เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์เราแต่ละคนล้วนแตกต่างไปตาม ‘เป้าหมาย’ ของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเล็กๆ ที่แค่อยากตื่นขึ้นมาเพื่อจิบกาแฟอุ่นๆ ในทุกวัน หรืออาจยิ่งใหญ่จนถึงอยากรวยล้นฟ้า ไม่ก็อยากเป็นฮีโร่ช่วยเหลือคนมากมายก็ตาม
ส่วนประกอบสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของคนส่วนใหญ่คือ ‘การทำงานหนัก’ เพื่อก้าวไปให้ถึงปลายทางที่ตั้งใจไว้ นอกจากนี้คุณลักษณะนิสัยอย่างความพากเพียรก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราต่างใกล้ชิดกับเป้าหมายนั้นได้มากยิ่งขึ้น
แต่บ่อยครั้งที่ความเพียรพยายามอย่างหนักเกินไปนั้น อาจทำให้ได้ผลตรงกันข้ามกับความคาดหวังที่ตั้งไว้ คำว่า ‘เกินไป’ นี้เองที่ทำให้ใครหลายคนหันหลังกลับแล้วเดินออกจากเป้าหมายไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรคระบาดใหญ่ที่ผ่านมาถึง 3 ระลอกแล้วสำหรับพวกเราชาวไทย
ผลกระทบจากโรคระบาดที่ผ่านมานี้ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ทำงานหนักขึ้น ไม่ใช่แค่ในด้านของอาชีพการทำงาน แต่ต้องรับผิดชอบความต้องการของครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่น การดูแลลูกที่ปกติจะต้องไปโรงเรียน การแบ่งเวลาไม่ถูก จนไปถึงการไม่มีขอบเขตในระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว
จากสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะคลี่คลายได้เมื่อไหร่ ทำให้เป้าหมายหลายอย่างของเราเหมือนกับหยุดชะงักอยู่กับที่ไม่ว่าจะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม ด้วยเหตุนี้เองหลายคนจึงรู้สึกผิด และไม่พอใจกับตัวเองที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้มากมายได้เสียที จึงเป็นที่มาของการพยายามทำงานอย่างหนักเกินไป
โดยเฉพาะกับกลุ่มคนประเภท ‘Sensitive Strivers’ คือบุคคลประเภทที่เคยประสบความสำเร็จสูง พวกเขาจะคิดและรู้สึกกับทุกสิ่งอย่างอย่างลึกซึ้ง ดังนั้น คนกลุ่มนี้มักชื่นชอบความสมบูรณ์แบบและถือคติว่า ‘การไม่ทำทุกอย่าง’ เท่ากับ ‘ความล้มเหลว’ โดยไม่คิดคำนึงถึงข้อจำกัดของตัวเอง จึงมักจะลงเอยด้วยการรับผิดชอบทุกอย่างราวกับกำลังว่ายน้ำเพื่อสู้กับคลื่นยักษ์สึนามิ
แต่ต่อให้คุณว่ายน้ำเก่งแค่ไหน ก็ไม่มีทางสู้รบปรบมือกับคลื่นยักษ์ที่เกินกำลังของตัวเองได้ จึงถึงเวลาแล้วที่คุณต้องกลับมาสร้างสมดุลที่ดีให้กับชีวิตด้วยการรับผิดชอบในปริมาณที่น้อยลง แต่มีคุณภาพมากขึ้น ด้วยการพิจารณาว่า จำเป็นต้องละทิ้งเป้าหมายใดบ้างเพื่อสร้างความสงบสุขให้กับชีวิตของคุณ
ต่อไปนี้เป็นสัญญาณ 5 ประการที่ควรพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าคุณควรละทิ้งเป้าหมายหรือไม่
1. เมื่อเป้าหมายไม่ใช่ของคุณตั้งแต่แรก
ชีวิตของคนเรานั้นเต็มไปด้วยความคาดหวัง และความต้องการ ทั้งของตัวเอง ของคนรอบข้าง รวมถึงแรงผลักดันจากปัจจัยภายนอกมากมาย ที่อาจทำให้คุณหลงทำตามความคาดหวังนั้นไปเสียทั้งหมดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น อันดับแรกให้กลับมาตระหนักกับตัวเอง เพื่อที่จะแยกแยะให้ได้ว่าเป้าหมายใดเป็นของคุณ แล้วเป้าหมายใดไม่ใช่
วิธีหนึ่งที่ทำให้เราแยกเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วคือการตระหนักว่าเป้าหมายนั้นเชื่อมโยงถึงความรู้สึกด้านลบหรือเปล่า เช่น การทำเพื่อหลีกเลี่ยงการคุกคาม การลงโทษ การตัดสิน หรือการปฏิเสธหรือเปล่า หาก ‘ใช่’ เป้าหมายนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการจริงๆ เพราะหากเป็นเป้าหมายของคุณจริง สิ่งนั้นจะถูกขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่คุณสนใจมากที่สุด ซึ่งมีการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ตัดสินใจเลือกเป้าหมายโดยอาศัยความรู้สึกที่ดีมักจะมีความมั่นใจในเส้นทางที่พวกเขาเลือกมากกว่า
