Social Dilemma

The Social Dilemma จิตวิทยามายากลที่โซเชียลมีเดียส่งผลต่อสังคมและความเป็นคนของเรา

“นักมายากลก็เหมือนนักประสาทวิทยาและนักจิตวิทยา เขาเป็นพวกแรกที่เข้าใจว่าจิตใจของคนทำงานอย่างไร พวกเขาทดสอบอะไรหลายอย่างกับผู้คนต่อหน้าต่อตา นักมายากลเข้าใจบางส่วนของจิตใจที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมายากลถึงได้ผล จะหมอ จะทนาย จะเป็นคนที่รู้วิธีสร้างเครื่องบิน 747 หรือจรวดนิวเคลียร์ พวกเขาไม่รู้หรอกว่าจิตใจของตนเปราะบางอย่างไร มันเป็นหลักการที่ต่างออกไป และมันก็เป็นหลักการที่ประยุกต์ใช้ได้กับมนุษย์ทุกคน”

        ทริสทัน แฮร์ริส (Tristan Harris) อดีตพนักงานฝ่ายออกแบบจริยธรรมในกูเกิล และผู้ก่อตั้ง Center for Humane Technology เล่าถึงวัยเด็กของเขาที่เริ่มเล่นมายากลตั้งแต่ห้าขวบ ศาสตร์และศิลป์ของมายากลที่เขาหลงใหลจวบจนสมัยเรียนที่สแตนฟอร์ดก็ยังลงเรียนวิชาวิจัยเทคโนโลยีการชักจูงว่าด้วยการใช้หลักจิตวิทยาจูงใจ มาใช้ในเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน

        เรื่องราวของแฮร์ริส และผู้อยู่ในวงการเทคโนโลยี (ที่ส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาววัยกลางคน) ที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อประชากรโลกในยุคปัจจุบันมากที่สุด ถูกนำมาเล่าใน ‘The Social Dilemma’ สารคดีจากเน็ตฟลิกซ์ ที่เผยให้เห็นถึงกระบวนการที่เทคโนโลยีจูงใจผู้ใช้งาน ไปจนถึงผลกระทบทั้งด้านจิตใจในระดับบุคคล ไปจนถึงด้านความมั่นคงของสังคม 

        เรียกได้ว่าเป็นสารคดีอีกชิ้นที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทุกวงการ ไม่ว่าคนดูจะเป็นใคร จะเป็นนักธุรกิจที่ใช้โซเชียลมีเดียทำการตลาด เป็นนักการเมืองที่ใช้หาเสียง เป็นเราทั้งหลายที่ใช้โซเชียลมีเดียกันอยู่ทุกวันด้วยความมั่นใจว่านี่คือช่องทางทั้งรับ-ทั้งส่งสารที่ดีที่สุดที่เราทุกคนมีอยู่เท่ากันในมือ

        แต่โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เราเคยมีมาจริงหรือ มี ‘หลักการที่ต่างออกไป’ ที่แฮร์ริส และใครต่อใครออกมาเตือนในสารคดีเรื่องนี้ที่เราควรกังวลใจบ้างไหม ชวนอ่านหลักการจิตวิทยาจูงใจที่ใช้ในมายากลที่ส่งผลให้เราติดโซเชียลมีเดียจนถอนตัวไม่ขึ้นกัน 

 

Social Dilemma

The Magic of Maybe: ว่าด้วยความน่าหลงใหลของความน่าจะเป็น

        “มันประหลาดมากที่ผมใช้เวลาทำงานทั้งวันสร้างสิ่งที่ผมกลายมาเป็นเหยื่อเสียเอง”

        ทิม เคนดอล (Tim Kendall) อดีตประธานพินเทอเรสต์ และผู้อำนวยการสร้างรายได้ของเฟซบุ๊ก เล่าว่า แม้เขาจะรู้ดีถึงกลไกการทำงานของโซเชียลมีเดีย ว่ามันทำให้คนเสพติดมากแค่ไหน รู้ดีว่ามันมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไรให้ใคร แต่เขาเองก็ยังห้ามตัวเองไม่ให้ไถหน้าจอต่อไปเรื่อยๆ ได้ แม้จะเลิกงานกลับบ้าน แวดล้อมไปด้วยลูกเล็กสองคนก็ตาม 

 

Social Dilemma

 

        สถานการณ์คุ้นๆ ที่เชื่อว่าเกิดขึ้นกับใครหลายคน ที่คิดว่าขอเช็กโทรศัพท์เดี๋ยว แต่เผลอแป๊บเดียวเวลาก็ผ่านไปร่วมชั่วโมง อยากวางไปทำอย่างอื่นก็อยาก แต่ยิ่งไถ ยิ่งได้รับฟีดส์ใหม่ๆ ยิ่งหยุดไม่ได้

