Highlights
- โบกี้ (Bogie) ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากตู้รถไฟ และเป็นตัวรับแรงกระแทกจากรางขณะวิ่ง ทำให้ตู้รถไฟสั่นหรือโยกน้อยลง ผู้โดยสารจึงนั่งได้สบายมากขึ้น ถ้าเทียบโบกี้กับอุปกรณ์ของรถยนต์ก็คือช็อกอัพ (shock up) นั่นเอง
- คำศัพท์ในภาษาอังกฤษสำหรับตู้รถไฟ ใช้ได้ 2 คำคือ car (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน) และ carriage (ภาษาอังกฤษแบบบริติช)
- แต่ถ้าเป็นคนอินเดีย ก็จะสามารถใช้คำว่า bogie ในความหมายของตู้รถไฟได้
“ขึ้น BTS โบกี้แรกนะ ตอนออกจะได้ลงบันไดเลย”, “ตั๋วรถไฟไปเชียงใหม่ ฉันได้นั่งโบกี้ที่ 7 ติดตู้อาหารเลย”, “อุบัติเหตุรถไฟชนรถบรรทุกที่กำลังข้ามทางลักผ่าน ทำให้โบกี้ตกรางจำนวนมาก”
ประโยคเหล่านี้คงเป็นประโยคธรรมดาๆ ที่คนนั่งรถไฟส่วนใหญ่มักจะนิยมพูดถึง ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับมีความผิดพลาดบางอย่าง ชนิดที่ว่าหากเซียนรถไฟได้ยินเข้าคงต้องเกาหัว เพราะคำว่า ‘โบกี้’ ที่หลายคนพูด ไม่ใช่ ‘ตู้รถไฟ’ อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจน่ะสิ

Bogie ทำหน้าที่เสมือนช็อกอัพในรถยนต์
ในยุคแรกๆ ที่มีรถไฟใช้ ล้อของรถไฟยังติดอยู่กับตู้ ทำให้เวลารถไฟเข้าโค้งจะเลี้ยวได้ค่อนข้างจำกัด รวมทั้งไม่สามารถรับแรงกระแทกขณะรถไฟวิ่งได้ดีพอ ผู้โดยสารในตู้จึงรู้สึกถึงแรงกระแทกไปด้วย ทำให้นั่งไม่สบายเท่าที่ควร รถไฟสมัยก่อนจึงวิ่งได้ช้ากว่าในปัจจุบันมาก
เพื่อแก้ปัญหานี้ จึงมีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า โบกี้ (Bogie) เกิดขึ้น โดยหน้าตาของมันจะเป็นแคร่ล้อแยกออกมาจากตัวตู้รถไฟ โดยโบกี้แต่ละตัวจะมี 4 ล้อ วางอยู่บนรางข้างละ 2 ล้อ และมีข้อต่อสำหรับเสียบกับหัวและท้ายตู้รถไฟ ดังนั้นในหนึ่งตู้รถไฟจึงมี 2 โบกี้ หรือ 8 ล้อ
เมื่อตู้รถไฟกับล้อรถไฟ (โบกี้) แยกออกจากกันแล้ว โบกี้จึงทำหน้าที่รับน้ำหนักจากตู้รถไฟ และเป็นตัวรับแรงกระแทกจากรางขณะวิ่ง ทำให้ตู้รถไฟสั่นหรือโยกน้อยลง ผู้โดยสารจึงนั่งได้สบายมากขึ้น ตามโครงสร้างของโบกี้จะเชื่อมแบบข้อต่อที่สามารถหมุนได้กับตู้รถไฟ ทำให้เข้าโค้งได้นิ่มนวลกว่าเดิม และสามารถใช้ความเร็วเพื่อขับเคลื่อนได้สูงมากขึ้น ถ้าเทียบโบกี้กับอุปกรณ์ของรถยนต์ก็คือช็อกอัพนั่นเอง

ความสับสนเกิดจากการใช้คำว่าโบกี้ในการระบุชั้นรถไฟ
จริงๆ แล้วโบกี้คือศัพท์เฉพาะสำหรับช่างรถไฟ แต่สำหรับคนทั่วไปที่เป็นผู้โดยสารมักจะเข้าใจผิดว่า โบกี้ = ตู้รถไฟ เป็นเรื่องน่าสงสัยเหมือนกันว่าทำไมคนส่วนมากถึงเข้าใจแบบนั้น
ก่อนอื่นอยากให้ผู้อ่านลองสังเกตว่าเวลาจองตั๋วรถไฟกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายชื่อชั้นโดยสารรถไฟอย่างเป็นทางการมีอะไรบ้าง และนี่คือชนิดตู้โดยสารตามชั้นต่างๆ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของ รฟท.
รถโบกี้นั่งและนอนชั้นที่ 1 ปรับอากาศ (บนอ.ป.)
รถโบกี้นั่งและนอนชั้นที่ 2 ปรับอากาศ (บนท.ป.)
รถโบกี้นั่งและนอนชั้นที่ 2 (บนท.)
รถโบกี้ชั้นที่ 2 ปรับอากาศ (บชท.ป.)
รถโบกี้ชั้นที่ 2 (บชท.)
รถโบกี้ชั้นที่ 2 และ 3 ติดกัน (บสส.)
รถโบกี้ชั้นที่ 3 (บชส.)
รถกำลังดีเซลรางปรับอากาศ (กซข.ป./ กซม.ป.)
รถกำลังดีเซลราง (กซข./ กซม.)
เห็นได้แบบชัดเจนว่า รถโดยสารทุกชั้นมีคำว่าโบกี้ในชื่อชั้นรถไฟของ รฟท. ทั้งหมด คำถามคือเวลาจองตั๋ว ผู้โดยสารจึงดูแค่ว่าตัวเองกำลังจองรถชั้นอะไร เป็นรถปรับอากาศหรือรถร้อน เขาอาจจะไม่สนใจว่ารถที่นั่งอยู่จะมีโบกี้หรือไม่ แต่เมื่อเห็นว่าชื่อชั้นโดยสารมีคำว่าโบกี้อยู่ด้วย ก็อาจทำให้เข้าใจคาดเคลื่อนไปว่าตู้รถไฟที่นั่งกันเรียกว่าโบกี้ไปโดยปริยาย
การระบุคำว่าโบกี้อาจจะมีประโยชน์ในการจำแนกรถไฟในอดีต แต่ในปัจจุบันรถโดยสารทุกขบวน ทุกตู้โดยสาร รวมถึงรถดีเซลราง ไปจนถึงรถไฟฟ้า BTS, MRT ยันรถไฟความเร็วสูงล้วนมีโบกี้ทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นเลยที่ต้องใส่คำว่าโบกี้ในชั้นรถไฟอีกต่อไป
แล้วตู้รถไฟจริงๆ ใช้ภาษาอังกฤษคำว่าอะไร
ส่วนคำศัพท์ในภาษาอังกฤษสำหรับตู้รถไฟใช้ได้ 2 คำคือ car (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน) และ carriage (ภาษาอังกฤษแบบบริติช) ดังนั้น ถ้าหากคุยกับฝรั่งแล้วบอกว่าจะนั่ง bogie พวกเขาจะไม่เข้าใจ แล้วงงว่าไปนั่งบนแคร่ล้อรถไฟทำไมกัน แต่ถ้าเป็นคนอินเดีย ก็จะสามารถใช้คำว่า bogie ในความหมายของตู้รถไฟได้

Bogey คะแนนไม่พึงประสงค์สำหรับโปรกอล์ฟ
เล่าเรื่องโบกี้รถไฟมาจนจบแล้ว ขอแถมด้วยคำพ้องเสียงอีกคำที่เรียกว่า โบกี้ เหมือนกัน แต่สะกดต่างกันคือ Bogey คำนี้จะพบได้ในวงการกอล์ฟ คือการตีลงหลุมโดยมีจำนวนครั้งมากกว่าเลข Par ของหลุมนั้น เช่น หลุมพาร์ 4 ตีลงใน 5 ครั้ง หรือหลุมพาร์ 5 ตีลงใน 6 ครั้ง Bogey จึงมีคะแนนเป็น +1 แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะในกีฬากอล์ฟ ยิ่งคะแนนติดลบมากๆ ยิ่งดี ยิ่งเก่ง
ดังนั้น แล้วถ้าคุณเล่นกอล์ฟแล้วได้ Bogey หรือคะแนนบวกเยอะๆ ก็อาจจะต้องกลับไปซ้อมใหม่
แหล่งข้อมูล: