Calligraphy โลกของศิลปะการออกแบบตัวอักษร ที่อาจเป็นทักษะพิเศษในอนาคต

“Calligraphy is an art form that uses ink and a brush to express the very souls of words on paper.”
-Kaoru Akagawa ศิลปิน Calligraphy ชาวญี่ปุ่น  

       

        Longdo Dictionary กำหนดความหมายของ Calligraphy ไว้ว่า [n.] [แค็ลลีก-ระฟิ] การเขียนลายมือบรรจง, การประดิษฐ์ตัวอักษร ส่วนในบันทึกของวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีนั้นให้ความหมายว่า อักษรวิจิตร เป็นทัศนศิลป์ชนิดหนึ่ง มักจะเรียกว่าศิลปะของการเขียน และมีความหมายในทางปฏิบัติคือ ศิลปะแห่งการให้รูปแบบเพื่อแสดงถึงลักษณะความหมาย ความกลมกลืน และความชำนาญ ซึ่งคำว่า Calligraphy นี้มาจากภาษากรีก κάλλος (kallos = วิจิตร) และคำว่า γραφή (graphẽ = การเขียน)

        เอาล่ะ ก่อนอื่น เรามาเริ่มทำความรู้จักที่มาที่ไปของ Calligraphy กันสักเล็กน้อย Calligraphy นั้นเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาความสามารถทางเทคนิค ความรวดเร็ว ความจำกัดของวัตถุที่ใช้ สถานที่ที่ทำการเขียน และเวลาที่ใช้ในการเขียน ลักษณะของการเขียนเช่นนี้ถูกเรียกว่า Script, Hand หรือ Alphabet ซึ่งจะมีความแตกต่างกันมากพอสมควรระหว่าง Calligraphy ในปัจจุบันกับสมัยโบราณ

        ในสมัยก่อน Calligraphy มักจะเป็นรูปแบบของอักษรเรียงพิมพ์ (Typography) ลักษณะของตัวอักษรจะเป็นระเบียบและมีแบบแผนมากกว่า แน่นอนว่ามีความอ่อนไหวและแสดงถึงคุณลักษณะด้านการสร้างสรรค์ของผู้เขียนเป็นตัวตั้งต้น รูปแบบโดยทั่วไปที่นิยมกันคือการเขียนบัตรเชิญเนื่องในโอกาสพิเศษ หรือประกาศนียบัตรต่างๆ รวมไปถึงการออกแบบอักษรประดิษฐ์ การออกแบบโลโก้ ศิลปะทางศาสนา 

        ส่วนปัจจุบันนี้การเขียน Calligraphy หรืออาจจะเรียกอีกอย่างว่า Lettering จะมีความหลากหลาย มีอิสระในการออกแบบอย่างมาก ทั้งในแง่ของรูปแบบและอุปกรณ์ที่เลือกใช้ ซึ่งมีตั้งแต่ตัวอักษรที่ออกแบบสำหรับการใช้งานการสลักอักษรบนวัสดุที่ไม่ใช่กระดาษ เช่น หิน กำแพง Display ร้านค้า ไปจนถึงการออกแบบตัวอักษรสำหรับงานวิจิตรศิลป์ที่ให้ความละเอียดอย่างที่สุด รวมทั้งการออกแบบอักษรแนวแอบสแตร็กสุดล้ำ ซึ่งแตกหน่อออกไปเป็นรูปแบบการพ่นสีบนกำแพงที่เรียกว่า Graffiti Letters 

        ก่อนหน้านี้ มีบทความชิ้นหนึ่งของบีบีซี ที่พูดถึงเรื่องทักษะการเขียนด้วยลายมือที่กำลังจะหายไป จากการเข้ามาแทนที่ของคีย์บอร์ดบนเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน นึกไปก็แอบใจหายว่ามันคงจะเป็นเรื่องจริงในอนาคตอันใกล้ แต่ในแง่ของงานศิลปะอย่าง Calligraphy นั้น ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นทักษะพิเศษที่ควรค่าแก่การรักษาไว้อย่างยิ่ง และส่วนตัวแล้วไม่น่าจะคิดไปคนเดียว เพราะทุกวันนี้ มีผู้คนมากมายทั่วโลกยังให้คุณค่าของการเขียนด้วยลายมือ รวมทั้งมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบและฝึกฝนการเขียน Calligraphy กันมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย และแทบจะทุกคนมักชื่นชมคนที่เขียน Calligraphy ว่า “ลายมือสวยจัง ฉันไม่มีทางเขียนได้แน่นอน” พูดง่ายๆ ว่า หลายคนอยากเขียนแบบนี้ได้บ้าง แต่ก็ปลงที่ตัวเองลายมือไม่สวย และถอดใจไม่อยากเขียนไปในที่สุด