        ความลุ้นที่เต็มไปด้วยความหวัง และความไม่รู้ที่ไปกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ประกอบกับแรงเสริมเชิงบวกที่ได้รับเป็นระยะๆ ทั้งจากฟีดส์ที่เราชอบ (ที่แน่นอนว่าถูกคัดเลือกมาให้เราโดยเฉพาะ) ไปจนถึง ‘ไลก์’ หรือ ‘แท็ก’ จากเพื่อนที่ทำให้ทั้งรู้สึกพอใจ อยากจะไถหน้าจอลุ้นต่อไปว่าจะมีไลก์เพิ่ม มีเพื่อนแท็กอะไรมาเพิ่มเติมอีกไหม มีใครตอบคอมเมนต์ต่อจากเราหรือเปล่า

        ความน่าหลงใหลของความน่าจะเป็นที่คล้ายการเล่นสลอตแมชชีน หรืออีกหลาย ‘ความน่าจะเป็น’ อื่นๆ ในชีวิต เช่น การลุ้นว่าคนที่เราชอบนั้นชอบเราหรือไม่ ชาติหน้ามีจริงหรือเปล่า ราหูเข้าปลายเดือนจะส่งผลต่อลัคนาราศีเราอย่างไร รวมทั้งการไถฟีดส์โซเชียลมีเดียไปมา ที่มันหลั่งสารโดปามีน สารที่สร้างความตื่นเต้น ตื่นตัว ที่จะว่าไปแล้วการได้ลุ้นด้วยความหวัง หลายครั้งทำให้ใจเต้นได้มากกว่าเมื่อสิ่งที่ตั้งตาคอยเกิดขึ้นจริงเสียด้วยซ้ำ

Attentional Misdirection: การจงใจเบี่ยงเบนความสนใจ

        “ความซับซ้อนของเรื่องนี้คือ โซเชียลมีเดียนั้นเอื้อให้ทั้งสิ่งที่ดีที่สุด และสิ่งที่ร้ายที่สุดเกิดขึ้นในสังคม มันสร้างทั้งยูโทเปียและดิสโทเปียในขณะเดียวกัน”

        แม้สารคดีเรื่องนี้จะสร้างความสั่นสะเทือนไปทุกวงการ แต่เอาเข้าจริง ผลกระทบของโซเชียลมีเดียก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องใหม่ ใช่ว่าเราไม่เคยรู้กันมาก่อนว่าเจ้าอุปกรณ์ที่อยู่ติดมือเราแทบตลอดเวลามันส่งผลกระทบต่อเราเองและสังคมอย่างไร ความท้าทายนั้นอยู่ที่ว่าเราต่างรู้ทั้งรู้ แต่ก็ห้ามไม่ได้ มิหนำซ้ำตอนท้ายสารคดียังบอกเองว่าในการที่จะทำให้คนตระหนักถึงความจริงนี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ก็ยังต้องทำผ่านโซเชียลมีเดียเสียด้วยซ้ำ

        “เรากำลังดิ่งลงสู่เหว และหนทางที่เราจะออกจากเหวได้คือต้องมีปาฏิหาริย์ และปาฏิหาริย์นั้นก็คือเจตจำนงร่วม ท้ายที่สุดแล้ว เครื่องจักรนี้มันจะไม่ย้อนกลับ นอกจากว่าสาธารณชนจะร่วมกันกดดัน” 

        ในเมื่อสายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ เราคงไม่อาจย้อนคืนวันไปสู่กาลเวลาที่ไร้โซเชียลมีเดียได้ และคงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราจะโยนข้อดีของมันทิ้งไป เพียงเพราะเราไม่รู้วิธีรับมือกับมัน คำถามสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรที่จะป้องกันผลกระทบเชิงลบของโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ใช่แค่บ่ายเบี่ยงยอมจำนนกับมันเพียงเพราะมันสร้างความสุขฉับพลันจนละเลยภัยอันตรายระยะยาวไป 

        ภัยอันตรายระยะยาวที่มักถูกเบี่ยงเบนความสนใจ เพราะใครต่อใครมุ่งเชิดชูแต่ความพึงพอใจระยะสั้น เช่น ปุ่มกดไลก์ที่เจตนาแรกเริ่มคือการ ‘ส่งพลังบวกและความรัก’ ให้กัน ที่ผู้สร้างเองก็คงไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นตัวชี้วัดความนิยมชมชอบ ส่งผลต่อคุณค่าและความนับถือตนเองจนทำให้ยอดผู้ป่วยซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวตั้งแต่โซเชียลมีเดียถูกคิดค้นขึ้นมา หรือความตัดขาดแยกกันของสังคมที่ถูกมองข้ามไป เพราะใครต่อใครจดจำเฟซบุ๊กว่าเป็นเครื่องมือที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกัน ในวันแรกเริ่มมันอาจเป็นเช่นนั้น แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นว่าเฟซบุ๊กทำให้คนไกลติดต่อกันได้ แต่คนใกล้ตัวกลับห่างเหินกันไปทุกที หรือหลงไปกับการใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางสื่อสารว่าเรารู้สึกอะไร ทำอะไรอยู่ จนมองข้ามไปว่าอัลกอริธึมที่พัฒนาตนเองขึ้นทุกวันกำลังกำหนดทิศทางการสื่อสารที่ส่งผลมหาศาลต่อการรับรู้ของผู้คน 

 

Social Dilemma

Seeing is very much like believing: การเห็นนั้นทรงพลังมากพอกับการเชื่อ

        การศึกษาจาก MIT ระบุว่า ข่าวลือในโซเชียลมีเดียกระจายไปได้เร็วกว่าข่าวสารมากถึงหกเท่า อีกทั้งระบบประมวลผลของ AI ก็พัฒนาตัวเองได้รวดเร็วหลายล้านเท่าในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในขณะที่สมองของมนุษย์นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไร กล่าวคือ ในขณะที่อัลกอริธึมแม่นยำมากขึ้น เลือกข้อมูลมาป้อนเรามากขึ้น เร็วขึ้น แต่ความสามารถของเราในการวิเคราะห์ แยกแยะกลับไม่ได้พัฒนาขึ้นตาม จนหลายครั้งอดสงสัยไม่ได้ว่าเราเป็นผู้กำหนดสิ่งที่เรารับรู้ หรือความรับรู้ของเราถูกกำหนดโดยปัญญาประดิษฐ์นี้กันแน่

 

Social Dilemma

 

        “ปัญหาหนึ่งของเฟซบุ๊กก็คือ ในฐานะเครื่องมือมันอาจเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เคยถูกสร้างขึ้นมา แต่ลองคิดว่าถ้ามันไปอยู่ในมือของเผด็จการ หรือคนที่อยากควบคุมอะไรสักอย่างดูสิ มันไม่เคยมีเครื่องมือไหนที่ทรงพลังเท่ากับเฟซบุ๊กอีกแล้ว” 

        แม้จุดเริ่มต้นของเฟซบุ๊กจะคือการสร้างความสัมพันธ์อย่างที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อพลังทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบสร้างรายได้ของเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้มีทุนมากย่อมมีต้นทุนมากในการกำหนดว่าจะส่งสารถึงใคร มากน้อยแค่ไหน ประกอบกับอัลกอริธึมที่ทำงานแม่นยำมากขึ้นทุกที จนทำให้เราได้รับข้อมูลตรงกับที่เราสนใจ ตรงกับที่เราเชื่อ เพื่อที่จะให้เราใช้เวลาอยู่กับหน้าจอให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ (และได้ข้อมูลของเราเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก) และกลายเป็นกีดกันเราจะข้อมูลชุดอื่น ความเห็นอื่นๆ มากขึ้นไปทุกทีๆ 

        เดวิด โบห์ม เคยกล่าวไว้ในหนังสือ ‘On Dialogue’ ว่าสังคมนั้นเกิดจากการสื่อสารที่สร้างความหมาย การรับรู้ความจริงบางอย่างร่วมกัน คำถามคือ หากคนแต่ละคนรับรู้ความจริงแค่ในมุมของตนเอง สังคมนั้นจะสร้างความหมายร่วมกันได้อย่างไร – สังคมนั้นจะเป็นสังคมได้อย่างไร  

        เมื่อถามว่าความกังวลใจที่สุดของระบบที่ใช้ความสนใจนำความรับรู้นี้คืออะไร ทิม เคนดอล อดีตผู้อำนวยการรายได้ของเฟซบุ๊ก นิ่งตอบไปสักพัก แล้วตอบสิ่งที่เราหลายคนกังวลอยู่ในใจออกมาว่า ‘สงครามการเมือง’

        อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ถึงโยงใยที่ชักจูงเราอยู่เบื้องหลังการใช้งานโซเชียลมีเดียจึงไม่ใช่แค่เพียงเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวของเรา เพื่อไม่ให้ถูกชักจูงโดยอำนาจทุน หรือเพื่อไม่ให้ไปสู่ภัยต่อชีวิตและสังคมอย่างสงครามการเมืองเท่านั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วมันคือการปกป้องเราจากการสูญเสียความเป็นมนุษย์ของเราเอง

        เพราะหาก เรเนอร์ เดการ์ต เคยบอกเอาไว้ว่า “ฉันคิด ฉันจึงเป็น” (I think, therefore I am) เช่นนั้นแล้ว หากเราไม่สามารถคิดได้เอง เลือกได้เอง ก็คงไร้ความหมายใดในการเป็นมนุษย์