ปีนักษัตร

ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ… ทำไมชื่อเรียกปีนักษัตรของไทยไม่ใกล้เคียงกับภาษาจีน

นอกจาก ‘ตรุษจีน’ จะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ตามประเพณีจีนของชาวไทยเชื้อสายจีนแล้ว ยังเป็นเทศกาลที่ครอบครัวคนจีนจะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องในตระกูลอีกด้วย

        สำหรับคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวันตรุษจีนคือการเปลี่ยนปีนักษัตร โดยในปี 2020 นี้เป็นปีชวดหรือหนู ซึ่งเป็นสัตว์ลำดับแรกของรอบนักษัตรทั้ง 12 ปี ได้แก่ ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ และกุน แต่เคยสงสัยไหมว่าทำไมชื่อเรียกปีนักษัตรในภาษาไทยจึงไม่ตรงกับภาษาจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องปีนักษัตร World Wide Words ประจำสัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านไปรู้จักตั้งแต่ตำนานความเป็นมาของปีนักษัตร หลักการเรียกชื่อ รวมถึงการนำปีนักษัตรมาประยุกต์ใช้ในปฏิทินไทย

 

ปีนักษัตร
ภาพ: www.esplanade.com/festivals-and-series/huayi-chinese-festival-of-arts/2016/the-chinese-zodiac

ตำนานการแข่งขันระหว่างสัตว์ จุดเริ่มต้นสัญลักษณ์ประจำปีนักษัตร

        ว่ากันว่าเง็กเซียนฮ่องเต้ หรือเทพเจ้าสูงสุดตามคติความเชื่อของคนจีน ต้องการสัตว์ 12 ตัว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำปี โดยกำหนดให้สัตว์ต่างๆ แข่งกันข้ามแม่น้ำ ซึ่งในสมัยนั้นแมวกับหนูเป็นเพื่อนสนิทกัน จึงคิดวางแผนที่จะช่วงชิงอันดับ 1 เพราะสัตว์ที่เข้าถึงเส้นชัยเป็นตัวแรกจะได้เป็นสัตว์ประจำปีแรก ทั้งคู่จึงขึ้นเกาะหลังวัวเพื่อข้ามแม่น้ำ แต่พอใกล้จะถึงฝั่งหนูกลับถีบแมวตกแม่น้ำและกระโดดแซงหน้าวัวเข้าเส้นชัย ทำให้หนูกลายเป็นสัตว์ตัวแรกของปีนักษัตร ตามด้วยวัว

        หลังจากนั้นสัตว์ตัวอื่นๆ ก็ทยอยข้ามแม่น้ำเข้าเส้นชัยตามลำดับคือ เสือ, กระต่าย, มังกร, งู, ม้า, แพะ, ลิง, ไก่, สุนัข และหมูเป็นอันดับท้ายสุด ซึ่งสัตว์แต่ละตัวต่างก็มีเรื่องราวการข้ามแม่น้ำของตัวเอง เช่น มังกรที่คนจีนเชื่อว่ามีพลังวิเศษ คงสามารถเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ได้อย่างง่ายดาย แต่กลับอยู่ในลำดับที่ 5 เพราะว่าระหว่างทางมังกรเห็นชาวบ้านกำลังเดือดร้อนจากไฟไหม้ จึงเสกฝนช่วยดับไฟ รวมถึงยังช่วยเป่าลมให้กระต่ายที่กำลังเกาะขอนไม้และถูกกระแสน้ำพัดไปทางอื่นได้ขึ้นฝั่งก่อนตนด้วย

        สำหรับแมว หลังจากตกแม่น้ำเพราะหนูถีบ ก็ตะเกียกตะกายขึ้นฝั่งทั้งที่ว่ายน้ำไม่เก่ง แต่ก็ไม่ทันการ เพราะมีสัตว์ตัวอื่นๆ ข้ามแม่น้ำครบ 12 ตัวแล้ว หรือบางตำนานก็เล่าว่า หนูออกอุบายหลอกแมวว่าเง็กเซียนฮ่องเต้จะจัดการแข่งข้ามแม่น้ำในวันที่ 2 หรือชิวยี่ ทั้งที่วันแข่งจริงๆ คือวันที่ 1 หรือชิวอิก ทำให้แมวพลาดการแข่งขันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นตำนานไหน ผลสรุปคือแมวไม่ได้เป็นสัตว์ 1 ใน 12 ปีนักษัตร ทำให้แมวผูกใจเจ็บกับหนู และจะไล่จับกินหนูทุกครั้งเมื่อเจอหน้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

คำเรียกนักษัตรในภาษาไทย ไม่ได้มาจากจีน แต่รับมาจากเขมร

        แม้ว่าชาวจีนจะใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์บอกปีนักษัตร แต่คำเรียกปีนักษัตรของจีนมีชื่อเฉพาะทั้ง 12 คำ ต่างจากคำเรียกสัตว์ทั่วไป ดังนี้

ชื่อนักษัตร — ชื่อสัตว์

子 (zǐ) ชวด — 鼠 (shǔ) หนู

丑 (chǒu) ฉลู — 牛 (niú) วัว

寅 (yín) ขาล — 虎 (hǔ) เสือ

卯 (mǎo) เถาะ — 兔 (tù) กระต่าย

辰 (chén) มะโรง — 龍 (lóng) มังกร

巳 (sì) มะเส็ง — 蛇 (shé) งู

午 (wǔ) มะเมีย — 馬 (mǎ) ม้า

未 (wèi) มะแม — 羊 (yáng) แพะ

申 (shēn) วอก — 猴 (hóu) ลิง

酉 (yǒu) ระกา — 雞 (jī) ไก่

戌 (xū) จอ — 狗 (gǒu) สุนัข

亥 (hài) กุน — 豬 (zhū) หมู

 

        ถ้าหากเปรียบเทียบระหว่างคำสองภาษาแล้ว จะพบว่าบางคำก็ออกเสียงคล้ายกันเช่น ชวด-zǐ หรือฉลู-chǒu แต่คำอื่นๆ ดูจะออกเสียงไม่คล้ายกันเลย จึงไม่อาจสรุปได้ว่าทั้ง 12 นักษัตรภาษาไทยรับมาจากจีนทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกับภาษาอื่นแล้ว จะพบว่าที่จริงแล้วคำเรียกนักษัตรทั้ง 12 คำในภาษาไทยรับมาจากภาษาเขมรเก่า ดังนี้

ชวด ជូត (ชูต) 

ฉลู ឆ្លូវ (ฉลูว) 

ขาล ខាល (ขาล)

เถาะ ថោះ (โถห์) 

มะโรง រោង (โรง) 

มะเส็ง ម្សាញ់ (มสาญ)

มะเมีย មមី (มอมี) 

มะแม មមែ (มอแม) 

วอก វក (วอก)

ระกา រកា (รอกา) 

จอ ច (จอ) 

กุน កុរ (กุร)

 

ปีนักษัตร
ภาพ: พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี / หอสมุดแห่งชาติ

ปีนักษัตรกับปฏิทินไทย

        แม้ว่าปีนักษัตรจะมีต้นกำเนิดจากคติความเชื่อของจีน แต่คนไทยก็รับเอาปีนักษัตรมาใช้ในการคำนวณปฏิทินในสมัยโบราณ คือปีจุลศักราช ซึ่งการข้อมูลลงในพงศาวดารไทยมักจะระบุปีด้วยจุลศักราชประกอบกับปีนักษัตรเสมอ เช่น

        – ศักราช 954 มะโรงศก (พ.ศ. 2135) ปีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา

        – ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 ปี (พ.ศ. 2325) ปีสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

        นอกจากนี้การเปลี่ยนปีนักษัตรของไทยนั้นจะเปลี่ยนในวันที่ 16 เมษายน หรือวันเถลิงศกในเทศกาลสงกรานต์ โดยจะเปลี่ยนปีนักษัตรพร้อมกับการเปลี่ยนปีจุลศักราช ต่างจากของจีนที่จะเปลี่ยนนักษัตรในวันตรุษจีน นั่นหมายถึงระหว่างวันตรุษจีนจนถึงวันสงกรานต์ ปีนักษัตรของไทยจะช้ากว่าจีนอันเนื่องมาจากวันขึ้นปีใหม่ที่ต่างกัน

        การเรียกปีจุลศักราชควบคู่กับปีนักษัตรแบบนี้เสื่อมความนิยมลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากริเริ่มการใช้รัตนโกสินทร์ศก ก่อนที่รัชกาลที่ 6 จะปรับเป็นพุทธศักราชและใช้มาจนถึงปัจจุบัน

 

ปีนักษัตร
ภาพ: www.tcmworld.org/17706-2

แกนสวรรค์และกิ่งพิภพ การระบุปีแบบโบราณและดูดวงชะตาของจีน

        นอกจากปีนักษัตรแล้ว คนจีนยังใช้ตัวอักษรอีกชุดหนึ่งที่เรียกว่า แกนสวรรค์ (天干) จำนวน 10 ตัวอักษรประกอบด้วย 甲(jiǎ), 乙 (yǐ), 丙 (bǐng), 丁 (dīng), 戊 (wù), 己 (jǐ), 庚 (gēng), 辛 (xīn), 壬 (rén) และ 癸 (guǐ) ขณะที่ตัวอักษรของปีนักษัตรทั้ง 12 ตัวจะเรียกว่า กิ่งพิภพ (地支)

        ตัวอักษรทั้ง 2 ระบบนี้เรียกว่า แผนภูมิสวรรค์ (干支) เป็นระบบเลขฐาน 60 ที่จะนับคู่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ปฏิทินจีนโบราณใช้แผนภูมิสวรรค์ในการระบุรอบ 60 ปี และเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์จีน รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นก็มีการเรียกปีด้วยระบบนี้ด้วย เช่น

        – การปฏิวัติซินไฮ่ เกิดขึ้นในปี 辛亥 ตรงกับ ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงและสิ้นสุดระบอบจักรวรรดิที่มีมากว่า 2,000 ปี

        – สงครามโบชิน เกิดขึ้นในปี 戊辰 ตรงกับค.ศ. 1868 เป็นสงครามที่ล้มการปกครองของตระกูลโทกุกาวะ สิ้นสุดระบอบโชกุน และจักรพรรดิญี่ปุ่นกลับมามีอำนาจสูงสุด

        นอกจากนี้ยังใช้แผนภูมิสวรรค์ในทางโหราศาสตร์ในการดูดวงชะตาของมนุษย์ เพราะตัวอักษรแต่ละตัวมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น บอกธาตุทั้ง 5 คือ ไม้, ไฟ, ดิน, ทอง และน้ำ บอกสภาพหยินหยาง บอกทิศทาง และบอกโมงยาม เป็นต้น

 


แหล่งข้อมูล: