Start with Style EP.15: เขียน ‘ปัญหา’ ลงกระดาษ วิธีถอยออกมาหนึ่งก้าวโดย Jim Rohn นักสร้างแรงบันดาลใจระดับปรมาจารย์

เข้าเดือนที่ 16 ของโลกใหม่ที่เราทั้งหลายที่อ่านอยู่นี้กำลังปรับตัวให้เข้ากับ New Normal ที่กำลังจะกลายเป็นเรื่อง Normal ดิฉันและคุณหลายๆ คนที่อ่านอยู่นี้ เราทุกคนกำลังรวบรวมพลังลมปราณในการจะสู้กับทั้งโรคภัยและปัญหาด้านอื่นของชีวิต อย่างที่บอกไปในตอนที่แล้วว่า Start with Style เดือนนี้ เราจะขอยกพื้นที่ให้เป็นที่สร้างแรงบันดาลใจเพื่อให้กำลังใจกับคนอ่านทุกคน ในตอนนี้ ดิฉันเลยทำการบ้านเยอะหน่อย ด้วยการหาหนทางที่จะช่วยเราแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตไปด้วยกัน

        ดิฉันฝึกนิสัยตัวเองให้เป็นคนฟังบทความหรือคลิปที่สร้างแรงบันดาลใจในทุกเช้า ส่วนใหญ่ดิฉันชอบหาฟังคำพูดจากคนเก่งๆ แต่ช่วงนี้ดิฉันกำลังฟัง จิม โรห์น (Jim Rohn) นักพูดสร้างแรงบันดาลใจระดับปรมาจารย์ผู้เป็นครูของเหล่านักพูดสร้างแรงบันดาลระดับโลกและนักเขียนหนังสือพัฒนาตัวเองหลายๆ คนที่โด่งดังมากๆ ในตอนนี้ ดิฉันพบว่า การฝึกนิสัยตัวเองให้ฟังเรื่องราวแบบนี้ทุกวัน ช่วยให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงมากขึ้น แม้ถนนจะขรุขระหรือพบกับเส้นทางที่รกรุงรัง เพราะทุกครั้งที่ฟัง เราจะได้คำตอบบางอย่างให้กับชีวิต อีกทั้งยังเป็นการฝึกใจให้คุ้นเคยกับการขบคิดเรื่องที่เป็นประโยชน์ เพราะเมื่อเกิดปัญหา คลังความรู้ที่เราได้ฟังมาจะเป็นเหมือนที่ปรึกษาให้เราก้าวข้ามผ่านปัญหาหรืออุปสรรคนั้นด้วยตัวเอง

        มีเรื่องหนึ่งที่จิมพูดไว้ และดิฉันพบว่าเหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้มากๆ และอยากจะแชร์กับผู้อ่าน a day BULLETIN ที่อ่านอยู่ตอนนี้ทุกท่านค่ะ นั่นคือหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่องวิธีการแก้ปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ ดิฉันลองใช้วิธีนี้เหมือนกัน รู้สึกว่าค่อนข้างเวิร์กเลย สำหรับดิฉันคิดว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ฉลาดและใช้ได้กับทุกปัญหาและใช้ได้กับคนทุกเจเนอเรชัน แม้ว่าสิ่งนี้จะถูกพูดถึงเมื่อหลายสิบปีมาแล้วก็ตาม ดิฉันพบว่าความคลาสสิกคือเรายังหยิบมาใช้ได้เสมอ ใครที่กำลังเจอทางตัน หาทางออกไม่เจอ หากระดาษกับปากกามาค่ะ เราจะทำไปด้วยกัน

คิดบนแผ่นกระดาษ​

        การถอยออกมาจากปัญหาหนึ่งก้าวเพื่อทำให้เรามองเห็นปัญหาและหาทางแก้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่แค่นั่งและทบทวนปัญหา แต่ จิม โรห์น บอกว่า คุณจะต้องเขียนมันออกมาให้หมด เพราะการเขียนปัญหาทั้งหมดลงบนกระดาษจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาในทุกแง่มุมได้อย่างชัดเจน การเขียนปัญหาออกมา ทำให้เราแยกปัญหาออกจากอารมณ์ พูดง่ายๆ ว่าเราจะไม่เมาหมัดไปกับอารมณ์ทั้งจากตัวเองและคนรอบข้างเมื่อเราตัดอารมณ์ได้ เราจะเห็นความจริงของปัญหาที่เป็นเหตุและเป็นผล เห็นทั้งความพลาดและบทเรียนอย่างชัดเจน เพื่อให้เราแพลนการแก้ไขปัญหาในขั้นตอนต่อไปได้

หาวิธีแก้ปัญหาโดยแบ่งกระดาษเป็นสองฝั่ง

        เมื่อเขียนทุกอย่างออกมาแล้ว ให้แบ่งกระดาษเป็นสองฝั่ง ฝั่งแรก ให้เขียนหัวข้อว่า ‘ปัญหา’ อีกฝั่งให้เขียนหัวข้อว่า ‘ทางแก้ปัญหา’ ฝั่งที่เขียนว่า ‘ปัญหา’ ให้คุณเขียนลิสต์เป็นข้อๆ ว่าปัญหาตอนนี้หรือจากเรื่องนี้มีอะไรบ้าง จิมบอกว่าไม่ต้องพรำ่พรรณาโวหารเหมือนการเขียนบันทึก แต่ให้เขียนเป็นข้อๆ วิธีนี้จะช่วยให้เราแยกแยะปัญหาแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน จากนั้น อีกฝั่งของกระดาษที่เขียนว่า ‘ทางแก้ปัญหา’ หรือ ‘ทางออก’ ให้เขียนความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาออกมาให้เยอะที่สุด โดยไม่ต้องคิดว่าจะทำได้หรือไม่ก่อนในช่วงแรก การเขียนทางออกออกมาให้เยอะที่สุดจะช่วยให้เราเห็นความเป็นไปได้และทำให้เราเห็นว่าเราอาจจะมีทางเลือกอื่นๆ ที่เราคิดไม่ถึง ดิฉันเสริมเพิ่มว่าสิ่งที่ดิฉันทำ *ดอกจัน เพิ่มด้วยคืออันไหนที่เป็นปัญหาที่เราควบคุมได้ 100% อันไหนเป็นปัญหาที่เราควบคุมได้น้อย หรือควบคุมไม่ได้เลย เมื่อแบ่งได้แบบนี้เราจะยิ่งเห็นภาพชัดว่าเราควรโฟกัสและแก้ไปที่จุดไหนก่อน และควรจะต้องเริ่มขอความช่วยเหลือจากใครบ้างในจุดที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองทั้งหมด

ถามตัวเองด้วยคำถาม 3 คำถามทรงพลัง

        ดิฉันชอบมากที่จิมบอกว่า เวลาเกิดปัญหา คนแรกที่เราควรจะปรึกษาคือตัวเราเอง เขาใช้คำว่า ‘Be your best Cheer Leader’ จงเป็นกองเชียร์ที่ดีที่สุดของตัวเอง เขาแนะนำว่าให้ตั้งคำถามสามคำนี้ เริ่มจาก เราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง เขียนวิเคราะห์ออกมาถึงสิ่งที่เราทำได้ ข้อดีข้อเสียของการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ หรือหาอ่านบันทึกสมุดโน้ตที่เราเคยเขียนไว้ บางทีเราอาจจะเคยเจอปัญหานี้มาแล้วหรืออาจจะเจอบทเรียนอะไรบางอย่างจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเอง ให้ทำลิสต์ไว้ แล้วค่อยๆ เลือกวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เวิร์กที่สุด แต่เราแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้ว ยังรู้สึกไม่มั่นใจหรือยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ให้ถามตัวเองด้วยคำถามที่ 2 ฉันจะหาอ่านคำตอบของการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการอ่านจากที่ไหนได้บ้าง อาจจะเป็นหนังสือบางเล่ม หรือเว็บไซต์ แม้แต่การฟังคลิปที่มีคนโพสต์เอาไว้ (อันนี้ดิฉันเติมเอง ยุคสมัยของจิมเขาพูดถึงแค่หนังสือกับสัมมนาค่ะ) ลองค้นมาอ่าน ไปร้านหนังสือ เสิร์ชคำตอบจากเน็ต แล้วรวบรวมคำตอบที่ได้ มาวิเคราะห์อีกทีว่าอันไหนน่าจะมาปรับใช้กับเราได้ อันไหนที่อาจจะไม่เวิร์กหรือไม่เหมาะกับเรา รวบรวมสิ่งที่อ่านเจอมาทำเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาร่วมกับการวิเคราะห์ของตัวเองในข้อที่หนึ่ง เมื่อได้คำตอบประมาณหนึ่ง และยังไม่รู้สึกว่าเคลียร์​ จิมแนะนำให้ถามตัวเองด้วยคำถามที่ 3ใครจะช่วยฉันแก้ปัญหานี้ได้บ้าง ลิสต์ชื่อของพวกเขาออกมาแล้วเอาข้อมูลจากสิ่งที่เราถามตัวเองในคำถามที่ 1 และ 2 ไปคุยกับคนคนนั้น วิธีนี้นอกจากจะทำให้คุณได้รับความช่วยเหลือจากคนที่มีประสบการณ์แล้ว ข้อมูลที่คุณเตรียมมายังจะช่วยให้คุณและเขาแยกแยะระหว่างปัญหากับอารมณ์ได้และยังช่วยให้เขาเข้าใจปัญหาของเรามากขึ้นอีกด้วย

        ใครที่รู้สึกว่าเจอทางตันอยู่ ลองนั่งลงแล้วใช้วิธีแบบแอนะล็อกแบบนี้ดูนะคะ ดิฉันทำแล้วพบว่าเมื่อได้เขียนลงไป รู้สึกว่าชีวิตมีทางเลือกมากขึ้นและทางเลือกนั้นๆ แหละค่ะจะช่วยเป็นกำลังใจให้เราค่อยๆ แก้ปัญหาทีละปม ทีละปม แน่นอนว่าทุกการเรียนรู้เพื่อการพัฒนา ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หรือได้มาอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่มีอาจจะยังไม่เจอทางออกแต่อย่างน้อยก็จะช่วยให้เราเห็น ‘ทางเดิน’ สู่ทางออก แค่นั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับคนที่กำลังรู้สึกติดขัด

        ที่สำคัญ อย่าลืมถามตัวเองว่าเราอยากเห็นชีวิตที่ติดอยู่นี้เดินไปสู่จุดหมายแบบไหน ลงมือเขียนรายละเอียดออกมา แล้วมองไปข้างหน้า สิ่งที่ทำวันนี้จะส่งผลต่ออนาคต ไม่ว่าวันนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าวันนี้เราเลือกเผชิญหน้ากับปัญหาแล้วมองหาทางแก้ รับรองว่าอนาคตที่งดงามรอคุณอยู่แน่นอน แม้ว่าตอนนี้เราจะอยู่ที่จุดศูนย์หรือติดลบ แต่ก้าวที่ 1 จะเริ่มต้นเสมอถ้าเราลงมือทำ

        ไปค่ะ! กระดาษ ปากกา เขียนออกมาให้หมด ดึงพลังกลับมา จับมือสู้วิกฤติไปด้วยกัน ถ้าคุณทำได้ อย่าลืมส่งพลังนี้ให้กับคนอื่นๆด้วยนะคะ เราจะรอดไปด้วยกันค่ะ!


ภาพ: Unsplash, Getty Images