Allen Curve

รู้จักกับ Allen Curve: ทำไมแค่นั่งทำงานอยู่คนละชั้น ถึงรู้สึกเหมือนอยู่คนละโลก?

ในราวทศวรรษเจ็ดศูนย์ ‘โธมัส อัลเลน’ ซึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสทส์ หรือ MIT เคยศึกษาเรื่องหนึ่งที่ทำให้หลายคนช็อก – ว่ามันเป็นไปได้อย่างนั้นจริงหรือ

        อัลเลนเป็นนักวิชาการก็จริง แต่เขาไม่ได้นั่งอยู่บนหอคอยงาช้างหรือไม่แยแสโลก เพราะจริงๆ แล้ว เขาเคยทำงานอยู่กับบริษัทต่างๆ ด้วย เช่น โบอิ้ง รวมทั้งเคยเป็นทหารไปรบในสงครามเกาหลีอีกต่างหาก จนกระทั่งมาเรียนจบที่ MIT

        อัลเลนได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลให้ทำงานวิจัยเรื่องหนึ่ง งานที่ว่าก็คือการ ‘หา’ ว่า มีปัจจัยอะไรหรือเปล่าที่ทำให้บริษัทหนึ่งประสบความสำเร็จ ส่วนอีกบริษัทหนึ่งไม่ประสบความสำเร็จ

        เขาเริ่มต้นด้วยการหาบริษัทต่างๆ มาเปรียบเทียบกันแบบ ‘คู่แฝด’ บริษัทที่มีลักษณะเหมือนๆ กัน ประสบความสำเร็จเท่าๆ กัน แล้วก็แยกแยะออกมาว่า บริษัทพวกนั้นมีอะไรบ้างที่เหมือนกัน เช่นถ้าหากว่าเกิดปัญหาอย่างหนึ่งขึ้นมา อัลเลนจะดูว่าบริษัทเหล่านั้นแก้ปัญหาต่างๆ อย่าง ‘มีคุณภาพ’ มากน้อยแค่ไหน แล้วก็กลั่นกรองออกมาเป็นปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของความสำเร็จ

        คุณรู้ไหมว่า – อัลเลนค้นพบอะไร?

        สิ่งที่เขาค้นพบนั้นมัน ‘ง่าย’ เอามากๆ แต่หลายคนอาจมองข้ามไป นั่นก็คือ ‘ความใกล้ชิด’

        แรกทีเดียว อัลเลนก็ไม่เชื่อเรื่องนี้ เขาคิดว่าบริษัท (หรือ ‘วัฒนธรรม’ ในบริษัท) จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีองค์ประกอบต่างๆ เยอะแยะไปหมด แต่เขาพบว่า ปัจจัยอื่นๆ แม้จะสำคัญอยู่เหมือนกัน แต่เรื่องที่เห็นได้ชัดเจนมากกว่า คือ ‘ความใกล้ชิด’ ซึ่งหมายถึงเรื่องง่ายๆ ในระดับ ‘ระยะห่าง’ ของ ‘โต๊ะทำงาน’ ด้วยซ้ำไป

        อัลเลนบอกว่า บริษัทไหนมีการแยกชั้นกันทำงาน จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Vertical Separation’ ถ้าคนสองคนทำงานคนละชั้น พวกเขาจะไม่ได้รู้สึกเหมือนทำงานอยู่คนละชั้นเท่านั้น แต่จะรู้สึกเหมือนทำงานอยู่คนละประเทศได้ด้วย กลายเป็นว่า การแยกกันในแบบที่ไม่เห็นหน้าค่าตากัน กลายเป็นเรื่องซีเรียสเอามากๆ เพราะมันส่งผลต่อการทำงานขององค์กรทั้งองค์กร

        เขานำผลที่ได้มาพล็อตเป็นกราฟ มันจะออกมาเป็นเส้นโค้งที่ต่อมาเรียกกันว่า Allen Curve เส้นนี้บอกว่า ยิ่งระยะห่างในการทำงานของเราอยู่ไกลกันมากเท่าไหร่ ผลสัมฤทธิ์ในการทำงานก็ยิ่งแย่ลงเท่านั้น

        เส้นโค้งของอัลเลนบอกว่า จุดที่ห่างที่สุดที่จะยังทำให้คนทำงานร่วมกันได้อย่างดี ก็คือ 8 เมตร ถ้าเลย 8 เมตรไปแล้ว การสื่อสารระหว่างกันจะลดน้อยลงอย่างมาก คือเส้นกราฟจะกลายเป็นเส้นที่ดิ่งลงไปเลย แต่ถ้าระยะน้อยกว่า 8 เมตรละก็ พบว่าการสื่อสารระหว่างกันจะพุ่งชันสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยการสื่อสารระหว่างกันจะหยุดลงอย่างสิ้นเชิง ถ้าหากว่าระยะห่างเกิน 50 เมตร ขึ้นไป

        พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจัยเรื่องความใกล้ชิด (Proximity Factors) เป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งกว่าที่หลายคนคิด เพราะว่ามันไปกำหนดการสื่อสาร และการสื่อสารก็เป็นหัวใจของความสำเร็จขององค์การหรือวัฒนธรรมหนึ่งๆ

        บางคนอาจจะบอกว่า โอ๊ย! เชยเหลือเกินเจ้าเส้นโค้งอัลเลนนี่ เพราะจริงๆ แล้ว ทุกวันนี้เราสามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์ได้แล้ว ดังนั้นต่อให้อยู่ไกลกันขนาดไหนก็ไม่มีปัญหา แต่ที่จริงแล้วเขาบอกว่า การสื่อสารในโลกออนไลน์ปัจจุบันก็เป็นไปตามเส้นโค้งของอัลเลนด้วยเหมือนกัน คือพบว่าเรามักจะส่งข้อความต่างๆ ไปหาคนที่ ‘ใกล้’ กับเราในทางกายมากกว่า เช่น มีการศึกษาหนึ่งพบว่า คนที่แชร์โลเคชัน จะได้รับอีเมลจากเพื่อนร่วมงาน (ที่รู้ตำแหน่งของเขา) มากกว่าคนที่ไม่ได้แชร์โลเคชันมากถึง 4 เท่า ซึ่งทำให้ทำงานได้เสร็จเร็วกว่าราว 32%

        Allen Curve จึงเป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะมันคือ ‘ความใกล้ชิด’ ที่อาจเริ่มขาดหายไปจากชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน เพราะเราทิ้งตัวเองลงไปในโลกออนไลน์ และมักลวงตัวเองว่าเราได้ ‘ต่อติด’ หรือ connect กับคนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา

        ในฐานะมนุษย์ – การได้พบปะเห็นหน้าค่าตากันยังเป็นเรื่องจำเป็นอยู่เสมอ