โตแล้วทำไมยังต้องอ่านวรรณกรรมเยาวชน

การจัดการกับความทุกข์ หรือเติมกำลังใจให้ตัวเองนั้นทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ระดมอ่านหนังสือธรรมะ จับจิตใจให้สงบ เผื่อจะช่วยให้ปลงเรื่องที่ทำให้ปวดใจอยู่ นอกจากนั้นมันก็ยังมีวิธีแก้กลุ้มอีกหลากหนทาง อย่างการติดเกม ติดสื่อลามก ตรงกลางระหว่างพระธรรมคำสอนกับเอวีนั้นอาจมีการชอปปิ้งออนไลน์ชนิดห้ามตัวเองไม่ได้ หรือไม่ก็ดูซีรีส์เกาหลีสวยๆ เยียวยาใจวนไป เกี่ยวกับเรื่องการจัดการกับความทุกข์นี้ผู้เขียนจะพูดอย่างไม่กลัวแก่ว่า การอ่านยังเป็นวิธีเยียวยาใจที่น่าสนใจ โดยอยากจะลองมาสนใจหนังสือประเภทที่เราเรียกว่า ‘วรรณกรรมเยาวชน’

        “นานๆ ทีควรอ่านวรรณกรรมเยาวชนบ้าง เพื่อไม่ให้หัวใจแบบเด็กๆ มันหล่นหายไปจากชีวิต” คือโพสต์หนึ่งของ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เมื่อหลายเดือนก่อน พร้อมปกหนังสือ วันนั้นฉันเจอเพนกวิน ของ โมริมิ โทโมฮิโกะ 

มาดูๆ สู่โลกของเด็ก หัวใจใสๆ

ใช่ ฉันจะทำ ฉันเริ่มทำไปแล้ว ที่ว่าฆ่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าหยิบปืนของบัค โจนส์ แล้วเอาไปยิงเขาตูมเดียวตายนั่นหรอก ไม่ใช่ ฉันจะฆ่าเขาในหัวใจของฉันด้วยการหยุดรักเขา แล้ววันหนึ่งเขาก็จะตาย

จาก ต้นส้มแสนรัก, โฆเซ่ เมาโร่ เด วาสคอนเซลอส (สมบัติ เครือทอง แปล)

 

 

        “วัยเด็กเป็นวันเวลาที่เรามีความสุขที่สุดแล้ว เวลาอ่านวรรณกรรมเยาวชนเราไม่ได้ย้อนกลับไปวัยเด็กนะ แต่มันทำให้เราเข้าอยู่ในโลกใบเดียวกันกับตัวละคร” ‘แต้ว’ หรือ ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการหนังสือเด็กและเยาวชน ซึ่งอยู่ในวงการมานาน บอก 

        “‘วินนีเดอะพูห์’ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่จะหยิบมาอ่านตอนที่เหนื่อยๆ ตัวละครทุกตัวคือโลกของเด็กจริงๆ มีตัวละครที่ขี้กลัว กวนประสาท เอ๋อๆ อ่านแล้วขำได้ทุกครั้ง โคตรซื่อ ชอบมาก” 

        วินนีเดอะพูห์งั้นหรือ หลายคนอาจมองว่าเด็กไปหรือเปล่า แต่นี่คือวรรณกรรมอมตะซึ่งไม่เคยเสื่อมความนิยมตั้งแต่ครั้งแรกที่ตีพิมพ์ตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อน สำหรับ แต้ว ระพีพรรณ “คนเขียนเขาสร้างตัวละครให้มีเสน่ห์เป็นพิเศษ น่าหมั่นไส้ แต่น่ารักเหลือเกิน อย่างอียอร์ไม่ใช่บุคลิกของคนที่น่าคบหาเลย มันทั้งขี้หงุดหงิด เห็นแก่ตัว ถ้าอียอร์เป็นมนุษย์จริงๆ มันจะน่าเบื่อมาก แต่เมื่อไหร่มีฉากอียอร์เราจะรู้สึกว่ามันสนุก คนเขียนเขาสร้างตัวละครให้มีเสน่ห์ได้ แล้วมันเจาะไปโดนหัวใจของเรา”

        ส่วนตัวละครอื่นๆ ในเรื่องนี้ ยังมี “ลุงนกฮูกซึ่งจริงๆ แล้วอ่านหนังสือไม่ออก แต่อวดฉลาด อ่านเมื่อไหร่ก็ขำ บุคลิกของตัวละครในวรรณกรรมเยาวชนจะชัดเจนและเปิดเผย เวลาอ่านเรารู้เลยว่าเดี๋ยวมันต้องไปทำแบบนี้  ทำให้เราคาดเดา บางทีก็เดาถูก บางทีก็เดาผิด นี่คือวรรณกรรมเยาวชน ส่วนตัวละครในวรรณกรรมผู้ใหญ่จะไม่ชัดเจนเท่า วรรณกรรมเยาวชนจะไม่มีความซับซ้อนในชีวิต” ระพีพรรณกล่าวสรุป ประโยคนี้ทำให้เราเห็นว่าอย่างน้อยการอ่านวรรณกรรมเยาวชนก็เป็นโอกาสให้เราปลีกตัวจากความซับซ้อนคลุมเครือของชีวิตผู้ใหญ่อันน่าปวดหัวได้บ้าง

        นอกจากนั้น “ไม่มีใครไม่อยากผจญภัย วรรณกรรมเยาวชนตอบสนองตรงนี้ การผจญภัยก็ต้องมีเพื่อนแน่ๆ คือไม่มีเล่มไหนที่จะโดดเดี่ยว การผจญภัยที่ว่าแค่มุดรั้วเที่ยว ทำของกินที่บ้านขณะที่พ่อแม่ไม่อยู่ ก็เป็นการผจญภัยแล้ว เรื่องสำหรับเด็กก็มีเล่น กิน จินตนาการ วนอยู่สามเรื่องนี้”                    

        ถ้าการนำเสนอชีวิตซับซ้อนของผู้ใหญ่คือภารกิจของนักเขียนวรรณกรรมทั่วไป การเข้าไปนั่งอยู่ในใจเด็กให้ได้ก็คือหน้าที่ (และหนึ่งในความยาก) ของนักเขียนวรรณกรรมเยาวชน “ตามวิธีคิดแบบเด็กๆ การอ่านหนังสือไม่ออกก็เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งในแง่ทำให้เรียนหนังสือไม่ได้ ในเรื่อง ‘ปลาบนต้นไม้’ (ของ ลินดา มัลลาลี ฮันต์) เด็กผู้หญิงเป็นดิสเล็กเซีย ย้ายโรงเรียนไปเรื่อยๆ เพื่อนดูถูก คือครูก็ดูถูก ขี้เกียจจะดีลด้วย คนเขียนถ่ายทอดความคิดแบบเด็กๆ ออกมาว่ารู้สึกอะไรบ้าง คนเขียนต้องรู้ว่าเด็กรุ่นนี้คิดอะไรรู้สึกยังไง อันนี้แหละที่เด็กอ่านแล้วจะถูกฮุกเลย เพราะมันตรงใจเขา จะเป็นอีกโลกนึงที่เราโตแล้วเราก็ลืมไปว่ามันมีความรู้สึกแบบนี้อยู่” ‘เกื้อ’ หรือ เกื้อโกมล นิยม หรือที่รู้จักกันในวงการว่า ‘ครูอักษร’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร บอก  

        การอ่านวรรณกรรมเด็กและเยาวชนเป็นหนทางง่ายๆ ซื่อๆ และมีเสน่ห์ที่จะนำเราเข้าไปอยู่ในโลกใบเดียวกับตัวละครเด็ก ทว่าการหนีสู่โลกความฝันแค่นี้มันพอแล้วหรือ มาดูกลไกพิเศษทางวรรณศิลป์ของวรรณกรรมเยาวชน รวมทั้งเป้าหมายที่คนเขียนต้องการสื่อถึงคนอ่าน ซึ่งเป็นใครก็ได้ตั้งแต่อายุ 8 ถึง 88 ปี

        เพราะวรรณกรรมเยาวชนมีดีมากกว่าการถนอมหัวใจแบบเด็กๆ 

กลเม็ดคือความชัดเจน

ต่ำลงไปในหุบเขา มีไร่สามแห่ง กิจการดี ทำให้เจ้าของไร่ต่างร่ำรวย เสียแต่ทั้งสามคนมีนิสัยเลว ชั่วร้าย และเห็นแก่ตัวที่สุดที่คุณเคยเห็น 

จากย่อหน้าเปิดเรื่องของ ‘คุณจิ้งจอก’, โรอัลด์ ดาห์ล (สาลินี คำฉันท์ แปล)

