ตกลงกับหัวหน้า

ตกลงกับหัวหน้าอย่างไร ให้ทำงานประจำได้อย่างอิสระ ไม่ต้องซีเรียสเรื่องเวลาทำงาน

สิ่งหนึ่งที่คนทำงานประจำโหยหาตลอดก็คือ ‘วันหยุด’ หรือความยืดหยุ่นในการเข้าออกงาน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า งานประจำบางงานก็สามารถมีอิสระและวันหยุดมากกว่าปกติได้เหมือนกัน

        ยกตัวอย่างเราเป็นต้น ปีนี้ก็เข้าปีที่ 3 แล้วที่เราใช้ชีวิตเป็นลูกจ้างก็จริง แต่มีอิสระที่จะไปนู่นมานี่ จนทำให้ใครหลายคนแทบไม่เชื่อว่าเราทำงานประจำ เพราะไม่คิดว่าจะมีงานที่ไหนยอมให้เราลาไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศบ่อยแทบทุกเดือน อันที่จริง รูปแบบการทำงานของเราถือเป็นดีลพิเศษ ฉะนั้น ในบทความนี้ เราจะมาเล่าเคล็ดลับว่ามีหลักคิดอะไรบ้างที่ทำให้เราสามารถทำงานประจำ โดยสามารถต่อรองจนมีอิสระเรื่องลาและการเข้าออกงาน (flexible time flexible place)

 

1. ประเมินลักษณะองค์กรและลักษณะงาน

        ต้องยอมรับก่อนว่าไม่ใช่ทุกองค์กรที่ยอมสร้างกติกาใหม่เฉพาะคนได้ ลองนึกถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานหลักพันหรือหมื่นคน องค์กรใหญ่แบบนี้จำเป็นต้องเน้นกติกาเพื่อปกครองคนส่วนใหญ่ ฉะนั้นการจะแฮ็กระบบว่าจะขอสิทธิพิเศษเข้าออกไม่เป็นเวลาหรือลาได้บ่อยๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก

        แต่ถ้าเป็นองค์กรเล็กๆ หรือเป็นองค์กรสมัยใหม่ที่ดูคล่องตัวและให้ความสำคัญกับงานที่เสร็จมากกว่าการเข้าออกงาน การเจรจาเพื่อขอสิทธิพิเศษแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะถ้าคนที่คุณคุยด้วยเป็นเจ้าของธุรกิจหรือมีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้ได้โดยตรง เพราะเขาสามารถตัดสินใจได้ทันที ถ้าเขาถูกใจคุณ

        ฉะนั้น ทุกครั้งที่เราจะย้ายงาน เราต้องประเมินก่อนว่าองค์กรที่จะเข้าไปทำมีรูปแบบที่เอื้อให้เกิดดีลพิเศษที่เราต้องการหรือไม่ เพราะถ้าไม่ ก็ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขชีวิตเรากับองค์กรนั้นไม่เข้ากัน นอกจากนี้ก็ต้องดูด้วยว่างานที่จะทำมีความจำเป็นต้องสแตนด์บายอยู่ออฟฟิศหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นงานที่จำเป็นต้องอยู่ออฟฟิศตลอด สิทธิพิเศษก็คงทำไม่ได้ นอกจากทำใจ

 

2. คุยข้อตกลงตั้งแต่เนิ่นๆ

        นายจ้างกับลูกจ้างไม่ต่างอะไรกับคนเป็นแฟนกัน ฉะนั้น นอกจากดูเคมีว่าไปด้วยกันได้หรือไม่ ก็ควรถามด้วยว่าคุณและเขาต้องการอะไร? และซีเรียสเรื่องอะไร? ว่าง่ายๆ ถ้าคุณต้องการทำงานแบบอิสระหน่อย เช่น อยากขอไปนู่นไปนี่หรือขอทำงานจากที่บ้านได้โดยไม่ต้องลากิจ หรือขอลาไปเที่ยวต่างประเทศโดยไม่อิงกับวันลาที่บริษัทกำหนด ก็ควรคุยกันตั้งแต่ก่อนรับเข้าทำงาน ว่าถ้าหัวหน้าหรือนายจ้างอนุโลมหรืออนุญาตให้ทำได้ ก็จะได้รู้ตั้งแต่ต้นไปเลยว่านี่เป็นข้อตกลงร่วมกันนะ ฉะนั้น ถ้าลาไปไหนขึ้นมาจริงๆ จะมาว่ากันทีหลังไม่ได้

