หอยทาก

เพื่อนคนแรก: อยู่ใกล้ แต่กลับไม่เคยรู้จัก

“แกร๊บบบบบ”

        เหย อีกแล้ว ฉันยกเท้าขึ้นมา สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ตัวหนึ่งได้รับบาดเจ็บอยู่บนพื้นดิน กระดองด้านขวาของมันแตก แต่ยังคงขยับตัวไปมา โชคดีที่ลำตัวของมันไม่ได้โดนการกดทับจากน้ำหนักตัวของฉัน

        “ขอโทษน้า ไม่ได้ตั้งใจจริงๆ” ฉันหยิบมันออกจากทางเดิน รู้สึกเสียใจว่าทำไมไม่เปิดไฟโทรศัพท์มือถือนำทาง

        เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะฤดูฝน ระหว่างเดินเข้าบ้านเวลามืดค่ำ จากประตูรั้วถึงประตูบ้าน ระยะทางสั้นๆ แต่คิดว่ามีหอยทากมากมายจบชีวิตลงที่นี่จากการกลับบ้านของมนุษย์สองชีวิต

        บ้านหลังนี้สร้างมาได้ห้าปีแล้ว หอยทากจะโผล่ออกมาให้เห็นเป็นจำนวนมากเมื่อฤดูฝนมาเยือน พวกมันอาจย้ายมาพร้อมกับดินที่ทำสวนบ้านนี้ หรืออาจอยู่ที่นี่มานานกว่านั้น ฉันไม่อาจรู้คำตอบ เท่าที่จำได้ ฉันเพิ่งสังเกตเห็นพวกมันเมื่อสองปีมานี้เอง หมายความว่า รับรู้ว่ามีเจ้าเพื่อนจิ๋วนี้อยู่จริงๆ ไม่ใช่แค่ต่างคนต่างอยู่

        ปีที่ผ่านมา ที่บ้านปรับปรุงสวนใหม่ เราตัดสินใจทำสวนให้เป็นสวนที่ชุ่มชื้น ปลูกมอส ปลูกเฟิน ปรับสภาพสวนให้เหมาะกับพืชเหล่านี้ ตั้งแต่ฤดูฝนปีที่แล้ว ฉันสังเกตเห็นหอยทาก พวกมันคลานช้าาาๆ อยู่บนมอส บนเฟิน บนใบไม้ บนพื้นดิน

        ช้าเหมือนไม่มีอะไรที่ต้องเร่งรีบ ค่อยๆ คลาน ค่อยๆ เคี้ยวยอดอ่อนของใบไม้ ดูน่าเอร็ดอร่อยยิ่งนัก 

 

หอยทาก

 

        เมื่อฉันเฝ้าดูพวกมันในวันหยุด ก็เห็นว่าพวกหอยทากมีหลายเผ่าพันธุ์ บ้างกระดองใหญ่ขนาดประมาณครึ่งฝ่ามือ รูปทรงกระดอง เหมือนเจดีย์ บ้างมีทรงแบนๆ สีน้ำตาลอ่อน โดยรวมแล้วตัวไม่ใหญ่นัก ประมาณเหรียญห้าบาท บางตัวเหมือนไม่มีกระดอง แต่มีอะไรที่ดูเหมือนกระดองโผล่มาเล็กน้อยกลางลำตัว บางตัวก็มีแค่ลำตัว ไม่มีกระดองเลย ตัวยาวประมาณก้านไม้ขีดไฟ เจ้าตัวนี้คือหอยทากหรือเปล่า ทำไมมันมีหลายแบบจัง

        ฉันไม่รู้จักพวกมันเลย รู้แค่ว่ามันคือหอยทาก (ซึ่งบางตัวแปลกๆ ก็ไม่แน่ใจว่าคือหอยทากไหม) ถ้าเปรียบเทียบคงเหมือน… ถ้าฉันเห็นหมา ก็รู้ว่าตัวนี้เป็นหมา แต่อย่าให้บอกว่าพันธุ์อะไร บอกไม่ได้แม้แต่ชนิดเดียว… แม้แต่ชนิดเดียวจริงๆ

        รู้สึกแปลกกับตัวเองและเศร้าใจนิดๆ ว่าไม่รู้จักหอยทากเลยสักชนิดหรือ แต่ก็ไม่ได้เศร้าอะไรมากนัก เป็นความอยากรู้อยากเห็น ว่าแล้วหอยทากที่มีอยู่เต็มสวนนั้นคือหอยทากพันธุ์อะไรกันแน่

        อากู๋บอกได้เสมอ ฉันเสิร์ชหาคำว่า ‘หอยทาก’

        หอยทากแอฟริกัน

        หอยทากกินอะไร

        หอยทาก ภาษาอังกฤษ

        หอยทากยักษ์

        หอยทากกินได้ไหม

        หอยทากฝรั่งเศส

        คำเหล่านี้ขึ้นมาก่อนที่ฉันจะกดปุ่ม Search ต่อ

        ฉันกดเข้าไปตรงคำว่า Images แทน

        ภาพสวยๆ ของหอยทากขึ้นมามากมาย นี่ไงตัวที่หน้าตาเหมือนที่ฉันเห็น และมีอีกมากมายหลายตัวที่ไม่เคยเห็นมาก่อน บางตัวกระดองสีดำขลับ สวยมาก บางตัวมีกระดองหลายสี มีหอยทากยักษ์ตัวเท่ากระต่าย มีหอยทากวางอยู่บนหน้าผู้หญิง เขียนว่าสปาหอยทาก มีหอยทากที่เป็นรูปปั้นไว้ตกแต่งบ้านและสวน รวมถึงมีรูปหอยทากที่มีตัวหนังสือเขียนทับว่าวิธีกำจัดหอยทากศัตรูตัวร้าย

        โห เหมือนเปิดประตูเข้าไปในโลกอีกใบหนึ่ง ‘โลกของหอยทาก’

        ความรู้สึกเหมือนครั้งแรกที่ฉันเคยเห็นพวกมันบนพื้นดินแล้วกวาดตามองอย่างละเอียด พอใช้เวลามองสักครู่ จึงเห็นว่ามันเยอะมาก

 

หอยทาก

 

        ฉันกดเข้าไปในรูปหอยทากที่หน้าตาเหมือนหอยทากที่มีอยู่เต็มสวนที่บ้าน มันชื่อหอยทากสยาม มิน่า… มันอยู่เต็มสวนเลย

        ฉันเข้าไปที่เว็บไซต์เว็บหนึ่ง เพิ่งรู้ว่าหอยทากพันธุ์เดียวมีชื่อมากมายขนาดนี้ ทั้งชื่อทั่วไป ชื่อท้องถิ่น ชื่อสามัญ และยังมีชื่อทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย

        ชื่อทั่วไปคือหอยทากสยาม มีชื่อท้องถิ่นว่าหอยดักดาน ใครตั้งหนอ ทำไมถึงตั้งชื่อนี้นะ มันจะรู้ไหมว่าคำว่าดักดานของมนุษย์แปลว่าอะไร ส่วนชื่อสามัญเป็นภาษาฝรั่งด้วย ชื่อ Siam Cryptozona แถมยังมีชื่อทางวิทยาศาสตร์อีก Cryptozona Siamensis (Pfeiffer, 1856) เฉพาะแค่ชื่อฉันก็สงสัยหลายอย่างแล้ว แต่เดี๋ยวค่อยเรียนรู้เพิ่มเติมละกัน

        มันเป็นหอยทากที่อยู่บนบก เลยเป็นประเภท ‘หอยทากบก’ มันหายใจด้วยปอด เหมือนมนุษย์เลยแฮะ  

        เมื่อลองอ่านการอธิบายลำตัวของหอยทากไปเรื่อยๆ แล้วรู้สึกทันทีว่าตัวเองเป็นคนหยาบช้า เอ้ย ไม่ใช่! เป็นคนหยาบ แบบไม่ละเอียดน่ะ เพราะถ้าให้ฉันอธิบายลักษณะของมัน ฉันคงอธิบายว่ามีลำตัวนุ่มๆ คลานช้า กระดองมีสีน้ำตาลอ่อน ขดเป็นวงๆ เท่านั้นเอง คำอธิบายนี้ นักวิทยาศาสตร์คงวิเคราะห์สายพันธุ์ไม่ได้

        นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเปลือกเป็นทรงโดมเตี้ยจนถึงค่อนข้างแบน ส่วนยอดอาจโค้งนูนเล็กน้อย ความกว้างของเปลือก 20-25 มิลลิเมตร น่าจะขนาดเท่าเหรียญห้าบาท สูงเท่าเม็ดข้าวสารแนวตั้ง คือ 10-15 มิลลิเมตร

        มนุษย์ทั่วๆ ไปไม่น่าจะรู้จำนวนวงที่ขดอยู่บนเปลือกหอย คงไม่ได้มานับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าวงเปลือกหรอกใช่ไหม แต่พวกเขานับ มันเลยถูกบันทึกว่ามีวงเปลือก 8-12 ชั้น โอ้ ต้องลองไปนับดูบ้างแล้ว

        เพิ่งสังเกตว่าสิ่งที่ฉันเรียกว่ากระดอง นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าเปลือก เอ๋ แล้วกระดองกับเปลือกนี่ต่างกันยังไงนะ โอเค เปลือกก็เปลือก แต่มานึกดีๆ เวลากินหอยแครง แม่จะถามว่าแกะเปลือกหอยได้ไหมลูก เอ่อ ก็เรียกว่าเปลือกนี่นา ทำไมฉันถึงเรียกกระดองนะ

        ถ้าสังเกตดีๆ เปลือกด้านบนมีผิวเป็นริ้วตาข่ายละเอียดและมีสีน้ำตาลเข้ม เปลือกด้านล่างค่อนข้างเรียบและมีสีขาวนวลต่างจากผิวด้านบนอย่างชัดเจน แต่ถ้าไม่ได้สังเกตแบบฉัน จะเห็นแค่ว่าเป็นสีน้ำตาล ส่วนลำตัวหอยมักมีสีขาวนวล น้ำตาลอ่อน จนถึงสีเทาดำ 

        ที่น่าตกใจก็คือปากเปลือกของมันเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวด้วยนะ รู้สึกถึงความโรแมนติกขึ้นมาเบาๆ อันนี้ต้องไปสังเกตด่วนเลย

 

หอยทาก

 

        สิ่งที่เห็นได้ง่ายคือเจ้าหนวดดุ๊กดิ๊กหนวดสองคู่ (tentacles) ซึ่งใช้ดมกลิ่น ส่วนปลายจะมีจุดสีดำซึ่งเป็นตาของมัน ส่วนหนวดคู่สั้นด้านล่างที่อยู่ใกล้กับปาก มีไว้เพื่อรับสารเคมีที่ลอยมาในอากาศหรือที่ติดอยู่ตามพื้น เท้าของมันจะเป็นกล้ามเนื้อหนา และยืดหดได้ เมื่อเวลาหอยเคลื่อนที่ ต่อมเมือกที่เท้าจะขับเมือกออกมา ทำให้ลื่น พวกมันจึงสามารถเคลื่อนที่ได้ง่าย มันมีฟันด้วยนะ แต่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูจะเห็นฟันซี่เล็กๆ เรียงกันอยู่ ซึ่งลักษณะและรูปร่างของฟันจะบอกได้ว่า มันเป็นหอยกินพืช ถ้าชนิดที่กินสัตว์ ฟันจะเป็นอีกแบบ มันสามารถกินพืชได้เกือบทุกชนิดที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม และกินซากพืชด้วย

        พวกมันอาศัยตามพื้น ตามซากพืชเน่าเปื่อย มักพบตามกองเศษใบไม้และตามต้นไม้ต่างๆ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ในประเทศ ตามสวนผลไม้ เรือนเพาะชำ ตามป่าเขา รวมไปถึงหมู่เกาะต่างๆ สามารถพบได้ตลอดทั้งปี