        สำหรับหนังโทรทัศน์บางเรื่อง ผู้ใหญ่บางคนจะบอกว่า “เธอต้องผ่านอีพีที่สี่ไปให้ได้นะ พอพ้นจากนั้นไปก็สนุกแล้ว เชื่อฉัน” ซึ่งบางครั้งละครก็อาจสนุกจริงอย่างที่เขาว่า  แต่เราจะไม่มีทางเห็นการเอาคนดู (หรือคนอ่าน) มาเป็นตัวประกันให้เสียเวลาแบบนี้ในวรรณกรรมเยาวชนชั้นดีเลย 

        “เด็กๆ ทุกคนต้องโตเป็นผู้ใหญ่ ยกเว้นเด็กคนนี้” คือประโยคขึ้นต้นของนิยายเกี่ยวกับเด็กมหัศจรรย์ผู้ซึ่งเป็นเด็กตลอดชาติ ผู้เขียน เจ. เอ็ม. แบรี เปิดเรื่องอย่างหมดเปลือก อ่านแล้วรู้เลยว่าตัวเอกเรื่องนี้พิเศษยังไง ทำให้คนอ่านอยากค้นหาต่อไป และเราเชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักปีเตอร์ แพน ตัวเอกของเรื่องนี้ 

        หรือเรื่อง ‘คุณจิ้งจอก’ โดยสุดยอดนักเขียนวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนอย่าง โรอัลด์ ดาห์ล ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวหมาจิ้งจอกซึ่งจะต้องเอาชีวิตรอดจากการถูกล่า เห็นย่อหน้าเปิดเรื่อง คนอ่านก็รู้ทันทีว่าต่อไปครอบครัวคุณจิ้งจอกต้องเผชิญกับอะไรต่อไปในเรื่อง

        เรื่องเล่าสำหรับผู้ใหญ่อย่างในนวนิยาย อาจมีขนบของการปูพื้นยืดยาวเพื่อเป็นพื้นที่ของการแสดงกลเม็ดการเขียน ทั้งยังต้องใช้เวลาเล่นกับความซับซ้อนของเรื่องราวแบบผู้ใหญ่ๆ แต่กับวรรณกรรมสำหรับเด็กหรือเยาวชนเราทำแบบนั้นไม่ได้ “เล่มที่คนอ่านชอบมักเริ่มต้นด้วยเรื่องที่เป็นปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่เลย ‘คุณจิ้งจอก’ เริ่มด้วยการโดนเจ้าของไร่ไล่ล่าเพราะไปขโมยสัตว์ของเขา ทีนี้ก็ทำไงดีที่จะเอาตัวรอดให้ได้ พอเริ่มด้วยปัญหามันได้ใจคนอ่าน มันมีความเห็นอกเห็นใจกัน คนอ่านก็เอาใจช่วย” คือคำอธิบายของ เกื้อ ครูอักษร

        นอกจากเรื่องของความชัดเจนแล้ว แต้ว ระพีพรรณ ยังเสริมในอีกประเด็นว่า “พล็อตของวรรณกรรมเยาวชนต่างจากวรรณกรรมสำหรับผู้ใหญ่นะ วรรณกรรมเยาวชนบางเรื่องจะเป็นตอนสั้นๆ บางเรื่องไม่ต้องอ่านต่อกัน เหมือนซิตคอมฯ นั่นแหละ อย่างโต๊ะโตะจัง (โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง) เปิดอ่านตอนไหนก็ได้” 

        วรรณกรรมมันก็ต้องมีเรื่องของภาษาด้วย ภาษาของวรรณกรรมเยาวชนมีมากกว่าการเขียนโดยใช้ภาษาแบบเด็กๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจกัน “วรรณกรรมผู้ใหญ่อาจติดการแสดงลีลาหรือกลเม็ดทางภาษา แต่วรรณกรรมเยาวชนนี่บทพูดจะแจ่มชัด อ่านรู้เลยว่าคาแรกเตอร์เขาเป็นยังไง เพื่อช่วยให้เด็กจินตนาการในหัวได้ สังเกตได้ว่าเราอ่านอะไรก็ตามเราก็จะมีภาพในหัวของเรา คือเด็กๆ นี่ยังไม่ค่อยชำนาญเรื่องการสร้างภาพในหัว เพิ่งเกิดมาในโลกไม่กี่ปีเนอะ วรรณกรรมเยาวชนต้องสร้างคาแรกเตอร์ สภาพแวดล้อมในเรื่องให้ชัดด้วยตัวหนังสือ เพื่อให้เด็กมีวัตถุดิบเอาไปใช้สร้างภาพในหัวครบทุกมิติ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นอะไรที่ทำให้เราอ่านหนังสือได้นาน ไม่งั้นมันจะเหนื่อย” เกื้อ ครูอักษร พูดเพิ่มเติมเรื่องภาษา กลไกหนึ่งที่ทำให้เราอ่านวรรณกรรมเยาวชนบางเรื่องแล้วติดหนึบอย่างง่ายดาย

เพราะโลกมันร้าย เราจึงอยากให้เธอรู้ก่อน

เตะ… เตะ… แป้งฟุ้งควั่งคว้างราวกับความปั่นป่วนในเขตอาร์คติก… ไซมอนชูแขนสองข้างอย่างมีชัย เขาจะไม่ทำผิดพลาดอย่างที่พ่อของเขาทำ ไม่หรอก เขาจะไม่ปักหลักเร็วเกินไปหลายปี จนกระทั่งต้องเลือกระหว่างการใช้ชีวิตตามสบาย กับการทิ้งให้เด็กคนหนึ่งต้องเดินอ้อยอิ่งไปตามถนนวิลเบอร์ฟอร์ซทุกวัน พลางนึกพูดในใจกับพ่อที่มีตาสีฟ้าแววหัวเราะ อันเป็นภาพที่เขานึกขึ้นมาเอง เพราะพ่อจริงๆ ของเขาไม่ได้อยู่ด้วย

จาก ‘น้องแป้ง’, แอนน์ ไฟน์ (สุมนา บุณยะรัตเวช แปล)

        “ในโลกที่แตกต่างหลากหลาย เราพบว่าอยู่กับหนังสือปลอดภัยที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหมด ทั้งชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สิน คือมันเสี่ยงน้อยมาก” แต้ว ระพีพรรณ อธิบาย 

        ความปลอดภัยมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะหน้าที่หนึ่งของวรรณกรรมเยาวชนก็การเตรียมพร้อมในอนาคตสำหรับมนุษย์ตัวเล็กๆ ให้รู้ก่อนว่าโลกนี้มันไม่ได้สวยขนาดนั้น และยังใช้อำนาจของศิลปะวรรณกรรมกรุยความคิดสู่ทางออกหรือคำตอบในชีวิตอีกด้วย นี่คือการให้ชิมลางประสบการณ์ไม่ดี โดยไม่ต้องเอาตัวและใจไปเสี่ยงนั่นเอง หลายครั้งที่นักจิตวิทยาก็เลือกใช้วรรณกรรมเยาวชนเป็นเครื่องมือในการเยียวยาสุขภาพจิตของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ด้วย (ดูล้อมกรอบ ‘วรรณกรรมเยาวชน: เครื่องมือเยียวยาใจของนักจิตวิทยา’)

        เกื้อ ครูอักษร ยกตัวอย่างของวรรณกรรมเยาวชนสมัยใหม่ที่เข้าข่ายการเตรียมตัวสู่ชีวิต (ซึ่งถ้าพูดถึงปัญหา คนเราจะเจอปัญหาไปเรื่อยๆ ตลอดไปจนตายนั่นแหละ) “อย่างเรื่อง ‘เด็กผู้ชายนุ่งชุดกระโปรง’ ของ เดวิด แวล์เลี่ยมส์ เป็นเด็กที่มีพี่ชาย อยู่กับพ่อ วันนึงแม่ออกจากบ้านไปเฉยๆ หนังสือบรรยายว่าสิ่งที่เขาจำได้คือแม่เวลาแฮปปี้แล้วใส่ชุดสีเหลือง แล้วเขาก็เก็บรูปนั้นไว้ เด็กคนนี้ชอบดูนิตยสารแฟชั่น แต่ต้องแอบเพราะพ่อไม่ชอบ ส่วนพ่อไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย ทั้งบ้านมีแต่ผู้ชาย เป็นคนอังกฤษ ซึ่งหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องอารมณ์ ตามนิสัยคนชาตินี้ 

