เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนคงได้ยินคนพูดกันหนาหูว่า ‘เศรษฐกิจไม่ดี’ และมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายคงมีอาการหวาดหวั่นหรือใจตุ๊มๆ ต่อมๆ อยู่ไม่น้อย—ด้วยความกังวลว่าพิษเศรษฐกิจครั้งนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง
บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงสัญญาเตือนภัยล่วงหน้า 5 ข้อ เพื่อให้คุณใช้สังเกตว่าบริษัทที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันมีทีท่าเป็นอย่างไร—จะวิกฤตเหมือนเศรษฐกิจช่วงนี้หรือเปล่า—เพราะบางทีคุณอาจกำลัง ‘รู้ตัวช้า’ หรือไม่ก็ ‘ตื่นตูม’ จนเกินเหตุ
1. รายได้ของบริษัทลดลง
คนทำงานหลายคนสนใจแต่งานของตัวเอง แต่ไม่สนใจสถานการณ์โดยรวมของบริษัท ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนทำงานยุคนี้ควรสอดส่องและสังเกตความเป็นไปของบริษัทที่คุณทำงานอยู่เสมอ และก่อนอื่นต้องยอมรับว่า การตัดสินใจของผู้บริหารบริษัทไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ในยามที่สถานการณ์เริ่มคับขัน บางคนเลือกพูดความจริงกับพนักงาน ขณะที่บางคนเลือกปิดบังความจริง เพราะประเมินผิดพลาด คิดว่ายังประคองไหว หรือไม่ก็อาจเพราะกลัวพนักงานจะแตกตื่น ซึ่งการที่พนักงานบริษัทไม่ได้ล่วงรู้ถึงสถานการณ์บริษัทก็อาจจะทำให้เกิดชะล่าใจ กว่าจะรู้ความจริงก็สายเกินไป—คนในระดับบริหารประคองบริษัทต่อไปไม่ไหวแล้ว
ข้อมูลหนึ่งที่คนทำงานควรพยายามรู้เอาไว้บ้างคือรายได้ของบริษัท เพราะมันเป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าประสิทธิภาพ (performance) ของบริษัทยังโอเคอยู่หรือไม่ พูดง่ายๆ คือยังขายของได้หรือเปล่า แล้วถ้าขายได้ ขายได้มากขึ้นหรือน้อยลง ถ้ารายได้น้อยลงก็แปลว่า สถานการณ์เริ่มไม่สู้ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูด้วยว่ารายได้ที่น้อยลงนั้นเป็นแค่ช่วงสั้นๆ หรือเป็นขาลงแบบต่อเนื่องยาวนาน
2. เงินสดในบริษัทเหลือน้อย
เวลาที่บริษัทบอกว่าขายของได้ อย่าเพิ่งมองว่าดีไปเสียทั้งหมด เพราะการซื้อขายมีทั้งรูปแบบเงินสดและเครดิต ซึ่งบริษัทที่ได้เงินสดมาก่อนจะมีเสถียรภาพสูงกว่าบริษัทที่ได้รับเงินแบบเครดิต เพราะเงินสดที่ได้มาย่อมเท่ากับว่าเรานำมาเก็บไว้หรือใช้จ่ายออกไปได้ทันที ในขณะที่บริษัทที่รับเงินแบบเครดิตอาจต้องรอเงินจากลูกค้าถึง 30 วันหลังส่งงาน แปลว่าบริษัทต้องออกเงินก่อน แถมยังต้องแบกรับความเสี่ยงที่คนจ่ายเงินอาจจะเบี้ยวหรือล่าช้ากว่ากำหนดก็ได้
เพราะฉะนั้น การประเมินว่าบริษัทไหนแข็งแกร่งไม่ได้วัดกันที่ยอดขายอย่างเดียว แต่ต้องดูไปถึงเงินสดที่หมุนเวียนในบริษัทด้วย ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี เงินสดจะยิ่งเป็นตัวการสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกันไปเป็นทอดๆ เช่น เมื่อพิษเศรษฐกิจทำให้คนไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ต้นทางขายของได้น้อยลง เงินสดก็ยิ่งน้อยลงจนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ และลุกลามไปถึงการผิดนัดชำระเงินกับบริษัทคู่ค้า กลายเป็นผลกระทบที่ส่งต่อกันไปเหมือนกับการล้มของโดมิโน่ ดังนั้น การที่คุณพอรู้สถานการณ์ของเงินสดภายในบริษัทบ้าง ก็อาจจะพอประเมินได้ว่าบริษัทกำลังอยู่ในสถานการณ์แบบไหน
3. บริษัทออกกฎรัดเข็มขัด
เมื่อสถานการณ์ในบริษัทไม่ดี ก็ถึงเวลาที่ทีมผู้บริหารจะต้องหารือและปรับกลยุทธ์กันใหม่ ที่ทำให้เกิดนโยบายหรือกฏระเบียบใหม่ๆ ตามมา เช่น การออกนโยบายให้รัดกุมเรื่องการเงินมากขึ้น โดยปรับเพดานวงเงินเซ็นอนุมัติให้ต่ำลงกว่าเดิม เช่น ก่อนหน้านี้เคยมอบอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการเงินให้ผู้บริหารระดับกลาง แต่ตอนนี้ต้องให้ผู้บริหารระดับสูงรับรู้ด้วย เป็นต้น หรือที่เห็นได้ชัดคือการตัดลดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ รวมถึงการหยุดรับพนักงานใหม่—สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์ในบริษัทไม่สดใส
อย่างไรก็ตาม ต่อให้สถานการณ์บริษัทเป็นอย่างที่กล่าวมา ก็อาจไม่ได้หมายความว่าบริษัทตกอยู่ในวิกฤต แต่ควรเรียกว่าอยู่ในขั้นที่ไม่ค่อยดีมากกว่า เพราะวิธีแรกๆ ที่บริษัทใช้รับมือกับวิกฤต ไม่ใช่การเอาคนออก—การเอาคนออกถือเป็นเรื่องใหญ่ และไม่ใช่เรื่องที่บริษัทจะอยากทำ ดังนั้น สิ่งแรกที่มักจะเลือกทำคือการพยายามตัดค่าใช้จ่ายที่เกินจำเป็นออกไป
แต่ถ้าสถานการณ์รายได้และเงินสดในข้อ 1 และ 2 ดูมีท่าทีไม่ดีอย่างต่อเนื่อง มาตรการประหยัดก็จะเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นพิจารณาให้คนออก และคนที่ทำงานในลักษณะของ outsource มักจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกพิจารณาให้ออกก่อนพนักงานประจำ
4. ผู้บริหารเริ่มวิ่งเต้น
เมื่อมีข่าวไม่ดีเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะไม่ใช่พนักงานตัวเล็กๆ ที่รู้ก่อน แต่จะเป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเมื่อผู้บริหารระดับสูงรับรู้แล้ว ก็จะมีการวิ่งเต้นหาที่ทางใหม่ของตัวเอง ฉะนั้น ถ้าเริ่มเห็นผู้บริหารทยอยวิ่งเต้นหรือโยกย้ายที่ทำงาน พูดง่ายๆ ว่า ‘หนีตาย’ นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีแล้วจริงๆ
5. บรรยากาศตึงเครียด ใส่อารมณ์
ถ้าไม่ดูตัวเลข ไม่ดูยอดขาย ไม่ดูนโยบาย สิ่งที่เห็นได้ชัดไม่แพ้กันคือความตึงเครียดในที่ทำงาน เพราะในภาวะไม่ค่อยสู้ดี ผู้บริหารย่อมเครียดและมีความกังวลสูง ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือการใช้อารมณ์ ฉะนั้น ในช่วงสถานการณ์ย่ำแย่ จะสังเกตได้เลยว่า บรรยากาศการทำงานจะตึงเครียดและฉุนเฉียว เพราะงานที่ทำจะเริ่มมีเดิมพันที่สูงขึ้น และการพลาดเพียงหนึ่งงานอาจหมายถึงการล้มของทั้งบริษัทได้เลย
ทั้งหมดนี้คือ 5 สัญญาณเตือนภัย ที่ขอรวบรวมมาเล่าสู่กันฟัง อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างความตื่นตระหนก แต่อยากแบ่งปันข้อมูลให้แก่กันเท่านั้นเอง คุณอาจกำลังตื่นตัวเมื่อได้ยินคนพูดเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีอยู่ซ้ำๆ แต่การที่เรารู้ข้อมูลเหล่านี้เป็นกรอบในการพิจารณา จะทำให้ประเมินได้ว่าเราควรกลัวมากน้อยแค่ไหน และถ้าหากว่าสถานการณ์บริษัทเข้าข่ายไม่ดี คุณก็จะได้มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าสถานการณ์ในบริษัทของคุณจะดีหรือร้ายแค่ไหน อย่างไรเสีย อย่าได้หยุดพัฒนาและฝึกตัวเองให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้เกิดขึ้นเร็วมาก ดังนั้น ความคิดที่ว่า ‘ทำงานไม่ต้องเด่น แต่ขอแค่ไม่พลาดก็ไม่ถูกไล่ออกแล้ว’ อาจใช้ไม่ได้กับยุคนี้ เพราะต่อให้คุณทำงานดีหรือเสมอตัว แต่ถ้าผู้บริหารวางแผนผิดหรือปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายคนทำงานก็ต้องพลอยถูกหางเลขอยู่ดี
ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือต้องไม่หยุดนิ่งและรู้จักปรับตัวตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย ตลอดเวลาที่ผ่านมา ธรรมชาติก็สอนมนุษยชาติอยู่เสมอว่า การปรับตัวคือทักษะเดียวที่จะช่วยให้เราอยู่รอด