ความเป็นอนิจจังของสังคม

ย้อนอ่าน ‘ความเป็นอนิจจังของสังคม’ จาก ปรีดี พนมยงค์ ถึงสังคมไทยในปัจจุบัน

กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย

น้ำเต้าน้อยจะถอยจม

ผู้ดีจะเดินตรอก

ขี้ครอกจะเดินถนน

        โคลงกลอนที่ ปรีดี พนมยงค์ เขียนเล่าในคำปรารภของหนังสือว่า ‘คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตฯ’ มารดาของ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มักชอบนำมาเล่าให้ลูกหลานฟังเรื่องยุคมิคสัญญี ที่ถูกทำนายไว้ว่า ในปลายพุทธศาสนา มนุษยชาติจะเข้าสู่ยุคที่ศีลธรรมเสื่อมทราม เต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหง นักเลงอันธพาลผู้มีอำนาจปกครองเมือง จนผู้คนไม่ยินยอมต่อความเสื่อมถอยของโลกยุคเก่าอีกต่อไป ลุกขึ้นมาคานอำนาจจนสังคมเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ หรือที่เรียกว่ายุคศรีอารยเมตไตรย ยุคที่ผู้คนจะอยู่ร่วมกันด้วยความปรานี มีความเท่าเทียมเสมอภาคกัน ถึงขั้นที่ปรีดีบรรยายว่า “เมื่อออกจากบ้านแล้วต่างสังเกตความผิดเพี้ยนระหว่างกันไม่ได้” ราวกับว่าผู้คนได้เรียนรู้จากความเสื่อมถอยในยุคมิคสัญญีที่แล้วมา และเริ่มต้นไปในยุคศรีอารยเมตไตรย ปฏิบัติต่อกันด้วยหนทางที่ต่างไปจากเดิม

        ยุคศรีอารยเมตไตรย ที่คล้ายกับภาพสังคมสมมติที่ โธมัส มอร์ (Thomas More) ได้ประพันธ์ไว้ในหนังสือ ‘ยูโทเปีย’ (Utopia) ว่าด้วยสังคมในอุดมคติ ที่แม้ในรากภาษาละตินจะแปลว่า ‘ดินแดนที่ไม่มีอยู่จริง’ จนแนวคิดยูโทเปียนั้นถูกมองว่าเป็นเพียงแดนในฝันที่เพียงถูกประพันธ์ขึ้นมา ไม่ต่างจากยุคศรีอารยเมตไตรย แต่ปรีดีได้กล่าวไว้ว่า หากเราถือเอาแต่เปลือกนอกของพุทธทำนาย เราอาจสูญเสียแก่นแท้ของความหมายที่แท้จริงว่าด้วยเรื่องสังคมแห่งอุดมคตินั้น

        หนังสือเล่มนี้จึงเป็นความพยายามของปรีดีที่จะสกัดแก่นธรรมจากพุทธทำนายนั้น เจาะลึกลงไปให้เห็นถึงแก่นธรรมว่าด้วยเรื่องกฎแห่งอนิจจัง กฎธรรมชาติอันเป็นสามัญไร้กาละ และเทศะ ที่ทุกสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนผัน ไม่คงนิ่งอยู่กับที่ มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ตามชื่อของหนังสือ ‘ความเป็นอนิจจังของสังคม’ ที่ว่าด้วยแนวคิดปรัชญาสังคมนิยมผนวกกับแก่นพุทธธรรมที่จริงแท้ไม่เพียงแต่กับชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นกฎธรรมชาติที่ครอบคลุมถึงความเป็นพลวัตของสังคม

        หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในระหว่างที่ปรีดีพักอาศัยอยู่ที่นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน บริบทที่ทำให้นายปรีดีได้สังเกตการเปลี่ยนผ่านของสังคม ไม่ใช่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามธรรมชาติตามความเป็นอนิจจังของสังคมที่ไม่ว่าสังคมไหน ยุคไหน ก็เลี่ยงกฎธรรมชาตินี้ไม่พ้นเช่นกัน

 

ความเป็นอนิจจังของสังคม

 

กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย

        ลำพังเพียงกล่าวถึงยุคมิคสัญญี หรือยุคศรีอารยเมตไตรย ใครต่อใครอาจมองว่าพุทธทำนายนั้นเป็นเพียงนิทานปรัมปรา หากเมื่อพิจารณาให้ถึงแก่นของคำทำนายนี้จะเห็นถึงพุทธธรรมว่าด้วยกฎแห่งอนิจจัง ที่ทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ไม่มีสังคมใด ไม่มีชีวิตใด ไม่มีสิ่งที่ถูกสร้างใดคงนิ่งอยู่กับที่ชั่วกัลปาวสาน กล่าวคือ

        “ระบบเก่าย่อมดำเนินเข้าสู่ความเสื่อมสลายเช่นเดียวกับสังขารทั้งหลาย ส่วนระบบที่เกิดใหม่ก็เจริญเติบโตจนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตต่อไปได้อีก ก็ดำเนินเข้าสู่ความเสื่อมสลาย โดยมีระบบใหม่ยิ่งกว่าสืบต่อกันเป็นช่วงๆ ไป …เมื่อระบบสังคมใดเก่าแก่ถึงปานนั้นแล้ว ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงโดยมีระบบที่ใหม่ที่ดียิ่งกว่า ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงจากกฎแห่งอนิจจังไปไม่พ้น” 

        หากมองในแง่นี้นั้น ยุคมิคสัญญีไม่ได้เป็นอะไรที่เกินไปกว่าการอุปมาถึงสังคมที่ถูกครอบงำด้วยระบบกดขี่ข่มเหง ถึงแม้ว่าสังคมเช่นนั้นจะคงอยู่ไว้ได้ด้วยอำนาจ ประเพณีต่างๆ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติที่สักวันหนึ่งผู้ถูกกดขี่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชีวิตของพวกเขาเอง ซึ่งอันที่จริงนั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องเรียกร้องแต่อย่างใด หากเป็นสิ่งที่พวกเขาพึงสมควรได้ตั้งแต่แรก 

        ในขณะที่ผู้กดขี่ไม่ยอมถูกเบียดเบียนอีกต่อไป ผู้ที่กดขี่ผู้อื่นก็ไม่สามารถที่จะรักษาอำนาจที่มีความประหลาด ไม่ชอบธรรมไว้ต่อไปได้เช่นกัน ถึงแม้พวกเขาจะพยายามใช้อำนาจเก่าที่ยังตกค้างอยู่ในการพยายามดิ้นรน รักษาไว้ซึ่งอำนาจ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งใดที่ขาดความไม่สมดุลนั้นก็จะพังครืนลงมาเอง 

        และเมื่อผู้กดขี่เริ่มหมดแรงจากแรงต้านของผู้ถูกกดขี่แล้ว ‘กระเบื้อง’ หรือมวลชนหมู่มากของสังคม ก็จะเฟื่องฟูลอย ในขณะที่ ‘น้ำเต้าน้อย’ หรือคนส่วนน้อยของสังคม ก็จะถอยจม เมื่อครานั้นมาถึง สังคมก็จะเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ที่ผู้คนเรียนรู้จากความบิดเบี้ยว ไม่เข้าที มีความประหลาดในแนวคิดและการปฏิบัติของยุคที่ผ่านมา จนเริ่มปฏิสัมพันธ์กันใหม่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูล เคารพในสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ในยุคนั้นมนุษย์ทั้งหลายล้วนต่างเท่าเทียม ผู้คนแม้จะทำมาหากินแตกต่างอาชีพกันไป แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ในความต่างหลากหลาย เป็นความต่างตามธรรมชาติที่ต่างคนต่างได้เลือก หาใช่ความต่างที่ถูกกำหนดจากชนชั้น วรรณะไม่ 

        เมื่อมองเช่นนี้ ยุคศรีอารยเมตไตรยจึงไม่ใช่อะไรเลย นอกจากการเรียนรู้ของมนุษย์จากยุคมิคสัญญีที่ไม่ส่งผลดีต่อใคร ไม่แม้แต่กระทั่งผู้ถูกกดขี่ที่แม้พวกเขาจะสุขสบายแต่ก็เป็นความสุขสบายที่ชั่วคราว เปราะบาง ไม่ยั่งยืน

 

การเคลื่อนไหวของสังคมที่ต้องดำเนินก้าวหน้ายิ่งขึ้นตามธรรมชาติ

        กฎแห่งอนิจจังที่เราล้วนต่างเคยได้ยินกันมานาน ใครต่อใครต่างบอกว่าเป็นกฎธรรมชาติ แต่ในบางวันที่การเปลี่ยนแปลงออกจะเนิบช้า เนิ่นนาน จนทำให้พานสงสัยว่ากฎอนิจจังอาจไม่ทำงานในบางสังคมหรือเปล่า 

        ในห้วงเวลาที่เราต่างว่ายวนอยู่ในกระแสธารความเปลี่ยนแปลง เราอาจมองไม่เห็นว่าพลังงานกำลังขยับเขยื้อน เคลื่อนที่ไปอย่างไร ในจังหวะของการเปลี่ยนผ่านนั้น เราอาจเห็นว่าระบบเก่าที่กำลังจะสลาย ได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก บางครั้งทั้งระบบ บางคราบางส่วนของระบบ จนอาจแย้งกับกฎอนิจจัง หากนั่นเป็นธรรมชาติด้วย “สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” ความพยายามเฮือกสุดท้ายของระบบเก่าที่ยังมีพลังงานตกค้างอยู่ แต่ในที่สุดก็ไม่มีสิ่งใดรอดพ้นจากกฎแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้ 

        อย่างไรก็ดี แม้ปรีดีจะใช้คำว่าพลังงานเก่า พลังงานใหม่ ขั้วความคิดตรงข้าม ฯลฯ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องอ่านงานเขียนชิ้นนี้ในระยะห่างจากบรรทัดออกมา มองให้เห็นถ้อยความรวมที่ปรีดีพยายามสื่อให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดเชิงปรปักษ์ หรือการปะทะกันเท่านั้น ดังเช่น ในช่วงหนึ่งที่ได้กล่าวถึงยุค ‘ปฐมสหการ’ หรือยุคพริมิทีฟ (primitive) เอาไว้ว่าในยุคนั้นที่กินเวลายาวนานไม่น้อยกว่าห้าแสนปีที่มนุษย์สัมพันธ์กันอย่างธรรมชาติ ไร้แนวคิดประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเรื่องรัฐ สิทธิ หรืออำนาจ ฯลฯ ที่จะดลให้เกิดการปฏิปักษ์เชิงความคิดใดๆได้ แต่ถึงอย่างนั้นยุคปฐมสหการ ก็ยังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ในสังคมระบบทาสอยู่ดี และระบบทาสก็ยังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบศักดินา ตามต่อมาด้วยระบบธนานุภาพ ระบบสังคมนิยม ทุนนิยมต่อเนื่องเรื่อยมาอยู่ดี

        ตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุคสมัยที่แสดงให้เห็นว่าจริงอยู่ที่สังคมที่มี ‘ขั้วปรปักษ์’ นั้นจะก่อให้เกิดกระแสพลังงานมากกว่า จนการเปลี่ยนแปลงนั้นรุดหน้าไปไว้ขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ความเป็นปรปักษ์นั้นเป็นตัวแปรเดียวที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หากมันคือความจำเป็นของชีวิตในการปรับตัวไปสู่วิถีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การมีชีวิตมากกว่า เป็นความปรารถนาของชีวิตที่ล้วนปรับตัวไปสู่ความก้าวหน้า

        ในแง่นี้นั้นการขัดขวางความเปลี่ยนแปลง แย้งด้วยเหตุผลว่าเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการปะทะนั้นย่อมเป็นความเข้าใจที่ผิดธรรมชาติไป

        การขัดขวางกระแสความเปลี่ยนแปลงต่างหากที่รังแต่จะให้เกิดการปะทะที่ไม่จำเป็นเกิดขึ้น 

 

ความเป็นอนิจจังของสังคม

 

อิสรภาพของบุคคลก็ดี อิสรภาพของสังคมก็ดี ล้วนมีได้ ด้วยการรู้อนิจจัง

        การยกพุทธทำนายขึ้นมาบอกเล่าในช่วงต้นของหนังสือเล่มนี้ หรือแม้แต่ชื่อหนังสือเอง อาจทำให้เกิดความสงสัยว่า นี่จะเป็นหนังสือวิทยาศาสตร์สังคม (social sciences) ตามคำนำสำนักพิมพ์ได้อย่างไร แนวคิดพุทธธรรมจะมาเกี่ยวข้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์ และความเป็นสังคมได้อย่างไร

        แต่ความรู้ที่แท้ประกอบขึ้นมาจากสหวิทยาการฉันใด พุทธธรรมคำสอน – วิทยาศาสตร์ – ความเป็นสังคม ก็ไม่แยกขาดจากกันฉันนั้น ความสำคัญคือการพินิจพิเคราะห์ให้เห็นถึงแก่นของศาสตร์ใดๆ ที่ส่งต่อกันมา พิจารณาปรากฏการณ์ใดๆ ที่ได้อุบัติขึ้นว่ามีเหตุ ปัจจัยใดๆ ไม่มองถ้อยคำทำนายถึงยุคมิคสัญญี ยุคศรีอารยเมตรไตรยเป็นแค่ชาดกโบราณ หากเป็นสิ่งที่เป็นไปตามกาลและเวลาของธรรมชาติที่เมื่อมีการกดขี่ ย่อมมีการปลดปล่อย เมื่อมีความไม่ชอบธรรม ย่อมมีความพยายามให้เกิดสังคมที่ชอบธรรมตามมา วนเวียนหมุนเรื่อยไปเช่นนั้น

        และเมื่อมองเช่นนี้ได้แล้ว จึงจะสามารถมองเหตุปัจจัยต่างๆ ได้ด้วยสายตาสะอาด ตามธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ไหวติงต่อความเปลี่ยนแปลง หากเลื่อนไหล ปรับตัว ยอมรับ ไปตามกระแสกาลเวลา ความพยายามของชีวิตที่คอยหาจุดสมดุลที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปกติที่สุด ดังที่ปรีดีกล่าวไว้ว่า 

        “ปุถุชนผู้เบียดเบียนข่มเหงผู้อื่น ซึ่งแม้ในขณะหนึ่งจะมีพลังมหาศาลเปรียบเสมือนพญามารก็ดี แม้จะใช้วิธีที่ไร้ศีลธรรมประหัตประหารผู้บริสุทธิ์เพื่อต่ออายุการเบียดเบียนให้ยาวออกไปชั่วขณะก็ดี แม้จะใช้วิธีรักษาระบบของปุถุชนเหล่านั้นโดยปิดหนทางเท่าที่ตนสามารถนึกได้ก็ดี แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งความเสื่อมสลายแห่งระบบของปุถุชน และไม่สามารถต้านทานระบบใหม่ของสาธุชนได้ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่ย่อมมีทางเกิดและทางเติบโตตามกฎธรรมชาติได้เสมอ กำแพงใดๆ ไม่อาจสร้างขึ้นโดยปุถุชนเพื่อสกัดกั้นการอุบัติและการวิวรรตของสิ่งทั้งหลาย”

        ถ้อยความที่เตือนใจและปลอบใจผู้คนที่กำลังว่ายวนในกระแสธารของการเปลี่ยนแปลง ที่หลายครั้งดูยาวนาน หลายครั้งดูไม่เคลื่อนหน้าไปไหน แต่ไม่ว่ามันจะดูช้าอย่างไร การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ จะเร็วจะช้าล้วนเป็นเพียงเงื่อนไขของกาลเวลา จะเร็วจะช้าก็ขึ้นอยู่กับว่าคลื่นลูกใหม่นั้นสะสมพลวัตไว้มากเพียงใด

        ถ้อยความลงท้ายคำนำหนังสือจากปรีดีที่เขียนไว้ในปี พ.ศ. 2500 ณ นครกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ยังคงสร้างแรงสั่นไหวต่อผู้อ่านในประเทศไทย ในพุทธศักราชปัจจุบัน