Self-Image

Start with Style EP.2: การตั้งเป้าหมายในการแต่งตัวให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายชีวิตของคุณ

หลายๆ ครั้งที่ดิฉันมักจะได้ยินคำถามหรือคอมเมนต์เกี่ยวกับการแต่งตัว เช่น เราต้องใส่ใจเรื่องนี้แค่ไหน เราต้องใช้การแต่งตัวเป็นใบเบิกทางจริงหรือ ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คนไม่เห็นต้องใส่สูทผูกไท หรือแม้กระทั่งว่าการแต่งตัวเป็นเรื่องไร้สาระ ถ้าเรามีความสามารถ ทุกคนจะเห็นเอง เหมือนที่เราเห็นจากคนดังหลายๆ คน

        เรื่องการแต่งตัวเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่เรามีสิทธิเสรีภาพเต็มร้อยที่จะเลือกในสิ่งที่เราต้องการ ถ้าใครได้เรียนเรื่องของจิตวิทยา โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาตัวเอง จะเคยได้ยินคำว่า ‘Self-Image’ คำว่า Self-Image ถ้ามองใช้มากเกินไปจะทำให้เหนื่อย เพราะว่าเราจะต้องมีภาพลักษณ์ที่วางไว้และต้องยึดถือในภาพลักษณ์ตลอดเวลา ซึ่งแปลว่าบางครั้งอาจจะถูกตีความว่าเป็นคน ‘สร้างภาพ’ ในทางกลับกัน Self-Image ถ้าใช้เพื่อการพัฒนาจะหมายความถึง ‘ภาพ’ ที่เรามองเห็นตัวเองจากมุมมองที่เรามองตัวเอง ดังนั้น เราจึงเลือกเสื้อผ้าที่สะท้อนถึงมุมมองที่เรามองตัวเอง ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราใช้กระบวนการแบบนี้มาตลอดชีวิตของเรา ลองไล่คิดดูนะคะ ถ้าเราเป็นคนแต่งตัวสบายๆ ไม่คิดอะไรมาก เรามักจะมองว่าเราเป็นคนง่ายๆ คนที่แต่งตัวกริบๆ เน้นความเนี้ยบไปทุกดีเทล ไม่มีทางเดินออกมาบอกกับผู้คนว่าเขาเป็นคนสบายๆ อย่างแน่นอน แล้วเคยเป็นกันไหมคะ เวลาเราแต่งตัวในแบบที่เราพอใจในตัวเอง เรามักจะเดินออกจากบ้านด้วยความสุข เหมือนกับเสื้อผ้าในวันนี้ถูกออกแบบมาให้เราโดยเฉพาะ พอเดินออกไปข้างนอกแล้วมีใครสักคนทักว่า วันนี้แต่งตัวแปลกๆ หลายๆ ครั้งที่ความรู้สึกมั่นใจของเราจะสั่นคลอนลง โดยเฉพาะถ้าคำแซวนั้นเชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่าง เช่น ชุดเสื้อเหมือนฤๅษี ชุดสีเมทัลลิกเหมือนผ้าผูกศาล โดนมากๆ ก็พาลเอาเสียความมั่นใจไปทั้งวัน อยากจะหนีกลับบ้านเดี๋ยวนั้นเลย

Self-Image

        ทำไม สตีฟ จ็อบส์ ใส่ชุดเสื้อยืดสีดำกับกางเกงยีนส์ ทำไมมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ไม่เคยใส่สูทยกเว้นวันที่ไปศาล ทำไม ริชาร์ด แบรนด์สัน เจ้าของเครือ Virgin ชอบแต่งตัวสบายๆ ราวกับไปทะเลอยู่ทุกวัน คำตอบก็คือ Self-Image ของพวกเขาไม่ได้เน้นไปที่ความซีเรียสและจริงจังน่ะสิ แต่ถ้าสายงานที่เราทำ หรือธุรกิจที่เราทำอยู่ ต้องเจอกับผู้คนที่เน้นความจริงจัง Self-Image ที่เราต้องนำเสนอก็ควรจะจริงจังเช่นเดียวกัน จริงไหมคะ เวลาทำเวิร์กช็อป ดิฉันมักจะพูดเสมอว่าภาพที่เราเห็นในกระจกคือภาพที่สะท้อนโลกภายในของเรา สิ่งที่คุณเห็นในกระจกคือสิ่งที่คนอื่นจะเห็นในตัวคุณ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่ได้กำหนดภาพที่ต้องการจะนำเสนออย่างชัดเจน คุณก็จะยืนงงอยู่หน้าตู้ แล้วหยิบเสื้อผ้าตัวเดิมๆ มาใส่ จบลงด้วยความเบื่อหรือโฟกัสไปในจุดที่เราไม่ชอบในตัวเอง แล้วที่น่าตลกก็คือ เวลาเราไม่ชอบส่วนไหนของตัวเอง เราจะนำเสนอมันออกมาก่อน เช่น เลือกเสื้อผ้าที่ไปโฟกัสจุดที่ไม่ชอบโดยไม่รู้ตัว หรือบางคนอาจจะพูดออกมาเป็นคำแรก (สิวเม็ดใหญ่มาก ทำไมต้องมาขึ้นวันนี้ด้วย–คิดในใจแต่พูดออกมาเมื่อเจอเพื่อน)