        แต่เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งถอดใจหรือหมดใจ เพราะผู้เขียนมั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับลายมือสวยหรือไม่สวยแต่อย่างใด เพราะความหมายของ Calligraphy นั้นก็ชัดเจน ว่าเป็นการออกแบบตัวอักษร ฉะนั้นมันเลยขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบมากกว่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับลายมือปกติของแต่ละคน 

        การออกแบบตัวอักษร จึงเสมอเหมือนรูปภาพรูปหนึ่ง เพียงแต่ว่าไม่ใช่รูปคน สัตว์ สิ่งของ เท่านั้นเอง และหากจะพูดถึงเสน่ห์ของ Calligraphy ที่นอกเหนือจากเทคนิคการใช้ลายเส้นต่างๆ แล้ว ก็ต้องยกให้เป็นเรื่องของความสดใหม่ ที่เกิดจากการออกแบบในหัวแล้วเขียนออกมาเลย เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ปั๊มอะดรีนาลีนได้ดีทีเดียว รวมไปถึงความตรงไปตรงมาของถ้อยคำที่เราเลือกใช้เพื่อสื่อความหมายที่เห็นแล้วทุกคนสามารถเข้าใจได้เลย ซึ่งต่างจากศิลปะการภาพวาดชนิดอื่น ที่สร้างจินตนาการได้หลายอย่าง จึงขึ้นอยู่กับทัศนคติ มุมมอง และประสบการณ์ของแต่ละคนเป็นพื้นฐาน 

        นอกจากนั้น ความพิเศษอีกด้านหนึ่งของการฝึกเขียน Calligraphy ก็คือการได้อยู่กับปัจจุบัน และได้เห็นรูปแบบของความคิด หัวจิตหัวใจ ผ่านทุกเส้นสายที่ออกแบบว่าจะตวัดไปทิศทางใด เส้นสายจะหนาจะบางที่ช่วงไหน ทุกตัวอักษรจะเชื่อมต่อสร้างสัมพันธ์กัน ณ จุดและมุมใด ดังนั้น หากใจไม่นิ่ง มือเราจะไร้ประโยชน์ทันที นี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่เราค้นพบความหมายของคำว่า Mind Over Matter หรือใจเป็นนายกายเป็นบ่าวของแท้ และผลลัพธ์ของมันก็คือการเกิดสมาธิขึ้นมาในทันที ดังเช่นที่ Kaoru Akagawa ศิลปินชาวญี่ปุ่นด้าน Calligraphy ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนที่สุดว่า “Calligraphy is an art form that uses ink and a brush to express the very souls of words on paper.”

        เรื่องของ Calligraphy ที่เกือบกลายเป็นศิลปะที่อยู่ในที่ในทางของมันเงียบๆ ไปตลอดกาล ได้รับความสนใจไถ่ถามมากขึ้น เมื่อโลกได้รับรู้ว่า สตีฟ จ็อบส์ ตำนานตลอดกาลแห่ง Apple เคยสนใจลงเรียนวิชาออกแบบตัวอักษรวิจิตรที่เรียกว่า Calligraphy นี้เมื่อตอนเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย Reed ซึ่งถือว่าเป็นคอร์สที่มีการสอนดีที่สุดในอเมริกาในขณะนั้นด้วย จ็อบส์เล่าว่า เขาถูกดึงดูดด้วยป้าย โปสเตอร์ และสัญลักษณ์ต่างๆ ในบริเวณมหาวิทยาลัยที่เขาเห็น และคิดว่าทำไมและทำอย่างไรตัวอักษรเหล่านั้นถึงได้มีการออกแบบได้อย่างสวยงามเช่นนี้ และนี่ก็คือสิ่งที่จุดประกายให้จ็อบส์ตัดสินใจเข้าเรียนคอร์ส Calligraphy ในทันใด

        ถ้ายังจำสปีชอันลือลั่นในปี 2005 ที่สตีฟ จ็อบส์ กล่าวในวันรับปริญญา ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้… (ซึ่งวันนี้สปีชนั้นได้กลายเป็นหนึ่งในการปราศรัยที่โด่งดังมากไปแล้ว)

        จ็อบส์บอกว่ามีเพียง 3 สิ่งเท่านั้นที่สำคัญในชีวิตของเขา หนึ่งในนั้นคือการดร็อปเรียนทุกวิชาและเลือกเข้าไปเรียนวิชาอักษรวิจิตร “ผมได้เรียนเรื่องตัวอักษร Serif และ San Serif เรียนเรื่องการจัดช่องไฟระหว่างตัวอักษร เรียนรู้ว่าตัวอักษรที่สวยงามนั้นสวยงามได้เพราะอะไร มันเป็นความสวยงามทางศิลปะในแบบที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถสอนได้ และผมพบว่ามันน่าหลงใหลมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้มีผลอะไรในชีวิตหรือการทำงานของผมเลย แต่แล้ว 10 ปีต่อมา ตอนเราออกแบบคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเครื่องแรก บทเรียนทั้งหมดกลับมาชัดเจนในใจผม หากผมไม่ได้เข้าไปศึกษาวิชานั้นในมหาวิทยาลัย เครื่องแมคคงไม่มีฟอนต์หลากหลาย หรือมีการเว้นช่องไฟได้สัดส่วนขนาดนี้แน่ครับ” เห็นได้ชัดว่าวิชาอักษรวิจิตรที่ว่านี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่มีอิทธิพลอย่างมากในงานออกแบบผลิตภัณฑ์แบรนด์ Apple ของเขา และยังคงเป็นกรอบในการพัฒนาความสวยงามของแบบตัวอักษรต่างๆ มาจนทุกวันนี้

        [Serif คือแบบอักษรที่มีขีดเล็กๆ อยู่ที่ปลายอักษร หรือฟอนต์โรมัน (Roman) ส่วน San Serif คือแบบอักษรที่ไม่มีขีดเล็กๆ อยู่ที่ปลายอักษร หรือฟอนต์กอทิก (Gothic)]

 

        นอกจากเรื่องราวของ Calligraphy แล้ว รูปแบบและชนิดของหัวปากกาของ Calligraphy ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจคนชอบออกแบบอย่างเราๆ เช่นกัน โดยในสมัยโบราณที่ย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อนนั้น การเขียนจะมีเพียงรูปแบบการเขียนแบบจุ่มหมึกเท่านั้น (Nib) ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่นิยมและท้าทายทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพเพราะเป็นการเขียนที่ยากที่สุด อุปกรณ์การเขียนแบบการจุ่มหมึกประกอบด้วยกันสองส่วนคือ หัวปากกาที่เป็นแผ่นเหล็กเล็กๆ มีปลายแหลมเป็นส่วนหัว ที่เรารู้จักกันในนามหัวปากกาคอแร้ง เรียกว่า Nib สำหรับจุ่มหมึก และด้ามจับ ซึ่งมีทั้งแบบตรง (Straight holder) หรือแบบเอียง (Oblique holder) ส่วนปากกาแบบที่เหมาะสำหรับมือใหม่และเป็น Calligraphy Modern มากกว่านั้นจะเป็นรูปแบบ Brush ต่างๆ เช่น ปากกาพู่กันหัวเล็ก (Brush pen) ปากกาพู่กันหัวใหญ่ (Brush marker) ซึ่งมี 2 หัว ด้านใหญ่เป็นหัวนุ่มแบบพู่กัน (Brush tip) และด้านเล็กเป็นหัวแข็งแบบปากกาเมจิก (Bullet tip) เป็นต้น เรียกว่ามีปากกาชนิดไหนในมือ หรือแม้แต่ดินสอ 2B  ก็หยิบจับมาเขียน Calligraphy ได้ทันที หากใจคุณเรียกร้อง

        สำหรับผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากจะลุกขึ้นมาลองออกแบบตัวอักษรบ้าง ผู้เขียนขอแนะนำให้เข้าไปดูการออกแบบ Calligraphy จากผู้คนทั่วทุกมุมโลกใน Instagram ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะนั่นคือพื้นที่แรกๆ ที่ผู้เขียนจับพลัดจับผลูไปเห็นเข้า แล้วจิตวิญญาณก็ถูกดูดเข้าไปในศิลปะแขนงนี้ทันที เพราะมีเรื่องน่าเรียนรู้มากมาย นอกจากนั้นในประเทศไทยเองก็มีนักออกแบบอักษรวิจิตรที่โดดเด่นอยู่หลายต่อหลายคนเบื้องต้น เราจะขอแนะนำนักเขียน หรือ Calligrapher 4 คนที่เราชอบเป็นพิเศษ และติดตามผลงานของพวกเขามาโดยตลอดก็แล้วกัน 

        1. ‘Sorravis P.’ หรือ ‘อั้ม’ นักศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ มหาวิทยาลัยศิลปากร Calligraphy ภาษาไทยของอั้มสวยงามประทับใจเรามาก ถ้าจะกล่าวว่ามีผลงานที่หาคนเทียบได้ยากก็ไม่เกินจริงนักสำหรับเรา ติดตามผลงานหรือคอร์สที่เขาเปิดสอนสนุกๆ ได้ที่ @sorravis.p

        2. หนุ่มชาวเหนือในนาม ‘TUSK Calligraphy’ ที่สร้างงานเป็นล้านนาสไตล์ของตัวเอง เป็น Calligraphy ที่แปลกตาและน่าทึ่งมากๆ รายนี้ไม่มีคอร์สสอนที่ไหน แต่มีสินค้าที่มาจากงาน Calligraphy ของเขาเอง ชมผลงานได้ที่ @tusk6

        3. ‘ไชยวัฒน์’ หรือผู้ที่ใช้นามว่า ‘Typer’ เป็นแนว Modern Calligraphy คนส่วนใหญ่เข้าถึงงานของเขาได้ง่ายขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นผลจากการลองปรับรูปแบบให้ง่ายต่อการเขียน ด้วยการใช้หัวปากกาที่หลากหลาย คอร์สสอนของ Typer ได้รับความนิยมไม่แพ้ใครเลยทีเดียว สนใจติดตามเขาได้ที่ @typerofficial

        4. ‘ชมพู่’ หรือ ‘Everyday Letters’ มีสไตล์แบบมิกซ์แอนด์แมตช์ที่สนุกสนาน สามารถเขียนออกมาได้ลงตัวในทุกแบบปากกาที่เลือกใช้ และมีคอร์สสนุก ๆ ให้เลือกเรียนด้วย ลองเข้าไปชมกันได้ที่ @everydayletters

        ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าคุณจะทำงานหลักอะไร การมีงานอดิเรกสักอย่างสองอย่างก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นในยุคนี้ไปแล้ว เราอาจจะเรียกว่ามันเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยความเครียดประจำวัน หรือเพื่อเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเองก็ได้เช่นกัน เพราะการลงทุนให้กับตัวเองนั้นถือเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

        อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า แม้ Calligraphy หรือการเขียนด้วยลายมือ จะเป็นเรื่องที่คนจำนวนหนึ่งคิดว่ามันจะหายไปเพราะถูกแทนที่ด้วยคีย์บอร์ดอัจฉริยะบนสมาร์ตโฟน หรือแม้แต่ในหลายประเทศก็แทบจะยกเลิกวิชาการคัดลายมือออกจากระบบการศึกษาแล้วก็ตาม แต่เรากลับคิดว่าคุณค่าของการเขียนด้วยลายมือ หรือการออกแบบ Calligraphy ไม่ได้ลดลงเลย แค่เรื่องสมาธิที่เราได้รับ (อย่างแยบยล) จากการฝึกเขียนหรือฝึกออกแบบ Calligraphy ก็มีคุณค่าเกินพอแล้วในวันที่โลกเราวุ่นวายเต็มไปด้วย Toxic ในโซเชียลมีเดีย และอย่างที่ย้ำเสมอว่า ไม่แน่ว่าทักษะนี้อาจจะเป็นอาชีพที่สองหรือที่สาม ที่จะนำพารายได้เข้ากระเป๋าคุณอย่างไม่คาดคิด 

        เผลอๆ เงยหน้าขึ้นมาจากการเขียน Calligraphy อีกที คุณอาจจะกลายเป็นเจ้าของทักษะเฉพาะตัวที่หายากที่สุดในโลกก็ได้นะ