thangka

ศิลปะกับการภาวนา ตระหนักถึงพุทธะภายในผ่านการวาด ‘ทังก้า’ และสลายลวดลายสีสันกลับสู่สุญญตา

“พระพุทธเจ้าที่เราวาดออกมา อาจไม่เหมือนพระพุทธเจ้าองค์ไหน นอกจากพุทธะในใจของเราเอง”

        ‘อาจารย์ดอน’ – ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา กล่าวขึ้นมาในช่วงเริ่มต้นห้องเรียน ‘วาดพุทธะ’ บนพื้นที่ชั้นห้าของวัชรสิทธา ที่เปลี่ยนเป็นสตูดิโอวาดภาพชั่วคราวตั้งแต่เช้าจรดเย็นของวันหยุดสุดสัปดาห์ ให้ผู้คนได้มาภาวนาผ่านการวาด ‘ทังก้า’ (Thangka) การวาดภาพพระพุทธเจ้าแบบทิเบตที่หาเรียนไม่ง่าย ไม่ว่าในไทยหรือต่างประเทศ

        ทังก้า งานจิตรกรรมพุทธศิลป์ที่ชาวทิเบตใช้ถ่ายทอดปรัชญาทางพุทธศาสนา บอกเล่าเรื่องราวตำนานพระพุทธเจ้าผ่านรูปวาดที่เต็มไปด้วยศาสตร์และศิลป์ มีระเบียบขั้นตอนปฏิบัติชัดเจน มีประเพณีเก่าแก่ แต่อาจารย์ดอนได้เริ่มต้นการสอนด้วยการเล่าตำนานของทังก้า ตามมาด้วยการบอกกับเราว่า เล่าไว้ให้พอรู้จัก ทั้งหมดนี้ไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะทุกเส้นสาย ปลายพู่กัน สีที่เลือกใช้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อสิ่งใด นอกจากสะท้อนพุทธะในใจของเราเอง 

        การวาดภาพกับการภาวนา ที่หลายคนอาจมองว่าไม่น่าจะเข้ากัน หากเมื่อได้ลองจับดินสอร่างเส้น ผสมสี ลงสี ตัดเส้น ถึงได้ค่อยๆ เห็นความหมายที่คล้ายกัน เห็นจิตข้างในจากสิ่งที่ปรากฏภายนอก และให้ใจที่จดจ่ออยู่กับกิจภายนอกขจัดเครื่องกั้นขวางหนทางตระหนักรู้ข้างใน   

 

thangka

Practice the principle and let it go

        อาจารย์ดอนเริ่มต้นจากการให้เราฝึกวาดภาพด้านขวาของหน้าพระพุทธเจ้า ตามมาด้วยการฝึกตีตารางด้วยตนเองให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ที่ในทางทิเบตถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญพื้นฐานในการรักษาประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ให้สัดส่วนของภาพวาดที่ออกมานั้นคงเดิม ไม่ว่าจะผ่านมือศิลปินคนใด ไม่ว่าจะมีศิลปินกี่คนลงมือบนชิ้นงานนั้นพร้อมกันก็ตาม

        ในขณะที่เรากำลังง่วนอยู่กับการตีเส้นทศนิยมสองหลักหน่วยมิลลิเมตรให้ถูกต้องอยู่นั้น อาจารย์ดอนผู้เดินมาเห็นรอบแรกและไม่กล่าวอะไร กล่าวขึ้นมาในรอบสองที่เรายังดูตีเส้นไม่ไปไหนว่า ถ้ามันถูกต้องได้ก็ดี แต่ถ้ามันจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง ก็ขอให้ปล่อยไป ประโยคง่ายๆ ที่ทำให้เส้นที่เหลือเกิดขึ้นง่ายดาย และพร้อมก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไป

Find the balance, and let your hands flow

        เมื่อตีเส้นสัดส่วนเสร็จ ก็ถึงเวลาร่างภาพบนเส้นต่างๆ ที่ถูกวางไว้เพื่อช่วยกำกับสัดส่วน ขั้นตอนที่ดูเหมือนง่ายในการร่างแบบ แต่การวาดองศาโค้งให้เท่ากับต้นแบบนั้น หรือเอาแค่ให้ข้างซ้ายข้างขวาเท่ากัน กลับไม่ง่ายเท่าไหร่

        มือที่ไม่ได้จับดินสอมานาน เก้ๆ กังๆ อยู่นาน วาดแล้วลบ ลบแล้ววาดใหม่ วนไปอย่างนั้น และก็เป็นอาจารย์ดอนอีกเช่นกันที่เดินมาเห็นแล้วแนะให้ หาจุดสมดุลให้เจอ แล้วปล่อยมือวาดลงไป ยิ่งเกร็งมือ เส้นจะยิ่งคดเคี้ยว ยิ่งพยายามให้ไม่บิดเบี้ยว ยิ่งไม่สมดุล  

 

thangka

Be comfortable with the uncomfortable

        ยืนเลือกสีอยู่นาน จู่ๆ ภาพที่คิดไว้มาจากบ้านกลับไม่ใช่สีที่อยากใช้ขึ้นมา ตัดสินใจหยุดคิด แค่เลือกสีที่รู้สึกกับมัน บีบลงไปบนถาดสีเล็กน้อย ค่อยๆ ผสมสีทีละนิด จนได้สีที่พอดีกับที่ต้องการ

        มองดูผืนผ้าแคนวาสสีขาว ที่เริ่มปรากฏรูปร่างพระพุทธองค์อยู่ตรงหน้า หายใจออกยาวๆ เมื่อขั้นตอนแรกนั้นได้เสร็จสิ้นไปแล้ว จุ่มพู่กันลงในน้ำสะอาด และหายใจเข้ายาวๆ ก่อนจะปล่อยลมหายใจออกอย่างหมดจดอีกครั้ง จับพู่กันแต้มลงบนสีที่ผสมแล้ว และสะบัดปลายพู่กันลงไปในเส้นที่เราเองเป็นผู้วาดขึ้นมา 

        ช่วงแรกของการลงสีบนผืนผ้านั้นผ่านไปอย่างล่าช้า สีนั้นดีไหม เฉดนี้เข้ากันแล้วหรือเปล่า แต่ยิ่งหายใจเข้า หายใจออก ได้ลองเล่นกับกับสีมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งผ้าใบเริ่มเปรอะเปรื้อนไปด้วยสีแล้ว ความกังวลยิ่งค่อยๆ ลดหายลงไป ไม่เป็นไรหรอก ถ้าลงสีนี้แล้วไม่ชอบ เดี๋ยวค่อยลงทับใหม่ หรือค่อยๆ ผสมสีอื่นให้เข้ากับสีที่ลงไปแล้วเอง

 

thangka

Feel your own Buddha

        กลายเป็นว่าสีพื้นหลังที่เป็นจุดแรกของการลงสีที่มีดีเทลน้อยที่สุด ใช้พู่กันเบอร์ใหญ่สุด กลับเป็นจุดที่รู้สึกได้ถึงความลังเลมากที่สุด หากยิ่งวาดไป ยิ่งกล้าที่จะลองสีมากขึ้น สีที่ไม่คิดมาก่อนว่าเป็นสีที่จะชอบก็กลับเป็นสีที่ชอบ หรือแม้แต่การตัดขอบที่ต้องเปลี่ยนมาใช้พู่กันหัวเล็ก กลับกลายเป็นว่า ความกังวลจะผิดกลับน้อยลงกว่าตอนใช้พู่กันใหญ่ถมพื้นหลังของภาพ

        พักสายตา หันกลับมามองภาพที่ปรากฏขึ้นจากผืนผ้าสีขาว ตอนนี้เต็มไปด้วยสีสัน เส้นที่คอยกังวลว่าจะตีบิดเบี้ยวหลักหน่วยนั้นได้หายไปแล้ว เหลือไว้แต่เพียงเส้นสายลวดลายต่างๆ ที่หากวัดก็คงไม่เท่ากัน แต่ความไม่พอดีกลับทำให้ภาพดูมีมิติ สมดุล

        ขั้นตอนสำคัญ ที่อาจารย์ดอนแนะนำให้ลงสีเป็นขั้นตอนสุดท้ายคือการวาดใบหน้าและดวงตา อาจารย์บอกว่าเพื่อป้องกันการเปรอะเปื้อน แต่การเก็บขั้นตอนสำคัญนี้ไว้ ดูจะช่วยได้มากกว่านั้น เมื่อสมาธิ จิตใจกับภาพเริ่มสัมพันธ์กัน เมื่อความกังวลถูกผิดถูกขจัดออกไป แม้แต่รายละเอียดที่เล็กที่สุด ก็ไม่น่ากังวลเท่าไหร่แล้ว 

        แค่หายใจ

        อยู่กับมัน

        และสะบัดพู่กันไป

        ประสบการณ์ทั้งหมดนี้ อาจไม่ถูกต้องเท่าไหร่ตามระเบียบประเพณีโบราณของการวาดภาพทังก้า หากในมุมของการภาวนา การวาดภาพทังก้า ไม่ว่าจะตามประเพณี หรือตามใจปรารถนาล้วนทำให้ได้รู้เชิงประจักษ์ถึงความหมายของความว่าง สุญญตา จากผืนผ้าว่างเปล่า กลายมาเป็นภาพพุทธะที่มีสีสัน ลวดลาย ที่ในทุกเส้นสายล้วนดึงจิตใจกลับมาอยู่กับกิจที่ทำ ตรงนี้ ตอนนี้ สีนี้ ผ้าใบนี้ 

 

thangka

Emptiness, where life begins and vanishes

        “บนพื้นผ้าใบแห่งความว่าง รูปทั้งหลายได้ปรากฏขึ้น

        บนพื้นผ้าใบแห่งจิต สิ่งทั้งหลายได้ปรากฏขึ้น

        ทั้งสีขาว สีดำ และสีอันวิจิตรต่างๆ

        ทั้งกุศล อกุศล และอารมณ์อันวิจิตรต่างๆ

        ล้วนปรากฏขึ้นจากความว่าง และสลายไปในความว่าง…”

        เราเปล่งเสียงอ่านบทสาธนาแห่งการวาดพุทธะที่อาจารย์ดอนประพันธ์ขึ้นมา ก่อนนำพู่กัน ถาดสีไปทำความสะอาด ปล่อยให้น้ำชำระล้างสีต่างๆ ให้หลุดไป เราหันไปพูดคุยถึงผลงาน ชื่นชมกันและกัน และแยกย้ายกลับบ้าน

        พื้นที่ชั้นห้าของวัชรสิทธากลับสู่ความว่างอีกครั้ง

        ทุกอย่างหายไป

        ทิ้งไว้เพียง

        ข้างในที่เปลี่ยนแปลง

 

thangka

 


ขอบคุณรูปภาพ และติดตามกิจกรรมอื่นๆ จากวัชรสิทธาได้ที่ https://web.facebook.com/vajrasiddha