2. เมื่อเป้าหมายทำให้คุณทุกข์ใจอย่างหนัก
การที่คุณมีความกลัว และกังวลว่าจะสามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเป้าหมายส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงในระดับหนึ่งเสมอ ดังนั้น คุณต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความรู้สึกไม่สบายใจนี้ให้ได้ แต่หากความกังวลนั้นเพิ่มมากขึ้นจนทำให้นอนไม่หลับ หรือส่งผลต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ อาจถึงเวลาที่ต้องปล่อยวางเป้าหมายนั้นลง เพราะการบรรลุเป้าหมายไม่ควรแลกมากับความเป็นอยู่ที่ดีของคุณ
3. เมื่อคุณจดจ่อกับผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ
เพราะผลลัพธ์มักเห็นภาพชัดเจนและดึงดูดความสนใจกว่า ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะพิจารณากระบวนการไปพร้อมๆ กัน บางครั้งเรากลับไปจดจ่ออยู่กับการก้าวไปถึงจุดใดหนึ่งจุดหนึ่งที่สูงสุดนั้นเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น คุณอาจตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตถึงหนึ่งล้านคนต่อปี โดยไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ตามมาพร้อมกับผลอันยิ่งใหญ่อย่างการสร้างจำนวนทีมที่มากขึ้น กระบวนการจัดการงบประมาณ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นโดยคุณอาจไม่ได้ต้องการ ดังนั้น ควรตรวจสอบให้ดีกว่าเป้าหมายที่คุณวางไว้ จำเป็นต้องมีกระบวนการอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งหนักใจในภายหลัง หรือหากเกินกำลังก็อาจถึงเวลาที่จะวางเป้าหมายนั้นลงแล้วก็ได้
4. เมื่อคุณละทิ้งความกระตือรือร้นของตัวเอง
ความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้เรื่องที่ดี แต่หากความมุ่งมั่นนั้นกลายเป็นความหมกมุ่นที่ทำให้การลำดับความสำคัญของชีวิตผิดเพี้ยนไป เช่น ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ไม่มีเวลาให้อิสระแก่ตัวเองให้ได้รับการผ่อนคลาย เมื่อนั้นความกระตือรือร้นต่อเป้าหมายของคุณจะหายไป คุณจะหมกมุ่นอยู่กับทางเดินแสนเปลี่ยวเพียงลำพัง แล้วสุดท้ายก็อาจสูญเสียจิตวิญญาณจนไปสู่หนทางที่น่าผิดหวังได้
5. เมื่อคุณกำลังหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง
ในด้านการลงทุนมีแนวคิดหนึ่งเรียกว่า ‘อคติต้นทุนจม’ หมายถึง อคติทางจิตวิทยาที่เมื่อเราลงทุนกับอะไรบางอย่างไปแล้วในอดีต และไม่ว่าการลงทุนเพิ่มเข้าไปจะทำให้สถานการณ์ในปัจจุบัน หรืออนาคตเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แต่ต้นทุนที่ลงไปแล้วก็ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้
ก็เหมือนกับเวลาที่คนเรามักจะดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองไปสู่เป้าหมาย โดยไม่สนใจว่าจะต้องสูญเสียอะไรในชีวิตไปบ้าง หรือต่อให้รู้ว่าสิ่งที่เสียไปแล้วไม่สามารถเรียกกลับคืนได้ก็ยังจะเดินหน้าไปต่อหากทางเลือกนั้นนำไปสู่เป้าหมายของตัวเอง แต่ในบางครั้งการละทิ้งเป้าหมายบางอย่างก็เป็นสิ่งที่กล้าหาญ และได้ผลที่สุดที่คุณจะสามารถรักษาสิ่งสำคัญในชีวิตไว้ได้ แล้วหลังจากนั้นจะเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ก็คงไม่เสียหาย
ลองกลับไปชั่งน้ำหนักดูว่าระหว่างเป้าหมายที่ยังมาไม่ถึง ไม่รู้ว่าจะสำเร็จได้หรือไม่ กับสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสิ่งสำคัญที่มีอยู่ในชีวิตตอนนี้อย่าง ครอบครัว และมิตรภาพ อะไรควรค่าแก่การรักษาให้อยู่กับคุณต่อ แล้วอะไรบ้างที่ถึงเวลาที่ควรละทิ้งไปก่อน เพื่อรักษาสมดุลความสุขในการทำงาน กับชีวิตส่วนตัวให้ยังคงอยู่
อ้างอิง: https://www.businessinsider.com/setting-goals-signs-to-abandon-lofty-goals-before-backfire-2021-5
ภาพ: Unsplash