        เจ้าตัวนี้มีสองเพศในตัวเดียวกันด้วยนะ  (hermaphrodite) แต่ไม่สามารถผสมพันธุ์ในตัวเองได้ จำเป็นต้องอาศัยสเปิร์มจากอีกตัวหนึ่ง เมื่อโตเต็มวัย ประมาณ 5-8 เดือน มันจะจับคู่ผสมพันธุ์กันโดยการถ่ายสเปิร์ม

        เมื่อผสมพันธุ์กันแล้ว มันจะเริ่มวางไข่ โดยตัวแม่จะทำโพรงเล็กๆ ลึกลงไปที่ผิวดิน 3-5 เซนติเมตร หรือวางใต้เศษใบไม้ประมาณ  60 ฟอง ใช้เวลาฟักตัว 7-18 วัน ลูกหอยจะเจริญเติบโตและต้องการแคลเซียมเพื่อสร้างเปลือก เหมือนลูกคนเลย ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ถ้าเปลือกแตก มันสามารถสร้างเปลือกขึ้นมาใหม่ได้ พวกมันมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้ประมาณ 5 ปี

        อีกคำถามที่ข้องใจก็คือหน้าที่ของมันในระบบนิเวศล่ะ ลองทายดูไหม ติ๊กต่อกๆ หน้าที่ของมันก็คือเพิ่มธาตุอาหารในดิน

        แล้วสัตว์อะไรที่กินหอยทากล่ะ ฉันสงสัย พอเสิร์ชคำตอบ มีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งถามว่าหอยทากกินได้ไหม เลยเป็นคำตอบหนึ่งไปโดยปริยาย และก็มีคนบอกว่าปลากับเป็ดกินหอย แต่อาจจะเป็นหอยชนิดอื่นๆ เพราะหอยทากสยามอยู่บนบก

        สายพันธุ์ของหอยทากที่พบมากในไทยมีประมาณ 600 ชนิด และมี 50,000 ชนิดทั่วโลก นึกย้อนกลับไปก็สะเทือนใจที่ฉันไม่รู้จักมันแม้แต่สายพันธุ์เดียว

        อาจจะเคยเห็น แต่ไม่สนใจ ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตเรา หรือไม่มีเวลามากพอขนาดต้องรู้ว่าเธอคือใคร

        ข้อมูลทั้งหมดนั้นเหมือนบทคัดย่อที่ทำให้ฉันรู้จักหอยทากสยามได้รวดเร็ว หลายแง่มุม ละเอียดขึ้นมาก และตอบบางคำถามที่สงสัยอยู่ในใจ

 

หอยทาก

 

        ความรู้สึกเหมือนกับกลับมาจากงานปาร์ตี้ พบเจอคนคนหนึ่ง ได้เห็น ได้ทักทายเล็กน้อย แต่ก็ไม่มากพอที่จะรู้จักว่าเขาคือใคร อยากรู้จักเพิ่มเลยต้องใช้โซเชียลมีเดีย พยายามจะส่องเฟซบุ๊กเหมือนกันแหละ แต่เขาไม่น่าจะมีเฟซบุ๊ก โชคดีที่มีคนรู้จักเขา มากมายพอที่จะกูเกิลพบ

        เอาน่า ถึงจะเป็นการรู้จักกันเบื้องต้นจากข้อมูลวิชาการ แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่ใช่เหรอ

        การอยากรู้จัก จะทำให้เรารู้จักกัน สิ่งนั้นต่างหากที่สำคัญ

        ถ้าอย่างนั้นขอแนะนำตัวเลยละกัน

        ฉัน ‘ชิงชิง’ นะ

        “Very nice to meet you, หอยทากสยาม.” 🙂

 


*ข้อมูลจาก http://biodiversity.forest.go.th

*ศึกษาชีววิทยาหอยดักดาน (Cryptozona siamensis, Pfeiffer) Biological studies of Land snail Cryptozona siamensis (Pfeiffer) สมเกียรติ กล้าแข็ง, ดาราพร รินทะรักษ์, ปราสาททอง พรหมเกิด, ปิยาณี หนูกาฬ, กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2556 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร