของเรามาจากการประมวลผลข้อมูลโดยสมองของเราจริงๆ ไม่ใช่เพราะคำสั่งที่ควบคุมเราอยู่ หรือเพราะเราเผลอเอาตัวไปอยู่ท่ามกลางศูนย์กลางของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป

        ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ย่อมอาศัยทั้งพลังงานความคิดของตัวคุณเอง และสภาพสังคมที่เอื้อให้ปัจเจกทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด คิดเองได้ ตัดสินใจเองเป็น ไม่เช่นนั้นแล้วก็ยากที่จะตอบได้ว่าเราตกเป็นทาสการทำงานของสมอง 

        หรือเป็นทาสของสังคมที่ไม่ยอมปล่อยให้เราคิดเอง