Night of Living Dead

เมื่อครั้งยังเด็กฉันดู… Night of Living Dead

ทุกคืนวันเสาร์ สิ่งที่เราตอนเด็กๆ รอคอยที่สุดคือการได้ดูหนังดีๆ จากรายการ บิ๊กซีนีม่า หรือรายการทางช่องอื่นที่นำหนังดังหนังเด่นมาประชันกัน แต่ต้องยอมรับว่า ตัวเลือกแรกนั้นทางฝั่งช่อง 7 จะมีหนังที่ดึงความสนใจเราได้มากกว่าอยู่บ่อยครั้ง และหนึ่งในครั้งที่จำได้ดีคือคืนที่เราได้รู้จักกับเหล่าศพคืนชีพจากเรื่อง Night of the Living Dead (1990) หรือชื่อไทยคือ ซากดิบไม่ต้องคุมกำเนิด (เป็นชื่อที่ไม่ได้เล่าเนื้อหาของเรื่องอะไรเลย…)

        หนังเปิดเรื่องแบบเรื่อยๆ เรียงๆ มีสองพี่น้องชายหญิงเดินทางไปที่สุสานเพื่อเคารพแม่ที่เสียไปแล้ว ในระหว่างทางก็มีการโต้คารมกันจนทำให้เรารู้ว่าตัวพี่ชายเองก็ไม่ได้อยากมาที่นี่สักเท่าไหร่ และดูเป็นคนขี้บ่นที่น่ารำคาญไม่น้อย ส่วนตัวน้องสาวเองก็เป็นคนย้ำคิดย้ำทำจนเกินไป ไม่แปลกใจที่พี่น้องคู่นี้จะไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่นัก 

        ฟังดูอาจจะรู้สึกว่าเรื่องราวมันช่างน่าเบื่อ กว่าจะได้บันเทิงกันจริงๆ คงต้องรอถึงช่วงองก์สอง แต่เปล่าเลยหนังใช้เวลาเปิดเรื่องนี้เพียงแค่ 5 นาที จากนั้นก็คือการปรากฏตัวของซอมบี้และการไล่ล่ามนุษย์ที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้จนแทบหายใจไม่ทัน 

        Night of the Living Dead (1990) เป็นหนังที่หยิบเวอร์ชันปี 1965 มาสร้างใหม่อีกครั้ง ซึ่งกำกับโดย George A. Romero ที่ในตอนนั้นเขานำผีดิบที่มีเค้าโครงมาจากความเชื่อของชนเผ่าวูดู ว่าสามารถปลุกคนตายขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแรงงานทาสได้ โดย George A. Romero นำมาเล่าใหม่อย่างพลิกขั้วให้กลายเป็นเหล่าศพที่ลุกขึ้นมาไล่กัดกินมนุษย์ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสที่อาจจะหลุดออกมาจากการทดลองของทหาร แต่สิ่งที่ทำให้หนังซอมบี้ของ George A. Romero ที่แม้จะถูกให้ค่าในตอนออกฉายว่าเป็นแค่หนังเกรดบี ที่เอาไว้ฉายเป็นหนังควบในโปรแกรมของโรงหนังช่วงเที่ยงคืน และความทุนต่ำของตัวหนังนั่นคือความน่ากลัวที่แท้จริงมาจากมนุษย์ด้วยกันเอง

 

Night of Living Dead

 

        ซอมบี้ในยุคของ George A. Romero แม้จะเชื่องช้าจนคนยุคนี้มองเป็นเรื่องขบขัน และถูกนำมาล้อเลียนในหนังหลายเรื่อง แต่บิดาของหนังซอมบี้คนนี้ก็คือแรงบันดาลใจให้กับคนที่ทำงานในสายสร้างสรรค์เกือบทุกมิติ หรือใครที่คิดว่าซอมบี้ที่เดินช้าๆ จะไปน่ากลัวอะไร ลองหยิบเกม Resident Evil 2 Remake มาเล่นดูก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่าพวกมันไม่เหนื่อย ไม่เจ็บ ไม่ตาย ตราบใดที่หัวไม่ระเบิด และการใช้ปืนพกยิงหัวซอมบี้นั้นก็ใช่ว่าจะทำให้มันหัวแตกได้ทุกครั้ง นั่นยังไม่นับอาการลนลานเมื่อมันมีมากกว่าหนึ่งตัวและกำลังเดินมาหาคุณในพื้นที่ที่ซอมบี้เพ่นพ่านอยู่เต็มไปหมด…

        ซึ่งในหลายฉากของ Night of the Living Dead มักถูกหยิบมาคาราวะจากผู้กำกับหนังรุ่นใหม่มากมาย รวมถึง ชินจิ มิกามิ ผู้สร้างเกม Resident Evil ให้เด็กๆ ที่มีเครื่อง PlayStation ได้ขนหัวลุก และเผลอร้องกรี๊ดออกมาดังๆ ในช่วงปลายยุค 90s โดยเฉพาะฉากที่เราเผลอบังคับตัวละครไปยืนใกล้หน้าต่างแล้วมีมือของเหล่าซอมบี้พุ่งทะลุกระจกมาคว้าตัวเรา หรือในเกม Resident Evil 2 Remake ของปีที่แล้ว ก็มีหลายฉากที่ทำออกมาเพื่อสดุดีให้กับ George A. Romero เช่น ฉากที่ตัวซอมบี้ยืนอยู่ตรงราวบันไดและร่วงลงมาข้างล่างในตำแหน่งที่ตัวละครของเรายืนอยู่ ซึ่งก็มาจาก Night of the Living Dead

 

Night of Living Dead

 

        แรงบันดาลใจสำคัญของ Night of the Living Dead (1968) ที่มีคุณูปการต่อคนทำหนังในเวลาต่อมาคือ การที่ George A. Romero แสดงให้เห็นว่า แม้หนังจะทุนต่ำ ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำ เพราะต้องประหยัดงบ ใช้เพื่อนๆ และคนรู้จักมาร่วมแสดง เรื่องคุณภาพของตัวงานก็ไม่ได้มีความพิถีพิถันอะไรนัก เล่าเรื่องที่เรียบง่ายจนสามารถเขียนเรื่องย่อได้ในบรรทัดเดียวว่า ‘กลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ต้องเอาชีวิตรอดจากฝูงซอมบี้ที่ล้อมอยู่นอกบ้าน’ กลับกลายเป็นงานที่ถูกเล่าแบบปากต่อปากว่าทั้งน่ากลัวและตื่นเต้น แถมยังใส่ประเด็นของสังคม การเมือง การเหยียดเชื้อชาติเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน และการเผยถึงสัญชาตญาณดิบของมนุษย์เมื่อถึงเวลาคับขัน โดยเฉพาะฉากของบาร์บารา (นางเอก) ในตอนจบของเรื่อง ที่ทำเอาคนดูร้องเฮไปตามๆ กัน จนลืมไปว่าสิ่งที่เราดีใจไปกับการกระทำของเธอนั้น ตกลงระหว่างศพคืนชีพกับความสาแก่ใจของคนดู อะไรกันแน่ที่น่ากลัวกว่ากัน 

        เนื่องจากปัญหาหลายอย่างของ Night of the Living Dead (1968) ทำให้หนังเรื่องนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ ดังนั้น หนังเวอร์ชันนี้จึงกลายเป็นสมบัติสาธารณะ โรงหนัง รายการโทรทัศน์ หรือสื่อต่างๆ สามารถนำไปใช้เผยแพร่ได้อย่างอิสระ รวมถึงนำไปดัดแปลงและทำใหม่ได้ แม้จะเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจของ George A. Romero ก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่คือของขวัญที่เขามอบให้กับคนบนโลกนี้ (โดยไม่แน่ใจว่าแกจะเต็มใจไหม) แต่นั่นก็นำมาสู่การตระหนักถึงเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาในเวลาต่อมาด้วย

 

Night of Living Dead

 

        ซอมบี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่แตกออกไปได้มากมายทั้งความน่ากลัว บ้าคลั่ง ตัวแทนความเน่าเฟะของใจคน สงคราม การทวงคืนของธรรมชาติ ความสิ้นหวัง หรือเป็นความหวังก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตีคความของผู้กำกับที่จะหยิบใช้ และการบอกกับทุกคนที่อยากทำหนังแต่ติดเรื่องเงินๆ ทองๆ จนไม่ได้ทำอะไรสักทีว่า ‘พวกแกจะมัวรออะไรอยู่ คนไม่พอก็ไปเรียกญาติพี่น้องมาเข้าฉากสิ (ว้อย)’ อย่าให้เรื่องพวกนี้มาเป็นอุปสรรคในการทำหนังของตัวเองสิ 

        ซึ่งอุดมการณ์นี้ถูกส่งต่อไปถึง แซม ไรมี่ ชายผู้ที่เริ่มต้นโปรเจ็กต์หนังของเขาด้วยทุนสร้างหลักหมื่น และชวนเพื่อนๆ ไปถ่ายหนังในกระท่อมกลางป่า จนเกิดเป็น The Evil Dead (1981) หนังผีสุดสยองที่เคยทำให้เราไม่กล้าเดินขึ้นบันไดบ้านตัวเองตอนกลางคืนมาแล้ว หรือใน One Cut of the Dead (2017) หนังญี่ปุ่นที่เล่าถึงผู้กำกับที่ความฝันของเขาคือการทำหนังด้วยศิลปะที่สูงส่งซึ่งสวนทางกับชีวิตจริงที่ตัวเองต้องยอมรับงานทำหนังซอมบี้ทุนต่ำเพื่อดำรงชีพ และให้ตัวเองยังมีผลงานอยู่ในวงการต่อไป หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยไอเดียที่สนุกและสุดยอดมาก จนคนดูหัวเราะกันท้องแข็งกับชีวิตของคนทำงานเบื้องหลังที่หนังนำเสนอ โดยที่หน้าฉากแม้หนัง (ในหนัง) จะดูไร้ซึ่งคุณค่าใดๆ เพราะเป็นงานทุนต่ำที่ต้องเร่งทำแข่งกับเวลา แต่สำหรับทีมสร้างกลับมีสิ่งที่ต้องเดิมพันกับหนังเรื่องนี้กันทั้งนั้น จะมีก็เพียงแค่นายทุนเท่านั้นที่ไม่ได้รู้สึกทุกข์ร้อนอะไรกับความวายป่วงที่เกิดขึ้นหลังกล้อง ขอแค่เพียงคุณทำงานให้เสร็จทันตามกำหนดก็พอ 

        อีกเรื่องที่น่าสนใจและเป็นการโชว์วิสัยทัศน์ของ George A. Romero นั่นคือการเลือกตัวนักแสดงนำ โดยเขาให้ตัวละครชื่อ เบ็น ซึ่งเป็นความหวังของกลุ่มผู้รอดชีวิต แสดงโดย Duane L. Jones ซึ่งในปี 1968 นั้น การที่นักแสดงนำจะเป็นคนผิวสีอื่นที่ไม่ใช่คนอเมริกันผิวขาวแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ตัวผู้กำกับก็บอกเองว่าที่เขาเลือก Duane L. Jones นั้น เพราะประทับใจในการแสดงของชายคนนี้ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องสีผิว เชื้อชาติ หรือเหตุผลทางธุรกิจอะไรเลย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือตั้งใจ แต่หลายฉากที่ซอมบี้กำลังรุมล้อมตัวละครเบ็นอยู่นั้น ไม่มีซอมบี้ผิวสีอยู่เลยสักตัว ทั้งเวอร์ชันขาวดำและเวอร์ชันสีที่สร้างขึ้นมาใหม่ 

        แม้หนังซอมบี้ของ George A. Romero จะได้รับคำชมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหนังเรื่องต่อมา แต่กระแสของศพเดินได้นี้ก็มีช่วงขาลงเหมือนกับเทรนด์หนังเรื่องอื่นๆ ที่พออะไรประสบความสำเร็จ คนก็จะแห่มาสร้างหนังแนวนี้กันจนเละเทะไปหมด 

        แต่ด้วยความเป็นได้ทุกอย่างเชิงสัญลักษณ์ของซอมบี้ เมื่อมันไปอยู่ในมือคนทำที่เก่ง พวกมันก็พร้อมจะคืนชีพขึ้นมาได้เสมอ เช่น การที่ แซ็ก สไนเดอร์ หยิบเอา Dawn of the Dead (2004) ซึ่งเป็นงานเก่าของ George A. Romero มาเล่าใหม่ได้อย่างสนุกสนาน จนเกิดเป็นกระแสซอมบี้ฟีเวอร์อีกครั้ง ซึ่งซอมบี้ทีวิ่งไล่กวดแบบ 4×100 นี้ก็ต่อยอดมาจาก 28 Days Later (2002) ของ Danny Boyle อีกที ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา เราก็แทบไม่ได้เห็นซอมบี้เดินอย่างเชื่องช้าอีกเลย (ตกลงจะไม่เหลือทางรอดให้กันแล้วใช่ไหม) หรือเมื่อสีปีก่อน ซอมบี้ได้กลับมาอาละวาดในกรุงโซลเกิดเป็นหนังเรื่อง Train to Busan (2016) ที่คว้าทั้งเงินและกล่อง รวมถึงการกลับมาในภาคต่อชื่อ Peninsula ที่กำลังเข้าฉายในบ้านเราตอนนี้ ซึ่งหลายคนก็กลับเข้าโรงหนังอีกครั้งหลังจากที่ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ในการออกจากบ้านเพื่อมาดูหนังจากมาตรการการเว้นระยะห่าง Night of Living Dead        สิ่งหนึ่งที่เราคิดมาตลอดหลังจากได้ดู Night of Living Dead คือ ถ้าเกิดเหตุการณ์ศพคืนชีพขึ้นมาครองเมืองจริงๆ เราในฐานะผู้รอดชีวิตจะทำอย่างไรในโลกหลังเหตุการณ์ Apocalypse (วันสิ้นโลก) ระหว่างยืนหยัดต่อสู้เอาตัวรอด (ทั้งจากคนด้วยกันเองและซอมบี้) หรือสิ้นหวังหวาดกลัวยอมจบชีวิตตัวเองไปเลยดีกว่า 

        เพราะทุกวันนี้ข้อความตามโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เหล่าทัวร์ลงในประเด็นสังคมเรื่องความเห็นต่างที่เกิดขึ้น เราเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าระหว่างใจคนกับซากศพเดินได้ สิ่งไหนที่เน่าเฟะกว่ากัน