        มนุษย์เราสื่อสารกับคนอื่นๆ เสมอ ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ การสื่อสารด้วย Self-Image คือการสื่อสารแบบไม่ต้องใช้คำพูดหรือ Non-Verbal Communication เพราะฉะนั้น การกำหนด ‘Self-Image’ หรือภาพที่เราต้องการจะสื่อออกไปจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นหลายทางเลยค่ะ สำหรับดิฉันถือว่าเป็นกำไรของชีวิตเลยก็ว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนด Self-Image ที่ชัดเจนจะทำให้เราเลือกเสื้อผ้าได้ง่ายขึ้น ช้อปปิ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญเราจะเคารพในสิ่งที่เราเลือกด้วยตัวเองเพราะเรารู้ว่าเราจะสื่อข้อความอะไรออกไปจากภาพที่เรากำหนดเอง

        สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการกำหนด Self-Image ก็คือ เราต้องชัดเจนว่าเราอยากมี Self-Image แบบนั้นไปเพื่ออะไร ถ้าบอกว่าต้องการให้แค่ดูดี มันไม่ต่างอะไรจากการ Make-Over ที่วันรุ่งขึ้นเราก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม การสร้าง Self-Image ที่มีประสิทธิภาพคือเราต้องทราบว่าเราจะแต่งตัวไปทำไม แต่งตัวในแบบที่เราต้องการแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเราบ้าง อะไรจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง นอกจากตัวคุณเองแล้ว ใครได้รับผลประโยชน์จากสิ่งนี้บ้าง การแต่งตัวที่คุณต้องการจะเปลี่ยนนั้น จะนำเสนออะไรที่มากไปกว่าความดูดีหรือดูน่าเชื่อถือ มันจะดีมากเลยค่ะ ถ้าคุณเขียนคำตอบออกมาเป็นข้อๆ เพราะการเขียนจะทำให้เราเห็นคำตอบทั้งหมดอย่างชัดเจน เมื่อได้คำตอบแล้วว่าเราจะปรับเปลี่ยนการแต่งตัวไปเพื่ออะไรแล้ว เราก็เริ่มลงรายละเอียด เช่น ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ดิฉันมักจะแนะนำให้ลูกค้าใช้การตั้งเป้าหมายแบบ ‘S.M.A.R.T goal’ เหมือนกับที่เราใช้ในเรื่องอื่นๆ ค่ะ ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบนี้นะคะ

Self-Image

        S: Specific เฉพาะเจาะจงไปเลย เช่น จากวันนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลา 6 เดือน เราจะใช้การแต่งตัวเพื่อสะท้อนบทบาทและตัวตนของเราเพื่อสร้าง Personal Branding ให้กับตัวเอง หรือใช้การแต่งตัวเพื่อนำเสนอธุรกิจของเราหรือตำแหน่งที่เราได้รับ โดยจะเน้นไปที่บุคลิกภาพ 3 คำคืออะไร ก็กำหนดลงไปให้ชัดเจนค่ะ

        M: Measurable วัดผลได้ หมายความว่าคุณจะต้องกำหนดว่า อะไรจะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณบรรลุผลนั้นแล้ว เช่น คนจดจำ ได้ลูกค้าเพิ่ม หรือมียอดเติบโตทางธุรกิจ หรือแม้แต่เสื้อผ้าในตู้ไม่สะเปะสะปะเหมือนเดิม ใช้เวลาแต่งตัวน้อยลง เลือกเสื้อผ้าได้อย่างมั่นใจขึ้น เป็นต้น

        A: Achievable เป้าหมายนั้นต้องเป็นไปได้ หมายความว่าให้ลองเริ่มจากสเตปที่มีความน่าจะเป็นไปได้ก่อน เช่น เลือก Self-Image หรือสไตล์ที่ไม่ต่างไปจากเดิมราวฟ้ากับดิน เช่น จากแต่งตัวเท่ๆ มาเป็นเซ็กซี่ลูกแมวเหมียว แต่ถ้าอยากปรับลุกส์ให้ดูหวานขึ้น อาจจะเปลี่ยนไปใส่กระโปรงแทนกางเกง แต่ท่อนบนจะเท่ก็ได้ ไม่ว่ากัน ประมาณนี้ค่ะ

        R: Realistic ตั้งอยู่บนความเป็นไปได้ เช่น ถ้าคุณไม่ใช้คนใส่แบรนด์แต่บอกว่า จากวันนี้เป็นต้นไป สามเดือน จะใส่แบรนด์เนมทั้งตัวเพื่อให้ดูดีขึ้น อันนี้อาจจะเป็นความยาก เพราะเรื่องของแบรนด์ไม่ใช่แค่ราคา แต่เป็นเรื่องของคาแรกเตอร์ที่เราจะต้อง #เอาให้อยู่ พูดง่ายๆ ว่าถ้าคาแรกเตอร์ของเราไม่เชื่อมโยงกับแบรนด์ ต่อให้เราใส่ทั้งชุด ก็จะไม่สามารถนำเสนอความชัดเจนได้อยู่ดีค่ะ

        T: Timely เซตเวลาให้ชัดเจน เป็นการแพลนทั้งเรื่องของการเรียนรู้ การช้อปปิ้ง การให้เวลากับเป้าหมายของคุณ เช่น กำหนดเลยว่าถ้าอยากจะแต่งตัวให้ดูดีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างในชีวิตของคุณ คุณต้องใช้เวลาและเงินไปกับอะไรบ้าง ยกตัวอย่างนะคะ ว่าอาจจะหาอ่านว่าสไตล์การแต่งตัวที่เราต้องการเป็นนั้น มีฮาวทูอะไรบ้าง เสื้อผ้าสีประมาณไหน เวลาทำช้อปปิ้งลิสต์ก็กำหนดไปเลยว่าเดือนอะไรจะซื้ออะไร เพราะอะไร รวมไปถึงการกำหนดอย่างชัดเจนว่า ภายในวันที่เท่านั้นเดือนนั้นเดือนนี้ ตู้เสื้อผ้าของเราจะต้องเต็มไปด้วยเสื้อผ้าที่เป็นไปกับเป้าหมายที่เราวางไว้

        แนะนำอีกนิดว่าเป้าหมายของ Self-Image ถ้าตรงกับเป้าหมายส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานและชีวิตส่วนตัว คุณจะไม่ต้องเหนื่อยเลย เพราะทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันไปหมดอยู่แล้ว ลองทำตามนี้ดูนะคะ แล้วคุณจะพบว่าชีวิตง่ายขึ้นแถมยังเห็นผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ที่สำคัญ คุณจะไม่สั่นคลอนกับเรื่องราวไม่เป็นเรื่อง เช่น คำแซวหรือคอมเมนต์ เพราะเมื่อคุณตัดสินใจแล้วว่าคุณต้องการกำหนด Self-Image แบบนี้และต้องการนำเสนอตัวเองแบบนี้ ไม่ว่าใครจะว่าอะไร ให้กลับมาที่วัตถุประสงค์ใหญ่ที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาเปลี่ยน

Self-Image

        ถ้าวัตถุประสงค์ในชีวิตเรายิ่งใหญ่พอ เราจะก้าวเข้าสู่เป้าหมายอย่างมั่นคง และคอมเมนต์ต่างๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กลงทันที

        หลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จเขาทำกันแบบนี้ มากไปกว่าความสำเร็จคือความสุขและความสงบที่เกิดจากการเคารพตัวเอง

        ดิฉันอยากเห็นคุณเป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน ลองเอาวิธีที่เล่ามานี้ไปใช้กันดูนะคะ ได้ผลยังไง แจ้งมาทาง a day BULLETIN ได้เลยค่ะ


ภาพ: Reuters, Getty Images