Enforced Disappearance

ถ้าการเมืองลาวดี ‘สมบัด สมพอน’ จะไม่หายไปแปดปี

‘มิดจิลิ’

        เป็นภาษาอีสาน อ่านว่า ‘มิด-จี่-หลี่’ แปลว่า เงียบหาย เงียบสนิท หายเงียบ 

        ได้ยินคำนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2556 หลังการหายตัวไปของ ‘สมบัด สมพอน’ หรือ ‘อ้ายสมบัด’ ‘ลุงบัด’ นักพัฒนาอาวุโสชาวลาว เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี 2548 ที่หายตัวไปอย่าง ‘มิดจิลิ’ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2555 โดยมีผู้พบเห็นครั้งสุดท้ายเป็นเพียงภาพจากกล้อง CCTV ที่สมบัดถูกตำรวจเรียกให้หยุดในกรุงเวียงจันทน์ ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นรถกระบะ และหายตัวไปจากนั้นเป็นต้นมา จนถึงวันนี้เป็นเวลาร่วมแปดปีก็ยังไม่มีข่าวคราว รัฐบาลลาวยังคงเงียบ ไม่เคลื่อนไหว ไม่ให้ข้อมูล เคสผู้คนหายสาบสูญยังคงเป็นความผิดปกติที่ยังดำเนินเกิดขึ้นต่อไป

 

ภาพวงจรปิดในวันที่ลุงสมบัดหายไป

        “พวกเราคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขงรวมตัวกันทำกิจกรรมในนาม ‘Sombath Somphone and Beyond Project’ มาตั้งแต่ปี 2556 หลังเหตุการณ์การบังคับให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับ ลุงสมบัด สมพอน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว จากที่เราได้ยิน ได้เห็น ได้เรียนรู้ เราพบว่า ลุงสมบัดอยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จากการใช้ชีวิตและการทำงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการศึกษา งานพัฒนาคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่”

 

Enforced Disappearance

 

        สารจากเพื่อนไทยถึงเพื่อนลาว ในงานกิจกรรม ‘มิดจิลิ: การหายตัวไปของ สมบัด สมพอน’ ในปี 2015 ที่กลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขงได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นับจาก ‘ลุงบัด’ ได้หายตัวไปอย่างเงียบเชียบ ‘มิดจิลิ’ เช่น งานดนตรีเพื่อสันติภาพ, Tea Talks ดื่มน้ำชาตามหาสันติภาพ, กิจกรรมตามหาสมบัด Around the World, กิจกรรม ‘ถ้าโลกนี้ไม่มีการอุ้มหาย’ โบกรถตามหาสันติภาพจากกรุงเทพถึงแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย, Peace Talks: เสรีภาพ สันติภาพ แตกต่างเหมือนกัน และเวทีเสวนาอื่นๆ ทั้งในไทย และในประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา เพื่อทำให้ผู้คนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต อยู่ร่วมกับความต่างได้อย่างสันติ ผ่านการส่งเสียงต่อไปถึงความผิดปกติที่เป็นภัยต่อเสรีภาพของผู้คน สันติภาพของสังคม และเพื่อไม่ให้เรื่องราวของลุงบัด และใครอีกหลายคนไม่เงียบหายไปพร้อมๆ กับการหายตัวไปของพวกเขา – อย่างที่ใครบางคนต้องการ 

        โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เงียบสงัด คำตอบมีเพียง “บ่ฮู้ บ่เห็น บ่จัก” – ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่รู้จัก ม่านหมอกแห่งความกลัวเป็นภัยต่อตนเองจนไม่พูดถึง ไม่อยากเข้ามามีส่วนร่วม ความกลัวอำนาจที่มองไม่เห็น ที่ปิดปากให้คนเงียบเฉย ที่หากปล่อยไปอาจเกินเลยเป็นความไม่แยแส (indifference) เรื่องที่ ‘ไม่เกี่ยวกับตน’ จนอาจกลายเป็นสภาวะปกติของสังคม 

 

Enforced Disappearance

 

        “ตอนนั้นเรื่องการอุ้มหายมันเป็นเรื่องใหม่มากเลย แทบไม่มีใครพูดถึง แต่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ ประหลาดมากๆ คนคนหนึ่งจะหายตัวไปได้อย่างไร ถ้าเสียชีวิตเรายังรู้ว่าจะทำยังไงต่อ แต่หายตัวไปเลยมันทำอะไรไม่ถูกเลย จะหาใครมารับผิดชอบก็ไม่ได้

        “ไม่ได้คิดเลยว่าเป็นเรื่องของลาวหรือไทย คิดแค่ว่าถ้าเพื่อนลาวเขาไม่พูด เราก็ช่วยสื่อสารแทนก็ได้ ออกมาพูดนอกบ้านก็ได้ ให้อย่างน้อยเรื่องมันไม่เงียบไป คือรัฐบาลเขาที่ไม่ออกมาพูดอะไร แต่เวลามีคนยังสื่อสารเรื่องนี้ เขาก็กดดัน มันก็ต้องคอยพูดไปเรื่อยๆ ให้เขารู้ว่ามีคนจับตามองอยู่นะ จะมาเงียบหายไปเลยไม่ได้นะ

        “แต่สุดท้าย ยังไงเพื่อนลาวเขาก็ต้องออกมาพูดเอง ลำพังมันกดดันจากภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ หรือจะพูดแค่ภายในก็ไม่พอเหมือนกัน อย่างตอนนี้ในไทยก็เริ่มเห็นว่าเรื่องอุ้มหายได้รับความสนใจจากคนมาก ซึ่งมันดีมาก ในทางกลับกันของเคสนี้ก็คือ ถ้าเราพูดเรื่องนี้ในประเทศอย่างเดียวไม่พอ เราก็อาจต้องขอแรงกดดันจากต่างประเทศด้วย เราเชื่อในสันติวิธีแบบนี้”

        หนึ่งในเยาวชนคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขงที่เคยร่วมขับเคลื่อนโครงการ ‘มองไปไกลกว่าสมบัด สมพอน’ (Sombath Somphone and Beyond Project) เล่าย้อนถึงความหลังในวันที่การตามล่าหาคนอุ้มหายยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคม แต่ด้วยความตะขิดตะขวงใจว่าคนเราจะหายตัวไปได้อย่างไร ความรู้สึกว่ามันไม่ใช่การพูดถึงมันหรอกที่เสียงต่อความปลอดภัย การปล่อยให้ความผิดปกติแบบนี้เกิดขึ้นต่อไปต่างหากที่เป็นภัยต่อเสรีภาพในการใช้ชีวิต จนทำให้เธอเข้ามามีส่วนร่วมสื่อสารในโครงการนี้

 

Enforced Disappearance

 

        “เรามีความหวังว่าสิ่งที่เราทำจะทำให้คนไม่ลืมว่ามีคนคนหนึ่งถูกบังคับให้สูญหาย และเรายังคงเรียกร้องความยุติธรรมในการสืบหาข้อเท็จจริง และความคืบหน้าในการดำเนินคดีของ ลุมสมบัด สมพอน เฉกเช่นเดียวกับกรณีการอุ้มหายของ ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ เช่นเดียวกับกรณีของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร และอีกหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในสังคมจนถึงวันนี้”

        ผ่านมาแล้วเกือบแปดปี นับจาก ‘อ้ายสมบัด’ ได้หายตัวไป แต่การอุ้มหายยังเป็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อไป ประเทศไทยยังคงไม่มีหลักประกันทางกฎหมายที่ชัดเจน แม้ในวันนี้ผู้คนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น แฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ต่อเนื่องหลัง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกอุ้มหายในกรุงพนมเปญ ภาพสุดท้ายจากกล้องวงจรปิด สถานการณ์ที่คล้ายกันกับฉากครั้งเมื่ออ้ายสมบัดได้หายตัวไป ก่อนข่าวคราวของอ้ายจะหายเงียบไปไร้ร่องรอย ความผิดปกติที่เกินขึ้นบ่อย หากยิ่งปล่อยให้เงียบหายไปก็อาจกลายเป็นภัยความกลัวที่แฝงตัวอยู่อย่างปกติไปทั่วสังคม

        “ภายใต้สถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่เป็นไปในบ้านของเราและบ้านของเพื่อนๆ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลุกขึ้นมายืนหยัดและเปล่งเสียงแห่งความจริงออกมาดังๆ เพื่อนๆ อาจกลัวความไม่ปลอดภัย เราเองก็กังวล กลัวจะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวและคุกคามความปลอดภัยเช่นกัน แต่ลองหันไปดูรอบตัวสิ ลองถามถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้ นี่ไม่ใช่การละเมิดอยู่แล้วหรอกหรือ เราไม่ได้ถูกคุกคามอยู่แล้วหรอกหรือ กี่คนแล้วที่ถูกทำให้หายไป กี่คนแล้วที่ถูกขู่ให้หยุดการทำงานเพื่อความยุติธรรมให้กับคนอื่น มันถูกต้องแล้วหรือที่คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจในการเอาตัวคนคนหนึ่งไปไหนก็ไม่รู้ได้โดยง่าย แล้วบอกว่าไม่ได้ทำ นี่เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหนกัน เรากำลังได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐในฐานะพลเมืองของประเทศจริงๆ หรือ…”

 

Enforced Disappearance

        ข้อความส่งท้ายจากสารคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขงเมื่อแปดปีที่แล้วที่ยังคงพูดแทนคนหนุ่มสาวได้ในวันนี้ ที่ความปลอดภัยไม่สามารถเป็นการเงียบ ไม่พูดถึง ปิดปาก ‘ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่รู้จัก’ อีกต่อไป หากคือการส่งเสียงให้ดังที่สุด ให้เสียงที่ทุกคนร่วมกันเปล่งออกมานั้นทำหน้าที่เป็นเกราะปกป้องคุ้มกันเราจากอำนาจมือที่มองไม่เห็นเอง 

 


อ้างอิง: สารคนหนุ่มสาวลุ่มน้ำโขงจากโครงการ ‘มองไปไกลกว่าสมบัด สมพอน’ (Sombath Somphone and Beyond Project) ติดตามความคืบหน้าการตามหา สมบัด สมพอน ต่อได้ทางเพจ SombathSomphoneBeyondProject