‘Cancel Culture’ วัฒนธรรมการเท ฝันร้ายของคนดังและคำถามถึงขอบเขตที่เหมาะสม

วัฒนธรรมการเท (Cancel Culture) คือคำที่เราเริ่มจะได้ยินกันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ  และไม่แน่ว่า เราเองอาจจะเคยเป็นคนหนึ่งที่เทศิลปินที่เราเคยนิยมชมชอบ หรือ คนที่เราไม่คิดจะชอบ

        ถ้าให้พูดง่ายๆ ‘การเท’ ก็คือ วัฒนธรรมการคว่ำบาตร การเลิกติดตาม เลิกสนับสนุนผลงานของทั้งศิลปิน สินค้า ภาพยนตร์ หนังสือที่แสดงออกถึงการมีพฤติกรรมหรือทัศนคติที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะการเหยียดสีผิว เหยียดเพศ การใช้ความรุนแรงในครอบครัว  ถือว่าเป็นพลังอำนาจในมือของเหล่าบรรดาแฟนคลับ ที่จะแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ฉันจะไม่มีส่วนร่วมกับสิ่งเหล่านี้ เพราะมันบูดเกินจะทน 

        ยกตัวอย่างเช่นเหล่าศิลปินคนดังที่โดนวัฒนธรรมการเทเล่นงานไปแบบเต็มๆ ทำเอาคนที่เคยเป็นดาวค้างฟ้า ตกลงมาอย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็น จอห์นนี เด็ปป์ ลีอา มิเชล แรปเปอร์สาวสุดเปรี้ยว โดจา แคต พิธีกรชื่อดัง เอลเลน ดีเจนเนอเรส แม้กระทั่งนักเขียนวรรณกรรมชื่อดังอย่าง เจ. เค. โรว์ลิง ล่าสุดแม้กระทั่งการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับวัฒนธรรมการเทนี้ของ ดาโกตา จอห์นสัน ก็ทำให้ตัวเธอถูกเทไปด้วยเช่นกัน ช่างเป็นอะไรที่ย้อนแย้งเสียเหลือเกิน

ภาพ: www.goodto.com

ว่าแต่ ทำไมปฏิกิริยาของวัฒนธรรมการเท จึงเป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่นสำหรับศิลปินและใครหลายคนขึ้นมาได้?

         ต้องบอกว่า สื่อออนไลน์ถือเป็นส่วนสำคัญในการจุดกระแสนี้ให้ติดไฟลุกโหมได้รุนแรงและรวดเร็ว เสียงที่กระหึ่มในโลกออนไลน์นั้นมักจะมุ่งไปที่การเลิกติดตามตัวศิลปิน นักเขียน ผลงาน รวมถึงผู้สนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หรือที่เรียกว่า ‘ทัวร์ลง’ การเทเป็นวิธีการขับเคลื่อนสังคมแบบหนึ่งที่ใช้กระแสในโลกออนไลน์กดดันให้เกิดการแสดงจุดยืนสนับสนุน (call out) อย่างที่เราอาจจะเคยเห็นบรรดาสปอนเซอร์พร้อมใจกันถอนโฆษณาออกจากทีวีช่องหนึ่งมาแล้ว รวมไปถึงการขอโทษและปรับทัศนคติของศิลปินดาราที่ต้องออกแถลงการณ์อธิบายการกระทำและจุดยืนกันอย่างจริงจัง 

        วัฒนธรรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมของเหล่าบรรดาแฟนคลับหรือผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป เพราะไม่นานมานี้ นักเขียนสาวดาวรุ่งพุ่งแรงสัญชาติไอริช แซลลี รูนีย์ เจ้าของผลงานเรื่อง Normal People, Conversations with Friends ได้ประกาศว่า เธอปฏิเสธที่จะขายลิขสิทธิ์ผลงานเล่มล่าสุดของเธออย่างเรื่อง Beautiful World, Where Are You ให้กับสำนักพิมพ์ Modan Publishing House ในอิสราเอล เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนในการสนับสนุนกระบวนการคว่ำบาตรอิสราเอลของกลุ่ม Boycott, Divestment and Sanctions (BDS) ที่เคลื่อนไหวด้านเสรีภาพ ความยุติธรรม และความเท่าเทียมในปาเลสไตน์ โดยที่เธอยืนยันว่า เธอไม่ได้มีปัญหากับภาษาฮีบรู หากสามารถหาวิธีการจัดพิมพ์ที่ยังสอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่ม BDS และยืนยันว่า เธอยินดีที่จะให้หนังสือของเธอถูกแปลเป็นภาษาฮีบรู ปัจจุบันมีศิลปิน นักร้อง นักแสดงจำนวนมากที่ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม BDS อย่างชัดเจน การจุดกระแสของเธอครั้งนี้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างต่อเนื่อง

ภาพ: www.straitstimes.com

ความแตกต่างระหว่างการแสดงจุดยืนสนับสนุน (call out) และวัฒนธรรมการเทอยู่ตรงไหน? 

         คำตอบคือ การ call out หรือการเรียกร้องให้ใครออกมาแสดงจุดยืนหรือแสดงความรับผิดชอบและขอโทษต่อสิ่งที่ตัวเองทำผิดนั้น  บรรดาแฟนคลับยังให้โอกาสให้คนที่ทำผิดได้เรียนรู้และแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง ส่วนวัฒนธรรมการเทบางแง่มุมอาจเป็นประโยชน์ในการทำให้คนหรือองค์กรรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวเอง แต่กลวิธีการลงโทษคนทำผิดมักถูกประทับตราไปแล้วว่าเป็นคนเลว สมควรได้รับการลงโทษและถูกประณามอย่างสาสม จนบางครั้งเราก็แยกไม่ออกว่านั่นคือการลงโทษแบน หรือการบูลลี่คนอื่นกันแน่ 

        เมื่อการเทคืออำนาจ ทำให้วัฒนธรรมการเทกลายเป็นหนึ่งในวิธีการแสดงออกของผู้ไร้อำนาจหรือกลุ่มคนชายขอบของสังคมที่ไม่มีปากมีเสียง เพื่อแสดงออกถึงความต้องการที่จะทวงคืนความยุติธรรมและแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มีต่อเหตุการณ์นั้นๆ ในฐานะที่ตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นกัน ดังนั้น การได้ตอกย้ำความรู้สึกที่เป็นกลุ่มก้อน จาการรวมกลุ่มกันเพื่อเทอะไรสักอย่างร่วมกันจึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกมีพลังอำนาจไปด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สื่อออนไลน์เป็นตัวการสำคัญในการกระจายขยายต่อความทรงพลังของอำนาจนี้

        แต่ต้องไม่ลืมว่าเหรียญย่อมมีสองด้าน ในวัฒนธรรมการเทไม่ได้มีเพียงผู้ที่เทและผู้ที่ถูกเทเท่านั้น แต่ยังมี ‘ไทยมุง’ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์ด้วย แม้ว่าไทยมุงจะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์นี้ ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปอะไรเลยก็ตาม แต่เหมือนจะเข้ามากระพือให้ไฟลามและทำให้เรามองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริงของเรื่องได้ เพราะถูกอารมณ์บดบังไปเสียหมด

        กล่าวด้วยความยุติธรรมก็คือ ทุกคนย่อมมีอดีต โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ทุกคนย่อมมีการทิ้งรอยเท้าดิจิทัลเอาไว้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้นัยหนึ่งจึงส่งผลให้เกิดความกังวล ความเครียดจากการกลัวโดนขุดค้นข้อความเก่ามาประจาน และหวาดกลัวที่จะแสดงออกความคิดเห็นอะไรที่ขัดแย้งกับกระแสสังคม จนนำไปสู่การเลือกที่จะเงียบและไม่อยากแสดงออกอะไร เพราะกลัวว่าวันหนึ่งตัวเองจะโดนเทเสียเอง เพราะสิ่งที่พวกเขาเข้าใจก็คือ ไม่มีที่ยืนสำหรับคนเห็นต่าง

หากเป็นแบบนั้น ขอบเขตความชอบธรรมในการ ‘เท’ อยู่ตรงไหน?

        คำถามที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ จำเป็นหรือที่เราจะต้องเอาใจกระแสมวลชนเพียงอย่างเดียว จนเลือกที่จะปิดปากตัวเองไว้ดีกว่า ในทำนองอย่าไปแกว่งเท้าหาเสี้ยน หรือน้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง และเอาเข้าจริง การเทควรมีขอบเขตของการลงโทษบ้างหรือไม่ที่จะไม่ทำให้การเทกลายเป็นการข่มขู่คุกคามฝ่ายที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับตัวเอง

ภาพ: www.screendaily.com

        ใน San Sebastian Film Festival เทศกาลหนังที่ประเทศสเปนเมื่อไม่นานมานี้ จอห์นนี เด็ปป์ ได้ออกมาพูดในฐานะเหยื่อของการถูกเทและถูกประทับตราไปแล้วว่าเป็นพวกชอบทุบตีภรรยา ‘wife beater’  ว่า

        “สิ่งเหล่านี้ดูหลุดออกจากการควบคุมไปทุกที ผมสามารถพูดได้เลยว่า ไม่มีใครจะปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว ไม่มีสักคนเดียว มันเกิดขึ้นจากประโยคเพียงประโยคเดียวจากนั้นทุกอย่างก็หายวับไป และสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผมเพียงคนเดียว มันเกิดขึ้นกับใครอีกหลายคน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และมันน่าเศร้าใจมากที่มันกลายเป็นเรื่องปกติไป ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันไม่ใช่”

                  

ภาพ: www.dailymail.co.uk

        ปรากฏการณ์การเทไม่เพียงแต่พุ่งเป้าไปที่การยกเลิกหรือเลิกติดตามผลงานของศิลปินดังๆ ในอุตสาหกรรมบันเทิงเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงวงการวรรณกรรม โดยเฉพาะการแบนหนังสือที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับค่านิยมที่ถูกต้องดีงามของยุคสมัย แม้ว่าวรรณกรรมนั้นจะเป็นวรรณกรรมคลาสสิกขึ้นหิ้งที่คนเขียนก็ตายไปตั้งนานแล้วอีกต่างหากก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โลลิตา (Lolita) นวนิยายที่เขียนโดย วลาดีมีร์ นาโบคอฟ ที่มีเนื้อหาที่ส่อไปในทางเสน่หารักใคร่ต่อเด็กสาวอายุคราวลูก หนังสือเด็กยอดนิยมของ Dr. Seuss แม้กระทั่งการ์ตูนดิสนีย์เรื่อง ปีเตอร์แพน ดัมโบ้ แมวเหมียวพเนจร ก็ล้วนห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบดูไปตามระเบียบ เหตุจากเนื้อหาที่สามารถตีความส่อไปทางเหยียดสีผิวได้ หรือแม้กระทั่งกระแสการพร้อมใจกันเทนวนิยายของทมยันตีจากพฤติกรรมทางการเมืองของนักเขียนก็เกิดขึ้นในบ้านเรามาแล้ว 

        เราจะสามารถแยกผลงานออกจากตัวนักเขียน และสามารถแยกผลงานการประพันธ์ออกจากแนวคิดทางการเมืองได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ยังคงชวนขบคิดได้ไม่สิ้นสุด 

        แต่สิ่งที่เราไม่ควรลืมก็คือ ในแง่หนึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้คือประตูที่จะพาให้คนอ่านเข้าไปสำรวจตรวจสอบความเป็นมนุษย์ด้วยมุมมองของคนอื่น แน่นอนว่ามีทั้งด้านสว่างและด้านมืดเป็นธรรมดาของชีวิต เป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้เราได้ลิ้มรสชีวิตที่ไหลลื่นและหลากหลายอยู่ในนั้น การอ่านความหมายในเรื่อง แท้จริงแล้วเป็นหน้าที่ของคนอ่านต่างหากที่จะตีความเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไร เพราะผู้เขียนสิ้นสุดหน้าที่ลงเมื่อหนังสือออกไปสู่มือสาธารณชนแล้ว นั่นคือหัวใจและคุณค่าของวรรณกรรม นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเรายังต้องอ่านและขบคิด วิเคราะห์เรื่องราวในหนังสือต่อไป

        เราไม่ได้บอกว่าคุณต้องชอบโลลิต้าหรือชอบงานของนาโบคอฟ เราไม่ได้สนับสนุนแนวคิดการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหรือแนวคิดเหยียดสีผิว แต่เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการแบนผลงานเหล่านี้ เพราะสิ่งสำคัญเพื่อสร้างให้เกิดสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน คือเราต้องสร้างให้เกิดการวิพากษวิจารณ์ผลงาน รวมถึงตัวผู้ประพันธ์ในหลากหลายแง่มุมต่างหาก และเรียนรู้ความผิดพลาดจากสิ่งเหล่านั้นต่างหาก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมมันจึงควรมีอยู่

        ไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะต่างอะไรกับในยุคกลางที่ทุกคนต่างทำหน้าที่ตรวจตราความถูกต้องดีงามของกันและกันบนบรรทัดฐานของตัวเอง ถ้าเช่นนั้น เราสามารถเรียกมันว่าเป็นความอำมหิตทางศีลธรรมได้หรือไม่ สิ่งที่เราทำเพียงเพราะเราหลงใหลไปกับการจับจ้องตรวจสอบผู้อื่น โดยที่ไม่ได้ทำให้ผู้ที่ถูกกดขี่ในสังคมได้มีพื้นที่หรือมีสิทธิมีเสียงอะไรเพิ่มจากเดิม ปิดทางเลือกของสังคมให้เหลือเพียงแค่ การเงียบ หรือไม่ก็ต้องพูดให้ถูกใจคนฟัง แค่นั้นน่ะหรือ

        หรือแม้กระทั่งเราจะใช้อำนาจในการเทของตัวเองนั้นอย่างไรโดยที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่เช่นนั้นแล้วเหล่าไทยมุงและคนเทคงต้องกลายเป็นผู้มีมลทินไปเสียเอง 


อ้างอิง:

https://deadline.com/2021/09/johnny-depp-cancel-culture-so-far-out-of-hand-no-one-is-safe-asks-people-to-stand-up-against-injustice-1234842145
https://www.aljazeera.com/news/2021/10/12/sally-rooney-rejects-israeli-translation-offer-in-support-of-bds
https://nypost.com/article/what-is-cancel-culture-breaking-down-the-toxic-online-trend
https://www.verywellmind.com/the-mental-health-effects-of-cancel-culture-5119201