เกือบสองปีแล้วที่โลกหยุดนิ่งและแทบไม่มีการเดินทาง จนกระทั่งวันนี้ที่หลายๆ ประเทศเริ่มเปิดประตูและเปิดรับการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับประเทศไทย แน่นอนว่านักเดินทางเริ่มรู้สึกกระชุ่มกระชวยที่จะได้จัดกระเป๋าเดินทางกันอีกครั้ง และพร้อมปักหมุดประเทศที่อยากไปเยือน หลังจากแผนการท่องเที่ยวต้องเลื่อนแล้วเลื่อนอีก โดยหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่เหล่านักท่องเที่ยวอยากมาเยี่ยมเยือนนั่นก็คือประเทศไทย ชาวต่างชาติหลายคนมองว่าน่ามาใช้ชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ
ซึ่งก็อาจจะด้วยเหตุผลว่า… หญ้าอีกฟากฝั่งย่อมสีเขียวกว่าเสมอ (The grass is always greener on the other side) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนเริ่มมองหาประเทศที่อยากย้ายสำมะโนครัวไปเลย โดยเฉพาะเมื่อเจอวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเปิดเผยถึงจุดอ่อนของระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ ความโกรธเกรี้ยว นำมาซึ่งความคับข้องใจอยากย้ายหนีไปอยู่ที่อื่นให้รู้แล้วรู้รอด
ในช่วงเวลาแห่งการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และความโกลาหลที่เกิดจากวิกฤตโรคระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าที่ถาโถมเข้ามาให้แต่ละประเทศต้องรับมือนั่นเอง คนจำนวนไม่น้อยจึงอาจไม่รู้ว่ามีการสำรวจเรื่องเมืองน่าอยู่ทั่วโลก (หรือบางคนรู้ แต่อาจจะลืมไปแล้ว)
ในเวลานั้น สื่อมวลชนทั่วโลกพร้อมใจกันรายงานข่าวเรื่องที่เมืองออคแลนด์ (Auckland) ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเหนือของประเทศนิวซีแลนด์ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก โดยพิจารณาเรื่องการจัดการกับสถานการณ์โควิดร่วมกับปัจจัยหลักอีก 5 ข้อ ซึ่งการจัดอันดับดังกล่าวจัดทำโดย Economist Intelligence Unit (EIU)
เรื่องนี้อาจจะไม่เกินความคาดหมาย เพราะนิวซีแลนด์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี จาร์ซินดา อาร์เดิร์น ได้รับการยอมรับว่ารับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็งและเด็ดขาดในสายตาชาวโลก จนหลายประเทศอิจฉา แต่หลายๆ ครั้งเมื่อเราอ่านรายงานข่าวจากสื่อมวลชนในแง่มุมที่ดีของเมืองนั้น เรากลับไม่ค่อยเห็นแง่มุมของประชาชนในเมืองน่าอยู่ หรือแม้แต่ประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่หลุดรอดจากการรายงานไป
a day BULLETIN จึงอยากชวนชาวออคแลนด์มาขบคิดและทบทวนเรื่อง ‘เมืองน่าอยู่’ กันอีกครั้ง มาค้นพบด้วยกันว่า ความคิดเห็นของชาวนิวซีแลนด์ในเรื่องออคแลนด์น่าอยู่หรือไม่น่าอยู่นั้น เหมือนหรือต่างจากการจัดอันดับของ EIU ตรงไหนบ้าง เพื่อสะท้อนความเห็นที่อาจทำให้ชาวกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ ในประเทศของเราอีกมากมายหลายเมือง ช่วยกันหาทางแก้ปัญหา และอุดช่องโหว่ของเมืองที่เราอยู่ เพื่อเดินหน้าไปสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ไม่แพ้ที่อื่นได้ในที่สุด
หมายเหตุ: ชาวนิวซีแลนด์ในที่นี้หมายรวมถึงคนทุกชาติพันธุ์ เนื่องจากประเทศนิวซีแลนด์มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงและในทางกฏหมายแล้วทุกคนมีสิทธิ์และเสรีภาพเท่าเทียมกัน ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใครย้ายมาจากไหน ผิวสีอะไร ผมสีอะไร อยู่ที่นิวซีแลนด์มานานแค่ไหน หากคุณเป็นพลเมืองนิวซีแลนด์ คุณก็คือชาวนิวซีแลนด์เหมือนกันกับชาวนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นชาวเมารี คนผิวขาวหรือลูกครึ่งผิวขาวและเมารีที่อยู่มาก่อน
คุณสมบัติเมืองน่าอยู่ตามการจัดอันดับของ EIU
1. เสถียรภาพ/ความยั่งยืน
2. สาธารณสุข/การดูแลสุขภาพ
3. การศึกษา
4. โครงสร้างพื้นฐาน
5. วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
ออคแลนด์น่าอยู่ เพราะมีความหลากหลาย
นอกจากชาวเมารี อันเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของประเทศนิวซีแลนด์แล้ว ออคแลนด์ยังประกอบไปด้วยชาวอังกฤษและชนผิวขาวที่อพยพมาจากยุโรปและประเทศอื่นๆ ในเครือจักรภพ รวมทั้งผู้อพยพจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ออคแลนด์จึงกลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมอันหลากหลายไปโดยปริยาย เห็นได้ชัดจากการเฉลิมฉลองเทศกาลของชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดิวาลี (Dewali) ของชาวอินเดีย เทศกาลวัฒนธรรมแห่งภูมิภาคแปซิฟิก (Pasifika Festival) หรือเทศกาลโคมไฟของชาวจีน (Auckland Lantern Festival) นอกจากนี้ ออคแลนด์ยังเป็นศูนย์รวมของร้านอาหารนานาชาติจากทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็นหอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ตัวใหญ่เบิ้มที่ปรุงในสไตล์เบลเยียม ชานมไข่มุกเจ้าดังสัญชาติไต้หวัน หรือเครปน้ำพริกเผาหมูหยองแบบไทยๆ เรียกได้ว่าหิวเมื่อไรไปออคแลนด์ เหมือนได้เที่ยวไปชิมของอร่อยรอบโลก โดยไม่ต้องบินออกไปไหน
“สำหรับเราแล้ว ออคแลนด์ให้อารมณ์สโลว์ไลฟ์คล้ายๆ เชียงใหม่นะคะ”
– เพราะรัก ปุรณพรรค์
เพราะรัก ปุรณพรรค์ หรือ วาย โจนส์
คุณวายเดินทางจากเชียงใหม่มายังประเทศนิวซีแลนด์เมื่อ 17 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เธอใช้ชีวิตอยู่ที่เมือง Tauranga ก่อนที่จะย้ายมาเป็นชาวเมืองออคแลนด์หรือที่ชาวนิวซีแลนด์เรียกว่า Aucklander อย่างเต็มตัวเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
“สำหรับเราแล้ว ออคแลนด์ให้อารมณ์สโลว์ไลฟ์คล้ายๆ เชียงใหม่นะคะ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย อาหารการกินก็หาง่าย อย่างช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เรามักจะไปดื่มกาแฟกับครัวซองต์ อัลมอนด์ที่ตลาดนัดฝรั่งเศสค่ะ (La Cigale Weekend Markets) ส่วนถ้าเป็นช่วงเย็น เราชอบไปนั่งดูวิวพระอาทิตย์ตกที่ Dr Rudi’s ตรงย่าน Viaduct มองทะเล มองเรือยอชต์ไปค่ะ
“เราอยู่ย่าน Greenlane ซึ่งค่อนข้างจะกึ่งกลาง เลยไปได้หลายทาง ขับไปชายหาดหรือเข้าเมืองก็ประมาณ 10-15 นาทีเหมือนกัน โดยรวมแล้ว ออคแลนด์ก็ถือว่าเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับเรา ถึงแม้ว่าบางคนจะบอกว่ารถติด แต่โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าถ้าเรากำหนดเวลาเดินทางดีๆ มันก็ไม่ติดเท่าไหร่ค่ะ”
เมืองที่เคยน่าอยู่ แต่ปัจจุบันไม่น่าอยู่เพราะบ้านแพงและเล็กเกินไป
บ้านในเมืองออคแลนด์นั้นขึ้นชื่อว่าแพงเหลือเกินจนซื้อไม่ไหว ซึ่งพอคนเห็นว่าบ้านขายได้ราคาดี คนที่บ้านพอจะมีบริเวณก็เลยพากันตัดแบ่งที่แล้วสร้างบ้านขายเพิ่มจนบ้านในเมืองมีขนาดที่ค่อยๆ เล็กลงไปเรื่อยๆ จนแทบไม่เหลือบริเวณรอบบ้าน
ส่วนที่พอจะมีบริเวณรอบบ้านนั้นหากไม่ได้รับมรดกมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็คงต้องหวังถูกล็อตโต้อย่างเดียวถึงจะซื้อได้ แน่นอนว่าพอบ้านราคาแพง ค่าเช่าบ้านก็แพงตามไปด้วยเป็นเงาตามตัว แพงจนชาวออคแลนด์โอดโอยว่าไม่รู้ต้องทำอาชีพอะไรดีถึงจะอยู่ได้โดยไม่สะเทือนกระเป๋าสตางค์
“เมื่อก่อนออคแลนด์เป็นเมืองที่ดีมากๆ แต่เดี๋ยวนี้อยู่ไม่ไหว เพราะบ้านแพงหูฉี่ โชคดีที่พ่อแม่ของฉันครอบครองบ้านตั้งแต่สมัยที่ราคายังไม่สูงขนาดนี้ พวกท่านก็เลยไม่ต้องเจอกับปัญหาด้านราคาบ้านเหมือนคนอื่นๆ แต่ก็ยังต้องจ่ายค่าภาษีที่ดินสูงกว่าที่อื่นมากอยู่ดี เหตุผลนี้ทำให้เพื่อนหลายคนที่ออคแลนด์เลยอยากจะออกจากที่นั่นไปอยู่เมืองเล็กๆ” Michelle Kempster ผู้ซึ่งย้ายออกจากออคแลนด์ตั้งแต่เมื่อ 45 ปีก่อนหลังจากใช้ชีวิตในวัยเด็กที่นั่นจนถึงตอนที่เธออายุ 25 ปี บอกว่าเธอจะไม่มีวันกลับไปอยู่ที่ออคแลนด์ ยกเว้นเสียแต่ว่าจำเป็นต้องกลับไปดูแลพ่อแม่
ทั้งนี้ข้อมูลจาก REINZ อันเป็นสถาบันด้านอสังหาริมทรัพย์แห่งประเทศนิวซีแลนด์ เผยให้เห็นว่าเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บ้านในออคแลนด์มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ หรือประมาณ 28 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลจากบริษัท Barfoot & Thompson อันเป็นบริษัทขายบ้านรายใหญ่ในนิวซีแลนด์ก็แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่คล้ายคลึงกัน เพราะว่าเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาบ้านในออคแลนด์ที่พวกเขาขายไปนั้นมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 ล้านเหรียญฯ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมปัจจุบันชาวออคแลนด์ถึงหาทางย้ายออกจากออคแลนด์ไปซื้อบ้านในเมืองอื่นที่ราคาจับต้องได้มากกว่า หรือมีพื้นที่บริเวณรอบๆ บ้านมากกว่า
ออคแลนด์ มีทั้งส่วนที่น่าอยู่และไม่น่าอยู่ เพราะถึงแม้เมืองจะมี vibe ที่ดีแต่ขนส่งมวลชนและที่จอดรถไม่ค่อยสะดวก แถมรถก็ติด
ออคแลนด์เหมือนเหรียญสองด้าน ซึ่งเมื่อหันด้านที่สวยงามให้เราเห็น เราก็จะเห็นทิวทัศน์ของท้องทะเลใสสะอาดปราศจากขยะตัดสลับกับเหล่าอาคารที่ได้รับการวางผังเมืองมาอย่างมีระบบระเบียบซึ่งมาพร้อมทางเท้าเรียบกว้างไร้รอยสะดุดและพื้นที่สีเขียวสวยสดสบายตา บ้างเป็นที่ราบ บ้างเป็นเนินสูง ไล่เลี่ยกันดังที่เห็นในหมู่บ้านฮอบบิต ส่วนด้านที่ไม่สวยสักเท่าไรก็อาจจะเป็นการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ติดหนึบแทบไม่ต่างจากกรุงเทพฯ เนื่องด้วยออคแลนด์เป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศนิวซีแลนด์ แต่ระบบขนส่งมวลชนยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่หรือทุกช่วงเวลา ผู้คนจึงยังต้องพึ่งพาการขับรถส่วนตัวเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้ทำให้ชาว Aucklander รู้สึกเหนื่อยหน่ายไปตามๆ กัน
“ถ้าคุณพักใจกลางเมือง ทุกอย่างจะสะดวกสุดๆ แต่ถ้าต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะอาจจะไม่โอเค”
– Joanne Hockly
Joanne Hockly / Grant Brookfield / Bev O’ Keefe
Joanne เป็นลูกครึ่งมาเลเซีย-นิวซีแลนด์ คุณพ่อคุณแม่ของเธออาศัยอยู่ในย่านปริมณฑลของออคแลนด์ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของเมืองประมาณ 60 กิโลเมตร แต่เธอย้ายเข้ามาอยู่ในออคแลนด์เพื่อเรียนต่อตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2557 และยังคงหลงใหลความมีชีวิตชีวาของออคแลนด์ตราบจนถึงปัจจุบัน
“อาหาร ค็อกเทล แล้วก็สีสันยามค่ำคืนของที่นี่เจ๋งมากๆ แล้วผู้คนที่คุณจะได้เจอในเมืองนี้ จะเป็นเพื่อนคุณไปนานตราบชั่วชีวิตเลยละค่ะ สำหรับฉันถ้าคุณพักอยู่ใจกลางเมือง แล้วยังทำงานที่ใจกลางเมืองด้วย ทุกอย่างจะสะดวกสุดๆ แต่ถ้าต้องพึ่งขนส่งสาธารณอาจจะไม่โอเค เพราะรถประจำทางและรถไฟไม่มีบริการในช่วงที่ดึกๆ มากๆ ส่วนที่จอดรถก็แพงมหาโหด สมัยที่ฉันพักอยู่ที่ใจกลางเมือง ฉันเลยเลือกที่จะไม่มีรถ ทำให้ตอนเวลากลับไปหาคุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างจะลำบาก เพราะต้องขึ้นรถเมล์ ไปต่อรถไฟ 2 ทอดแล้วยังต้องให้คนที่บ้านช่วยขับรถออกมารับที่สถานีรถไฟอีก ต้องใช้เวลาทั้งหมดราว 2 ชั่วโมง”
“มันคือฝันร้ายถ้าคุณต้องเดินทางเข้ามาจากเขตอื่นด้วยรถส่วนตัว”
– Grant Brookfield
เรื่องนี้ Grant Brookfield ผู้ซึ่งเกิด เติบโต และใช้ชีวิตด้วยความรักที่มีต่อเมืองออคแลนด์มานานถึง 55 ปี ได้ให้ความเห็นไปในทำนองเดียวกันกับสาวน้อย Joanne
“มันเป็นเมืองที่น่าอยู่ถ้าคุณทำงานในเมืองแล้วก็พักอยู่ในเมือง แต่มันคือฝันร้ายถ้าคุณต้องเดินทางเข้ามาจากเขตอื่นด้วยรถส่วนตัว ส่วนที่จอดรถก็แทบจะหาไม่ได้”
จากการลองหาข้อมูลเล่นๆ เกี่ยวกับเรื่องที่จอดรถ ผู้เขียนพบว่า ค่าเช่าที่จอดรถในเมืองออคแลนด์ที่ถูกที่สุดอยู่ที่ 50 เหรียญนิวซีแลนด์/สัปดาห์ แต่ถ้าจะซื้อขาดเลยก็ได้ มีคนขายอยู่ที่ราคา 90,000 เหรียญนิวซีแลนด์ เท่ากับว่าถ้าเราจะเช่า/ซื้ออพาร์ตเมนต์หรือบ้านซึ่งไม่มีที่จอดรถ ก็ต้องเตรียมงบตรงส่วนนี้เพิ่มไปด้วย ดูแล้วไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Grant ถึงย้ายออกมามาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองขนาดรองลงมา เพราะเขาสามารถซื้อบ้านหลังใหญ่กว่าได้ในราคาที่ถูกลง โดยไม่ต้องเช่าที่จอดรถอีกต่างหาก
“ฉันชอบเมืองอื่นๆ ในนิวซีแลนด์ที่สวยๆ เท่ากันกับออคแลนด์ แต่น่าอยู่มากกว่าตรงรถไม่ติด”
– Bev O’Keefer
“ออคแลนด์เป็นเมืองที่มีความเป็นสากลนิยม มีความหลากวัฒนธรรม ภูมิอากาศดี มีสวนสาธารณะที่ดี มีชายหาดและท่าเรือที่สวยงาม แต่การจราจรทำให้ออคแลนด์กลายเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ เพราะจะไปไหนก็ติดขัดไปหมด ซึ่งจริงๆ แล้วทุกอย่างก็กำลังค่อยๆ ได้รับการปรับเปลี่ยนอย่างช้าๆ แต่ ณ วันนี้มันไม่เร็วพอที่จะสร้างความน่าอยู่ ฉันเลยกลับไปที่นั่นเพียงเพื่อเยี่ยมเพื่อนหรือไปโรงละครเท่านั้น โดยที่ไม่เคยคิดจะย้ายกลับไปอยู่ เพราะสำหรับฉันแล้วฉันชอบเมืองอื่นๆ ในนิวซีแลนด์ที่สวยๆ เท่ากันกับออคแลนด์ แต่น่าอยู่มากกว่าตรงที่ไม่มีรถติด” อดีตแพทย์หญิง Bev O’ Keefer ซึ่งเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ออคแลนด์ตลอดระยะเวลาที่เป็นนักศึกษาแพทย์กล่าวสรุปอย่างรวบรัดได้ใจความถึงความรู้สึกที่เธอมีต่อเมืองที่ได้รับการจัดอันดับว่าน่าอยู่ที่สุดของโลกในปีนี้
เอาละ ในเมื่อชาวนิวซีแลนด์บอกว่าออคแลนด์มีทั้งมุมที่น่าอยู่และไม่น่าอยู่ แล้วเมืองแบบไหนกันนะที่พวกเขาคิดว่าเป็นเมืองน่าอยู่ จะใช่มาตรฐานแบบที่ EIU บอกไว้รึเปล่า? เราไปดูกัน
เมืองน่าอยู่ในอุดมคติของชาวนิวซีแลนด์
“เมืองน่าอยู่คือเมืองที่มีสมดุลระหว่างโครงสรา้งพื้นฐาน และมีพื้นที่พอสำรับคุณและครอบครัว”
– Matthew Rata
Matthew Rata
Matthew มีพ่อแม่บุญธรรมที่อาศัยอยู่ในออคแลนด์ จึงมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง 14 ปี เขายอมรับว่าเคยมีช่วงเวลาสนุกๆ ในช่วงวัยรุ่นที่ออคแลนด์ แต่ ณ วันนี้เมืองน่าอยู่ในความคิดของเขาอาจจะไม่ใช่ที่นั่นแล้ว เพราะออคแลนด์กลายเป็นเมืองที่ทำให้เขานึกถึงภาพครอบครัวอันมีสมาชิก 8 คนอัดแน่นอยู่ในอพาร์ตเมนต์ 2 ห้องนอน เนื่องจากจ่ายค่าเช่าหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่กว่านั้นไม่ไหว
“ผมคิดว่าเมืองน่าอยู่คือเมืองที่มีสมดุลระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน ความสะดวกสบาย ธรรมชาติ ตำแหน่งงาน ความเจริญหูเจริญตาและความสะดวกสบายของเมือง มีพื้นที่พอสำหรับคุณและครอบครัวของคุณ คนสามารถมีบ้านที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากด้วยความภาคภูมิใจว่านี่คือบ้าน มีความเท่าเทียมในความก้าวหน้าสำหรับทุกๆ คน”
“เมืองน่าอยู่คือเมืองที่ผู้คนเข้าถึงสวนสาธาณะได้ง่าย มีชายหาดให้ไปว่ายน้ำ”
– Robin Blair
Robin Blair
Robin เกิดที่กรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ออคแลนด์และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 15 ปี ปัจจุบันนี้เธอเกษียณแล้ว แต่ยังคงทำงานเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนต่างชาติในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ซึ่งห่างจากออคแลนด์ประมาณ 200 กิโลเมตร
“สำหรับฉันแล้ว เมืองน่าอยู่คือเมืองที่ผู้คนเข้าถึงสวนสาธารณะได้ง่าย มีชายหาดให้ไปว่ายน้ำ ล่องเรือ หรือตกปลา มีพิพิธภัณฑ์ มีศูนย์แสดงงานศิลปะ โรงละคร และสนามกีฬา มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี มีโรงเรียนดีๆ มีระบบสาธารณสุขที่ดี มีโรงพยาบาลรองรับผู้คนในเมืองนั้นๆ มีตลาดและร้านอาหารที่ขายอาหารจากหลากหลายวัฒนธรรม”
“กรุงเทพฯ นี่ผมถือว่ามีหลายระบบที่ช่วยเลี่ยงรถติดได้แบบกินขาดออคแลนด์มากๆ”
– Matthew Gallyer
Matthew Gallyer
Matthew ใช้ชีวิตอยู่ที่ออคแลนด์เป็นเวลา 15 ปี ก่อนจะย้ายไปเป็น expat ที่ฮ่องกง จีน ยุโรป แล้ววกมาจบที่เมืองไทยของเราเป็นแห่งสุดท้าย อันเป็นประเทศซึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่นานถึง 18 ปี เหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาพูดภาษาไทยคล่องขนาดเอาตัวรอดด้วยการท่อง “ระนอง-ระยอง-ยะลา” เมื่อถูกทดสอบได้สบายบรื๋อ แต่ท้ายที่สุดแล้วนิวซีแลนด์ก็คือบ้าน ล่าสุดเขาจึงเพิ่งตัดสินใจย้ายกลับมายังแผ่นดินเกิดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
“เมืองน่าอยู่สำหรับผมคือเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ อย่างเช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สระว่ายน้ำสาธารณะ และมีพื้นที่สาธารณะสำหรับคนทุกวัย นอกจากนั้นควรมีคุณภาพอากาศดี ซึ่งที่นี่ดีกว่าที่เมืองไทยแบบชัดเจนมากๆ ในเรื่องนี้ อีกอย่างระบบขนส่งสาธารณะก็ควรจะต้องดีด้วย อย่างกรุงเทพฯ นี่ผมถือว่ามีหลายระบบที่ช่วยเลี่ยงรถติดได้แบบกินขาดออคแลนด์มากๆ ครับ”
สุดท้าย ขอสรุปจากมุมมองส่วนตัวว่า ไม่ว่าใครจะจัดอันดับว่าเมืองไหนน่าอยู่ที่สุดในโลก มันก็ไม่เท่าอันดับในใจเราเอง อยู่ที่ไหนแล้วสบายใจที่สุดในโลก ก็ที่นั่นแหละ ซึ่งมันเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากๆ ว่าไหม