        “นิยายเรื่องนี้พูดถึงหลายแง่มุมมาก มันเป็นหนังสือสอนผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ อะไรที่ไม่ค่อยเวิร์กควรจะจบไปแล้วนะ ควรเปลี่ยนแปลงได้แล้ว และคนที่จะเปลี่ยนแปลงก็คือเด็ก นิยายเรื่องนี้ยังมีตัวละครผู้ใหญ่อื่นๆ อย่างราช คนอินเดียเจ้าของร้านของชำ เป็นผู้ใหญ่หัวหมอ ชอบหาประโยชน์จากเด็ก แบบว่าแต่ละวันขายของราคาไม่เท่ากัน ที่เด็ดสุดคือครูใหญ่ ซึ่งดูเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่เด็กไปเจอว่ากลางคืนครูแต่งเป็นผู้หญิงออกมาเดิน เรื่องแบบนี้เด็กจะโดนมาก นิยายเรื่องนี้มันดีตรงที่เขาไม่ว่ากัน ไม่พยายามจะไปตีตราพฤติกรรมแบบนี้คืออะไร คือก้าวข้ามตรงนั้นไปแล้ว เด็กก็รู้ว่าจริงๆ แล้วโลกมันหลากหลาย มันอยู่ที่การดูแลใจกันต่างหาก เปิดโอกาสให้คนที่เรารักได้เป็นตัวเอง ได้คุยกันจริงๆ ปลอบกันจริงๆ สุดท้ายก็ไม่ได้สรุปอะไร แต่เชื่อว่าเด็กอ่านแล้วสรุปได้เอง ผู้ใหญ่อ่านก็น่าจะได้การคิดจากหนังสือเด็กเยอะ

        “‘เด็กผู้ชายนุ่งชุดกระโปรง’ มีวิธีแยบคายในการที่คนเราจะดูแลกันและกัน เป็นมุมที่คนไม่ค่อยพูดถึง ในการศึกษาก็ไม่ค่อยมี จะได้ก็จากการอ่านจากวรรณกรรม”

        ปัญหาคอขาดบาดตาย วรรณกรรมเยาวชนก็พูดถึงด้วยนะ ช่วงการระบาดของโควิด-19 อัตราการฆ่าตัวตายของไทยเองก็สูงขึ้นด้วยปัญหาต่างๆ เกื้อ ครูอักษร พูดถึงนิยายใหม่เรื่องหนึ่ง “The Midnight Library (แมตต์ เฮก) ห้องสมุดนี้คือสถานที่ไว้รอหลังจากที่คุณตาย ก่อนที่จะไปต่อ เด็กคนนี้พูดถึงตัวเองว่าชีวิตไม่เห็นได้ทำอะไรอย่างที่น่าจะเป็นเลย รู้สึกแย่ไปหมด ก็เลยฆ่าตัวตาย ห้องสมุดนี้เก็บหนังสือทุกเล่มของความเป็นไปได้ในชีวิต คือถ้าตั้งใจจะว่ายน้ำตอนนี้คงโอลิมปิก ถ้าอยากจะลองใช้ชีวิตแบบไหน หนังสือก็จะไหลมาตรงหน้า แล้วก็เข้าไปใช้ชีวิตในนั้นได้เลย หลังจากที่ตัวเองตายไปแล้ว เขาเลยเล่นลองไปใช้ชีวิตต่างๆ เต็มไปหมด แล้วพบว่าเราจะเลือกอะไรไม่สำคัญหรอก คือเลือกอะไรมันก็มีปัญหาเหมือนกัน มีทั้งเรื่องดีเรื่องไม่ดี เขาค้นพบว่าเรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องนี้ แต่คือคนที่เคยรักและหวังดีต่างหาก เวลาเราจะฆ่าตัวตายจะคิดถึงแต่ตัวเอง จะคิดไม่ออกว่าเราได้รับจากคนอื่นมากมาย แต่พูดแบบนี้มันดูเหมือนสอน พอมาเป็นวรรณกรรมแบบนี้ มันเนียนค่ะ

        “หน้าที่ซึ่งน่าสนใจมากของวรรณกรรมเยาวชนคือพาให้คนค้นพบศักยภาพของตัวเอง เพื่อช่วยดูแลใจตัวเองในอนาคตต่อไป เหมือนสถานการณ์สมมติให้เตรียมตัว ปกติคนเราเกิดมามันต้องเจอเรื่องไม่ดี เรื่องทุกข์ใจ ปัญหาต่างๆ วรรณกรรมก็เหมือนให้ตัวอย่าง และวิธีการที่แยบคาย วรรณกรรมที่ดีคือแยบคาย ไม่ได้บอกตรงๆ แค่ดำเนินเรื่องไปเฉยๆ แล้วเด็กเก็ตเอง วรรณกรรมเยาวชนพาเรามาที่การค้นพบว่าตัวเรามีศักยภาพ มีเรื่องการเข้าใจโลก การดูแลตัวเอง ถ้าบอกคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายว่าชีวิตเธอมีค่าอยู่แล้วนะ แค่นี้มันไม่พอหรอก มันต้องอาศัยศิลปะ”

        อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่าวรรณกรรมเยาวชนนี่น่าหยิบมาอ่านอยู่นะ ไม่ว่าเหตุผลนั้นคือการถนอมหัวใจเด็กในตัวคุณ การได้สัมผัสวาทกรรมอันชัดเจนซึ่งหากันไม่ได้ง่ายๆ หรือจะเป็นการปล่อยใจให้วรรณศิลป์พาไปดื่มด่ำกับเรื่องราว ปัญหาและมุมมองต่างๆ มันก็น่าสนใจทั้งนั้น เพราะในที่สุดแล้ว จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่โดยก้นบึ้งแล้วเราก็คือมนุษย์เหมือนกันนั่นแหละ 


วรรณกรรมเยาวชน: เครื่องมือเยียวยาใจของนักจิตวิทยา
คุยกับ ‘ครูเม’ – เมริษา ยอดมณฑป แห่งเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’

 

ภาพจากเพจ ตามใจนักจิตวิทยา

        นอกจากนำเสนอเนื้อหาด้านจิตวิทยาเป็นประจำในเพจแล้ว ครูเมเป็นนักจิตวิทยาบำบัดเต็มตัว บางครั้งเธอใช้วรรณกรรมเยาวชนมาช่วยแก้ปัญหาให้เด็ก ในฐานะ ‘นิทานบำบัด’ หรือ Therapeutic Story

        “ขออธิบาย Therapeutic Story หรือนิทานบำบัดก่อนนะคะว่า เทคนิคนี้ เราจะต้องหานิทานสักเรื่อง หรือแต่งขึ้นมา โดยในเรื่องจะมีจุดร่วมคือปัญหาที่เด็กคนนี้กำลังเผชิญ เขาอาจกำลังต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ยังไม่มีพลังมากพอจะเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง เช่น พ่อแม่กำลังหย่าร้าง เขารู้สึกว่าชีวิตตอนนี้เหมือนถูกแยกเป็นชิ้นๆ และตัวละครในเรื่องจะต้องมีอะไรที่ใกล้เคียงกับเด็กคนนั้น แต่ไม่ใช่เด็กเลยเป๊ะๆ แล้วให้เขาคิดอ้อมๆ ได้ว่ามันเราเลยนี่นา เด็กในเรื่องอาจเผชิญการหย่าร้างเหมือนกัน เรื่องอาจจะจบดีขึ้น หรือมีทางออกซึ่งในชีวิตจริงเขายังไปไม่ถึง เด็กอาจก้าวข้ามผ่านปัญหายังไม่ได้ แต่ตัวละครก้าวข้ามผ่านไปได้ด้วยวิธีใดบ้าง 

        “จากนั้นตัวเด็กเองจะตัดสินใจ ถ้าฉันเป็นเขา ฉันจะเลือกวิธีแบบเขาไหม  คือยังไงๆ พ่อแม่ก็ยังหย่าร้าง แต่ในเรื่องพ่อกับแม่ยังคุยกันเหมือนเพื่อน มาผลัดกันรับส่ง เขาได้รับรู้เรื่องราวของตัวละคร และรับการเยียวยาในหัวใจไปด้วย คล้ายบางอย่างเกิดในชีวิตไม่ได้ …ปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไข แต่เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้

        “นอกจากปัญหาในชีวิตก็ยังมีเรื่องของการเติบโต แบบว่าเขายังไม่ได้ทำอะไรให้กับชีวิตเพราะเขากลัวที่จะออกจากคอมฟอร์ตโซน อย่างการเปลี่ยนโรงเรียน วรรณกรรมเยาวชนเองก็มีหมวด coming of age คือเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน ทุกอย่างมีการเติบโตเปลี่ยนแปลง คือตัวละครต้องทำอะไรเพิ่มจากแต่ก่อน ทำให้เด็กมีแรงบันดาลใจว่าอยากจะก้าวไปข้างหน้าเหมือนตัวละคร”

 

เรื่อง: ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์