“ไม่แต่งตัวเลย ไม่ชอบแฟชั่น ไม่เคยตามดู แต่ถ้าอยากลองลุกขึ้นมาแต่งตัว ต้องเริ่มยังไง”
ดิฉันได้ยินประโยคนี้มาเยอะมาก ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อก่อนตอนยังทำงานในวงการแฟชั่น ดิฉันไม่เคยสนใจเรื่องนี้ ไม่เคยสนใจว่าใครจะแต่งตัวแบบไหน เพราะคนรอบตัวเรามีแต่คนที่แต่งตัวจัดจ้าน แต่งตัวเก๋ๆ และดิฉันก็ได้แรงบันดาลใจจากพวกเขาอยู่เสมอ ในช่วงนั้นดิฉันคิดว่าคนทุกคนแต่งตัวในสไตล์ที่ตัวเองเป็นได้เสมอ เวลาเห็นภาพแฟชั่นโชว์บนรันเวย์ที่มีความแปลก ดิฉันก็มีแต่ความชื่นชมและสนุกสนาน การแต่งตัวและแฟชั่นสำหรับดิฉันในตอนนั้นแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันแบบแยกไม่ออก
คุณหลายๆ คนที่กำลังอ่านอยู่นี้ กำลังคิดเหมือนกันหรือเปล่าคะ เมื่อเราพูดถึงการแต่งตัว มันช่วยไม่ได้ที่จะมีภาพปรากฏมาในสมองเป็นภาพรันเวย์หรือไม่ก็ดาราที่เราเคยแอบไปส่องดู แล้วเราก็หันมาบอกตัวเองว่า ฉันไม่ใช่คนแต่งตัว ฉันแต่งตัวไม่เป็น หรือแม้กระทั่งฉันไม่ชอบแฟชั่น ฉันไม่ชอบแต่งตัวเยอะๆ ทั้งหมดนี้เพราะว่าเรามีภาพจำของการแต่งตัวที่เป็นแบบนั้น แต่ทราบไหมคะว่าที่จริงแล้วการแต่งตัวหรือเสื้อผ้า เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการพัฒนาตัวเองเพื่อให้เราได้ก้าวสู่ความสำเร็จที่เราต้องการได้ พูดง่ายๆว่าเป็นใบเบิกทางที่จะทำให้เราเข้าสู่เป้าหมายหรือสิ่งที่เราต้องการได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้นบรรดาบุคคลสำคัญของโลกจะให้ความสำคัญกับการแต่งตัวจนกระทั่งต้องจ้างที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์มานั่งวางแผนให้อย่างจริงจังจนเราจำติดตาถึงทุกวันนี้เหรอ จริงไหมคะ
คำถามก็คือ ถ้าเราไม่มีนักปรับภาพลักษณ์มานั่งข้างๆ ในตู้เสื้อผ้ามีแต่เสื้อสามสี ขาว เทา ดำ และทุกอย่างก็เป็นสไตล์สบายๆ เราจะต้องเริ่มจากตรงไหน
ข้อที่หนึ่ง ง่ายที่สุด เริ่มจากการเชื่อมโยงภาพตัวเองกับการแต่งตัวที่เราชอบก่อน ลองเสิร์ชดูก็ได้ว่าเสื้อผ้าที่เรามีในตู้ เช่น เสื้อยืดสีขาว เขาเอาไปจับแมตช์กับอะไรได้บ้าง ในโอกาสชิลๆ เขาแมตช์กันอย่างไร ในโอกาสเป็นทางการ เสื้อยืดขาวใส่กับอะไรได้บ้าง แนะนำว่าให้พรินต์ออกมาสัก 10 สไตล์ คุณจะเห็นไอเดียที่แตกต่าง ใช้วิธีนี้ในการทดลองเล่นกับเสื้อที่เรามีในตู้ไปเรื่อยๆ ไม่นานคุณก็จะได้ไอเดียเองว่า ตู้เสื้อผ้าของคุณนั้นต้องมีอะไรเพิ่ม
ข้อที่สอง ก่อนจะไปหาอะไรเพิ่ม แนะนำให้ลองแบ่งกองเสื้อผ้าในตู้ออกเป็น 3 กอง
– กองที่ 1 : มีเยอะ ถ้าเป็นเสื้อยืดขาวเหมือที่ดิฉันยกตัวอย่าง ก็แยกมาไว้ในกองนี้เลย บางคนเจอเสื้อตัวเดียวกันอยู่ในกองนี้ 3 ตัวก็เคยมีนะ อันนี้ก็ต้องยอมรับไป ตบบ่าตัวเองเบาๆ ครั้งหน้าไม่ซื้ออีกแล้วนะเธอ!
– กองที่ 2 : ใส่บ่อย คนเราต้องมีตัวเก่ง ลองแยกออกมาค่ะ ว่าตัวเก่งของคุณคือตัวไหน เก่าหรือยัง ใส่บ่อยจนช้ำหรือไม่ ห้ามตอบว่าชุดนอนนะ! เราขอโฟกัสที่ชุดที่ใส่ออกจากบ้านได้ค่ะ
– กองที่ 3 : ไม่ได้ใส่เกิน 6 เดือน กองนี้ก็จะงงๆ หน่อย บางคนอาจจะซื้อมาตอนเซล แบบอารมณ์ผิดไซซ์แต่ไม่แคร์ บางคนอาจจะซื้อมาเพราะถูกยุ ซื้อออนไลน์ ภาพไม่ตรงกับปกอะไรก็ว่ากันไป กองนี้ ดูเลยค่ะ ใส่ได้มั้ย ฟิตเปรี๊ยะรึเปล่า หรือหลวมไป หรือไม่ตรงกับบุคลิกเราอีกต่อไป แก๊งนี้ให้กำจัดออกเพื่อเคลียร์ตู้ ส่วนถ้ามีชิ้นไหนที่ซื้อมาแล้วยังไม่กล้าใส่ เอาไปแมตช์กับกอง 1 และ 2 ดูค่ะ เวลาอยากจะลองอะไรใหม่ๆ เราอย่าเพิ่งวู่วามเพราะจะทำให้เราไม่ชิน ให้เริ่มทีละนิด เช่น ไปแมตช์กับเสื้อผ้าที่เราชินแล้วก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มดีกรีความเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นจนเราคุ้นเคย
ข้อที่สาม แบ่งกองได้แล้ว ก็จัดเสื้อผ้าตามกอง ใครที่เคยเรียงเป็นสี เป็นประเภทของเสื้อ ดิฉันขอเชิญชวนมาทำวิธีนี้ นั่นคือการแบ่งกลุ่มเสื้อผ้าตามบุคลิกภาพที่เราต้องการจะสื่อสาร ง่ายๆ เลย ลองถามตัวเองสิคะว่าถ้าคนคนนี้เดินมา (อันนี้ทำแบบส่องกระจกไปด้วยได้นะคะ) เราเห็นบุคลิกภาพไหนที่เด่นชัดออกมาจากเขาบ้าง หลายๆ คนตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยถามตัวเอง
ลูกค้าหลายคนของดิฉันรู้สึกขัดเขินที่จะพูดถึงข้อดีหรือสิ่งที่เขาชอบในตัวเองแล้วมักจะเบนไปตอบว่า ชิลๆ สบายๆ ง่ายๆ… ฮัลโหล คำเดียวกันค่ะคุณ!! ไม่ผิดนะคะ ไม่ผิด แต่อยากได้ 3 คำ เพราะอะไร? เพราะในแต่ละบทบาทของชีวิตเรา เราใช้บุคลิกหรือลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน จริงไหมคะ สมมติคุณเป็นคนชิลๆ สบายๆ แต่ต้องไปทำงานที่เน้นภาวะผู้นำ เราจะสบายได้แต่ไม่มาก ถูกไหมคะ เราอาจจะต้องใช้คำที่มีความสตรองกว่านั้นสักนิด ยกตัวอย่าง สมมติเราอยากใช้ความว่าสบาย เราอาจจะเปลี่ยนเป็น ‘เข้าถึงง่าย’ หรือมิกซ์คำว่าสบายกับคำอื่นๆ เช่น สบาย มั่นใจ ชัดเจน หรือ สบาย inspire สนุก เป็นต้น #ขอสามคำ ที่บอกถึงบุคลิกภาพของคุณที่คุณชอบมากจนอยากประกาศออกไปแต่จะเดินพูดกับทุกคนที่เจอมันก็ไม่ใช่ จึงเป็นที่มาของการใช้เสื้อผ้าเป็นเครื่องมือค่ะ คือเมื่อได้ 3 คำแล้ว กลับไปดูเสื้อผ้า 3 กองของตัวเอง มีชิ้นไหนบ้างที่เชื่อมโยงหรือนำเสนอ 3 คำนี้ได้ดีที่สุด แยกออกมาค่ะ เราจะได้เห็นว่าเรามีอะไรและไม่มีอะไรบ้าง จากนั้นให้จับกลุ่มเสื้อผ้าเหล่านี้แขวนไว้ด้วยกัน ทำ shopping list เลยว่า ขาดเหลืออะไร กำหนดงบประมาณว่าเดือนนี้เราจะใช้เงินไปกับเสื้อผ้าแบบไหนก่อน ถึงจะทำให้การแต่งตัวของเรามีพลังมากขึ้น วนใส่กับเสื้อผ้ากลุ่มนี้อยู่สักประมาณ 1 เดือน คุณก็จะเห็นแล้วค่ะ ว่าต้องเพิ่มหรือลดอะไรบ้าง จากนั้นก็ให้ทำ shopping list ในเดือนต่อๆ ไป
ทำแบบไหนไปสักพัก รับรองเลยว่าสไตล์ของคุณจะเป็นรูปเป็นร่าง มีแบบฟอร์มที่จำได้มากขึ้น อ้อ! เวลาแต่งตัวเสร็จอย่าลืมเช็กทุกครั้งว่าตอบโจทย์ 3 คำที่วางไว้ไหม แล้วเวลาเดินไปไหน ให้ส่งพลัง 3 คำนี้ออกไปด้วยท่าทาง น้ำเสียง และการแสดงออกทุกอย่าง
เริ่มจากการทำแค่นี้เลย คุณจะพบกับมุมมองใหม่ๆ ของการแต่งตัวที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อแฟชั่น แต่เป็นไปเพื่อการนำเสนอตัวตนที่คุณภูมิใจที่สุดออกไปให้โลกได้รับรู้ เป็นการส่งสารที่สื่อถึงความมั่นใจและชัดเจนของคุณ
และแน่นอนว่าเมื่อเราชัดเจน ความสำเร็จที่มองไว้ก็อยู่ไม่ไกลเช่นกัน
ขอให้ทุกคนมีความสุขกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ในตู้เสื้อผ้าเดิมของตัวเองนะคะ
ภาพ: Getty Images