 

3. บริหารใจหัวหน้า 3 เดือนแรกให้ดีที่สุด

        สมมติว่าคุณกับหัวหน้าตกลงกันได้แล้วว่ายอมให้คุณได้สิทธิพิเศษ ก็ขอให้คุณอย่าย่ามใจไปว่าคุณสามารถทำตัวอิสระได้เลยทันที เพราะอย่าลืมว่าคุณกับหัวหน้ายังไม่รู้จักและเชื่อใจกันเลย ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าหัวหน้าอาจจะระแวงหรือแอบไม่พอใจ แต่แค่ไม่บอกคุณ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ตำแหน่งการงานคุณอาจไม่มั่นคงเท่าที่ควร เพราะต่อให้เขาเซย์เยสบอกว่าได้ ไม่มีปัญหา แต่ใครจะรู้ว่าบางทีอาจลมเพลมพัด เขาไม่พอใจ เอาคุณออกได้เหมือนกัน

        ฉะนั้น สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากตกลงดีลและเข้าไปทำงานคือรีบบริหารใจหัวหน้าให้ไว้ใจคุณให้ได้เร็วที่สุด อย่างตัวเรา เราจะตั้งไว้เลยว่า 3 เดือนแรกต้องพยายามซื้อใจหัวหน้าให้ได้ ซึ่งวิธีที่จะทำให้หัวหน้าไว้ใจ ได้แก่ หนึ่ง สร้างข้อตกลงย่อยว่าคุณจะทำอะไรให้เขาบ้าง เช่น คุณชิงบอกหัวหน้าก่อนว่าอาทิตย์หน้าคุณจะส่งงานเขาวันนั้นวันนี้นะ แล้วคุณก็ต้องส่งให้ได้ตามที่บอก สอง คอยรายงานทุกอย่างให้เขารู้ ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของงาน หรือบอกปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมวิธีที่คุณเตรียมแก้ปัญหาไว้ ว่าง่ายๆ ชิงบอกอะไรที่หัวหน้าคุณควรรู้ พอหัวหน้ารู้ทุกความเคลื่อนไหว เขาก็จะอุ่นใจ (Secure) และสาม ทำทั้งสองข้ออย่างสม่ำเสมอ เพราะมันคือการทำให้หัวหน้าค่อยๆ ชินว่าคุณควบคุมงานทุกอย่างได้ โดยที่เขาเองก็จะได้รับรู้ทุกอย่างที่เขาต้องรู้

        ทีนี้ พอคุณทำให้หัวหน้าอุ่นใจและมั่นใจว่าคุณเอางานทุกอย่างอยู่หมัด คุณก็จะเริ่มไปไหนมาไหนโดยไม่อยู่ออฟฟิศได้โดยสบายใจขึ้น เพราะหัวหน้าไว้ใจคุณแล้วว่าต่อให้คุณไม่อยู่ออฟฟิศ คุณก็ทำงานนั้นได้จริงๆ แต่ก็อย่าทำแค่ช่วงโปรโมชันเท่านั้น แต่ต้องทำสม่ำเสมอ เพราะถ้าเขาไม่เชื่อใจคุณแล้ว ทีนี้คุณจะลำบาก

 

4. อย่าลืมมองภาพรวมว่า คนอื่นๆ จะคิดยังไง

        มาถึงข้อสุดท้ายคือ ต่อให้คุณได้สิทธิพิเศษมาก็จริง แต่อย่าลืมประเมินด้วยว่าเพื่อนร่วมออฟฟิศคนอื่นๆ จะคิดยังไง ว่าง่ายๆ คุณควรจะคิดแทนหรือคิดเผื่อหัวหน้าคุณด้วยว่าการที่ทีมหรือบริษัทมีคุณที่ได้สิทธิพิเศษส่งผลให้คนอื่นเขางอแงขึ้นไหม? หรือหมั่นไส้ที่คุณทำได้ แต่พวกเขาทำไม่ได้ หรือจะกลายเป็นปัญหาภายในกันได้ต่อหรือไม่? เพราะต่อให้หัวหน้าจะอนุโลมคุณก็จริง แต่ก็ควรบาลานซ์ด้วยเหมือนกันว่าแค่ไหนคือพอเหมาะพอดี ไม่เช่นนั้นแล้ว สิทธิพิเศษที่คุณได้อาจกลายเป็นอุปสรรคในการเติบโตในงาน

        กล่าวคือคุณได้อิสระในการทำงาน แต่คุณไม่ได้โชว์ความเป็นผู้ใหญ่ว่าคุณสามารถบาลานซ์ความรู้สึกคนและเข้าใจการปกครองคนได้ แต่ถ้าคุณรู้ว่าคุณมีสิทธิพิเศษ แต่คุณเลือกใช้มันอย่างมีเหตุผล หรือทำตัวแบบไม่ประเจิดประเจ้อ มันกำลังแสดงให้เห็นว่าคุณบริหารเวลาเป็น บริหารงานเป็น และคุณก็เข้าใจศิลปะการทำงานร่วมกับคนหมู่มากและการปกครองคน แบบนี้คุณก็มีสิทธิที่จะเข้าตากรรมการ โดยที่คุณก็ยังได้รับอิสระเหมือนเดิม

 

        และทั้งหมดนี้ก็คือเคล็ดลับที่เราทำมาตลอด 3 ปี ซึ่งมันทำให้เราเป็นพนักงานประจำ แต่ได้ใช้ชีวิตเหมือนฟรีแลนซ์ แต่ก็ใช่ว่าชีวิตแบบนี้จะได้มาง่ายๆ เพราะเอาเข้าจริง เราต้องทำงานและวางแผนชีวิตมากกว่าเดิม เช่น ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าอาทิตย์นี้จะมีเวลาทำงานแค่ 3 วัน ก็ต้องพยายามจัดการงานทั้งหมดให้เรียบร้อยภายใน 3 วัน รวมทั้งต้องวางแผนเผื่อกรณีฉุกเฉินต่างๆ หรือต้องคอยรายงานหัวหน้าให้บ่อยขึ้น เพื่อให้เขาสบายใจ

        นอกจากนี้ ที่ต้องทำแน่ๆ คือพอได้สิทธิพิเศษ จะเกี่ยงงานก็ทำไม่ได้ เพราะไม่งั้นจะถูกมองได้ว่าเราทำงานให้เขาไม่คุ้ม กลายเป็นว่าพอได้สิทธิพิเศษก็ยิ่งต้องพิสูจน์ตัวเองให้มากขึ้น และพิสูจน์ใจด้วยว่าเรายังเต็มที่ให้บริษัทเหมือนเดิม แม้เราจะไม่ค่อยอยู่ออฟฟิศ

        ฉะนั้น ทุกอย่างมีราคาที่ต้องแลกมาเสมอ ถ้าอยากได้รูปแบบทำงานพิเศษ ราคาของการพิสูจน์ตัวและพิสูจน์ใจก็จะแพงขึ้นตาม แต่ถ้าคุณทำได้ ก็ถือว่าคุ้ม ไม่ใช่แค่คุณได้จะได้อิสระ แต่คุณยังได้วิธีทำงานใหม่ที่ทำให้คุณรู้จักบริหารสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลา งาน วินัยตัวคุณเอง ทีมงาน หรือกระทั่งหัวหน้า